Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
วิจารณ์ "อุโมงค์ผาเมือง" ติดต่อทีมงาน

เปิดเผยส่วนสำคัญของภาพยนตร์

ภาพยนตร์เรื่องอุโมงค์ผาเมือง ของผู้กำกับหม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล แม้จะดัดแปลงมาจากบทละครเวทีเรื่อง ราโชมอน(ประตูผี) ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมท แต่อดนึกคิดไปถึงเรื่อง ราโชมอนต้นฉบับ ของผู้กำกับ อาคิระ คุโรซาว่าไม่ได้ เพราะโครงเรื่อง และการนำเสนอ แทบจะเรียกได้ว่าถอดแบบมาจาก ราโชมอน ของคุโรซาว่าก็ไม่ผิดนัก

ในอุโมงค์ผาเมือง จะมีการให้รายละเอียดตัวละครอย่างละเอียดยิบ เพื่อสร้างภูมิหลังประวัติให้กับตัวละคร ซึ่งแตกต่างไปจากราโชมอนต้นฉบับ ที่ไม่ได้ให้ความสำคัญตรงจุดนี้ ผู้ชมจึงไม่ทราบที่มาที่ไปของตัวละคร

แต่พอจะสังเกตได้ว่าที่เป็นเช่นนั้นเพราะ ในฉบับราโชมอนของ คุโรซาว่านั้น ผู้ชมเปรียบฐานะเป็นศาลตัดสินในคดีความผิดของจำเลย เห็นได้ชัดจากมุมกล้องในการนำเสนอ ที่จำเลยจะหันหน้า เข้าหาคนดู(กล้อง) เสมือนว่ากำลังถูกคนดูไต่สวน จึงทำให้หนังไมได้ให้บทสรุปในตอนท้ายว่า แท้จริงแล้วใครคือผู้พูดโกหก

กลับกลายเป็นภาระหน้าที่ของผู้ชมในการพินิจพิเคราะห์ ในการตัดสินขึ้นภายในจิตใจของผู้ชมเอง และนี่คงจะเป็นสิ่งเหนือชั้นของราโชมอนต้นฉบับ จนถูกกล่าวขานว่าเป็นหนังในตำนาน

แต่สำหรับอุโมงค์ผาเมืองนั้น ได้ลดฐานะของคนดูให้เป็นเพียงแค่ผู้สังเกตการณ์หรือบุคคลที่ 3 เพียงเท่านั้น ผู้ชมมีหน้าที่รับสารจากผู้กำกับ จึงทำให้อุโมงค์ผาเมือง นำพาผู้ชมไปทราบรายละเอียดภูมิหลังของตัวละครในแต่ละตัว เพื่อเพิ่มเติมเสริมแต่งอรรถรสในการรับชมภาพยนตร์ หรือเป็นการสร้างหลักฐานให้คนดูคล้อยตามในเนื้อเรื่องนั่นเอง

ประเด็นต่อมาคือ การที่อุโมงค์ผาเมือง มักเน้น มุมมองของหนัง (point of view ) ไปทางพระอานนท์(มาริโอ เมาเร่อ) เป็นหลัก ซึ่งแตกต่างของราโชมอน ที่ไม่ได้เน้นบทบาทของตัวละครตัวใดเลยเพื่อเป็นการไม่ชี้นำผู้ชมมากเกินไป

วิธีการทั้ง 2 นั้นไม่มีใครผิดใครถูก แต่ขึ้นอยู่กับวิธีการนำเสนอของผู้กำกับที่ต้องการนำพาผู้ชมไปสู่แก่นสารของเรื่องในทิศทางใด  ดังเช่นคุโรซาว่า ไม่เน้นใครเพราะต้องการให้ผู้ชมตัดสินด้วยตัวเองในภายหลัง

ผิดกับอุโมงค์ผาเมืองที่ผู้กำกับ ม.ล. พันธุ์เทวนพ เทวกุล ใช้ point of view ของพระอานนท์ เพื่อต้องการชี้นำผู้ชมให้มีความเคารพนับถือในศาสนาพุทธดังที่ตนเองเลื่อมใส มีการใช้เพลงบทสวดประกอบภาพยนตร์โดยตลอด และทำให้ทิศทางของภาพยนตร์เน้นไปทางธรรมะเป็นส่วนใหญ่ คำพูดที่ออกมาจากปากพระอานนท์ดูคมคายและน่าเลื่อมใส เพื่อให้เห็นความงดงามของศาสนาพุทธตลอดทั้งเรื่อง  

การเฉลยของบทสรุปของภาพยนตร์ที่ คุโรซาว่า ได้ปกปิดเป็นเวลานาน ได้ถูกตีความและถ่ายทอด ในอุโมงค์ผาเมืองใหม่ ว่าบุคคลที่ฆ่าขุนศึก คือคนตัดฝืน ที่ดึงดาบจากอกของขุนศึกจึงทำให้ถึงแก่ความตาย เพียงเพื่อต้องการดาบมีราคาที่ปักอก

มิหนำซ้ำฉากที่คนตัดฝืนขอเด็กไปเลี้ยงและบอกพระว่า มีลูก 6 คน แต่หากนับในจอภาพในช็อตต่อมานั้น จะพบเด็กแค่ 5 คนเท่านั้น ซึ่งหากไม่ใช่ความผิดพลาดของฝ่ายผลิตภาพยนตร์เอง นั่นก็แสดงว่าคนตัดฝืนอาจเป็นนำเด็กคนนี้มาทิ้งตั้งแต่แรก เพราะไม่สามารถเลี้ยงได้ไหว แต่เมื่อเกิดการสนทนา กับพระอานนท์ และ สัปปเหร่อ จึงได้เกิดกลับใจและตัดสินใจนำเด็กไปเลี้ยงอีกครั้งหนึ่ง

แก้ไขเมื่อ 15 ก.ย. 54 18:57:07

 
 

จากคุณ : A-Bellamy
เขียนเมื่อ : 15 ก.ย. 54 18:33:47




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com