Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
เปิดใจคนเขียนบท "ทวิภพ" กับละครที่ถูกสับเละที่สุดในรอบปี ติดต่อทีมงาน

"ดูทวิภพเวอร์ชั่นนี้แล้วปวดตับ" เป็นคำสรุปรวมความรู้สึกของผู้ชมที่มีต่อละครโทรทัศน์เรื่องทวิภพ โดยก่อนหน้าที่จะอาการ 'ปวดตับ' จะเกิดขึ้น ความรู้สึกซึ่งดังก้องอยู่ในโลกอินเทอร์เน็ตนั้นมีตั้งแต่ “บทละครเวอร์ชั่นนี้นำบทประพันธ์ของทมยันตีมายำเสียจนไม่เหลือเค้าเดิม” , “ตัวละครมณีจันทร์ก๋ากั๋นเกินงามและบ้าผู้ชายเกินเหตุ” , “ตัวละครอื่นๆ ตั้งแต่ดร. ตรองไปจนถึงคุณหญิงแสร์ก็ผิดเพี้ยนไปจากคาแรกเตอร์ในบทประพันธ์ชนิดที่ที่เหมือนกันแค่ชื่อเท่านั้น” ฯลฯ
     
       ความรู้สึกไม่ได้ดั่งใจกับทวิภพเวอร์ชั่นนี้ลุกลามไปจนเกิดการตำหนิไปถึงทุกองค์ประกอบแต่ศูนย์รวมความไม่สบอารมณ์ตกไปอยู่ที่ “คนเขียนบทโทรทัศน์” ซึ่งผู้ชมหลายคนยกความผิดให้เธอแบกรับไปเต็มๆ หลังจากนิ่งฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์มานาน 'นันทวรรณ รุ่งวงศ์พาณิชย์' นักเขียนบทละครโทรทัศน์ชื่อดังผู้อยู่เบื้องหลังทวิภพเวอร์ชั่น 2011 ซึ่งถูกยกให้เป็น “ละครที่ถูกสับเละที่สุดในรอบปี” อย่างไม่เป็นทางการไปแล้วก็ขอลุกขึ้นมาบอกกล่าวถึงที่มาที่ไปของปรากฏการณ์ 'ทวิภพ -ทวิเพี้ยน' ให้ผู้ชมได้รับรู้กันสักที
     
      + เพราะอะไรคุณถึงตีความทวิภพออกมาในกลิ่นรสที่แตกต่างไปจากเดิมถึงขนาดนี้?
      "เนื่องจากผู้ที่ทำทวิภพในเวอร์ชั่นที่แล้วก็เป็นดาราวิดีโอ ถ้าเราคิดง่ายๆ ว่าถ้าดาราวิดีโอจะใช้บทเก่าที่ตัวเองเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์อยู่ก็ได้ แต่ดาราวิดีโอเลือกที่จะทำทวิภพให้เป็นสมัยใหม่ ยุค พ.ศ. 2554 จริงๆ เราจะสังเกตว่านางเอกก็ไม่ได้บอกว่าตัวเองมาจากพุทธศักราชสองพันห้าร้อยยี่สิบกว่าซึ่งเป็นปีที่บทประพันธ์เกิดขึ้น มณีจันทร์บอกว่าตัวเองมาจากปี พ.ศ. 2553 ก็คือปีที่แล้ว เพราะฉะนั้นทวิภพเป็นบทประพันธ์ที่อันตรายในการที่จะได้รับความนิยมอีกครั้งหนึ่ง สาเหตุเพราะว่าคนไทยทั่วประเทศจะรู้จักทวิภพอยู่แล้ว และเป็นบทประพันธ์ที่แน่นอนเลยว่าจะมีการรีเมคอีกเรื่อยๆ ในทุก 10 ปีที่ผ่านไป เพราะฉะนั้นการเล่าเรื่องทวิภพในแต่ละเวอร์ชั่นควรจะมีเอกลักษณ์ส่วนตัวที่ไม่เหมือนกัน เช่นละครเวทีต้องเล่าให้สั้น ภาพยนตร์ก็ต้องเล่าในมุมที่ทันสมัย ล้ำไปเลย"
     
      "สำหรับทีวี สิ่งที่เหมาะกับทีวีจริงๆ คือการเข้าถึงคนส่วนใหญ่ เพราะว่าเรามีทีวีเครื่องเดียว มีคนตั้งแต่เด็กจนถึงคนแก่ดูทีวีเครื่องเดียวกัน มีคนตั้งแต่มีการศึกษาสูงมากๆ จบด็อกเตอร์ไปจนถึงคนที่ไม่ได้มีการศึกษามากนักต้องการเข้าใจอะไรง่ายๆ ดูทีวีเครื่องเดียวกัน เพราะฉะนั้นทวิภพก็จะถูกตีความสำหรับแมส(Mass)จริงๆ สำหรับมวลชนจริงๆ เพื่อให้ทุกคนที่ไม่ได้อ่านนวนิยาย เพราะต้องยอมรับจริงๆ นะว่าคนไทยอ่านนวนิยายน้อยมาก แต่ว่าเขาก็มีสิทธิ์ที่จะเข้าถึงทวิภพได้เท่ากับคนอื่นๆ เพราะฉะนั้นสื่อโทรทัศน์ก็จะออกมาเพื่อตอบสนองคนกลุ่มนี้ คือกลุ่มเด็ก กลุ่มที่ไม่เคยมีแบ็คกราวน์ของทวิภพมาก่อน กลุ่มคนส่วนใหญ่ที่การอ่านนิยายไม่ใช่พฤติกรรมปกติของเขา จุดมุ่งหมายรวมๆ ของทวิภพก็คือเพื่อสืบต่ออายุของวรรณกรรม"
     
      "เอาง่ายๆ เลยถ้าสมมุติมีคนไปอ่าน ไปซื้อหนังสือทวิภพมากขึ้นเพราะละครเรื่องนี้ หรือว่าเด็กอายุต่ำกว่า 20 -30 รู้สึกว่าอยากเดินเข้าห้องสมุดเพื่ออ่านทวิภพเวอร์ชั่นออริจินัล อย่างนี้ถือว่าเป็นการประสบความสำเร็จแล้วล่ะ แต่ว่าสิ่งที่เขากำลังถกเถียงกันอยู่ เรื่องประวัติศาสตร์ถูกต้องไหม ทวิภพเวอร์ชั่นนี้มีความคลาสสิคพอไหม พวกนี้เป็นจุดประสงค์ของเราหมด เพราะละครควรจะทำให้คนคิด ให้คนวิจารณ์ ทีนี้ของสำคัญสี่อย่างเกี่ยวกับทวิภพก็คือ คุณทมยันตี(นามปากกาของคุณหญิงวิมล เจียมเจริญ) หนังสือวรรณกรรมทวิภพ ร.ศ. 112 และก็บรรพบุรุษไทยที่อยู่ในเหตุการณ์ ร.ศ. 112 ทวิภพต้องทำหน้าที่ 4 อย่าง เวลามีการถกเถียงกันทำให้ของสี่อย่างนี้ถูกพูดถึง ทุกครั้งที่ถูกพูดถึงเป็นเรื่องที่ดีหมดเลยสำหรับละคร เพราะทำให้ทุกคนอยากรู้ว่าความเป็นจริงเป็นอย่างไร แล้วก็จะไปค้นหามากขึ้น ไปค้นหาประวัติศาสตร์มากขึ้น ไปค้นหาหนังสือตัวจริงมาอ่านมากขึ้น เพราะคนไทยจริงๆ ก็ไม่ค่อยรู้เรื่อง ร.ศ. 112 ได้รู้มากขึ้นเป็นเรื่องที่ดี เพราะฉะนั้นจุดประสงค์จริงๆ ของการตีความเวอร์ชั่นนี้โดยสรุปก็คือก็ให้เหมาะสมกับยุคสมัย และเหมาะสมกับสื่อประเภททีวีที่ต้องการเข้าถึงคนจำนวนมาก แล้วก็อาจจะมีสีสันที่ฉูดฉาดเพราะต้องยอมรับว่าสื่อทีวีเป็นสื่อที่มีการ แข่งขันสูง เราก็ต้องมีการแย่งชิงพื้นที่จากคู่แข่งบ้าง(หัวเราะ) นี่คือเหตุผลน่ะค่ะ"
     
      + โจทย์ที่ยากที่สุดสำหรับการตีความทวิภพให้ออกมาเป็นเวอร์ชั่นปัจจุบันคืออะไร?
      "สิ่งที่กลัวที่สุดสำหรับโปรดักชันทวิภพเวอร์ชั่นนี้ ดิฉันเข้าใจว่าเป็นการที่คนไทยเกือบทั้งประเทศรู้จักทวิภพอยู่แล้วว่าดำเนินเรื่องอย่างไร จบอย่างไร เริ่มต้นอย่างไร เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยากที่สุดที่จะทำให้คนเปิดดูละครที่ตัวเองรู้เรื่องอยู่แล้ว เพราะมันออกมาในทุกสื่อ แล้วปมเรื่องของเขาก็เป็นเรื่องที่ง่ายๆ แล้วแถมยังต้องเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ที่เป็นเรื่องที่ยากที่จะอธิบายอีก นี่เป็นโจทย์ที่ยากมากที่จะทำให้คนไม่รู้สึกเบื่อทวิภพที่จะกลับมาดูใหม่ จริงๆ ทางช่องก็รู้เรื่องนี้อยู่แล้ว ถ้าพูดจริงๆ ก็ไม่ได้หวังว่าจะเรตติ้งสูงอะไรมาก แต่ทางช่องถือบทประพันธ์ทวิภพมาตั้งนานแล้ว ในเมื่อเวอร์ชั่นเก่ากับเวอร์ชั่นนี้ผ่านมา 10 กว่าปีแล้ว ได้เวลาที่จะเอากลับมาให้คนรุ่นนี้ได้ดูอีกทีนึง เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องที่ทางช่องก็มีเจตนาที่ดีนะคะ"
     
      + สรุปว่าจุดประสงค์ของคนเขียนบทก็คือต้องการจะสื่อสารในวงกว้างโดยเน้นที่เด็กและคนที่ไม่เคยอ่านทวิภพ?
      "ถูกต้อง"
     
      + แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าคนที่เคยอ่าน คนที่คุ้นเคยกับทวิภพกำลังวิพากษ์วิจารณ์ไปในทางลบมากๆ?
      "ดิฉันไม่รู้สึกผิดคาดอะไรนะ(หัวเราะ) เพราะว่าดิฉันเป็นคนอ่านนิยายทวิภพมาก่อน ตอนเด็กๆ ก็จะอ่านซ้ำๆ เหมือนกับเขา ทวิภพติดอันดับนิยายที่มีคนอ่านเยอะที่สุด แล้วอ่านซ้ำกันด้วย เพราะทวิภพไม่เหมือนคู่กรรม คู่กรรมมีความเศร้าอยู่ ทวิภพมีแต่ความสุข คนอ่านทวิภพมีโอกาสสูงมากที่เขาอ่านแล้วจะยึดติดเพราะเขาอ่านหลายรอบ เพราะฉะนั้นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่รู้อยู่แล้วว่าจะต้องเกิดขึ้น เป็นเรื่องที่เรารู้สึกว่าพูดถึงดีกว่าไม่พูดถึง สิ่งที่น่ากลัวที่สุดก็คือการเงียบไปเลย(หัวเราะ) สำหรับคนทำสื่อ เรื่องด่าจริงๆ เป็นสิทธิ์ของเขา เขาจะบ่นยังไงก็ได้ แต่เขายังดูอยู่"
     
      "คนไทยเนี่ยพอดูละครเสร็จตอนเช้าไปร้านอาหาร ร้านข้าวแกงต้องเม้าท์เรื่องละคร เป็นเรื่องธรรมดามาก ทีนี้ในมุมที่เขาเม้าท์ก็อาจจะมีบางคนที่เขารับไม่ได้เลย อันนี้เราก็ต้องเคารพความคิดเขา แต่ก็มีบางคนที่รับไม่ได้แต่ก็ยังดูอยู่อย่างเหนียวแน่น ดูไปบ่นไป นี่ก็จะเป็นคาแรกเตอร์อีกประเภทหนึ่งที่เราว่าเป็นเรื่องดีมากกว่าเรื่องไม่ดี ยิ่งพูดกันมากๆ ก็ยิ่งดู เพราะจริงๆ แล้วสิ่งที่เขาพูดกันเนี่ย ละครเพิ่งฉายไปไม่ถึงครึ่งเลย อย่างเช่นเขาพูดในมุมที่ว่ามณีจันทร์ดูติ๊งต๊องเกินไป มันยังมาไม่ถึงครึ่ง ผู้หญิงอย่างมณีจันทร์อาจจะมีมุมที่คุณคาดไม่ถึงอยู่ก็ได้ซึ่งอยู่ในครึ่งหลังของเรื่อง เพราะฉะนั้นถ้าเปิดใจดูต่อไปอีกนิดนึงก็จะเห็น"
     
      "ทวิภพเวอร์ชั่นนี้ตอนที่ดิฉันเขียน ดิฉันก็ตัดเอาบทประพันธ์มาใส่หรือบางทีก็ใช้ทั้งฉากเลย ก็เข้าใจเขานะเขาก็ยังไม่ได้รู้สึกว่าเรายำอะไรมากมาย เพราะแก่นของเรื่องก็ยังอยู่หมด ฉากสำคัญของเรื่องก็แทบจะอยู่หมดเลย เพราะว่าทวิภพเหมาะที่จะเอามาทำเป็นละครโทรทัศน์อยู่แล้ว วิธีเล่าของคุณหญิง(ทมยันตี)เป็นสถานการณ์ที่สนุกอยู่แล้ว เราก็ไม่ต้องไปดัดแปลง ก็เอาสถานการณ์ของเขามาใช้ ดิฉันก็เปิดนวนิยายแล้วก็พิมพ์ตามเลยบ่อยนะคะเพราะฉะนั้นเวอร์ชั่นนี้ที่เขาบอกว่าไม่เหมือนบทประพันธ์จริงๆ ดิฉันว่าเยอะไปนิดนึง จริงๆ แล้วก็ค่อนข้างเหมือน เพียงแต่ว่ามีการตีความบางอย่าง อย่างเรื่องคาแรกเตอร์ให้มีสีสัน แต่จริงๆ คนที่บ่นเขาก็เข้าใจแหละ เพียงแต่ว่าดูไปบ่นไปจะสนุกกว่าดูเฉยๆ มั้ง ไม่รู้เพราะอะไร(ยิ้ม)"
     
      + คุณต้องการจะบอกว่าคาแรกเตอร์ที่ต่างจากบทประพันธืคือสีสันที่คุณใส่เข้ามา?
      "ใช่ค่ะ แล้วก็มีการเพิ่มตัวละครหรือการเพิ่มเส้นเรื่องของตัวรอง สาเหตุก็เป็นเพราะเป็นเรื่องปกติของนวนิยาย เพราะนวนิยายสำหรับการทำละครจะสั้นเกินไป หมายความว่ามันจะเล่าประมาณสักแปดตอนจบ ถ้ายึดตามหนังสือ เพราะฉะนั้นก็ต้องมีการเพิ่มเส้นเรื่อง เช่น เพิ่มตัวละครอย่างคุณอาณัติ(หลวงเจนพาณิช) ปุ๊กลุ๊ก (ประยงค์)หรือการเปลี่ยนเรื่องของกุลวรางค์กับตรองอย่างนี้จะอยู่ในหมวดเดียวกัน ก็คือไม่ใช่ว่าเราต้องการไปยำบทประพันธ์หรอก แต่เป็นการเพิ่มสตรอรี่(Story)เข้าไปเพื่อให้บทประพันธ์สามารถยืนโรงอยู่ได้สักสิบกว่าตอนออกอากาศ"
     
      + ล่าสุดมีบทความในมติชนสุดสัปดาห์ที่วิจารณ์ทวิภพซึ่งเน้นไปที่ตัวมณีจันทร์ที่ดูเหมือนจ้องจะจับผู้ชาย คุณจะตอบบทความดังกล่าวว่าอย่างไร(อ่านบทความนี้ได้ในตอนท้าย)?
      "ก็เป็นสิทธิของเขา แต่เขาตีความเร็วไปนิดนึง เพราะว่าตัวละครมณีจันทร์มีพัฒนาการ พอเข้าครึ่งเรื่องหรือเข้าท่อนหลังของเรื่องจะเห็นมณีจันทร์ชัดเจนขึ้นในเรื่องความเป็นผู้หญิงยุคใหม่ของเธอ ซึ่งการเข้าหาผู้ชายของมณีจันทร์เป็นนิสัยขี้เล่นแบบเด็กๆ ของเขา ไม่ใช่นิสัยบ้าผู้ชาย(หัวเราะ) เพราะมณีจันทร์ไม่ได้มีนิสัยบ้าผู้ชาย ในความคิดดิฉันนะคะ ที่เป็นแบบนั้นเพราะมณีจันทร์ติดนิสัยความเป็นเด็ก ซึ่งในบทประพันธ์ก็มี อย่างเช่นมณีจันทร์เข้าไปในห้องเขาจะสนใจตุ๊กตา มีอยู่ฉากหนึ่งในบทประพันธ์ เราอธิบายคาแรกเตอร์ของเขาด้วยการขยายบางมุมเท่านั้นเอง"
     
      "ส่วนคำว่าผู้หญิงสมัยใหม่ จริงๆ มณีจันทร์มีความเข้าใจในเชิงประวัติศาสตร์ แล้วก็การทำงานอยู่บ้าง เพียงแต่ช่วงต้นๆ ยังไม่ได้ออก บทความนี้ก็จะตีความเร็วไปนิดนึงว่าเขาบ้าผู้ชาย แต่ในความหมายจริงๆ ที่ดิฉันสื่อออกไปเป็นเรื่องของความที่เขาเป็นคนมีนิสัยเด็กๆ ขี้เล่น ขี้แกล้ง ขี้อำคน ประเดี๋ยวพอเขาเลิกอยู่กับคุณหลวงจะเห็นว่าเขาไปอำคนอื่นด้วย เขาอำคนไปหมดทุกคนเลย เพราะความที่เขาเป็นคนนิสัยแบบนี้ จะเห็นว่าแก๊งค์เพื่อนเขาก็จะเป็นคนนิสัยแบบนี้ คือคนสดใส แต่เป็นคนฉลาดหมดเลย เพราะฉะนั้นการตีความว่าบ้าผู้ชายก็เกินไปนิดนึง ในความรู้สึกดิฉันก็คือเขาแค่เป็นคนที่ขี้เล่น ขี้หยอกคน แต่บังเอิญช่วงต้นที่เราเล่าเรื่อง เขายังติดอยู่ในห้อง ซึ่งมีคนๆ เดียวให้เขาเล่นก็คือคุณหลวง แต่ประเดี๋ยวจะเห็นชัดขึ้นว่าพอออกไปจากห้องแล้วเขาจะขี้เล่นไปหมดเลยกับทุกๆ คน กับทุกๆ อย่างที่เขาได้เจอด้วย"
     
      "พอเข้าตรงกลางจะเห็นพัฒนาการของมณีจันทร์ซึ่งเขาเป็นผู้หญิงยุคสมัยใหม่ที่น่าภาคภูมิใจอีกคนหนึ่งนะ ในความรู้สึกของผู้หญิงด้วยกัน เขาเป็นคนที่มีความสามารถ มีความตั้งใจที่จะใช้ชีวิตเพื่อประเทศชาติ มุมนี้ของมณีจันทร์ยิ่งใหญ่กว่าการที่เขาบ้าหรือไม่บ้าผู้ชาย นี่คือเรื่องใหญ่เลยที่ตัวมณีจันทร์จริงๆ ในหนังสือมี ในละครก็มี แต่จะมีเยอะขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงกลางๆ และช่วงท้ายของเรื่อง"
     
      + คุณรู้สึกอย่างไรที่มีบางคนแซวว่าทวิภพเวอร์ชั่นนี้เป็นซี่รี่ย์เกาหลีไปแล้ว?
      "(หัวเราะ)ก็ขำนะ เพราะว่าจริงๆ ดิฉันก็มีชื่อทางด้านเขียนเรื่องโรแมนติกอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นทางผู้ใหญ่เลือกคนเขียนบทกลางๆ แทนที่จะเลือกคนเขียนบทระดับผู้ใหญ่ สาเหตุนี่เขาไม่เคยบอกแต่เชื่อว่ามาจากการที่ต้องการให้ทวิภพอยู่ในโซนของคนวัยกลางๆ คือคนยุคใหม่จริงๆ ซึ่งพี่ก็รู้สึกชอบ โมเมนต์ที่มีคนพูดว่าเริ่มเป็นซี่รี่ย์เกาหลีอะไรแบบนั้นนะ เพราะว่าจริงๆ แล้วเวลาเราตีความคุณค่าของของสิ่งหนึ่งไม่ได้หมายความว่าถ้ามันสดใสขึ้นแล้วจะแปลว่าลดคุณค่าลง ดิฉันไม่ได้ตีความแบบนั้น ในความรู้สึกของดิฉันคิดว่านี่เป็นคำชื่นชมนะ"
     
      + ตั้งแต่เห็นทวิภพเวอร์ชั่นนี้ออกมาเป็นละครคุณพอใจมากน้อยขนาดไหน?
      "พอใจมากนะคะ เพราะว่าละครเรื่องนี้เขาตั้งใจทำมาก จะเห็นว่าเป็นละครที่ปิดกล้องก่อนออกอากาศ แล้วแค่มีหน้าละครก็ขายให้ประเทศจีนได้แล้ว แสดงว่าคุณภาพของมันต้องผ่านตาคนดูพอสมควรถึงขายออกได้ทันที แล้วตัวสตรอรี่(Story)เวลาที่ออกมา นานแล้วที่เราไมได้ดูพีเรียด(Period)แบบดาราวิดีโอ ถามว่าพีเรียดอย่างดาราวิดีโอเกิดขึ้นเนื่องจากผู้กำกับทั้งสองท่านแล้วก็คนที่ทำงานอยู่เป็นคนรุ่นเก่าที่ทำทวิภพเวอร์ชั่นเดิม ทำละครสายโลหิต อย่างโรงถ่ายก็เป็นโรงถ่ายเดิมที่คนรุ่นดิฉันรู้สึกคุ้นแล้วก็คิดถึง ตัวแสดงหลักทั้งสองคนเขาตั้งใจมากรวมทั้งคนอื่นๆ ด้วย"
      " เพราะฉะนั้นเราจะเห็นเลยว่าการสื่อสารของการเป็นคุณหลวง มณีจันทร์ คุณหญิงแสร์อะไรเนี่ยออกมาชัดมากแล้วก็น่าดู รวมโปรดักชันที่ทำโดยคนปัจจุบันท่านก็อายุเยอะกันแล้วนะ อย่างคุณเพ็ญลักษณ์ ป๋ามานพ(มานพ สัมมาบัติ)นี่ก็เสียชีวิตแล้ว เพราะฉะนั้นทวิภพเวอร์ชั่นหน้าก็ยังพูดกันเลยว่าพี่ติ๋ม(เพ็ญลักษณ์ อุดมสิน)จะอยู่ทำให้ไหม(หัวเราะ) เพราะจริงแล้วทวิภพเกี่ยวข้องกับยุคสมัย อย่างตัวดิฉันเองก็ไม่รู้ทุกเรื่องเพราะเป็นคนยุคตรงกลาง ต้องใช้คนที่อายุเยอะๆ หน่อยถึงจะเข้าใจว่าไอ้ที่แปรงฟันของมณีจันทร์หน้าตาเป็นอย่างไร ทีนี้ถ้าเลื่อนไปในอนาคตข้างหน้าดิฉันก็ไม่รู้ว่าเราจะได้เห็นกันอีกไหม เพราะพูดจริงๆ คนที่ทำท่านก็อายุเยอะกันหมดแล้ว ท่านรีไทร์ไปเราก็จะไม่ได้ดูแล้ว"
     
      + ได้ยินมาว่าแท้จริงแล้วคุณตั้งใจเขียนบทละครเรื่องทวิภพเป็นอย่างมาก?
      "ก็ถ้าถามว่ามีความพิเศษอะไรก็ตรงที่ว่าดิฉันอ่านนวนิยายครั้งแรกตอนเด็ก ดิฉันอ่านคู่กรรมของคุณทมยันตี เพราะฉะนั้นดิฉันถือว่าคุณทมยันตีเป็นไอดอลของการเป็นนักเขียน แล้วทวิภพเป็นเรื่องหนึ่งอย่างที่เล่าว่าอ่านตั้งแต่ตอนเด็กๆ แล้วจะอ่านทุกปิดเทอม ทีนี้การที่ได้เข้ามาเขียนทวิภพทั้งๆ ที่ตัวเองอายุยังกลางๆ อยู่แบบนี้ ก็ถือว่าเป็นของขวัญ เป็นเรื่องที่ดีของชีวิต ถือเป็นเกียรติ นี่คือความประทับใจส่วนตัว รู้สึกว่าได้มาเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ทวิภพเป็นที่รู้จักของคนรุ่นใหม่ ก็เป็นเกียรติ เป็นเรื่องภูมิใจ อันนี้เป็นความพิเศษของทวิภพในส่วนตัวของดิฉันค่ะ"
     
      + ฝากถึงคนที่กำลังวิพากษ์วิจารณ์ทวิภพเวอร์ชั่นนี้อยู่ทั้งที่ชอบและไม่ชอบ?
      "ทุกครั้งที่มีการวิจารณ์เป็นเรื่องดีหมดเลย อย่างที่ดิฉันบอกมันทำให้ชื่อของทวิภพ ชื่อของรศ. 112 ชื่อของบรรพบุรุษไทยได้กระจายออกไป เพราะฉะนั้นดิฉันก็รู้สึกขอบคุณกับคำวิจารณ์ต่างๆ ทั้งบวก ทั้งลบ แล้วก็อยากให้ดูไปจนจบ จริงๆ แล้วในหมวดของละคร ละครนี้เป็นละครค่อนข้างสร้างสรรค์สังคมนะ ยิ่งมีคนวิจารณ์ ยิ่งมีคนดูมากขึ้นเรื่อยๆ คำวิจารณ์จะส่งคืนมาที่สถานี ทำให้เขารู้สึกว่ามีกำลังใจที่จะทำละครเชิงสร้างสรรค์สังคมหลังข่าวน่ะ เพราะว่าถ้าสมมุติว่ามันเงียบมาก เขาก็อาจจะรู้สึกว่าเรากลับไปทำน้ำเน่าหรือตบจูบดีกว่าไหม (หัวเราะ) นี่คือสิ่งที่ดิฉันกังวลว่าเวลามีละครสร้างสรรค์สังคมขึ้นมาสักที ให้คนพูดถึงเยอะๆ ให้คนช่วยกันดู ช่วยกันรักษาเรทติ้งให้เขามีกำลังใจว่าเขายังสามารถที่จะทำงานสร้างสรรค์สังคมอยู่บนการแข่งขันสูงๆ ได้ ก็เป็นเรื่องที่อยากฝากไว้มากกว่า ก็มันมายังไม่ถึงครึ่งเรื่องแล้วก็ช่วยอุปถัมถ์ให้มันครบทั้งเรื่องด้วยนะคะ"
ที่มา ผู้จัดการออนไลน์ http:manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9540000105801

 
 

จากคุณ : somtop01
เขียนเมื่อ : 23 ส.ค. 54 14:33:11




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com