Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
Drive : พระเอกตัวจริง (เปิดเผยเนื้อหาเล็กน้อย) ติดต่อทีมงาน

Drive หนังของผู้กำกับผู้ชนะรางวัลเมืองคานส์ปีนี้ (Nicolas Winding Refn) ช่วยให้ผมชัดเจนอีกครั้งหลังจากเกือบลืมไปแล้ว "ว่าทำไมถึงรักการดูหนัง"

ผู้กำกับเก่งในการดึงพลังและเสน่ห์อันโดดเด่นของหนังมาใช้ ซึ่งสื่อศิลป์แขนงอื่นไม่อาจทำหรือเทียบได้ (ง่ายๆ ก็ลองเปรียบกับละครโทรทัศน์) อย่างการสะกดสมาธิผู้ชมในโรงมืดๆ ให้ลิ้มรสทุกการรับรู้อย่างเต็มที่ โฟกัสปฏิกิริยาใดๆ ที่เกิดขึ้นเพียงเล็กน้อยให้เด่นชัด ความรู้สึกใกล้ชิดกับเรื่อง งานเสียงที่มีมิติสมจริง การสร้างโลกใหม่โอบล้อมผู้ชมให้ร่วมอยู่ในบรรยากาศนั้น และที่ขาดไม่ได้คือพลังการแสดงที่ต้องตรึงและทรงอิทธิพลต่อผู้ชม (จึงง่ายที่จะเกิดการเลียนแบบพฤติกรรม)

ด้วยพล็อตเรื่องไม่ซับซ้อน เข้าใจง่าย เปิดโอกาสให้หนังเล่นกับอารมณ์ทั้งของตัวละครและผู้ชมอย่างเต็มที่ และไอ้อารมณ์ที่ว่านี่แหละ พระเอกตัวจริงของหนัง ที่หนังทุกเรื่องพึงมีอย่างเพียงพอ

หนังผสมความแมนของผู้ชายและความอ่อนหวานของผู้หญิงได้กลมกล่อม ผ่านการแสดงที่วางใจได้ของ Ryan Gosling และ Carey Mulligan (เครดิตดีไม่ว่าจะอยู่ในเรื่องไหน) พระเอกเท่เทพๆ แม้ยืนเฉยๆ (มิพักต้องพูดถึงฉากขับรถ) นางเอกก็น่ารักบอบบางน่าทะนุถนอม หนังเลือกใช้โทนสีร้อน-เย็นผ่านเสื้อผ้าและการกำกับศิลป์ (ชอบฉากพระ-นางนั่งคุยกันในร้านอาหาร ง่ายแต่งามมากๆ) การจัดแสง-เงาที่พิถีพิถัน การสมดุลองค์ประกอบภาพที่ดูดี (และเล่าเรื่องได้ด้วย) รวมถึงบางฉากที่หนังผสมความต่างขั้วอารมณ์ได้น่าทึ่ง (คล้ายที่เคยได้จากหนังแนว "ผู้หญิงข้าใครอย่าแตะ" 555) อย่างฉากจุมพิตในลิฟต์ที่ดูอ่อนหวาน (สโลว์ภาพเหมือนฝัน + ดนตรีชวนเคลิ้ม) ก่อนจะกระทืบหน้าตัวร้ายซะยุบอย่างดิบเถื่อน (ถ่ายหยาบๆ ดิบๆ แบบสารคดี + ชาวน์เหมือนกะโหลกจะแหลก) การผสมดังกล่าวยังเห็นได้จากแบบอักษรเป็นตัวเขียนหวัดๆ สีชมพู (ดูอารมณ์หญิงๆ หวานๆ) ที่หนังแนวผู้ชายเรื่องนี้เลือกใช้ ได้ทั้งความหมายและดูแปลกตา

ความนัวร์ที่เกลี่ยเทาอย่างสมจริงและในปริมาณที่พอเหมาะคืออีกหนึ่งข้อดีที่เห็นชัดมากในหนังเรื่องนี้ (ไม่ใช่นัวร์แบนทื่อเหมือนรูปหยิน-หยางหรือทางม้าลายอย่างใน "Sin City" หักมุมใน "นาคปรก" ซึ่งแน่ใจว่าจะเห็นนัวร์ทำนองนี้อีกครั้งใน "ฝนตกขึ้นฟ้า" ของคุณเป็นเอกฯ : ในหนังสือมีเรื่องประมาณโสเภณีเป็นจิตรกร โจรตักบาตร มือปืนใจงาม นักการเมืองขี้โกง ฯลฯ) เมื่อมิติตัวละครใน Drive ทำให้ผู้ชมเข้าใจและเข้าถึงได้ ประเด็นว่าด้วย "พระเอกตัวจริง หรือ Real Hero" ที่แปลกต่างไปจาก Hero กากๆ ในอุดมคติที่เราเคยรู้จักหรือคุ้นเคย (นึกง่าย ๆ อย่างใน Captain America) จึงดู work และมีประสิทธิภาพมากๆ โดยเฉพาะเมื่อบทสรุปในฉากจบมาถึง

หนังตั้งประเด็นถึงนิยามของ Hero ตัวจริง ผ่านอาชีพสตันท์แมนเสี่ยงตาย (หนังแพนกล้องผ่านพระเอกหัวโล้นในเรื่องที่นั่งเล่นกับหญิงมองดูการถ่ายทำ) งานรับจ้างขับรถให้มิจฉาชีพที่นอกจากจะต้องระวังหลังให้พวกมัน พระเอกยังได้โชว์ลีลาซิ่งรถขั้นเทพที่ถึงพร้อมทั้งความดุดันและปฏิภาณไหวพริบ เฉือนพวกโจรในรถให้ดูกระจอกไปทันที การปกป้องครอบครัวนางเอกให้ปลอดภัยจากกลุ่มมาเฟียซึ่งเป็นพล็อตหลักของเรื่อง และนัยยะบางอย่างที่มุ่งเสียดสีอเมริกาผู้ครองบทบาทความเป็นมหาอำนาจหรือวีรบุรุษในสังคมโลก ทั้งที่ความจริงมักแอบแฝงการหาผลประโยชน์จากบทบาทนั้น (หนังเล่นกับธงชาติและ Coca Cola)

ชอบที่หนังให้แนวคิดในการใช้ชีวิตอย่างปลอดภัย เปรียบการขับรถที่ต้อง “ระวังหลัง” (หนังโชว์ภาพกระจกหลังที่สะท้อนหน้าพระเอกบ่อยครั้งอย่างมีนัยยะสำคัญ) กับการตัดสินใจเดินหน้าทำอะไรบางอย่างที่จะต้องมองให้เห็นถึงผลที่ตามมาเสมอ หนังฉลาดที่ไม่พิพากษาตัวละครหรือโชว์เหนือด้วยการเทศนาโต้งๆ สำหรับการตัดสินใจที่อาจต่างแตกไปจากมาตรฐานสังคมทั้งแง่ศีลธรรมและกฎหมาย เช่น การแต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อยของนางเอก การนอกใจ การร่วมงานกับมิจฉาชีพ การร่วมปล้นโรงรับจำนำ การฆ่าพวกมาเฟีย เป็นต้น เพียงมอบอุทาหรณ์ชัดๆ ให้เราพึงระมัดระวังอย่างรอบด้าน ก่อนกระโจนเข้าใส่สิ่งล่อใจ ( เช่น หญิงหรือเงิน ) อย่างไม่ลืมหูลืมตา

ในความโรแมนติกอาจรู้สึกคล้ายหนังของหว่องกาไวอย่าง In the Mood for Love จากการใช้ภาพสโลว์ แสงฟุ้งหน่อยๆ เน้นสวยและเท่ ในความดิบความรุนแรงและเรื่องราวว่าด้วยเงินเจ้าปัญหาอาจรู้สึกคล้ายหนังอย่าง No Country for Old Men ของสองพี่น้องโคเอ็น หรือหนังมาเฟียรัสเซียของ เดวิด โครเนนเบิร์ก เรื่อง Eastern Promises ในขณะที่ดนตรีแนวอิเล็คโทรนิค-ป๊อบก็ดูทันสมัย แหกขนบหน่อยๆ และบ้างก็คุ้นหูจากบางเพลงที่เคยถูกใช้ใน The Social Network

แต่กระนั้น ผู้กำกับก็มีเอกลักษณ์มากพอให้เป็นจุดจำ โดยเฉพาะการคุมจังหวะที่เนิบช้าแต่เต็มอิ่มในแต่ละช่วง (เป็นสไตล์ที่ผมชอบเป็นพิเศษ) การ fade หรือเลือนภาพอย่างช้า และเมื่ออารมณ์ของผู้ชมนิ่งพอ หนังก็ซัดลูกเล่นดิบๆ เสียวๆ แรงๆ เข้ามา (อย่างพอเหมาะพอดีและไม่เลอะ) น่าเชื่อว่าวิธีการ classic สำหรับคนที่เล่นเป็น (แบบเรื่องนี้) จะเปิดประสบการณ์การรับรู้ของคนดูให้รู้สึกสมจริงยิ่งกว่าหนังหลายมิติ ที่นับวันจะลดคุณค่าศิลปะภาพยนตร์ลงเหลือแค่เครื่องเล่นในสวนสนุก

ในฉากจบที่เคล้าเพลง Real Hero พระเอกตัวจริงของเราได้พิสูจน์นิยามของคำนี้อย่างถึงแก่น “การทำดีอย่างไม่หวังผลและไม่เอาหน้า” (บ้านเราอาจเทียบกับ “ปิดทองหลังพระ”) ตอบคำถามก่อนดูของผมได้กระจ่าง ว่าเหตุใดพระเอกเรื่องนี้ถึง “ไม่มีชื่อ”

...

แก้ไขเมื่อ 29 ต.ค. 54 10:12:38

แก้ไขเมื่อ 29 ต.ค. 54 10:01:23

แก้ไขเมื่อ 28 ต.ค. 54 16:32:23

 
 

จากคุณ : beerled
เขียนเมื่อ : 28 ต.ค. 54 16:13:51




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com