ไปเจอมาจากมติชน เขียนไว้ดีมากๆเลยครับ เลยอยากนำมาฝากกัน
กำลังใจที่ไม่ใช่แค่ลมปาก แพทย์หญิง วินิทรา นวลละออง
คอลัมภ์ มหัสจรรย์ การ์ตูน หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 31 กรกฎาคม 2554
เวลาเจอคนที่ท้อแท้เรามักอยากให้กำลังใจเขาใช่ไหมคะ สมัยเป็นจิตแพทย์มือใหม่ไฟแรงก็คิดว่าการให้กำลังใจ เป็นยาดีอีกขนานที่ต้องให้คู่ไปกับการรักษาด้วยยาเลยค่ะ ยกตัวอย่างเช่นผู้หญิงที่สามีเสียชีวิตจนท้อแท้ไม่อยากมีชีวิตอยู่ เราอาจจะให้กำลังใจด้วยการชี้ให้เห็นว่าถึงสามาจะไม่อยู่แล้ว แต่เขาก็ยังมีคุณค่าในตัวเองอีกมากมาย เขาเป็นแม่ที่ดีของลูก แถมญาติทุกคนยังยินดีช่วยเหลือ ดังนั้นไม่ต้องท้อแท้ไปหรอก การให้กำลังใจแบบนี้มีหลักว่าให้เขามองเห็นคุณค่าของตนเอง และรู้จักชื่นชมตัวเองแทนที่จะจมอยู่กับความสิ้นหวัง ดูแล้วน่าจะตรงไปตรงมาแต่ที่จริงกลับขาดขั้นตอนที่สำคัญที่สุด โดยไม่รู้ตัวเลยค่ะ
เรายังไม่ได้ถามเลยสักคำว่าเขาท้อแท้เพราะอะไร
คนทั่วไปทึกทักเอาเองว่าผู้หญิงที่สามีเสียชีวิตอาจจะท้อแท้ เพราะไม่มีเสาหลักของครอบครัว หรือกลัวว่าจะไม่มีใครเลี้ยงดู เราจึงให้กำลังใจไปว่าถึงสามีไม่อยู่แต่คุณก็เป็นเสาหลักได้ ในฐานะแม่ หรือญาติที่ยินดีช่วยก็มีอีกหลายคนไม่ต้องกังวลไปหรอก ทั้งหมดที่ว่ามาไม่ได้ถามเขาสักคำ เราคิดเอาเองและคนส่วนใหญ่ก็มักจะเชื่อว่าความคิดของเรา ถูกต้องที่สุดเสียด้วย
งานของ อ.โยชิดะ อาคิมิ เรื่องทางลาดใต้แสงอาทิตย์ ชวนให้จี๊ดเรื่องการให้กำลังใจแบบทึกทักเอาเองมากค่ะ มีตอนหนึ่งที่ ยูตะ เด็กหนุ่มกัปตันทีมฟุตบอลมัธยมต้นอนาคตไกล ต้องตัดขาข้างขวาออกเพราะโรคร้าย เขาใช้เวลา 10 เดือนทำกายภาพบำบัด และฝึกใช้ขาเทียมจนคล่อง เมื่อกลับมาลงสนามอีกครั้ง เพื่อนร่วมทีมทุกคนฝากความหวังว่าอดีตกัปตันจะกลับมาฉายฟอร์มร้อนแรงอีกครั้ง แต่เมื่อลงสนามครั้งแรก ทุกคนก็ทำสีหน้าผิดหวังจนปิดไม่อยู่ แม้จะเผื่อใจไว้บ้างว่ายูตะ ยังใช้ขาเทียมไม่คล่องและติดขัดอยู่ แต่การเล่นโดยรวมถือว่าแย่กว่าที่คิดมาก ในที่สุดนักฟุตบอลแข้งขวาทองคำที่ตอนนี้กลายเป็นขาเทียมจึงเหลือแต่ตำนาน
เพื่อนร่วมทีมทุกคนยังคงให้กำลังใจยูตะโดยบอกว่า “ให้ขยันฝึกนะ พยายามเข้านะ สักวันต้องลงสนามได้อีกแน่” คำให้กำลังใจพวกนี้เราคิดเอาเองว่าอดีตนักกีฬาใส่ขาเทียมแล้วฟอร์มแย่ คงเสียกำลังใจเพราะเคลื่อนไหวไม่คล่อง ดังนั้นถ้าขยันฝึกก็น่าจะคล่องขึ้น จนเลิกกังวลและอาจจะเดาว่าเพราะพยายามไม่มากพอถึงได้เล่นไม่ดี ดังนั้นถ้าพยายามมากกว่านี้ต้องดีขึ้นแน่ๆ สุดท้ายถึงไม่รู้ว่าจะลงสนามได้อีกหรือเปล่า แต่คิดว่าถ้าได้ลงสนามจริงๆ ยูตะคงดีใจ ดังนั้นให้กำลังใจว่าสักวัน ต้องได้ลงสนามอีกดีกว่า กลไกการให้กำลังใจระดับลมปากแบบนี้เร็วเหมือนฟ้าผ่าเลยค่ะ ถ้าแค่อยากหาคนรับฟังก็คงไม่ได้คิดอะไร แต่ถ้าเขาต้องการกำลังใจจากคนที่ห่วงเขาจริงๆ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคนๆนั้นคือพ่อแม่) การทึกทักให้กำลังใจแบบคิดเอาเอง เป็นโทษมากกว่าที่คิดนะคะ
เทคนิคการให้กำลังใจที่ไม่ใช่แค่ให้คำหวานมีหลักการง่ายมากๆเลยค่ะ “เพียงแค่เราฟังเยอะๆ ถามเยอะๆ แนะนำน้อยๆ” เท่านั้นเอง
ทั้งที่ทุกคนทราบเรื่องนี้เป็นอย่างดีแต่ทักจะเลี่ยงไปทึกทักและโปรยคำหวานกันเสียก่อน เพราะมักจะรับมือกับ “อารมณ์” ไม่ถูกค่ะ มนุษย์เราเป็นถังเก็บอารมณ์ที่แน่นหนามาก แต่มักจะแตกเวลาโดนอารมณ์ด้วยกันเข้ามาชน ดังนั้นจะให้รับฟังซีนดราม่าไปเรื่อยๆ เห็นทีจะอึดอัดตาย จะให้ถามเรื่องที่เกิดขึ้นก็ดันถามไม่เป็นอีก บวกลบคูณหารแล้ว เอาเป็นว่าให้กำลังใจไปเลยแล้วก็โดยมีตั้งแต่พูดเรื่องดีขึ้นมาลอยๆ (เช่นสู้ๆนะ)หรือให้คำแนะนำด้วยความห่วงใย (เช่น เธอไม่ต้องไปแคร์มันหรอก)
คำพูดเหล่านี้ไม่ผิดนะคะ เพียงแต่ถ้าจู่ๆ โผล่มาไม่มีปี่มีขลุ่ย ไม่ได้ถามเลยสักคำว่าเธอไม่สู้หรือเธอแคร์มากแค่ไหน คนที่เราให้กำลังใจก็อาจจะตอกลับมาว่า “เธอไม่ยอมฟังฉันเลย” ก็ได้ค่ะ
จากคุณ |
:
กำเนิดจากน้ำที่หน้าห้องน้ำ
|
เขียนเมื่อ |
:
15 ส.ค. 54 01:41:49
|
|
|
|