Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
พระราชมนู กับพระศรีถมอรัตน์ เกร็ดความรู้เล็กน้อยจากประวัติศาสตร์ครับ ติดต่อทีมงาน

จากการถกกันเรื่องความแตกต่างในภาพยนตร์ และประวัติศาสตร์ จึงเป็นสมควรว่าเพื่อให้ได้อรรถรสในการชม ตำนานสมเด็จพระนเรศวร และข้อมูลในประวัติศาสตร์ จึงอยากจะนำเสนอข้อมูลที่หลายคน อาจไม่ทราบในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ได้รู้กันนะครับ

และอย่าไปต่อว่าหรือตำหนิผู้สร้างหนังว่าไม่ตรงกับประวัติศาสตร์หรือไม่อย่างไร อันนั้นปล่อยให้เป็นมุมมองของผู้กำกับไปนะครับ เพราะนั่นเป็นหนัง ที่สร้างขึ้นเพื่อความสนุก และจิตสำนึกในความรักแผ่นดินครับ ข้อมูลนี้ถือเป็นเกร็ดประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นตามที่ถูกบันทึกไว้ในพงศาวดารครับ...

----------------------------------------------------------------------------
อันนี้ จะกล่าวถึงตัวละครสำคัญอย่างพระราชมนู กับพระศรีถมอรัตน์ ครับ

พระราชมนู (แสดงโดย นพชัย ชัยนาม) เป็นแม่ทัพที่เก่งกล้าสามารถผู้หนึ่งเท่ีาที่กองทัพไทยเคยมีมา ได้เป็นแม่ทัพในศึกสำคัญๆ หลายครั้ง เช่น ศึกพิชิตทัพพระเจ้าเชียงใหม่ที่บ้านสระเกศ, ศึกนันทบุเรงล้อมกรุง, ศึกตีทัพพระมหาอุปราชาแตกครั้งแรกที่เมืองกาญจน์, ศึกยุทธหัตถี ไปจนถึงศึกตีเมืองละแวก และหลังจากที่พิชิตละแวกได้ในครั้งนี้นี่เอง ที่พระราชมนูได้รับการอวยยศให้เป็น "ออกญามหาเสนา ว่าที่สมุหพระกลาโหม" ซึ่งเป็นตำแหน่งแม่ทัพใหญ่ คุมกิจการทหารทั่วทั้งพระราชอาณาจักร

ความแต่กต่างระหว่างประวัติศาสตร์ กับในภาพยนตร์ซึ่งเป็นจินตนาการของท่านมุ้ยนั้น มีความแตกต่างกันค่อนข้างมากครับ เพราะในประวัติศาสตร์ ทหารคนสนิทที่เป็นข้าหลวงเดิมของสมเด็จพระนเรศฯ มาแต่ครั้งที่ทรงครองพิษณุโลกนั้น มีพระชัยบุรี (ในหนังแสดงโดย ปราบปฎล สกุลบาง) กับพระศรีถมอรัตน์ (แสดงโดย พ.ต.คมกริช อินทรสุวรรณ) ถือเป็นทหารคนสนิทรุ่นแรกๆ นับตั้งแต่ที่พระนเรศฯ เสด็จออกจากกรุงหงสาวดี มาครองเมืองพิษณุโลก

ส่วนพระราชมนู มาปรากฎชื่อครั้งแรกในศึกพระเจ้าเชียงใหม่ ทำให้สันนิษฐานกันว่า น่าจะเป็นทหารรุ่นน้อง ที่เข้ามาใหม่ในครั้งที่พระนเรศฯ ทรงสร้างกองทัพรุ่นใหม่ที่เมืองพิษณุโลก หรืออาจจะเป็นลูกของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพมาแต่ครั้งสมเด็จพระมหาธรรมราชาขึ้นครองราชย์ (หลังเสียกรุงครั้งแรก) และทำความดีความชอบในการศึกสงครามได้อย่างโดดเด่น และได้เลื่อนขั้นขึ้นมาเรื่อยๆ จนได้ตำแหน่ง "พระราชมนู" ดังที่เราได้รู้จักกันดี

หลังการถอนทัพกลับไปอย่างบอบช้ำของพระเจ้านันทบุเรง ที่ยกทัพมหาศาลมาล้อมกรุง และทำการไม่สำเร็จ ไม่นานพระมหาธรรมราชา เสด็จสวรรคต พระนเรศฯ จึงได้ขึ้นครองราชย์ แม่ทัพหลายคนได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นมา โดยพระชัยบุรี ได้เลื่อนเป็น "พระยาชัยบูรณ์" ส่วนพระศรีถมอรัตน์ ได้เลื่อนเป็น "พระยาศรีไสยณรงค์" ส่วนพระราชมนู นั้นไม่ปรากฏว่าได้รับการอวยยศหรือไม่อย่างไร

ทีนี้เหตุมาเกิดตอนศึกยุทธหัตถี ก่อนที่ทัพไทยจะเข้าปะทะกับทัพพม่าที่หนองสาหร่าย สมเด็จพระนเรศฯ โปรดฯ ให้ พระยาศรีไสยณรงค์ ยกกองร้อยไปสืบข่าวข้าศึก ส่วนพระองค์ทรงจัดกระบวนทัพ รอฟังข่าวจากพระยาศรีไสยณรงค์ว่าพม่าจัดกระบวนทัพมาอย่างไร ทีนี้คราวซวยของพระยาศรีไสยณรงค์ก็บังเกิดเอาคราวนี้ล่ะครับ คือแทนที่จะทำการสืบข่าวตามที่ได้รับคำสั่งมา จะด้วยความดุร้าย ใจร้อน เจ้าอารมณ์ หรืออยากจะแสดงความเก่งกล้าก็แล้วแต่ พระยามีชื่อผู้นี้กลับฝ่าฝืนคำสั่ง ให้กองร้อยของตนเข้าประจัญบานกับทัพหน้าของพม่าที่ยกเข้ามา แรกๆ ก็สูสี แต่พอสู้ๆ ไปพม่ายกเข้ามาเรื่อยๆ กองทัพของพระยาศรีไสยณรงค์ ก็แตกฉาน โดนพม่าไล่ฆ่าฟันเป็นอลหม่าน

ทีนี้กองข่าวจากทัพหลวง ตามไปสืบข่าวทัพของพระยาศรีไสยณรงค์ ก็ได้ความว่าพระยาศรีไสยณรงค์ บังอาจนำทหารเข้าต่อตีกับพม่าจนพ่ายแพ้ สมเด็จพระนเรศฯ ทรงทราบข่าว ก็ทรงพิโรธเป็นอย่างมาก เพราะแผนการจัดวางทัพพังครืน ต้องปรับกระบวนใหม่จนวุ่นวาย

จนกระทั่งกองทัพไทย กับพม่าได้เข้าปะทะกัน ช้างทรงของสมเด็จพระนเรศฯ กับพระอนุชา พระเอกาทศรถ ควบตะบึงเข้าสู่วงล้อมของพม่า จนเกิดการยุทธหัตถีกันระหว่างสมเด็จพระนเรศฯ กับพระมหาอุปราชา จนสามารถนำชัยชนะมาได้อย่างหวุดหวิด (หลักฐานพม่าบอกว่าพระมหาอุปราชาถูกปืนยิง)

หลังได้ชัยชนะ ตีทัพพม่าจนแตกพ่ายกลับไปแล้ว สมเด็จพระนเรศฯ ไม่ทรงมีพระทัยยินดีในชัยชนะ ทรงแค้นเคืองพระยาศรีไสยณรงค์ ที่บังอาจฝ่าฝืนคำสั่งจนเกือบทำให้กองทัพไทยเสียหาย และขัดเคืองแม่ทัพอีกหลายคน ที่ตามช้างทรงไม่ทัน ปล่อยให้พระองคื กับพระอนุชา ถูกกองทหารพม่าล้อมไว้จนเกือบเอาชีวิตไม่รอด จึงมีพระบรมราชโองการให้จับพระยาศรีไสยณรงค์ กับแม่ทัพที่ตามช้างทรงไม่ทันอีกหลายคน ไปจำห้าประการ (วิธีการจำนักโทษในสมัยกรุงศรีอยุธยา) และจะทำการประหารตามอาญาศึก

แต่แล้ว ก็ได้มีพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่จากวัดป่าแก้ว ซึ่งคงจะเป็นพระที่สมเด็จพระนเรศฯ ทรงนับถือมาก ได้มาขอชีวิตแม่ทัพเหล่านี้ไว้ โดยหว่านล้อมให้เห็นถึงความดีความชอบครั้งก่อนๆ พระรูปนี้ได้หว่านล้อมจนสมเด็จพระนเรศฯ พระทัยอ่อน ทรงยอมลดโทษประหารแม่ทัพเหล่านี้

แต่ไม่ใช่เพียงแค่ลดโทษประหารเท่านั้น แม่ทัพที่ต้องโทษทุกคน ได้รับพระบรมราชโองการให้ไปตีเมืองทวาย มะิริด ตะนาวศรี จากพม่า เป็นการไถ่โทษ ถ้าแม่ทัพทำไม่สำเร็จ ก็ไม่ต้องกลับมาให้เห็นหน้าอีก

แต่การแต่การแต่งตั้งแม่ทัพครั้งนี้ มีกลิ่นตุๆ ว่า สมเด็จพระนเรศฯ ไม่ทรงโปรด พระยาศรีไสยณรงค์ หรือพระศรีถมอรัตน์เดิม อีกต่อไปแล้ว เพราะแม่ทัพที่ไปตีมะริด ทวาย ตะนาวศรี ครั้งนี้ คือพระยาจักรี พระยาพระคลัง พระยาเทพอรชุน ซึ่งเป็นแม่ทัพที่ต้องโทษคราวศึกยุทธหัตถี ส่วนพระยาศรีไสยณรงค์ ถูกให้ติดตามไปกับกองทัพเฉยๆ ไม่มีหน้าที่คุมกองทหารใดๆ เลย

การศึกที่มะริด ทวาย ตะนาวศรี จบลงด้วยชัยชนะของกรุงศรีอยุธยา ยึดเมืองทั้ง ๓ ให้อยู่ในขอบขัณฑสีมาของอาณาจักรสยามได้สำเร็จ แม่ทัพทุกคนสามารถปฏิบัติการจนสามารถไถ่โทษตนเองได้ พระข่าวชัยชนะไปถึง สมเด็จพระนเรศฯ จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีไสยณรงค์ เป็นเจ้าเมืองตะนาวศรีไปเลย

แต่อย่าเพิ่ง งง ว่านี่คือการเลื่อนตำแหน่ง แต่ในสมัยนั้น ข้าหลวงคนสนิทของพระเจ้าแผ่นดิน ปฏิบัติราชการสงครามอย่างใกล้ชิดมาช้านาน หากถูกส่งให้ครองเมืองชายแดนสุดกู่เยี่ยงนี้แล้ว ถือว่านี่คือการเนรเทศเพียงอย่างเดียว

ในตอนนี้ พระยาศรีไสยณรงค์จะน้อยใจหรือไม่ คงไม่รู้แน่ เพราะท่านก็ครองเมืองนี้ได้ราว ๓ ปี แต่เมื่อสมเด็จพระนเรศฯ ยกทัพใหญ่ไปพิชิตเมืองละแวกได้แล้ว พระเอกของศึกครั้งนี้คือพระราชมนู ที่โชว์ฝีมือบุกตะลุยตีเมืองสำคัญของเขมร แตกถึง ๒ เมือง ก่อนที่จะร่วมถล่มกรุงละแวกทุกทิศทางจนไ้รับชัยชนะ ความดีความชอบของพระราชมนูครั้งนี้ ทำให้ท่านได้เลื่อนยศเป็นถึง "ออกญาอัครมหาเสนา ว่าที่สมุหพระกลาโหม" คุมทหารทั้งกองทัพ

การเลื่อนขั้นของพระราชมนูครั้งนี้ เป็นแรงกระเพื่อมไปถึงเมืองตะนาวศรี เพราะเมื่อพระยาศรีไสยณรงค์ทราบข่าวว่าพระราชมนู ทหารรุ่นน้องได้เลื่อนขั้นเกินหน้าเกินตาถึงเพียงนั้น ก็ได้เสียใจเป็นอย่างยิ่ง ในที่สุด พระยาศรีไสยณรงค์ได้ประกาศเป็น "กบฏ" ต่ออาณาจักรศรีอยุธยากันเลย

เมื่อข่าวกบฏมาถึงพระนคร สมเด็จพระนเรศฯ ทรงฉงนพระทัยมาก ให้ทหารไปสืบข่าวอีกครั้งว่าเป็นจริงหรือไม่ เมื่อข่าวมาถึงอีกครั้งและได้รับการยืนยันว่าเป็นจริง พระองค์จึงทรงโปรดฯ ให้พระเอกาทศรถ พระอนุชา ยกกองทัพไปยังตะนาวศรีทันที

น่าสังเกตว่า ที่ทรงโปรดฯ ให้พระเอกาทศรถ ยกไปตะนาวศรี ดูจะเป็นเรื่องสำคัญจริงๆ เพราะการกบฏของเจ้าเมืองเล็กๆ ปลายแดน อาจจะให้แม่ทัพรองๆ ท่านอื่นๆ ยกไปปราบก็ย่อมได้ แต่นี่คือ พระยาศรีไสยณรงค์ นายทหารคนสนิทเก่าแก่ของพระองค์ดำ พระองค์อาจจะทรงคิดว่าถ้าให้แม่ทัพคนอื่นไป อาจจะเกิดการรบราฆ่าฟันกันอย่างใหญ่โตได้ เพราะแม่ทัพที่ดุร้ายอย่างพระยาศรีไสยณรงค์ คงไม่ลดราวาศอกกับแม่ทัพรุ่นๆ เดียวกันแน่

แต่ที่ทรงโปรดฯ ให้พระเอกาทศรถ ยกไปอาจทำให้พระยาศรีไสยณรงค์ ยังมีความเกรงใจพระองค์ขาว และออกมายอมรับผิดแต่โดยดีได้ แต่เมื่อพระเอกาทศรถยกไป พระองค์ขาวทรงมิได้ให้กองทัพเข้าตีโดยทันที แต่ทรงแต่งทหารเข้าไปเจรจาก่อนเป้นขั้นแรก

ในพงศาวดาร บรรยายตอนนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า เมื่อทัพกรุงศรีอยุธยายกมาถึงตะนาวศรี พระยาศรีไสยณรงค์เกณฑ์ทหารขึ้นเชิงเทิน เตีรยมรบอย่างเต็มกำลัง แต่เมื่อข้าหลวงของพระองค์ขาวเข้าไปเจรจา ว่าผู้ที่ยกทัพมาคือพระเอกาทศรถ พระยาศรีไสยณรงค์ถึงกับตกใจจนหอกหลุดจากมือ แต่เมื่อคิดไปคิดมาอยู่นาน และด้วยทิฐิมานะความเป็นนายทหารผู้เจนศึกมาก่อน ได้กล่าวกับข้าหลวงว่า "กาลได้ล่วงเลยมาถึงเพียงนี้แล้ว ข้าคงเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ เื่อข้าจักเป็นกบฏแล้ว ข้าก็คือกบฏ จะจับกุมข้า ก็ขอให้พระองค์ขาวยกทัพเข้ามาเลย ข้าจะรอรับศึก"

หรือนี่คือการรับในชะตากรรมแล้วว่า คงต้องขอยอมตายไปพร้อมกับทิฐิมานะของตนเอง...

เมื่อข้าหลวงไปทูลพระเอกาทศรถ พระองค์ก็ให้ทหารยกทัพเข้าตีเมืองทันที แต่การตีเมืองคราวนี้ ทหารเมืองตะนาวศรีได้รู้กันทั่วทุกทัพแล้วว่าผู้ที่เป็นแม่ทัพคือพระเอกาทศรถ ก็แทบจะไม่มีใครกล้าสู้กับทหารกรุงศรีฯ ปล่อยให้ทหารไทยกรูเข้ากำแพงเมืองได้อย่างง่ายดาย และสามารถจับกุมตัวพระยาศรีไสยณรงค์ได้ในที่สุด

พระเอกาทศรถ ทรงให้ทหารกุมตัวไว้มั่น ทรงสั่งทหารเฆี่ยน ๓๐ ทีแล้วจำคุกไว้ก่อน และโปรดฯ ให้ม้าเร็ว แจ้งข่าวไปยังกรุงศรีฯ ว่าสามารถจับกุมพระยาศรีไสยณรงค์ได้แล้ว จะต้องทำประการใด

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงค์ราชานุภาพ ทรงวิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจไว้ในพระราชนิพนธ์ไทยรบพม่าว่า จริงๆ แล้ว พระเอกาทศรถ จะทรงประหารเลยก็ได้ แต่ด้วยความที่เห็นว่า พระยาผู้นี้เป็นข้าหลวงคนสนิทที่คุ้นเคยกับสมเด็จพระนเรศฯ มาก่อน และอาจจะได้คุ้นเคยกับพระเอกาทศรถด้วยเช่นกัน จึงรั้งรอ ส่งม้าเร็วไปแจ้งข่าวก่อน เผื่อว่าสมเด็จพระนเรศฯ จะให้นำตัวกลับมากุมขัง แต่เมื่อม้าเร็วไปถึง สมเด็จพระนเรศฯ คงจะตัดเยื่อใยต่อพระยาผู้นี้แล้ว จึงทรงรับสั่งว่าให้ประหารพระยาศรีไสยณรงค์เสียที่เมืองตะนาวศรี ไม่ให้สมเด็จพระอนุชาธิราช นำตัวมาขอไถ่โทษที่กรุงศรีอยุธยาอีกได้

พระยาศรีไสยณรงค์ จึงจบชีวิตเพราะความทิฐิที่มีต่อทหารรุ่นน้องอย่างพระราชมนู เป็นประวัติศาสตร์ของนายทหารที่น่าสนใจครั้งหนึ่ง ที่ถือเป็นบทเรียนให้กับชีวิตได้เป็นอย่างดีว่าชีวิต หน้าที่การงานของเราไม่เที่ยงครับ จงปล่อยวางและรับรู้อยู่เสมอเถอะครับ ว่ามีคลื่นลูกเก่า และก็มีคลื่นลูกใหม่ เป็นสัจธรรมที่แท้จริงของชีวิตครับ....

แก้ไขเมื่อ 18 ส.ค. 54 11:03:58

แก้ไขเมื่อ 18 ส.ค. 54 10:15:35

จากคุณ : ออกหลวงมงคล
เขียนเมื่อ : 17 ส.ค. 54 18:09:54




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com