Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
Megaupload SOPA การ์ตูน และ Content อื่น ๆ เรื่องวุ่นวายของกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญายุคดิจิดัล{แตกประเด็นจาก A11606000} [ย้ายจาก : การ์ตูน] ติดต่อทีมงาน

ตอนนี้กระแสกฎหมานด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่อเมริกากำลังอยู่ในอุณหภูมิที่ร้อนแรงทะลุปรอท โดยเฉพาะร่างกฎหมาย SOPA และ PIPA ที่เป็นที่กล่าวขวัญอย่างแพร่หลายในหมู่ประชาชน และ ผู้ให้บริการ content ทั้งหลายที่พยายามรณรงค์ให้เห็นถึงผลกระทบของร่างกฎหมายต่อสังคม Internet โดยรวม แต่ก่อนจะพูดถึงร่างกฎหมายสองฉบับดังกล่าว มาเข้าเรื่องที่ถึงแม้จะไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับ SOPA และ PIPA โดยตรง แต่จะเรียกว่าไม่เกี่ยวเลยก็คงไม่เชิง นั้นก็คือการปิดเว็บที่ทำให้สังคมออนไลน์ลือลั่นสนั่นโลกอย่าง Megaupload เมื่อวันที่ 19 มกราคมที่ผ่านมา

1. อะไร ยังไง และ ทำไม Megaupload ถึงโดนปิดตาย

1.1 รู้จัก Megaupload

Megaupload เป็นบริษัท online-based ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในฮ่องกง เริ่มดำเนินการในปี 2005 ให้บริการทางด้าน file storage และบริการอื่น ๆ อย่าง online payment รวมถึงโฆษณาทาง internet บริการที่สร้างชื่อให้ Megaupload ก็เป็นไปตามชื่อนั่นเองคือสามารถให้ผู้ใช้บริการอัพโหลดไฟล์ต่าง ๆ เพื่อเก็บ หรือ แชร์ให้ผู้อื่นเข้ามาดาวน์โหลดได้ตามอัธยาศัย (file sharing) โดยผู้อัพโหลดไฟล์มีสามประเภทด้วยกัน คือ ไม่ได้เป็นสมาชิก (Anonymous) เป็นสมาชิกแบบธรรมดา และ เป็นสมาชิกแบบพรีเมี่ยม โดยสมาชิกแต่ละประเภทตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขการใช้บริการที่ต่างกัน

1.2 ปลาหมอตายเพราะปาก ? เหตุเกิดเพราะ log file

ในวันที่ 19 มกราคมที่ผ่านมา Megaupload ถูกปิด CEO CTO และ ผู้ก่อตั้งถูกออกหมายจับที่ประเทศนิวซีแลนด์ (เห็นได้ว่าเป็นการบังคับใช้กฎหมายนอกดินแดนของสหรัฐอเมริกา) ทีนี้คงต้องกลับไปสู่คำถามที่ว่าเกิดอะไรขึ้นที่ทำให้อเมริกาตบะแตกปล่อยตื้บไซต์นี้เสียจมดิน ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าผู้ที่กระทำการละเมิดจริง ๆ ว่ากันง่าย ๆ คือคนอัพโหลดไฟล์หรือข้อมูลต่าง ๆ ที่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ หรือ ทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น ส่วนสถานะของ Megaupload นั้นเป็น Webhost ซึ่งไม่ใช่ผู้กระทำการโดยตรงแต่ก็มีส่วนต้องรับผิดชอบอยู่

ทั้งนี้ทั้งนั้นหากจะเหมารวมว่าเมื่อมีผู้ใดอัพโหลดไฟล์ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่นแล้วทำให้ Webhost ผิดไปด้วยโดยปริยายคงไม่เหมาะสมเท่าไหร่ในความเป็นจริง content มากมายหลายรูปแบบโลกออนไลน์จะตรวจสอบว่าใครเป็นใคร ไฟล์ไหนละเมิด ไฟล์ไหนเป็น original user content เป็นไปไม่ได้ที่ Webhost จะล่วงรู้ทุกสิ่ง ดังนั้น DMCA (Digital Millennium Copyright Act) จึงมีข้อคุ้มครอง หรือ เหตุยกเว้นความผิดขึ้นมาเพื่อปกป้อง internet services providers โดยมีเงื่อนไขคือ 1) ต้องไม่ทราบว่ามีการละเมิดเกิดขึ้น 2) ไม่สามารถควบคุมจัดการการละเมิดได้ทั่วถึง 3) ไม่สนับสนุนให้มีการละเมิด 4) ไม่ได้ผลประโยชน์จากการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ที่เป็นผลจากการกระทำของผู้ใช้บริการที่ทำการละเมิด

ซึ่งปรากฎว่า Megaupload นั้นกระทำการไม่ตรงเงื่อนไขที่จะสามารถใช้ข้อคุ้มครองนี้ให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองได้ ด้วยเหตุหลายประการ ประการแรกพนักงานในองค์กรล่วงรู้ว่ามีการละเมิดเกิดขึ้นโดยตรวจสอบจาก chatlog ของพนักงาน (ถ้าจำไม่ผิดในเวลานี้กฎหมายเกี่ยวกับ cybercrime กำหนดให้องค์กรต่าง ๆ เก็บข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ไว้ตามระยะเวลาที่กำหนดเพื่อเรียกสอบเมื่อเกิดข้อสงสัย) พบว่ามีเมล์พนักงานคุยกันอย่างโจ่งแจ้งแถมขอ download ไฟล์ละเมิดลิขสิทธิ์กันอีกต่างหาก อัพโหลดขึ้นไปเองก็ยังมีด้วย ด้วยเหตุนี้จึงโดนตีแตกไม่สามารถใช้ข้อคุ้มครองจาก DMCA ได้



1.3 มุมมองทางกฎหมายต่อการปิด Megaupload : เผาโรงนาเพื่อฆ่าหนู ?

แม้ว่าหลักฐานจะดูแน่นหนาว่าเกิดการละเมิดจริงแท้แต่สงครามยังไม่จบอย่าเพิ่งนับศพทหาร อำนาจในการปิดเวป และอายัด Domain Name มีขึ้นก็จริงอยู่ แต่ก็มีข้อถกเถียงกันอย่างแพร่หลายในเรื่อง First Amendment ตามรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา อาจจะสงสัยว่า ฮิยะ ก็ละเมิดชัด ๆ นี่วะ จะมาอ้าง Freedom หาสวรรค์วิมานอะไร เรื่องมันซับซ้อนขึ้นไปอีกหน่อยก็ตรงที่ว่า Megaupload (web file-sharing อื่น ๆ) มันก็ไม่ใช้เพื่อบรรจุสิ่งผิดกฎหมายอย่างเดียวเมื่อไหร่ เวปฝากไฟล์นี้ก็ถือเป็นนวัตกรรมที่ผู้ใช้บริการนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นด้วย ส่งงานลูกค้า ส่งผ่านข้อมูลขนาดใหญ่ เก็บข้อมูลส่วนตัวต่าง ๆ ฯลฯ เรื่องปกติในยุค Cloud Computing การกระทำเช่นนี้เหมือนเผาโรงนาเพื่อฆ่าหนูหรือไม่ โรงนามีข้าวเก็บอยู่และใช้ทำประโยชน์อย่างอื่นได้ แต่มันดันเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งไม่พึงประสงค์ อย่ากระนั้นเลยเผาโรงนาทิ้งให้หนูตาย ... อ้าวแล้วข้าวล่ะ แล้วของอื่นที่เก็บในโรงนาล่ะ เทียบเคียงแล้ว Webhost ก็เหมือนโรงนา ผู้คนมีอิสระในการใช้บริการตามใจ แต่เมื่อมีส่วนที่ผิดกฎหมาย(ไฟล์ละเมิดลิขสิทธิ์)เมื่อเจ้าของโรงนาไม่จัดการ รัฐก็ต้องกระทำการตามสมควร และ ต้องสงวนสิทธิของคนที่เข้ามาใช้ทำการอย่างถูกต้องด้วย หลายฝ่ายก็ข้องใจว่าจัดการเฉพาะส่วนที่เกิดการละเมิดไม่ได้หรือ เครื่องมือทาง digital forensic  หรือ Network forensic ก็ใช่ว่าจะไม่มี แต่อีกฝ่ายก็ว่าถูกต้องแล้ว หากไม่หยุดทั้งระบบ จะเรียกว่าเป็นการลงโทษได้อย่างไร ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายอยู่ที่ไหน ก็เหมือนกับว่าทางบริษัทก็ประกอบการได้ตามปกติน่ะสิ ส่วนนี้ต้องรอดูกันต่อไปว่าฝั่ง CEO จะว่าอย่างไหนแก้ต่างได้หรือไม่

2. กำเนิด SOPA : ยิงก่อนผ่อนทีหลัง

2.1 SOPA คืออะไร ?

สถานะของ SOPA (Stop Online Piracy Act)ยังเป็นร่างกฎหมาย(ที่ตอนนี้ถูกถอนไปก่อนเพราะต้านกระแสมหาชนไม่อยู่แล้ว) ร่างกฎหมายนี้เกิดขึ้นเพื่อจัดการกับการละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์ และ สินค้าทำเทียมเลียนแบบทั้งหลาย ร่างนี้เสนอให้มีการบล็อคการโฆษณาทาง internet ขอให้ระงับการจ่ายเงิน ขอให้ search engine ไม่โชว์ลิงค์ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำละเมิด และ ขอให้ ISP block ไม่ให้สามารถเข้า Website ละเมิดได้ และแน่นอนว่าเสนอโทษทางอาญาสำหรับผู้กระทำความผิดให้อย่างจุใจจัดไปที่จำคุก 25 ปี

2.2 SOPA ทำงานอย่างไร ?

การทำงานของ SOPA ใช้แนวนโยบายแบบยิงก่อนแล้วค่อยถาม เพื่อจัดการผู้ละเมิด content ของ US แต่ site ตั้งอยู่นอก US โดยมีเครื่องมือคืออะไรก็ตามที่สามารถลิงค์กับ site ที่อยู่นอกดินแดนสหรัฐ เช่น  Search Engine (อากู๋ เป็นต้น) ,advertising network, payment site (paypal เป็นต้น), DNS Server อยู่ใน US แต่จดทะเบียน domain Name เป็น dot อื่น ๆ และเกี่ยวข้องกับ Server ต่างแดน สามารถออกคำสั่งหรือหมายศาลไปหา site ประเภทที่ว่า เพื่อให้ตัดความสัมพันธ์กับ website ที่เห็นว่าน่าจะกระทำการละเมิดเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาทันที เช่น Search Engine ก็ต้องซ่อนลิงค์ของไซต์นั้น ISP ก็ต้องบล็อกไม่ให้เขาเวป เวปจ่ายเงินก็ต้องระงับจ่าย ฯลฯ เป็นการสันนิษฐานว่าผิดไว้ก่อนจนกว่าอีกฝ่ายจะพิสูจน์ได้ว่าไม่ได้กระทำการละเมิดแต่อย่างใด นอกจากนั้น wording ใน SOPA ยังตีความได้กว้างขวางเข้าไปอีก  เช่น

DEDICATED TO THEFT OF U.S. PROP2
ERTY.—An ‘‘Internet site is dedicated to theft of
3 U.S. property’’ if—
4 (A) it is an Internet site, or a portion
5 thereof, that is a U.S.-directed site and is used
6 by users within the United States; and
7 (B) either—
8 (i) the U.S.-directed site is primarily
9 designed or operated for the purpose of,
10 has only limited purpose or use other than,
11 or is marketed by its operator or another
12 acting in concert with that operator for use
13 in, offering goods or services in a manner
14 that engages in, enables, or facilitates—
15 (I) a violation of section 501 of
16 title 17, United States Code;
17 (II) a violation of section 1201 of
18 title 17, United States Code; or …

ในที่นี้ engages in, enables, or facilitates หมายความว่า ? ถ้ามีคนเอาลิงค์ web ต้องห้ามมาแปะในเวปเราเราจะโดนข้อหาช่วยเหรือสนับสนุนหรือไม่ theft of 3 U.S. property  Youtube ล่ะ Wiki ก็หนาว ๆ ร้อน ๆ ในข้อนี้ นอกจากนั้น ระบบ Notice and Takedown ก็ดูเหมือนไม่ปรากฎในร่างกฎหมายฉบับนี้ด้วย ปกติแล้วเจ้าของลิขสิทธิ์เองที่จะเป็นผู้ตรวจตราว่า content ของตัวเองถูกละเมิดที่ site ก็จะแจ้งให้ host ทราบเพื่อเอาออก แต่ตอนนี้ host กลายเป็นผู้ดูแลเองแล้วว่ามีใครมากระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ใน content ของผู้อื่น ถ้ารอดหูรอดตาไปได้ก็เสี่ยงต่อการโดนปิดเวปแน่นอน ผู้ให้บริการด้าน content ยักษ์ใหญ่ถึงกับหืดขึ้นคอ วัน ๆ หนึ่งผู้บริการอัพโหลดข้อมูลเข้ามามหาศาลจะรู้ได้ไงว่าใครอัพอะไรขึ้นมาบ้าง ถึงจะทราบ จะบ่งชี้ให้แน่ชัดได้อย่างไรว่าแบบไหนเป็น user generate content อย่างไหนเป็นของละเมิด ทรัพยากรที่ต้องใช้ คน software ที่ต้องพัฒนาอีกล่ะ

3. SOPA และ Megaupload : ข้อสนับสนุน และ ข้อโต้แย้ง

การปิด Megaupload ดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกับ SOPA มากนักแต่ในความเป็นจริงแล้วก็สร้างผลกระทบอยู่ไม่ใช่น้อย มีทั้งผลดีและผลเสีย การปิด Megaupload ดูเหมือนจะเป็นการบอกว่ากฎหมายเดิมอย่าง DMCA ยังใช้การได้ดีอยู่ สามารถจัดการ CEO CTO Founder ที่อยู่ในต่างประเทศได้ด้วย ดังนั้น SOPA ไม่จำเป็น แต่เมื่อพิจารณาในแง่ของพลังอำนาจและเนื้อหาของ SOPA หอมหวลชวนชิมมาก ๆ สำหรับบรรดาบริษัทหนังบริษัทเพลงเจ้าของลิขสิทธิ์ต่าง ๆ แถมยังให้อำนาจตามเช็คบิลไซต์นอกประเทศแบบไม่ต้องขอความร่วมมือ ปกติแล้วการบังคับคำสั่งหรือการใช้อำนาจทางการศาลข้ามประเทศไม่ค่อยทำกันเพราะถือเป็นหนึ่งในอำนาจอธิปไตยของรัฐนั้น จะเห็นว่าในกรณีนิวซีแลนด์ที่มีความสัมพันธ์อันดีกับอเมริกา การขอความร่วมมือกันก็ไม่เป็นปัญหามากนัก แต่สำหรับประเทศที่ไม่ได้เป็นมหามิตรมากมาย หรือ ประเทศที่ยากจะให้ความร่วมมือให้เข้าไปใช้อำนาจทางศาลล่ะ จะทำไง? ข้อนี้ SOPA จะช่วยได้มากเลย ตอนนี้แม้ว่า SOPA ถูกระงับไปชั่วคราว แต่ถ้าสงครามไซเบอร์ยังดำเนินต่อไปแบบนี้ อีกไม่นานคิดว่า SOPA คงกลับมาใหม่ แต่ไฉไลกว่าเดิมไหม อันนี้ก็ไม่ทราบได้

4. สรุป

ข้อนี้จะเห็นว่าผลกระทบของร่างกฎหมาย และ รัฐบาล US ดูจะกระทบวงการออนไลน์ในวงกว้าง เพราะ website หนึ่ง ๆ นั้นก็ใช่ว่าจะบรรจุด้วยเนื้อหาของอเมริกาเพียงอย่างเดียวแต่รวมถึงเนื้อหาของประเทศอื่น ๆ ด้วย การบังคับใช้กฎหมายของทางอเมริกาค่อนข้างกินความกว้างขวางและกระทบต่อเนื้อหาของประเทศอื่น ๆ เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาที่ละเมิดหรือไม่ละเมิดลิขสิทธิ์เพราะดูท่าแล้ว จะโดนกวาดทั้งหมดขอให้มีเนื้อหาของทางอเมริกาอยู่ด้วย ถึงตอนนี้ SOPA ยังไม่มีผลแต่เราก็พอจะเห็นแนวโน้มหรือแนวความคิดของประเทศยักษ์ใหญ่ที่มีผู้ให้บริการ content หลัก ๆ ตั้งฐานอยู่มากมาย การเคลื่อนไหวในประเด็นนี้จึงเป็นที่น่าจับตาด้วยความระทึกใจต่อไป

จากคุณ : วรินทร์รตา
เขียนเมื่อ : 21 ม.ค. 55 13:49:04




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com