 |
ก็อปปี้มาจากกระทู้เก่าในพันทิปค่ะ อ่านแล้วประทับใจมากเซฟเก็บไว้ในเครื่อง ขออภัยไม่ได้เก็บชื่อกระทู้ไว้ อาจยาวไปนิดนะคะ
พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าหญิงวิภาวดีรังสิต หลายครั้งที่ผ่านไปตามถนนวิภาวดีรังสิต ที่มีการจราจรหนาแน่น สมเป็นถนนสายสำคัญสายหนึ่งของเมืองหลวง ดิฉันมักจะนึกถึงที่มาของชื่อถนน ซึ่งเรียกได้เต็มปากว่า เป็นพระนามของวีรสตรีพระองค์หนึ่งของยุครัตนโกสินทร์ ชวนให้นึกต่อไปถึงโคลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ประวัติวีรบุรุษไซร้........เตือนใจ เรานา ว่าอาจจะยังชนม์...........เลิศได้ และยามจะบรรลัย..........ทิ้งซึ่ง รอยบาทเหยียบแน่นไว้.........แทบพื้นทรายสมัย
ทรงแปลจากบทกวีของ Henry Wordsworth Longfellow ที่ว่า
Lives of great men all remind us We can make our lives sublime And, departing leave behind us Footprints on the sand of time.
ถ้า "วีรบุรุษ" ในที่นี้ หมายความรวมถึง "วีรสตรี" โคลงพระราชนิพนธ์บทนี้ ก็เหมาะสมกับ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงวิภาวดีรังสิต มากที่สุด นักอักษรศาสตร์และผู้รักการอ่านนิยาย รู้จักพระองค์ในนามปากกา ว. ณ ประมวญมารค ผู้สร้าง ปริศนา รัตนาวดี เจ้าสาวของอานนท์ ฯลฯ เป็นที่ลื่อเลื่องในวงการประพันธ์ตั้งแต่กว่า ๕๐ ปีก่อน ผู้ชอบอ่านชีวประวัติบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ของยุโรป คงรู้จักพระนิพนธ์ พระราชินีนาถวิคตอเรีย คลั่งเพราะรัก และฤทธีราชินีสาว ส่วนผู้รักชาติ รู้จักพระองค์ในนามวีรสตรีผู้พลีพระชนม์ชีพเพื่อชาติ สมัยที่ไทยมีศึกต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายเมื่อกว่า๓๐ ปีก่อน เชิญติดตามพระประวัติ
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงวิภาวดีรังสิตทรงมีพระนามเดิมว่า หม่อมเจ้า(หญิง)วิภาวดี รัชนี ประสูติเมื่อ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๔๖๓ ทรงเป็นพระธิดาในพระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ (พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส) ผู้เป็นพระราชโอรสในกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระองค์สุดท้ายของไทย ผู้รักวรรณคดี คงทราบดีว่า กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ หรือ น.ม.ส. (นามปากกา ทรงนำมาจากอักษรท้ายชื่อพระนาม) ทรงเป็นกวีเอกองค์หนึ่งของไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๖ พระนิพนธ์ "สามกรุง" " กนกนคร" "นิทานเวตาล" " พระนลคำฉันท์" เป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย
พระมารดาของพระองค์เจ้าหญิงวิภาวดีรังสิต หรือหม่อมเจ้า(หญิง) พรพิมลพรรณ วรวรรณ เป็นพระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์(พระองค์เจ้าวรวรรณากร) พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเขียน พระองค์เจ้าหญิงวิภาวดี ทรงมีพระอนุชาร่วมพระมารดาเดียวกันอีกองค์หนึ่ง คือหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี กรมพระนราธิปฯ ทรงเป็นทั้งศิลปินและกวี กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ก็ทรงเป็นกวี สายเลือดของกวีของทั้งสองฝ่ายสืบมาถึงพระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิตอย่างเต็มเปี่ยม จึงทรงแต่ง "ปริศนา" ขึ้นได้ตั้งแต่พระชนม์ยังน้อย แค่พระชันษาไม่เกิน ๒๐ ปี อยู่ในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา ดังที่ทรงเล่าว่า
" เรื่องปริศนานี้ ข้าพเจ้าเขียนขึ้นเมื่ออายุไม่เกิน ๒๐ ปี คือเมื่อออกจากโรงเรียนมาอยู่บ้านใหม่ๆ ใช้เวลาถึง ๓ ปีถึงเขียนเรื่องปริศนาจบ ท่านเจ้าของโรงพิมพ์ประมวญมารค( ทรงหมายถึงกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์) รับไว้เพื่อลงในหนังสือพิมพ์รายอาทิตย์ ประมวญสาร อีก ๒ อาทิตย์เรื่อง "ปริศนา" จะลงพิมพ์ โรงพิมพ์ประมวญมารคก็ถูกระเบิด เพลิงไหม้หมด ข้าพเจ้าได้เสี่ยงชีวิตวิ่งฝ่าไฟเข้าไปในออฟฟิศ ของโรงพิมพ์ซึ่งกำลังไฟลุก ไปเอาต้นฉบับเรื่อง"ปริศนา"ซึ่งอยู่ในนั้น มิฉะนั้น ปริศนาก็คงตายเสียในไฟ ไม่มีโอกาสให้ใครได้รู้จักเกิน ๔ คน" ผลจากทรงวิ่งเข้าไปในกองไฟ สูดควันไฟเข้าไปมากทำให้ประชวรค่อนข้างหนัก แต่ก็ทรงโชคดีที่หายได้เป็นปกติ
ทางด้านการศึกษา พระองค์เจ้าหญิงวิภาวดีรังสิต ทรงเริ่มต้นที่ ร.ร.ผดุงดรุณี อยู่ ๑ ปี แล้วย้ายมาเข้าที่ ร.ร. วัฒนาวิทยาลัย ไม่ถึงปี ก็เสด็จไปศึกษาที่ ร.ร.มาแตร์เดอีวิทยาลัย จนจบชั้นมัธยมปีที่ ๘
การเรียนในสมัยของท่าน แบ่งไม่เหมือนสมัยนี้ เขาแบ่งกันแบบนี้ค่ะ อนุบาล จะเรียนหรือไม่เรียนก็ได้ ประถมปีที่ ๑-๔ เป็นภาคบังคับที่เด็กไทยทุกคนต้องเรียน มัธยมปีที่ ๑-๖ มัธยมปีที่ ๗-๘ ถือเป็นชั้นสูงสุดของโรงเรียน เมื่อจบมัธยมปีที่ ๖ แล้ว จะไม่ต่อชั้น ๗-๘ แต่ไปเข้าเรียนโรงเรียนอาชีวะ ก็ได้ค่ะ ถ้าเรียนชั้น ๗-๘ แล้ว จะหยุดแค่นั้นก็ถือว่าเรียนมากพอตัวแล้ว ไม่ต้องต่อที่ไหนก็มีความรู้พอจะเข้าทำงานได้ ที่จริงครูสมัยนั้นจำนวนมากก็จบมัธยม ๘ นี่แหละ แต่ถ้าเรียนต่อขั้นมหาวิทยาลัยก็ต้องจบมัธยมปีที่ ๘ เสียก่อน ร.ร.มาแตร์เดอีฯ เปิดชั้นพิเศษ ที่ไม่ค่อยจะมีโรงเรียนอื่นสอนกันนัก พูดจริงๆคือไม่รู้ว่ามีที่ไหนสอนกันอีกหรือเปล่าในประเทศไทย เป็นหลักสูตรของยุโรป เรียกว่าฟินิชชิง คอร์ส (Finishing Course) ต้องเรียน ๓ ปีถึงจบหลักสูตร ฟินิชชิง คอร์ส สอนเด็กสาวที่ไม่ประสงค์จะเรียนต่อขั้นมหาวิทยาลัย แต่เรียนรู้วิชาต่างๆที่จะเป็นประโยชน์แก่ตนเองต่อไปภายหน้า เช่นเรียนภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส (ในสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ฝรั่งเศสเป็นภาษาสำคัญอีกภาษาหนึ่งของยุโรป) เรียนการเข้าสังคม เช่นการแต่งกายให้เหมาะสมกับกาลเทศ มารยาทสังคม ลีลาศ การจัดโต๊ะดินเนอร์ จัดดอกไม้ ต้อนรับแขกในฐานะเจ้าภาพสตรี ความรู้รอบตัว ในการสมาคม การดูแลบ้านช่องให้มีระเบียบสวยงาม รวมทั้งการควบคุมเรื่องเงินทองให้ดีด้วย
ต่อมาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง วิชาสาขานี้ก็เลิกสอนไป มีแต่เรียนชั้นมัธยม ๗ และ ๘ เท่านั้น หลักสูตร ฟินิชชิ่ง คอร์สนี่แหละที่พระองค์เจ้าหญิงทรงนำมาเป็นฉากของ ชั้นพิเศษ ๑และ ๒ ของโรงเรียนสิกขาลัย ในเรื่องปริศนา ที่ท่านหญิงรัตนาวดีน้องพระเอก เป็นหัวโจกซุกซนทำอะไรแผลงๆ กับเพื่อนนักเรียนด้วยกัน ตามประสาเด็กสาววัยรุ่นเมื่อ ๖๐ ปีก่อนพึงจะซุกซนได้ การเรียนใน ร.ร.สมัยนั้น ผู้สอนเป็นแม่ชีชาวอเมริกันและยุโรป กวดขันเรื่องภาษาแก่เด็กนักเรียนอย่างเอาจริงเอาจัง ตำราต่างๆล้วนเป็นภาษาอังกฤษ แม้แต่ตำราคณิตศาสตร์ก็เรียนเป็นภาษาอังกฤษล้วนๆ เด็กนักเรียนจึงอ่านเขียนและพูดภาษาอังกฤษได้คล่อง
พระองค์เจ้าหญิงวิภาวดีฯ ทรงเล่าว่า " พูดอังกฤษได้คล่องตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนอยู่ เพราะได้ศึกษาจากมาแมร์เจ็มมะ ซึ่งจ้ำจี้จ้ำไชขนาดหนักมาตั้งแต่เด็ก ต่อมาก็เรียนจากมหาวิทยาลัย น.ม.ส. ได้เคยเป็นเลขานุการของพ่อตอนพระเนตรเป็นต้อ ก็ทรงบอกให้ฉันเขียนหน้าห้าไปลงหนังสือ "ประมวญวัน" ทุกวัน และยังรับคำบอกของท่าน เรื่อง "สามกรุง" และอื่นๆ เป็นเล่มๆทีเดียว"
การที่ได้ทรงคลุกคลีอยู่กับหนังสือ และยังทรงได้ใกล้ชิดกับเสด็จพ่อ ผู้ทรงเป็นกวีเอก ทำให้พระองค์เจ้าหญิงวิภาวดีรังสิต สนพระทัยที่จะนิพนธ์ขึ้นเองบ้าง เมื่อพระชันษาเพียง 14 ปี พระนิพนธ์เรื่องแรก ไม่ใช่ "ปริศนา" แต่เป็นเรื่องแปล ชื่อ "เด็กจอมแก่น" ทรงแปลจากหนังสือรวมเรื่องสั้นชุด William ของ Richmal Crompton ซึ่งเป็นนักเขียนวรรณกรรมเยาวชนชื่อดังของอังกฤษ ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 1
วิลเลียม เป็นเด็กชายอายุ 11 ปี อาศัยอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆในชนบทของอังกฤษ มีเพื่อนร่วมแก๊งค์อีก 3 คน ชื่อจินเจอร์ ดักลาส เฮนรี่ เรียกตัวเองว่า คณะนอกกฎหมาย หรือ The Outlaws เจตนาดีของวิลเลียม ด้วยความไร้เดียงสาประสาเด็ก ก่อเรื่องปวดเศียรเวียนเกล้าให้ผู้ใหญ่เวียนหัวไปตามๆกัน แต่ก็ขบขันครื้นเครงสำหรับคนอ่าน เรื่องนี้เมื่อลงพิมพ์ ใน " ประมวญสาร" เป็นเรื่องที่ขายดีมาก นักเรียน ร.ร. กรุงเทพคริสเตียนที่อยู่ใกล้โรงพิมพ์ แห่กันมาซื้อจนเกลี้ยงโรงพิมพ์ กลายเป็นเรื่องขายดี เพราะเด็กนักเรียนชอบอ่าน
ทรงรำลึกว่า "การที่ข้าพเจ้ากลายเป็นนักเขียนขึ้นมาตั้งแต่อายุ 14 ปีนั้น ก็เพราะข้าพเจ้ามีพ่อแม่ที่เข้มงวด อยากให้ข้าพเจ้ารู้ค่าของเงิน จึงไม่ได้ตามใจข้าพเจ้าให้เงินทองใช้จนเหลือเฟือ แต่สนับสนุนข้าพเจ้าในทางที่ควร คือสอนให้มีมานะ ให้รู้จักใช้หัวคิดที่จะทำโน่นทำนี่เพื่อถึงจุดหมายในความต้องการของตน... ถ้าพ่อแม่ของข้าพเจ้าไม่ฉลาด เห็นการณ์ไกลและสนับสนุนข้าพเจ้าในทางที่ถูกที่ควรแล้ว ว.ณ ประมวญมารค ก็คงจะไม่มีกำเนิดขึ้นมาในโลก คงจะดำดินอยู่ตลอดชีวิต ไม่มีผลงานออกมาให้ใครได้อ่านสักชิ้นเดียวเป็นแน่"
ขอออกนอกเรื่องหน่อยค่ะ ดิฉันพยายามหาหนังสือชุด WIlliam มาด้วยความลำบาก เพราะไม่มีวางจำหน่าย ต้องซื้อเป็นหนังสือมือสอง ก็ได้มาเยอะพอสมควร หลายสิบชุด อ่านแล้วสนุกคุ้มความลำบากทีเดียว พระองค์เจ้าหญิงวิภาวดีรังสิต ทรงแปลด้วยภาษาอ่านง่ายๆ สบายๆ เป็นสำนวนไทยๆ ไม่มีกลิ่นนมกลิ่นเนย แสดงถึงพระอัจฉริยภาพทางการนิพนธ์ ตั้งแต่พระชนม์ได้แค่ 14 อย่างแท้จริง
ปริศนา ออกสู่สายตาคนอ่านในนิตยสารเดลิเมล์วันจันทร์ เมื่อประมาณ พ.ศ. 2497 หลังสิ้นสุดสงครามโลกแล้วเกือบ 10 ปี ทรงเล่าว่า "มีคนติดมาก ไปที่ไหนก็พูดถึง หนังสือพิมพ์ต้องเพิ่มจำนวนพิมพ์จากกพันเป็นหมื่นทุกสัปดาห์ที่หนังสือออก นักอ่านตามหัวเมืองเป็นจำนวนมากมายจะไปคอยดักรับหนังสือที่สถานี เต็มทุกสถานี ตั้งแต่อยุธยาไปจนถึงเชียงใหม่ทีเดียว ทางใต้ทางอีสานก็เช่นกัน และเมื่อพิมพ์จำหน่ายเป็นเล่มก็ทำสถิติในการขายดี"
ปริศนาเป็นสาวน้อยนักเรียนนอก ฉลาด ประเปรียว กล้า ผิดหญิงไทยร่วมสมัยทั่วไป แต่ถึงกล้าก็ไม่เคยประพฤติเสียหาย แต่ทำให้คนอ่านทึ่ง ว่าเธอโดดเด่น แปลกกว่านางเอกเรียบร้อยในนิยายอื่นๆที่คนไทยคุ้นเคย ส่วนพระเอก ก็เลอเลิศ เป็นหม่อมเจ้าชายที่โก้ เก่ง ฉลาด ร่ำรวยและแสนดี ทรงบรรยายไว้ว่า " ร่ำรวยมหาศาล หยิ่งราวกับมาจากสวรรค์ โก้ราวกับพระเอกหนัง"
เมื่อมีการประกวดปริศนา ให้หญิงสาวส่งภาพมาที่นิตยสารเพื่อดูว่าใครจะเข้าเค้าที่สุด ก็มีรูปถ่ายหลั่งไหลมาหลายหมื่นใบ แต่หญิงสาวที่พระองค์เจ้าวิภาวดี ฯ ทรงเห็นว่าเหมือนปริศนาที่สุด กลับไม่ใช่หนึ่งในคนที่ส่งรูปถ่ายมา แต่เป็นลูกสาวอดีตเอกอัครราชทูตไทย ชื่อคุณวาสนา กระแสสินธุ์ เป็นหญิงสาวอายุราว 19-20 หน้าตาจิ้มลิ้ม ตากลมโต ผมหยิก ร่างระหงบาง ภาพเธอลงเป็นภาพประกอบในปริศนา รวมเล่มครั้งแรก เพิ่งเห็นแวบๆในร้านหนังสือเก่า ในงานมหกรรมหนังสือ แต่ยังไม่ทันได้ซื้อเพราะมัวเลือกเรื่องอื่นอยู่ เลยหาไม่เจออีก
เพิ่มเติมอีกนิดสำหรับบางท่านที่ยังไม่ทราบ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต (หม่อมเจ้าวิภาวดีรังสิต) ทรงมีนามปากกาในประพันธ์นิยายว่า ว.ณ. ประมวญมารค (ปริศนา, เจ้าสาวของอานนท์, รัตนาวดี, นิคกับพิม ฯลฯ) ท่านเป็นนางสนองพระโอษฐซึ่งมีความใกล้ชิดมาก ท่านหญิงทรงเสกสมรสกับหม่อมเจ้าปิยะรังสิต รังสิต โดยเป็นคู่สมรสคู่เดียวที่ได้รับพระราชทานน้ำสังข์จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
หม่อมเจ้าปิยะรังสิต รังสิต เป็นโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร" (พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์สิ้นพระชนม์เมื่อ วันที่ ๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๔ ในขณะที่ทรงดำรงตำแหน่งประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ ๙ พระชันษา ๖๖ ราชสกุลที่สืบเชื้อขัตติยะมานะคือ "รังสิต ณ อยุธยา" )
"สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร" ทรงเป็นลุงของในหลวง เนื่องจากว่าพระพันวัสสาอยิกาเจ้า ทรงเลี้ยงดู"สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร" มาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ เลี้ยงดูเหมือนลูกค่ะ ดังนั้นจึงใกล้ชิดกับ ราชสกุล มหิดล
ท่านผู้หญิงวิภาวดีทรงเล่าว่า เมื่อได้เฝ้าครั้งแรก ทูลกระหม่อมน้อยทรงคม (คือก้มกราบ) ตามธรรมเนียมไทย เป็นที่ประทับพระทัยสมเด็จพระราชินีฟาบิโอลามาก ถึงกับจะทรงกราบตอบบ้าง ร้อนถึงทูลกระหม่อมน้อยต้องกราบบังคมทูลอธิบายว่า ทรงเป็นพระญาติผู้ใหญ่และจะทรงทำเช่นนั้นไม่ได้ เพราะ Lice will be on my head (คือเหาจะขึ้นพระเศียร) คราวนี้เป็นหน้าที่ของท่านหญิงวิภาวดีต้องกราบบังคมทูลชี้แจงความหมายของภาษิตโบราณของไทยบทนั้น
ท่านได้เลื่อนพระอิสรยศ่จากหม่อมเจ้าวิภาวดี รังสิต เป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต และเพื่อระลึกถึงพระองค์ท่าน จึงได้ตั้งชื่อถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ว่า " ถนนวิภาวดีรังสิต" ตามพระนามของพระองค์ท่านค่ะ ถ้าใครเคยอ่านเรื่องปริศนา ท่านชายพจนปรีชาแทบจะถอดแบบมาจากพระสวามีของท่านทีเดียวค่ะ
ส่วนท่านชายพจน์ปรีชา ผู้นิพนธ์ทรงบรรยายว่า สูงใหญ่ โก้ มีหนวดราวกับเออร์รอล ฟลินน์ ตอนที่อ่านปริศนาครั้งแรก ไม่รู้ว่าเออร์รอล ฟลินน์หน้าตาเป็นยังไง ได้แต่เดาว่าเป็นดาราฝรั่ง รุ่นเก๋า ซึ่งคงตายไปนานแล้ว จนกระทั่งใช้เน็ตเป็น ถึงหารูปเออร์รอล ฟลินน์เจอ
พระสหายสนิทชื่อ เกรส เปเรร่า ได้บันทึกไว้ว่า "อุปนิสัยบางอย่างของปริศนา เป็นขององค์ท่านเอง เช่นปริศนาแม้จะเก่งและมีนิสัยชอบเล่นเพียงใด แต่ก็อยู่ในโอวาทของผู้ใหญ่เสมอ ทั้งเป็นคนช่างคิด และรู้ว่าอะไรเหมาะอะไรควรแค่ไหน เพราะในส่วนพระองค์ของท่านหญิงแล้ว เสด็จพ่อและท่านแม่รับสั่งอย่างไร ท่านก็ทรงปฏิบัติตามเสมอ และจะเสด็จไหนก็ทูลท่านแม่ก่อนเสมอไม่เคยขาด
ยิ่งกว่านั้น สิ่งใดท่านโปรดเป็นพิเศษท่านก็ทรงเขียนไว้ในเรื่อง "ปริศนา" เช่นกัน เช่นกระโปรงขาวบานสำหรับงานราตรี เข็มกลัดรูปดอกไม้ที่ท่านแม่ประทาน ในวันประสูติ ปริศนาก็มีกระโปรงขาวบานสวยสะดุดตา และเข็มกลัดรูปดอกไม้จากคุณนายสมรในวันเกิดเช่นเดียวกัน"
ยังมีพระนิสัยอีกหลายอย่างที่ทรงจำลองไว้ในตัวปริศนา เช่นโปรดสิ่งแปลกๆใหม่ๆ กล้าเสี่ยง โปรดขับรถยนต์ โปรดสุนัข เป็นองค์ของท่านเอง สิ่งใดที่สนพระทัยก็ค้นคว้าด้วยพระองค์เอง โปรดที่จะเสด็จไปหาเพื่อนสนิทที่บ้านอยู่ด้านหลังวัง มีรั้วเดียวกัน ทรงปีนข้ามไปด้วยการหาบันไดไม้ไผ่มาพาดรั้วทั้งสองด้าน พอทรงปีนบันไดไปจนสุดกำแพงก็ทรงลงไปอีกฟากหนึ่งด้วยบันไดที่พาดรอรับอยู่ สะดวกกว่าอ้อมไปทางหน้าวัง เดินไปตามถนนเพื่อเข้าประตูหน้าบ้านเพื่อน เหตุการณ์นี้ก็ทรงใส่ไว้ในบ้านของปริศนาและบ้านของนพ เพื่อนสนิทของปริศนา โปรด Serenade ของ Schubert ซึ่งทรงใส่ไว้ในเรื่องเช่นกัน โปรดว่ายน้ำ และเก่งภาษาอังกฤษ เช่นเดียวกับปริศนา โปรดตั้งชื่อคนให้แปลกๆ อย่างชื่อเกรส ข้าหลวงในวังเรียกไม่ชัดก็กลายเป็นคุณเกด ส่วนปริศนาเรียกตัวละครอีกตัวที่ชื่อเสมอว่า นาย Always
พูดถึงแฟชั่นในเรื่องปริศนา เป็นแฟชั่นยุค 1940s ซึ่งหารูปในเน็ตไม่เจอ แต่รู้ว่ามันเป็นแบบไหน เป็นแฟชั่นที่หรูหราอย่างนางเอกนิยายไทยร่วมสมัยไม่เคยใส่ นางเอกในเรื่องอื่นๆยังนุ่งผ้าซิ่นหรืออย่างดีก็กระโปรง แต่ปริศนาสวมชุดราตรีผ้าโปร่งสีขาว ใช้ผ้าถึง ๓๐ เมตร บนเนื้อผ้าติดดาวเงินเล็กๆ ทั่วตัว กระทบแสงไฟแล้วเป็นประกายแว๊บๆไปทั้งตัว ไฟสีอะไรก็ย้อมสีดาวเงินให้กลายเป็นสีนั้น
ผู้นิพนธ์ ทรงบรรยายปริศนาว่า ผมหยิกตามธรรมชาติ ยาวประบ่า ปกติ ปริศนาผมค่อนข้างยุ่งเพราะไม่ค่อยจะหวี เมื่อไรหวีทั่วศีรษะผมก็จะสวย คำว่า ผมหยิก ดิฉันเคยสงสัยว่าเป็นยังไง หยิกแต่ละยุคไม่เหมือนกัน หยิกแบบฟูฟ่อง หยิกแบบเป็นคลื่นใหญ่ๆ หรือว่าม้วนเป็นขอดติดหนังหัว ก็ไม่รู้
ปริศนา เป็น 1 ในนวนิยายที่ฉันรักมากๆ ยังจำที่ท่านเขียนคำนำได้พอคร่าวๆ ว่า ท่านทรงเขียนนวนิยายเรื่องนี้ในช่วงที่ยังอยู่วัยรุ่น แล้วขณะที่ต้นฉบับนวนิยายเรื่องนี้อยู่ที่โรงพิมพ์ โรงพิมพ์ได้ เกิดไฟไหม้ ท่านต้องเสี่ยงชีวิตฝ่าเปลวเพลิงเข้าไปเอาออกมา ไม่งั้นก็คงไม่มีผลงานเล่มนี้มาให้พวกเราได้อ่านกันเป็นแน่ เพราะจะให้ท่านเขียนใหม่ให้เหมือนเดิมอีกครั้ง ด้วยวัยและมุมมองที่เปลี่ยนไปตามอายุที่เพิ่มขึ้น ก็คงจะไม่สามารถแต่ง ด้วยความรู้สึกแบบนั้นได้อีกแล้ว
อีกเล่มที่ได้อ่าน คือเรื่อง "ตามเสด็จปากีสถาน" อ่านแล้วสนุกมาก รู้สึกเหมือนได้ตามเสด็จไปด้วยเลยละค่ะ บันทึกที่ท่านได้ถ่ายทอดออกมาทำให้เราได้ทราบถึงพระราชกรณียกิจของในหลวงและพระราชินีได้อย่างเห็นภาพมากเลย มีทั้งความสนุก ความลำบาก หรือเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่เราไม่เคยได้รู้
นอกจากท่านและท่านวสิษฐแล้ว จะมีกี่คนที่ถ่ายทอดออกมาได้ดีขนาดนี้หนอ
เพลงประกอบละครเรื่องปริศนา
หากฉัน เพ่งมองตาเธอให้ลึกหน่อย อย่างน้อย อาจทำให้ต้องเฉลียวใจ ว่ามีความหมายใด ซ่อนในดวงฤทัย บ่งบอกความในใจที่ดวงตา
หากรู้ ว่ารักเจ้ายังหลีกเร้นหลบ ถ้าพบ จะพาดวงใจเปี่ยมรักมา แอบอารมณ์ละมุน อุ่นไอรักชักพา ให้วิญญาณสองเรา รื่นสราญ
โอ้ความรัก นั่นอยู่ไหน ใย จึงไม่เห็น มองหา เช้าเย็น มิพบพาน ใจเอ๋ยใจเรา โฉดเขลาหรือนั่น ปล่อยรักนั้นให้เดินผ่านไป
หากฉัน เพ่งมองตาเธอให้ลึกหน่อย อย่างน้อย อาจทำให้ต้องเฉลียวใจ ว่ามีความรักซอน ซ่อนในดวงฤทัย อาบอุ่นใจสองเราเรื่อยมา
นิยายที่อยู่ในชุดเดียวกับ"ปริศนา" เพราะมีตัวละครแตกแขนงมาจากเรื่องแรกอีกเช่นกัน คือ "เจ้าสาวของอานนท์" เรื่องนี้ อานนท์วิศวกรหนุ่มจากสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นตัวละครรองในเรื่องปริศนา มารับบทพระเอก บทบาทของอานนท์ คือชายหนุ่มผู้แสวงหาหญิงสาวที่เหมาะจะมาเป็นเจ้าสาวของเขา แต่ไม่ว่ากี่คนที่เขาพบ ก็ "ไม่ใช่" ไปเสียทั้งนั้น จนกระทั่งไปติดตั้งเครื่องจักรที่โรงงานมะพร้าว ในสวนของคุณนายตวัน เศรษฐินีลือชื่อของคลองน้ำวน เขาจึงพบครอบครัวชาวสวนที่ศิวิไลซ์อย่างไม่เคยนึกฝัน โส ลูกชายของคุณนายตวันเรียนอยู่ที่อังกฤษ ปลูกบ้านในสวนแบบล็อคเคบินในหนังสือฝรั่ง ครอบครัวนี้เลี้ยงแขกด้วยอาหารฝรั่งเศสอย่างดี รสเหมือนกินในร้านหรูๆของปารีส มีเครื่องแก้วเจียระไน และลูกไม้ถักดอยลี่ปูโต๊ะ
อานนท์พบรักกับ สุ สาวน้อยน้องสาวของโส ซึ่งตอนแรกเขานึกว่าเป็นเด็กผู้ชาย สุเป็นผู้หญิงเก่ง ขับเรือ เล่นสกีน้ำ ฟังเพลงคลาสสิค พูดภาษาอังกฤษและจีนเก่ง เกิดและโตในกัวลาลัมเปอร์ พอเรียนจบมารดาก็พาไปเที่ยวรอบโลกมาหนึ่งปีเพื่อเปิดหูเปิดตา นอกจากนี้ พระองค์เจ้าวิภาวดีฯ ยังทรงเพิ่มรสชาติปัญหาชีวิตครอบครัวที่เข้มข้นว่าสองเรื่องแรกลงในเรื่องนี้ คือชีวิตครอบครัวที่ยุ่งเหยิงแบบคลื่นใต้น้ำของพระยาสุทธาฯ ลุงของปริศนา พระยาสุทธาฯ จำต้องสละความสุขส่วนตัวของท่านและตวันภรรยาคนแรก เพื่อแต่งงานกับภรรยาคนที่สอง ชื่อคุณหญิงเจริญตามคำบังคับของมารดา แต่ชีวิตสมรสก็ล้มเหลว ภรรยาคนแรกหนีหายไปพร้อมลูกในท้อง ภรรยาคนที่สองเป็นแม่บ้านไร้คุณภาพ เจ้าคุณกับคุณหญิงแยกกันโดยพฤตินัยตั้งแต่ก่อนลูกคนที่สามเกิด แต่ก็อยู่ในบ้านเดียวกันอย่างแกนๆ
ความปล่อยปละละเลยของคุณหญิงเจริญส่งผลให้สวนิตลูกสาวคนโต กลายเป็นเด็กสาวเหลวไหลใจแตก ไม่รู้จักศักดิ์ศรีของลูกผู้หญิง อยากทำอะไรก็ทำแม้แต่หนีตามผู้ชายและท้องไม่มีพ่อ ไพจิตรลูกคนที่สองก็เป็นเด็กหนุ่มที่เงอะงะขลาดอาย ไม่มีความมั่นใจในตัวเอง นิศาลูกสาวคนสุดท้องเป็นเด็กใฝ่ดีเรียนเก่ง แต่กิริยามารยาทยังขาดการอบรม ผิดกับคุณนายตะวันภรรยาคนแรก ที่เลี้ยงลูกฝาแฝดอย่างดี จบเติบโตเป็นหนุ่มสาวที่สวยงาม มีการศึกษาดี วางตัวดี และมีอนาคตดี ในตอนท้ายครอบครัวที่พลัดพรากกันไปก็ได้กลับคืนมารวมกันอีกครั้ง พร้อมกับอานนท์ก็ได้แต่งงานกับหญิงสาวที่ตรงกับความใฝ่ฝันของเขา
รัตนาวดี เนื้อเรื่องที่ทรงผูกขึ้นมา อยู่ในแนวโรแมนติค ใช้จดหมายเล่าสู่กันฟัง เป็นการดำเนินเรื่อง สร้างตัวละครเพื่อดึงอารมณ์ผู้อ่านไปตามโครงเรื่องที่วางไว้ เรื่องก็คือ หม่อมเจ้าหญิงรัตนาวดีซึ่งเคยเป็นเด็กนักเรียนรุ่นสาวใน "ปริศนา" บัดนี้ทรงเรียนจนจบมหาวิทยาลัยแล้ว เจ้าพี่คือหม่อมเจ้าพจนปรีชาก็ประทานรางวัลให้ไปเที่ยวยุโรป โดยมี ป้าสร้อย พี่เลี้ยงชาววังไปเป็นเพื่อนด้วย
เดินทางไปถึงลอนดอน ปรากฏว่าหม่อมเจ้าดนัยวัฒนา ข้าราชการสถานทูต ซึ่งพระญาติและพระสหายของท่านชายพจน์ฯ เสด็จไปพักร้อนก็เลยไม่ทรงทราบว่าท่านหญิงมาถึงลอนดอนแล้ว ก็เลยหายเงียบ ไม่ได้มาต้อนรับอย่างที่ควรจะทำ ทำให้ท่านหญิงทั้งผิดหวังทั้งกริ้ว ที่ต้องตกอยู่ในลอนดอนองค์เดียวตั้งหลายวัน
เมื่อเสด็จไปที่แฟลตของท่านชาย ท่านกำลังทำกับข้าวอยู่ ท่านหญิงก็เลยเข้าพระทัยผิดว่าเป็นมหาดเล็ก ท่านชายก็ยอมตกบันไดพลอยโจน และทำหน้าที่คนขับรถให้ท่านหญิงได้ท่องเที่ยวยุโรป ท่านชายก็ตกอยู่ในฐานะกระต่ายหมายจันทร์ มีป้าสร้อยเป็นแชปเปอโรนที่เฝ้าท่านหญิงไม่ให้คลาดสายตา มีตัวละครอื่นๆที่เข้ามาในเส้นทางท่องเที่ยว เป็นผงชูรสของเรื่อง จนกระทั่งความจริงเปิดเผยในตอนจบ ทั้งสององค์ก็จบด้วยความหวานชื่น ดังที่ท่านหญิงเขียนบันทึกไว้ว่า "เอ นี่ก็ดึกเต็มทีแล้ว เรายังนั่งนึกถึงความรักของเรา มัวเขียนไดอารี่อยู่จนป่านนี้ สมุดเล่มนี้เราจะเก็บไว้บันทึกเหตุการณ์ที่สำคัญๆในชีวิตของเราและพี่ดนัย เราจะเก็บไว้อ่านในยามแก่เฒ่า จะได้ชุ่มชื่นหัวใจ และ re-live our romance over and over again.
เมื่อ รัตนาวดี ทำเป็นละครโทรทัศน์ ทางทีวีช่อง 3 แสดงนำโดยขวัญฤดี กลมกล่อม และเกรียงไกร อุณหะนันทน์ มีเพลงประกอบไพเราะมาก
ลมโบกโบยพลิ้วมา พาหมู่ใบไม้ปลิว โรยร่อนตัวละลิ่วลงต่ำ กายเมื่อต้องสายลม พร่างพรมชื่นฉ่ำ เย็นซ่านทรวงลึกล้ำฉ่ำใจ รักโบกโบยต้องลม พาผสมรักมา แทรกอุราล้อมดวงฤทัย ยากเมื่อรักต้องลมตระโบมหัวใจ ช่างอบอุ่นสดใสชื่นบาน
โอ้รักที่ก่อ นี้รอที่เกิด ความรักบรรเจิดทุกสถาน หากรักเต็มปรี่ฤดีใดนั่น ไม่เลือกวันเลือกเวลา เป็นผู้ดีหรือไพร่ เป็นผู้ใดไหนกัน ไม่อาจบังขวางกั้นรักไหลบ่า รวมจิตใจสองดวง ห่วงใยใฝ่หา รักที่ปรารถนาร่วมเรียง"
พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต ขณะดำรงพระยศเป็นหม่อมเจ้าหญิงวิภาวดี รังสิต สิ้นชีพิตักษัยเพราะถูกกระสุนจากผู้ก่อการร้ายยิงทะลุเฮลีคอปเตอร์ เมื่อเสด็จพร้อมทหาร ไปรับตำรวจตระเวนชายแดนผู้บาดเจ็บจากการต่อสู้กับผู้ก่อการร้าย ณ ตำบลบ้านส้อง อ.เวียงสระ จ. สุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่16 กุมภาพันธ์ 2520 น้ำตกนั้นตั้งชื่อเป็นอนุสรณ์ถึงท่านค่ะ
พระนิพนธ์ประเภทนวนิยายอีกเรื่องหนึ่ง ที่มีผู้อ่านพูดถึงน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับเรื่องอื่นๆ ทั้งที่เป็นนวนิยายชีวิตที่มีสาระโดดเด่น แจกแจงพฤติกรรมของมนุษย์ได้อย่างน่าทึ่ง และไม่ซ้ำแบบนวนิยายอื่นๆ ไม่ว่ายุคเดียวกันหรือยุคต่อมา คือ "นี่หรือชีวิต" อาจจะเป็นเพราะคนอ่านพระนิพนธ์ส่วนใหญ่ ติดกับความสุขสดชื่นจากเรื่องปริศนา และเป็นรสนิยมของคนอ่านจำนวนมากที่ชอบเรื่องพระเอกนางเอก รักกัน เข้าใจผิดกันและจบกันด้วยความสุข จึงไม่ติดใจเรื่องชีวิตที่ประสบชะตากรรมกันไปคนละแบบ ของพี่น้องสามสาว
ชื่อเพ็ญ ลักษณา และวิไล เป็นชีวิตในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง จนถึงราวๆกึ่งพุทธกาล พ.ศ 2500 เพ็ญเป็นพี่สาวคนโตที่สุขุม โอบอ้อมอารี มีชีวิตครอบครัวที่เป็นสุขกับคุณหลวงเมธาวที สามีที่ดีงามพอกัน ทั้งสองไม่มีลูก ชีวิตก็เลยต้องอุปการะหลานๆลูกของน้องสาวทั้งสองแทน
ลักษณาแต่งงานกับนายโอภาส ชายหนุ่มฐานะปานกลางค่อนข้างดี หน้าตาดี ด้วยความหลงรักเขาอย่างไม่ลืมหูลืมตา เมื่อแต่งไปแล้ว มีลูกด้วยกัน 3 คนเธอเพิ่งตระหนักว่าสามีเป็นโรคจิต มีอาการแบบพวกซาดิสม์ อ่อนๆ คือต้องกลั่นแกล้งทรมานลูกเมีย เหมือนเป็นศัตรู เพื่อความสนุกของตน ลักษณาพยายามทุกทางที่จะให้สามีเลิกนิสัยนี้ แต่เธอก็หมดหวัง ชีวิตเธอและลูกตกอยู่ในความอกสั่นขวัญแขวน ขึ้นกับอารมณ์ดีหรือร้ายของสามี แต่ลักษณาก็มีทิฐิในทางผิด ไม่ยอมกลับไปหาความช่วยเหลือจากพี่น้อง เพื่อให้อนาคตของลูกดีกว่านี้ ปล่อยตัวเองไปตามบุญตามกรรม จนติดเหล้า ติดมอร์ฟีน แล้วตายไปในวัยกลางคน ลูกชายคนกลางหนีออกจากบ้านเพราะทนพ่อข่มเหงน้ำใจไม่ไหว ลูกสาวคนโตกลายเป็นคนเก็บกดมองโลกในแง่ร้าย เพราะพ่อกลั่นแกล้งไม่ให้เธอมีโอกาสมีความรักอย่างเด็กสาวอื่นๆ แต่บีบบังคับปกครองเธอไว้ในอำนาจของเขา ลูกสาวคนเล็กเท่านั้นที่รอดไปได้ แต่ก็ต้องหวุดหวิดกับภัยจากชายชั่วที่เป็นชู้ของน้าสาว จนได้พบแสงสว่างจากครอบครัวของลุงและป้า ได้พบผู้ชายดีและแต่งงานกันในที่สุด
วิไลน้องสาวคนเล็กในสามสาว เป็นผู้หญิงที่มีบุญเก่าติดตัวมามาก นับเป็นตัวละครที่โชคดีที่สุดในเรื่อง คือสวยมาก เกิดในครอบครัวดี ไม่เคยลำบาก แล้วยังได้สามีดี เป็นลูกชายเศรษฐีที่นิสัยดี รักและตามใจภรรยาทุกอย่าง ทำให้วิไลอยู่เหมือนนางพญา ชีวิตหรูหรา อยากได้อะไรก็ได้ทุกอย่างที่เงินเนรมิตได้ ผู้ชายทั้งหนุ่มและไม่หนุ่มพากันห้อมล้อมเอาอกเอาใจ แม้ว่าเธอมีลูกแล้วก็ตาม
วิไลดำเนินชีวิตตรงกันข้ามกับลักษณา คือเธอบั่นทอนทำลายจิตใจคนทุกคนที่รักเธอ ด้วยความหยิ่ง อวดดี หลงตัวเองและเห็นแก่ตัว ไม่มีความเป็นภรรยาและแม่ จนสามีทนไม่ไหวขอหย่า ไปแต่งงานใหม่ กรรมบันดาลให้วิไลหลงรักแมงดาปีกทอง จนลูกสาวทนไม่ได้ต้องตัดขาดจากแม่ไปอยู่กับป้า ในตอนจบของเรื่องวิไลก็สูญเสียทุกอย่างที่เคยมี ทั้งความรัก เงินทองและเกียรติ พาชีวิตไปอับปางกับผู้ชายที่ปอกลอกเธอ
เรื่องนี้เล่าด้วยสำนวนน่าอ่าน ไม่บีบคั้นอารมณ์ผู้อ่าน แฝงความสนุกสนานตามแบบของผู้นิพนธ์ แต่อาจจะด้วยเนื้อเรื่องที่หนักหนาชวนหดหู่ แม้ในตอนจบมีความสุขหลงเหลืออยู่บ้าง ก็ไม่บรรเทาได้มากนัก เรื่องนี้จึงไม่ค่อยจะมีคนเอ่ยถึง แต่ถ้าอ่าน ก็จะพบสาระที่น่าคิดในการดำเนินชีวิตแฝงอยู่เกือบทุกหน้า
นวนิยายขนาดสั้นอีกเรื่องหนึ่งที่คนอ่านรู้จักกันแพร่หลายรองลงมาจากปริศนา เพราะเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาของชั้นมัธยมศึกษาอยู่หลายปี คือ "นิกกับพิม" เป็นจดหมายโต้ตอบกันระหว่างหมา 2 ตัว (คนเขียนก็คือเจ้าของ) นิก หมาบ๊อกเซอร์ ที่หมู่บ้านภูเขียว และพิม หมาพูเดิ้ล ในหมู่บ้านในสวิตเซอร์แลนด์ เล่าเรื่องของนายผ่านสายตาหมาแสนรู้ มีทัศนะแปลกๆ ที่คนรักหมาเท่านั้นจะเห็นเป็นของไม่แปลก เช่นของหอมของมนุษย์ หมารู้สึกว่าเหม็น แต่ของเหม็นของมนุษย์ กลับเป็นของหอมของหมา เป็นเรื่องที่อ่านได้ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก สำนวนภาษาสดใส ร่าเริง ทำให้คนอ่านพลอยยิ้มไปด้วยกับความฉลาดและไร้เดียงสาของนิก กับ พิม
จากคุณ |
:
jwkc2000 (jwkc2000)
|
เขียนเมื่อ |
:
วันรัฐธรรมนูญ 54 17:24:06
|
|
|
|
 |