Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
“ผมถอดแล้ว... คุณล่ะ ถอดหัวโขนออกหรือยัง?” “ตั้ว-ศรัณยู วงษ์กระจ่าง” ติดต่อทีมงาน

เครดิตจาก...http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9540000107864

นี่ไม่ใช่การแสดง จึงไม่จำเป็นต้องสวมบทบาท ใส่หน้ากาก หรือปิดบังตัวตนที่แท้จริงของตนเองด้วยภาพลวงตาต่างๆ นานา แต่บทสัมภาษณ์ต่อไปนี้คือเรื่องราวสะท้อนชีวิตจริงจากลูกผู้ชายที่ชื่อ “ตั้ว-ศรัณยู” ผู้ชายที่กำลังพยายามปลุกกระแสนาฏกรรมชั้นเอกของไทยอย่าง “โขน” ไปพร้อมๆ กับชวนให้อีกหลายคนในสังคมนี้ ออกมากะเทาะเปลือกแห่งมายา และ “ถอดหัวโขน” คุยกันเสียที
     
      "เบื้องหน้าคือความวิจิตรตระการตา เบื้องหลังคือตัณหาและมายาแห่งนาฏกรรม"... ถ้อยคำดังกล่าวไม่ใช่แค่คำโปรยบนแผ่นปิดภาพยนตร์อีกต่อไป เมื่อทีมงานได้มีโอกาสมานั่งเปิดใจคุยกับผู้กำกับเรื่องคนโขน “ตั้ว-ศรัณยู วงษ์กระจ่าง” จึงทำให้รู้ว่าชีวิตจริงของเขาเองนั้น ต้องเผชิญหน้ากับคนประเภทที่ไม่นิยมถอดหัวโขนมาหลายต่อหลายครั้งเช่นกัน และนี่อาจเป็นเหตุผลเบื้องลึกเบื้องหลังสำคัญที่ทำให้ความอัดอั้นตันใจทั้งหลายถูกอัดลงบนแผ่นฟิล์มและกำลังตีแผ่สังคมอยู่ในโรงภาพยนตร์ขณะนี้
     
      แต่ก่อนจะด่วนตัดสินผู้ชายคนนี้จากอคติและการคาดเดาจากมุมมองของใครคนหนึ่ง... อย่างที่เขาโดนมาทั้งชีวิต เจ้าตัวขออาสารับหน้าที่บอกเล่าตัวตนของเขาอย่างเปิดเผยที่สุดทุกแง่ทุกมุมด้วยตัวของเขาเอง

ปล่อยไปตามยถากรรม
      “มันเริ่มตั้งแต่เมื่อประมาณ 10 ปีก่อนครับ” นักแสดงชื่อดังวัย 50 เริ่มบทสนทนาด้วยการบอกเล่าที่มาที่ไปของภาพยนตร์เรื่องคนโขน เพื่อให้เข้าใจว่าไม่ได้เกิดขึ้นจากความรู้สึกในแง่ลบอย่างที่อีกฝ่ายคาดการณ์ไว้ แต่เป็นเพราะมองเห็นแรงบันดาลใจด้านบวกต่างหาก
       
     
      “พี่แค่ขับรถผ่านโรงละครแห่งชาติ เห็นป้ายคัตเอาต์ว่าจะมีการแสดงโขน เลยนึกถามตัวเองว่าเราเคยดูโขนหรือเปล่า ก็ได้คำตอบว่าเคยดูตั้งแต่ตอนเด็กๆ สัก 10 ขวบ แค่ครั้งเดียว คุณครูจัดให้ไป จำได้ว่าตอนนั้นเราถึงสัมผัสกับความสวยงามได้ ทั้งท่วงท่า ลีลา การขับร้อง เรารู้ว่ามันคือของดี แต่เราไม่สนุก ดูไม่รู้เรื่อง เกิดเป็นคำถามขึ้นว่าทำไมของดีที่มีคุณค่า ของที่เรายอมรับว่าเป็นของไทย ยิ่งนานไป คนรุ่นหลังยิ่งห่างออกมา ยิ่งรู้สึกไม่สนุก พี่ว่าสมัยนี้คนเราชอบรับอะไรที่ฉับไว รับอะไรที่หยาบขึ้นทุกที ชีวิตกลายเป็นเรื่องฟาสต์ฟูด เวลาที่จะมีสมาธิกับตัวเองหรือนั่งเสพงานศิลปะสวยๆ งามๆ มันเลยน้อยลง”
       
     
      ไม่ได้บอกว่าตัวเองดีเด่ไปกว่าคนอื่น เพราะตั้วยอมรับว่าเขาก็เป็นหนึ่งในบรรดาคนทั่วไปที่ไม่เคยนึกอยากดูโขนขึ้นมาในหัว ส่วนอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ไลฟ์สไตล์ของคนส่วนใหญ่ห่างไกลเรื่องศิลปวัฒนธรรมออกไป สังคมทุกวันนี้มีคำตอบชัดเจนอยู่แล้ว
       
     
      “เวลาเราพูดกันในวงวิชาการ ในที่ประชุมหรือที่สาธารณะ ทุกคนจะพูดว่าเรื่องศิลปวัฒนธรรมกำลังจะหายไปนะ เราควรจะรักษาไว้ แต่มันก็เป็นได้แค่คำพูดสวยหรูตามวาระการประชุม หลังจากนั้นก็ไม่มีใครตามต่อ เท่ากับว่าเรื่องโขนหรือวัฒนธรรมไทยทั้งหลายแหล่ที่บรรพชนสร้างไว้ ถูกผลักให้ไปอยู่อีกมุมหนึ่งของสังคม ให้เฉพาะคนที่เรียนนาฏศิลป์เท่านั้นที่จะมีชีวิตเกี่ยวข้องกับเรื่องแบบนี้ ซึ่งพอเรียนจบแล้วคุณก็ช่วยตัวเองไปตามยถากรรม”
       
     
      “เปรียบเทียบกับประเทศอื่น อย่างญี่ปุ่น คนที่เล่นซูโม่คือคนที่มีเกียรติ ถูกยกย่องให้เป็นคนสำคัญของประเทศเพราะถือว่าคุณยอมอุทิศตน เพิ่มน้ำหนักเพื่อชื่อเสียงของชาติ คุณได้สวัสดิการทุกอย่างที่ประเทศมอบให้เลย แต่ประเทศไทยเรา ได้อะไร?”
       
      “คุณเล่นเพลงฉ่อย สืบสานวัฒนธรรมไทย คุณเล่นลิเก เล่นโขนได้อย่างดีมาก ประเทศนี้มอบให้คุณเลย... โรงละครแห่งชาติ คุณอยู่ที่นั่นแหละ ไม่ต้องไปไหน... ศูนย์สังคีตฯ คุณอยู่ที่นั่นเลย คุณจะไม่มีวันได้เห็นเด็กเกาหลี เคป็อปไปยุ่งอะไรละแวกนั้น... อ่างทอง คุณอยู่ไปเลย ที่นั่นมีงานวัดประจำปี มีเพลงพื้นเมือง เรียนจบปริญญา เป็นศิลปินแห่งชาติ เราจ่ายเงินเดือนให้คุณ แล้วคุณก็ไม่ต้องข้องแวะกับคนภายนอกอีกเลย ดูสิว่าทำไมมันถึงเป็นอย่างนี้ หรือเพราะประเทศเราไม่หนาว ไม่มีหิมะหรือเปล่า... ไม่รู้” ผู้พูดระบายความรู้สึกออกมาเป็นชุดด้วยน้ำเสียงเย้ยหยันชวนให้คิด

แก้ไขเมื่อ 27 ส.ค. 54 11:36:03

จากคุณ : photo@ku
เขียนเมื่อ : 27 ส.ค. 54 11:16:39




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com