Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
บทวิเคราะห์วิจารณ์ซีรีส์ "Dae Mul : ซีรีส์การเมืองเกาหลีที่คนไทยควรต้องดูในยุคผู้นำหญิง" ติดต่อทีมงาน

สวัสดีครับ ห่างหายไปนานปีกว่า เนื่องจากติดภารกิจทางการศึกษา ลองอ่านกันดูนะครับ


Dae Mul หรือในชื่อภาษาไทยที่ฉายทางช่อง  9  “ประธานาธิบดีคุณนายกับคุณชายบอดี้การ์ด” (ผมแอบไม่ปลื้มกับชื่อนี้ เพราะมันดูแบ๊วเกินไป ในเรื่องนี้เป็นเรื่องการเมืองดราม่าหนักๆ ไม่ใช่แนวกุ๊กกิ๊กซะหน่อย!!!) ฉายทางช่อง SBS ของเกาหลีใต้เมื่อช่วงปลายปี 2010 เป็นละครที่ทำเรตติ้งดีมาก ครองอันดับ 1 ตั้งแต่ตอนแรกที่ออกอากาศจนถึงตอนจบ จึงเป็นเครื่องการันตีคุณภาพของละครเรื่องนี้และช่อง 9 ก็ได้นำมาออกอากาศในประเทศไทยในปี 2011 นี้เอง ในช่วงโมเดิร์นไนน์ซีรีส์ วันจันทร์ถึงศุกร์ 13.00 – 14.00 น. แต่จากเหตุการณ์น้ำท่วมทำให้ต้องหยุดออกอากาศไปกลางคัน และเพิ่งกลับมาออกอากาศได้อีกครั้งเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ไม่รู้ว่าเป็นความบังเอิญหรือไม่ ที่ซีรีส์เรื่องนี้นำมาออกอากาศในประเทศไทยในห้วงบรรยากาศของการมีนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกพอดี จึงน่าจะให้มุมมองและข้อคิดบ้างละน่ะ

แนะนำตัวละครสำคัญ

ซอฮเยริม (แสดงโดย Ko Hyun Jung) – ประธานาธิบดีหญิงคนแรกของเกาหลีใต้ อดีตเป็นพิธีกรรายการเด็กทางโทรทัศน์และผู้ดำเนินรายการวิทยุ แต่งงานกับช่างภาพในสถานีโทรทัศน์เดียวกัน มีลูกชายหนึ่งคน แต่ต่อมาสามีเธอเสียชีวิตจากการไปทำข่าวที่อัฟกานิสถาน และเธอถูกไล่ออกจากสถานี เธอมีความเจ็บปวด จากการตายของสามีเธอว่า เกาหลีควรจะเป็นประเทศที่ปกป้องพลเมืองของตนเองได้ ต่อมาจึงลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. โดยการชักชวนของคังแทซาน และต่อมากลายมาเป็นคู่แข่งชิงตำแหน่งประธานาธิบดี โดยเธอแยกตัวออกมาตั้งพรรคการเมืองใหม่ ชื่อว่า “พรรคปฏิรูป” และได้รับเลือกตั้งในที่สุด

ฮาโดยา (แสดงโดย Kwon Sang Woo) – อัยการหนุ่มไฟแรง สมัยวัยรุ่นเคยเป็นเด็กเกเร แต่แล้ววันหนึ่งเมื่อเขาถูกลูก ส.ส. รังแก และพ่อของเขาต้องยอมไปเลียเท้า ส.ส. คนนั้นเพื่อขอโทษ เขาจึงเจ็บแค้นมาก จึงหันมาตั้งใจเรียนกฎหมาย เพื่อหวังจะเอาชนะพวกนักการเมืองให้ได้ และไม่ต้องการให้พ่อของเขาไปทำเช่นนั้นอีก  ต่อมาสอบได้เป็นอัยการ มีอุดมการณ์อย่างแน่วแน่ว่าจะเอาผิดนักการเมืองที่ทุจริตประเทศชาติให้ได้ เขาแอบชอบซอฮเยริมมานาน

คังแทซาน (แสดงโดย Cha In Pyo) – นักการเมืองหนุ่มผู้มีความทะเยอทะยานสูงแห่ง “พรรคเพื่อนประชาชน”  เป็นอดีตอัยการ แต่งงานกับลูกสาวของประธานซันโฮกรุ๊ป กลุ่มธุรกิจขนาดยักษ์ของเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นแหล่งเงินทุนสนับสนุนทางการเมืองของเขา เป็นนักการเมืองที่ทำทุกวิถีทางทั้งบนดินและใต้ดินเพื่อให้ได้อำนาจ เป้าหมายสูงสุดคือการเป็นประธานาธิบดีของเกาหลีใต้ เป็นผู้ชักชวนให้ซอฮเยริมเข้าสู่การเมือง แต่ต่อมาความเห็นไม่ตรงกัน เธอจึงลาออกจากพรรค และในภายหลังเขาสามารถยึดอำนาจในพรรคโดยการโค่นอำนาจหัวหน้าพรรคคนเดิม และลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี แต่ก็พ่ายแพ้ให้กับเธอในที่สุด

จางเซจิน (แสดงโดย Lee Soo Kyung) – ภัณฑารักษ์สาวสวย ผู้ดูแลภาพวาดศิลปะใน Heritage Club สโมสรศิลปะหรูที่นักการเมืองมักชอบมาพบปะสังสรรค์ ซื้อขายภาพวาด และเป็นสถานที่ที่มีเงื่อนงำและด้านมืดของการเมืองมากมายเพราะเป็นที่สงสัยว่ามีเงินหมุนเวียนมากมาย และน่าจะเป็นแหล่งฟอกเงิน เธอเกิดที่อเมริกา เป็นลูกสาวนอกสมรสของ “ลีแบโฮ” (หัวหน้าพรรคเพื่อนประชาชน ก่อนที่จะถูกคังแทซานโค่นอำนาจ) เธอกลับมาเพื่อที่จะล้างแค้นพ่อของเธอ และเธอแอบมีความสัมพันธ์แบบลับๆ กับคังแทซาน และเป็นคนที่คังแทซานไว้ใจให้ดูแลเรื่องเงินทุนทางการเมือง เป็นตัวละครสำคัญที่เก็บงำความลับและเป็นตัวแปรที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งในเรื่องนี้

เรื่องย่อ

“ซอฮเยริม” เป็นพิธีกรรายการเด็กทางโทรทัศน์ เธอแต่งงานกับช่างภาพในสถานีเดียวกันและมีลูกชายด้วยกัน 1 คน ก่อนที่สามีของเธอจะถูกส่งไปทำข่าวที่อัฟกานิสถาน แต่แล้วก็เกิดเหตุการณ์ถูกผู้ก่อการร้ายจับเป็นตัวประกันพร้อมกับนักข่าวญี่ปุ่น ก่อนที่เขาและเพื่อนนักข่าวชาวเกาหลีจะถูกสังหาร ขณะที่นักข่าวญี่ปุ่นถูกปล่อยตัวในเวลาต่อมา เธอจึงเจ็บปวดอย่างมากที่ต้องสูญเสียคนที่รักไป โดยมีความเชื่อลึกๆ ว่ารัฐบาลเกาหลีใต้ไม่ได้ทำอย่างเต็มความสามารถเพื่อที่จะช่วยเหลือสามี วันหนึ่งเธอใช้รายการวิทยุของเธอระบายความคับแค้นดังกล่าว ก่อนที่จะถูกไล่ออกในเวลาต่อมา เธอจึงหอบลูกชายเธอกลับบ้านเกิดไปอยู่ที่เขตนัมไฮดง เธอรู้จักกับ “ฮาโดยา” มาเป็นเวลานานตั้งแต่สมัยที่เขายังเป็นวัยรุ่นเกเร แต่ในเวลานี้เขาเป็นอัยการ และก็เพิ่งถูกสั่งย้ายให้กลับมาประจำที่สำนักงานอัยการเขตนัมไฮดง บ้านเกิดเหมือนกับเธอเช่นกัน

ด้วยนิสัยมุทะลุบ้าดีเดือดของฮาโดยา ทำให้เขาต้องเข้าไปพัวพันกับการสืบสวนคดีทุจริตที่เกี่ยวข้องกับนักการเมืองผู้มีอิทธิพลระดับชาติ จนทำให้เขาถูกทำร้ายและข่มขู่อยู่บ่อยๆ แต่ก็ไม่ได้ทำให้อุดมการณ์ของเขามลายหายไป และช่วงนี้เองที่ทำให้เขาได้รู้จักกับ “จางเซจิน” ซึ่งกุมความลับของนักการเมืองใน Heritage Club ไว้มากมาย ในขณะเดียวกัน วันหนึ่งชีวิตของซอฮเยริมก็พลิกผัน เมื่อเธอตอบรับข้อเสนอของ “คังแทซาน” จากพรรคเพื่อนประชา ลงสมัครรับเลือกตั้งซ่อม ส.ส. ในเขตนัมไฮดง หลังจากที่ตำแหน่งว่างลงเนื่องจากส.ส.คนเดิมเข้าไปพัวพันกับคดีรับสินบน และเธอก็ได้รับเลือกตั้งอย่างฉิวเฉียด เธอทำหน้าที่ ส.ส. 1 ปีจนครบวาระของสภาแล้วจึงลาออกจากตำแหน่ง รวมทั้งลาออกจากพรรคเพื่อนประชาด้วย หลังจากที่เธอผิดหวังที่ได้เห็นการทำหน้าที่ ส.ส. หลายคนที่ไม่ได้เป็นผู้แทนประชาชนอย่างแท้จริง และผิดหวังในตัวคังแทซานเช่นกันที่ไม่ได้มุ่งหวังปฏิรูปการเมืองอย่างแท้จริง หากแต่เพียงมุ่งหวังอำนาจเท่านั้น


เมื่อการเลือกตั้งทั่วไปสมัยต่อมาเสร็จสิ้น คังแทซานลงสมัครในเขตนัมไฮดงแทนและได้รับเลือกตั้ง ขณะที่ซอฮเยริมหันเหไปลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าการเขตนัมไฮเดาแทน เพื่อหวังจะได้ทำงานเพื่อประชาชนอย่างแท้จริงมากกว่าจะเป็นเพียงหุ่นเชิดในพรรคการเมือง และเธอก็ได้รับเลือกตั้งอีกเช่นกัน โดยการวางแผนจัดฉากแบบลับๆ ของคังแทซานช่วยปูทางให้เธอได้รับชัยชนะ ด้วยมุ่งหวังให้เธอกลับมาพรรคเพื่อนประชาอีกครั้ง (โดยที่เธอก็ไม่ล่วงรู้แผนการนี้) เมื่อฮเยริมได้เป็นผู้ว่าการเขต เธอต้องเผชิญกับภาวะวิกฤติใกล้ล้มละลาย และก็เป็นคังแทซานอีกเช่นกันที่ใช้ทุกวิถีทางบีบให้เธอยอมแพ้ เพื่อหวังให้เธอมาคุกเข่าแทบเท้าเขายอมรับความพ่ายแพ้ และกลับเข้าพรรค แต่เธอก็สามารถเอาตัวรอดจากวิกฤตินี้ได้ในที่สุด เมื่อไม่ได้ผล สุดท้ายแล้วคังแทซานจึงต้องใช้วิธีการแฉการขึ้นเป็นผู้ว่าการเขต (ที่ตัวเขาวางแผนไว้) สุดท้ายซอฮเยริมจึงลาออก


แต่เส้นทางการเมืองของเธอไม่ได้จบลงเพียงเท่านั้น ต่อมาเธอตั้งพรรคการเมืองใหม่ ชื่อว่า “พรรคปฏิรูป” และเธอก็ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีด้วย พร้อมๆ กันกับที่คังแทซานสามารถยึดอำนาจและก้าวขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อนประชาชน และลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีด้วยเช่นกัน แม้คะแนนนิยมในช่วงแรกจะเป็นคังแทซานที่เหนือกว่า แต่สุดท้ายแล้วก็เป็นซอฮเยริมที่ชนะการเลือกตั้งและก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีหญิงคนแรกของเกาหลีใต้

ระบบการเมืองเกาหลีใต้

เนื่องจากละครเรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมือง ซึ่งเกี่ยวพันกับสถาบันการเมืองและกระบวนการทางการเมืองหลายๆ อย่าง เพื่อความเข้าใจที่มากขึ้น ผู้เขียนคิดว่าเราควรทำความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับระบบการเมืองเกาหลีใต้ โดยผู้เขียนในฐานะนักเรียนรัฐศาสตร์ได้ไปค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมมาคร่าวๆ ดังนี้
 
เริ่มจากฝ่ายนิติบัญญัติ รัฐสภาเกาหลีใต้ เรียกว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (National Assembly) เป็นระบบสภาเดียว (Unicameral) ประกอบด้วยส.ส. จำนวน 299 คน โดยมี ส.ส. 2 ประเภท คือ ส.ส.เขต จำนวน 245 คน และ ส.ส. สัดส่วน จำนวน 54 คน โดยที่ ส.ส. เขตมาจากการเลือกตั้งแบบเขตเดียวคนเดียว และส.ส.สัดส่วนมาจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง ใช้เขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง

ส่วนฝ่ายบริหาร  เป็นฝ่ายบริหารแบบคู่ เพราะมีทั้งประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรี โดยที่ประธานาธิบดีเป็นทั้งประมุขของสาธารณรัฐ และหัวหน้าฝ่ายบริหาร มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ในขณะที่นายกรัฐมนตรี เป็นตำแหน่งที่ถูกประธานาธิบดีเสนอชื่อ โดยความเห็นชอบของรัฐสภา ลักษณะฝ่ายบริหารของเกาหลีใต้ หากนึกภาพไม่ออก จะเป็นรูปแบบเหมือนกับของฝรั่งเศส ที่มีทั้งประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีคู่กัน
(ข้อมูลจากรัฐสภาเกาหลีใต้ http://korea.na.go.kr/index.jsp และ ทำเนียบประธานาธิบดีเกาหลีใต้ http://english.president.go.kr/main.php )

พรรคการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ และการเลือกตั้ง

การเมืองระบอบประชาธิปไตยนั้นต้องมีการเลือกตั้ง ถ้าไม่มีการเลือกตั้งก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่กระนั้นประชาธิปไตยก็ไม่ได้เท่ากับการเลือกตั้งแต่เพียงอย่างเดียว การเมืองในระบอบประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งนั้น พรรคการเมืองทำหน้าที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง เมื่อได้รับเลือกตั้งแล้ว พรรคการเมืองเหล่านั้นที่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ก็จะได้นำนโยบายที่ตนเองหาเสียงไว้มาทำเป็นนโยบายบริหารประเทศ แต่กระนั้นในเรื่องกระบวนการทางนโยบาย พรรคการเมืองไม่ใช่ตัวแสดงเพียงตัวเดียว หากแต่ยังมีอีกกลุ่มหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญยิ่ง คือ “กลุ่มผลประโยชน์” ซึ่งไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่เป็นกลุ่มที่ให้การสนับสนุนเงินทุนแก่พรรคการเมืองและนักการเมืองเพื่อหวังให้รักษาผลประโยชน์ของกลุ่มตนเองเมื่อพรรคการเมืองและนักการเมืองเหล่านั้นขึ้นมามีอำนาจ

ในการศึกษาวิชารัฐศาสตร์มีการเรียนการสอนวิชาหนึ่ง ชื่อ “พรรคการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ และการเลือกตั้ง” ผู้เขียนคิดว่าซีรีส์เรื่องนี้ได้ฉายภาพความเกี่ยวพันของทั้งสามสิ่งไว้อย่างชัดเจนมาก และทำให้เห็นภาพมุมมองเปรียบเทียบกับการเมืองไทยได้ด้วยเช่นกัน “พรรคการเมือง” ในซีรีส์เรื่องนี้ก็คือพรรคเพื่อนประชาชน พรรคปฏิรูป รวมทั้งพรรคอยู่ดีกินดีด้วย “กลุ่มผลประโยชน์” คือ ซันโฮกรุ๊ป บริษัทยักษ์ใหญ่ของพ่อตาของคังแทซาน ที่มีบทบาทสำคัญในนโยบายการพัฒนาที่ดิน และ “การเลือกตั้ง” เนื่องจากเกาหลีใต้เป็นระบอบกึ่งประธานาธิบดี จึงมีการเลือกตั้ง 2 ครั้ง คือ การเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และการเลือกตั้งประธานาธิบดี ทั้งสามสิ่งนี้แยกไม่ออกในการเมืองระบอบประชาธิปไตย และซีรีส์เรื่องนี้ก็เป็นตัวอย่างที่ดีที่ชี้ให้เห็นความเกี่ยวพันของทั้งสามสิ่งนี้ (มีประโยชน์ต่อนิสิตนักศึกษารัฐศาสตร์ และผู้สนใจการเมืองเป็นอย่างยิ่งครับ)

การเมืองหน้าฉาก – การเมืองหลังฉาก

การเมืองหน้าฉากเรามักจะเห็นความพร้อมเพรียง ความเรียบร้อยในการดำเนินการทางการเมืองใดๆ ประหนึ่งว่ามีการจัดเตรียมกันมาเป็นอย่างดี ไม่มีปัญหาหรือข้อขัดแย้งใดๆ แต่แท้ที่จริงแล้วข้างหลังฉากนั้นเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ความรุนแรง ความอิจฉาริษยา ความโลภ ความทะเยอทะยานทั้งสิ้น ตัวอย่างในเรื่องนี้ที่ฉายภาพให้เห็น คือตอนที่คังแทซานสามารถโค่นลีแบโฮและก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อนประชาชนคนใหม่ ด้วยการ “บังคับ” ลูกน้องใน “มุ้ง” ของลีแบโฮให้มาสนับสนุนตัวเองลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี โดยใช้การ “แบล็คเมล์” เรื่องมืดของนักการเมืองเหล่านั้นว่าถ้าหากไม่มาร่วมกับตนเองแล้ว คดีความต่างๆ จะตามมาแน่ นักการเมืองเหล่านั้นจึงจำยอมต้องมาร่วมด้วยทั้งที่บางคนยังจงรักภักดีกับ “นาย” คนเดิมอยู่ แต่เมื่ออำนาจเปลี่ยน ก็ต้องเปลี่ยนตามอำนาจด้วย ภาพที่ออกมาจึงปรากฎการสนับสนุนคังแทซานอย่างพร้อมหน้าพร้อมตาของนักการเมืองลูกหาบเหล่านั้น และทำพิธีส่งมอบตำแหน่งกันอย่างเอิกเกริกจากลีแบโฮสู่คังแทซาน ราวกับว่าทุกอย่างนั้นเรียบร้อยไม่มีความขัดแย้งใดๆ แต่แท้จริงแล้วเบื้องหลังมีอะไรหลายอย่างที่ “ฝุ่นตลบ” เยอะ

เราจึงควรคิดต่อไปในการเมืองบ้านเราว่า อย่าเพิ่งไปเชื่อการเมืองที่เห็นกันในหน้าฉาก ที่เต็มไปด้วยความสวยงาม สมัครสมานสามัคคี แต่ลองคิดกันดีๆ ว่าหลังฉากนั้นเต็มไปด้วยเรื่องแบบนี้มากขนาดไหน?

บทพิสูจน์ภาวะผู้นำ : ซอฮเยริม vs คังแทซาน

ซีรีส์เรื่องนี้ได้ฉายภาพลักษณะ “ผู้นำ” ที่น่าสนใจจากตัวซอฮเยริมและคังแทซาน ทั้งสองคนเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ แต่เส้นทางการเมืองและเส้นทางชีวิตของทั้งสองคนนั้นช่างแตกต่างกันเหลือเกิน

ชีวิตของซอฮเยริมนั้นต้องต่อสู้มาโดยตลอด เธอเคยต้องพบกับความเจ็บปวดเมื่อคราวที่สูญเสียสามีเธอไปในอัฟกานิสถาน ซึ่งนั่นทำให้เธอแข็งแกร่งขึ้น เมื่อเธอก้าวเข้ามาทำงานการเมือง เธอก็เป็นนักการเมืองที่มีจุดยืนมั่นคง เป็นตัวของตัวเองสูงมาก เมื่อเธอพบว่าการเป็น ส.ส. ในรัฐสภา เป็นได้แค่ “หุ่นเชิด” ของคนในพรรคบางคน และเธอไม่ยอมทนต่อไป เธอจึงลาออก ต่อมาเมื่อเธอมาเป็นผู้ว่าการเขตนัมไฮเดา ในสภาวะที่ใกล้ล้มละลาย เธอต้องทำทุกวิถีทางเพื่อหาเงิน หาการลงทุนเข้ามายังเขตนี้เพื่อให้รอดพ้นจากการล้มละลาย สิ่งนี้เองที่เป็นตัวหล่อหลอม “ภาวะผู้นำ” “การตัดสินใจ” และ “การรับมือกับความกดดัน” ของตัวเธอเองในการทำงานการเมือง ทำให้เธอต้องสู้อย่างถึงที่สุด ฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เธอจะมีภาวะผู้นำที่สูง เป็นหญิงแกร่งที่พร้อมจะสู้กับทุกสถานการณ์

ในทางกลับกัน คังแทซานเป็นนักการเมืองที่เติบโตมากับ “การแสวงหาอำนาจ” มาโดยตลอด เริ่มจากการแต่งงานกับลูกสาวประธานซันโฮกรุ๊ป บริษัทยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นกลุ่มทุนสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของเขา เมื่อเขาได้เป็นเลขาธิการพรรค ชีวิตเขานั้นพัวพันอยู่แต่กับการล็อบบี้ การแบล็คเมล์ การแสวงหาฐานสนับสนุนทางการเมือง การโค่นอำนาจหัวหน้าพรรคคนเดิม การเล่นการเมืองทั้งบนดินและใต้ดินเพื่อให้ได้อำนาจ  กล่าวได้ว่าชีวิตเขานั้นพัวพันกับ “การเมือง” มากกว่า “การทำงานทางการเมือง”

เมื่อทั้งคู่ต้องลงสนามแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีกัน คนหนึ่งนั้นไม่เกรงกลัวต่อสถานการณ์ใดๆ เพราะในชีวิตเธอผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว ผ่านสถานการณ์ที่ย่ำแย่มาแล้ว ไม่สนใจว่าจะแพ้หรือชนะ ขอเพียงแค่ได้ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ขณะที่อีกคนหนึ่งนั้นต้องชนะเท่านั้น และต้องมัวแต่พะวงว่าจะมีคนทรยศหรือไม่ จะมีคนมาโค่นอำนาจหรือไม่ พ่อตาที่สนับสนุนตัวเองมาตลอดจะเลิกสนับสนุนหรือไม่ สิ่งเหล่านี้ในซีรีส์เรื่องนี้จะบอกเองและแสดงให้เห็นภาพชัดเจนของ “ผู้นำ” และ “นักการเมือง” ทั้งสองแบบ

การเมืองของความปรองดอง (ในหมู่นักการเมือง)

ถ้าไม่พูดเรื่องความปรองดองในยุคนี้สมัยนี้ก็คงถือว่าเชย ในซีรีส์เรื่องนี้ก็เช่นกัน ถึงแม้จะไม่ใช่ความปรองดองระหว่างคนในชาติ แต่เป็นเรื่องความปรองดองในหมู่นักการเมืองเอง (ความปรองดองในที่นี้ไปไกลกว่าเรื่องการเกี๊ยะเซี๊ยะทางการเมือง) เมื่อซอฮเยริมก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีของเกาหลีใต้ โดยความเข้าใจของคนดูน่าจะคิดว่าเธอน่าจะเอาแต่พวกตัวเอง ดันพวกตัวเองให้มีตำแหน่งทางการเมือง แต่ในเรื่องนี้ไม่ใช่ สิ่งที่ทำให้มันแปลกมากๆ (ซึ่งถ้ามีอยู่ในโลกการเมืองจริงก็คงดีมาก) คือ การที่เธอพยายามจับมือกับคังแทซาน ด้วยการเสนอให้เป็นทูตพิเศษไปเจรจาเรื่องการลงทุนกับอเมริกา เพราะเขามีความสัมพันธ์ที่กว้างขวางกับฝั่งนั้น หรือแม้กระทั่งการที่ประธานาธิบดีซอฮเยริมเสนอที่จะแต่งตั้งให้คังแทซานเป็นนายกรัฐมนตรี ที่ทุกอย่างดูเหมือนจะราบรื่น แต่สุดท้ายก็ต้องล้มไป เพราะตัวคังแทซานขอถอนตัวเนื่องจากรู้ดีว่าตนเองไม่เหมาะสม

ความปรองดองในหมู่นักการเมืองนี้ หากเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติตามที่เห็นในซีรีส์เรื่องนี้ก็คงจะดี ปัญหามันอยู่ที่ในโลกความเป็นจริงทางการเมืองนั้น ความปรองดองไม่ใช่สิ่งที่ไปไกลกว่าการเกี๊ยะเซี๊ยะทางการเมืองของตัวนักการเมืองเองมากกว่าผลประโยชน์ของประเทศชาติ หากเกิดเหตุการณ์อย่างในซีรีส์เรื่องนี้ในการเมืองไทย ผู้เขียนเชื่อว่าคงไม่แคล้วที่จะกลายเป็นการประนีประนอมกัน จัดสรรปันส่วนผลประโยชน์ โดยอาศัยภาพความปรองดองมาเป็นฉากหน้า

มติมหาชนกับการเมือง

ซีรีส์เรื่องนี้ได้ชี้เห็นอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญ คือ ความสำคัญของมติมหาชนต่อการเมือง ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง โดยความเข้าใจทั่วไปในโลกตะวันออกนั้น เรามักเข้าใจกันว่ามติมหาชนไม่มีความสำคัญต่อการเมือง และนักการเมืองมักตัดสินใจทำอะไรโดยไม่สนใจมติมหาชน แต่ในซีรีส์เรื่องนี้ต่างออกไป รูปธรรมที่ชัดเจนที่สุด คือ การย้ายขั้วสนับสนุนการลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของ “มินดงโฮ” จากพรรคอยู่ดีกินดี ผู้สมัครอีกคนหนึ่งที่ตอนแรกลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีด้วย แต่ต่อมาถอนตัวมาสนับสนุนซอฮเยริมแทน แต่เพียงหนึ่งคืนก่อนการลงคะแนนเลือกตั้ง เขากลับย้ายขั้วไปสนับสนุนคังแทซานเพราะคิดว่าซอฮเยริมแพ้แน่ ประกอบกับคังแทซานจะเอาเรื่องคดีทุจริตของเขาออกมาแฉเพื่อบีบให้มาสนับสนุนเขาด้วยหวังว่าคะแนนเสียงสนับสนุนจะเพิ่มมากขึ้น การณ์กลับกลายเป็นว่าผู้สนับสนุนมินดงโฮและพรรคอยู่ดีกินดีไม่ได้เออออห่อหมกตามเขาไปด้วย มิหนำซ้ำยังเป็นการจุดกระแสให้ผู้ที่ยังไม่ได้ตัดสินใจลงคะแนนเสียงให้มาลงคะแนนให้แก่ซอฮเยริมเสียอีก จึงเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดทั้งมินดงโฮและคังแทซานอย่างแท้จริง กล่าวได้ว่าชัยชนะของซอฮเยริมส่วนหนึ่งมาจากผลของการย้ายขั้วสนับสนุนของมินดงโฮเอง ที่ทำให้เกิดกระแส “นักการเมืองหักหลังประชาชน” ขึ้นมา

ประเด็นเรื่องมติมหาชนต่อการเมืองนี้ ผู้เขียนคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง เพราะมติมหาชนเป็นเครื่องกำกับไม่ให้นักการเมืองทำอะไรได้ตามใจชอบโดยไม่ฟังเสียงของประชาชน ในโลกตะวันตกนั้น มติมหาชนมีความสำคัญต่อการเมืองมาเป็นระยะเวลานานแล้ว แต่ในโลกตะวันออก ผู้เขียนมองในแง่ดีว่าจะค่อยๆ ดีขึ้น และถ้าเรา (ไม่เว้นแม้แต่ในประเทศไทย) สามารถทำให้มติมหาชนเป็นกระแสที่จุดติดได้แล้ว ผู้เขียนคิดว่าการเมืองของเราน่าจะมีคุณภาพมากขึ้นกว่าเดิม (มติมหาชนในที่นี่ คือ public opinion ไม่ใช่ mob rule ที่อ้างเสียงส่วนใหญ่มากดดันในทุกเรื่อง แต่เป็นการแสดงออกซึ่งการเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยของประชาชนต่อการดำเนินงานทางการเมืองในเรื่องต่างๆ ผ่านรูปแบบต่างๆ เช่น การเดินขบวน การเดินรณรงค์ เป็นต้น)

บททิ้งท้าย

โดยรวมผู้เขียนคิดว่าละครเรื่องนี้ได้ถ่ายทอดเรื่องการเมืองออกมาได้อย่างดียิ่ง โดยให้คะแนน 9/10 ที่หายไป 1 คะแนนนั้น ผู้เขียนคิดว่าเป็นเพราะผู้สร้างเน้นเรื่องการเมืองเรื่องการแย่งชิงอำนาจในพรรค การเมืองเรื่องการต่อรองผลประโยชน์ หรือแม้แต่การเมืองเรื่องการใช้อิทธิพลและข่มขู่มากเกินไป ในฐานะนักเรียนรัฐศาสตร์ ผู้เขียนคาดหวังอยากจะมีเรื่องการเมืองเรื่องนโยบาย หรือการเมืองในกระบวนการตัดสินใจมากกว่านี้ รูปธรรมคือ ในละครเรื่องนี้มีฉากการวางแผนในหมู่นักการเมืองแกนนำพรรค ในห้องหัวหน้าพรรคเกือบทั้งเรื่อง แต่กลับมีฉากในรัฐสภาอยู่ไม่กี่ฉาก หรือแม้แต่ฉากการประชุมคณะรัฐมนตรีก็ไม่มี และที่สำคัญ ถ้าสังเกตดีๆ คือ ไม่มีบทบาทของนายกรัฐมนตรีในเรื่องนี้ มีการกล่าวถึงบ้าง แต่ไม่ได้มีการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการและเป็นตัวละครที่สำคัญแต่อย่างใด

ผู้เขียนคิดว่าข้อที่โดดเด่นของซีรีส์เรื่องนี้อีกประการหนึ่งคือ การฉายภาพการเมืองในลักษณะ “สัจนิยม” (Realism) คือเป็นการเมืองที่เป็นจริง มิใช่การเมืองแบบอุดมคติ (Idealism) อย่างเช่นซีรีส์ญี่ปุ่นเรื่อง Change นายกมือใหม่หัวใจประชาชน อย่างซอฮเยริมนางเอกของเรื่อง หากสังเกตให้ดีก็ไม่ใช่นักการเมืองประเภทยึดหลักการจ๋าโดยไม่สนใจความเป็นจริงทางการเมือง แต่เป็นนักการเมืองที่รู้จักเล่นการเมือง รู้ว่าควรเล่นแบบไหน อย่างน้อยที่สุดก็เป็นนักการเมืองที่มีจุดยืนมั่นคง ไม่ใช่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา สังเกตได้จากการที่เธอต้องไปเจรจากับพรรคการเมือง และนักการเมืองฝ่ายต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนคิดว่าซีรีส์เกาหลีเรื่องนี้ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่น่าดู และน่าสนใจอีกเรื่องหนึ่ง แนะนำจริงๆ เพราะดีทุกอย่างตั้งแต่พล็อตเรื่อง การดำเนินเรื่อง ไปจนถึงนักแสดง ไม่ผิดหวังแน่นอนครับ

ปล.1 นางเอกเรื่องนี้ คนที่แสดงเป็นซอฮเยริม คงจะคุ้นหน้าคุ้นตากันอยู่บ้าง เพราะเธอคือคนที่แสดงเป็น “มีซีล” ในเรื่องซอนต๊อก

ปล. 2 ในเรื่องนี้ ผมชอบจางเซจินเป็นพิเศษ ไม่รู้เป็นไง ผมรู้สึกว่าผู้หญิงมีความแค้นสวยและมีเสน่ห์ยังไงไม่รู้ 55+

จากคุณ : immeuble
เขียนเมื่อ : 4 ม.ค. 55 15:33:42




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com