Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
มหากาพย์ Megaupload(ต่อ): โลกไซเบอร์บนคานทรงตัว กฎหมาย อุตสาหกรรมบันเทิง ความเจริญทางเทคโนโลยี และ เสรีของผู้บริโภค{แตกประเด็นจาก A11606275} ติดต่อทีมงาน

ยาแรงของสหรัฐอเมริกาในวันที่ 19 มกราที่ผ่านมาทำให้เกิดความตื่นตัว(และตื่นตระหนก)ต่อผู้ให้บริการ file sharing ในสังคมออนไลน์หลายราย เพื่อป้องกันตัวเองไม่ให้เจอจุดจบดัง Megaupload Webhost แต่ละเจ้าจึงทยอยระงับการให้บริการแชร์ไฟล์ ไล่ลบไฟล์ละเมิดลิขสิทธิ์ และอีกสารพันกระบวนการที่จะทำให้ตนเองอยู่รอดปลอดภัย บางรายก็ก้าวหน้าถึงขนาดย้อนศรบล็อกไม่ให้ผู้ใช้จากสหรัฐอเมริกาเข้าถึง(ฮา)ทีเดียว ความปั่นปวนบนสังคมออนไลน์ซึ่งเป็นผลจากการปิด Megaupload ในครั้งนี้ ทำให้เกิดข้อสงสัยและข้อกังวลในหลายประเด็นด้วยกัน

1. เจาะลึกประเด็นกฎหมาย Megaupload VS Government

1.1 ทำไมละเมิด ละเมิดทำไม ข้อหาสารพันที่ Megaupload ต้องเผชิญ

ข้อหาที่ DoJ และ รัฐบาลหมายหัว Megaupload ไว้มีทั้งสิ้น 72 ข้อด้วยกันว่ากันยาวตั้งแต่การละเมิดลิขสิทธิ์ยันความผิดฐานการฟอกเงิน แต่ในที่นี้ขอแจงเรื่องละเมิดลิขสิทธิ์ก่อนทั้งทางตรงและทางอ้อมเสียก่อนเพราะเป็นเรื่องหลัก อย่างที่เคยกล่าวไปแล้วว่า Megaupload เองไม่ใช่ผู้ที่สร้างเนื้อหา (Content) โดยตรง แต่ว่าเป็นผู้ให้บริการในลักษณะที่เรียกว่า filelocker และ file sharing เป็นที่เก็บข้อมูลและแชร์ข้อมูลระหว่างผู้ใช้บริการไม่ว่าจะเป็นสมาชิกขาประจำหรือขาจร ซึ่งเป็นธุรกิจหนึ่งในยุคที่ Cloud Computing กำลังเฟื่องฟู ดังนั้นผู้ที่กระทำความผิดหรือละเมิดอย่างเป็นจริงเป็นจังเต็มปากเต็มคำก็หาใช่ใครอื่นก็ผู้ที่อัพโหลดข้อมูลขึ้นสู่ Webhosting อย่าง Megaupload นั่นเอง ส่วน Webhosting เองนั้นจะบอกว่าไม่มีความรับผิดเลยก็ไม่ใช่ เพราะ จำเป็นที่จะต้องควบคุมพื้นที่ของตัวเองให้ปลอดจากการสิ่งละเมิดทั้งหลายทั้งปวงด้วยตาม DMCA (Digital Millennium Copyright Act ) ของอเมริกา ซึ่งรัฐบาลได้ตั้งข้อหาเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์เอาไว้ว่า

1.1.1 หน่วยงานของรัฐพบหลักฐานหลายประการที่สื่อให้เห็นว่า Megaupload สนับสนุนให้กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ (โปรดดูข้อโต้แย้งตาม 1.4.1) เช่น

- ให้รางวัลแก่ผู้ที่อัพโหลดไฟล์ที่ตัวไฟล์ได้รับการดาวน์โหลดมากที่สุด โดยมีหลักฐานสนับสนุนจากอีเมล์ของพนักงานบริษัทที่คุยกันถึงผู้ได้รับรางวัลคนหนึ่งว่าบุคคลผู้นั้นได้ทำการอัพโหลดบางไฟล์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย
- คนในองค์กรทราบค่อนข้างชัดว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์ในเวปที่ตนดูแล โดยดูจากอีเมล์ที่โต้ตอบกัน
- บอกว่า Megaupload ไม่มี site search แปลว่าต้องการแอบซ่อนไม่ให้เจอไฟล์ละเมิดลิขสิทธิ์
- Megaupload จะลบไฟล์ที่มีอัตราการดาวน์โหลดน้อยอย่างรวดเร็ว ซึ่งผิดวัตถุประสงค์ของการเป็น filelocker ที่ผู้ใช้บริการใช้เป็นที่เก็บข้อมูลระยะยาว
- แม้ Megaupload จะกระทำการตามหลัก Notice and Takedown แต่ก็เพียงลบไฟล์ที่ได้รับการแจ้งเท่านั้น ไฟล์ตัวเดียวกันที่ผู้อื่นอัพโหลดขึ้นมา Megaupload ยังปล่อยทิ้งไว้

1.1.2 หน่วยงานของรัฐยังพบอีกว่ามีหลักฐานที่สื่อให้เห็นว่าพนักงานและผู้ก่อตั้ง Megaupload ได้กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยตนเองเช่นเดียวกันโดยทั้งพนักงานและผู้ก่อตั้งได้อัพโหลดไฟล์ละเมิดลิขสิทธิ์ขึ้นที่ไซต์ของตัวเอง (ตามหลักฐานที่พบในอีเมล์ Direct infringement ข้อนี้อาจจะแก้ต่างได้ยากหน่อย ซึ่งจำเป็นจะต้องดูกันต่อไปว่าจะมีหลักฐานเพิ่มเติมอย่างไร และ จะมีการแก้ต่างอย่างไร)

1.2 Safe Harbor เหตุใดจึงใช้ไม่ได้ (ตามคำอ้างของ DoJ) ?

ในกรณีของการกระทำละเมิดโดยตรง(พนักงาน และ ผู้ก่อตั้ง)ไม่ตกอยู่ในข้อยกเว้นที่จะใช้ Safe Harbor ของ DMCA ได้อยู่แล้ว แต่ในกรณีความรับผิดของ Webhost อย่างที่กล่าวไว้ในบทความตอนที่แล้วว่าการกระทำของ Megaupload ดูจะไม่ผ่านเงื่อนไขของ DMCA เนื่องด้วยบุคคลากรรับรู้ว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์เกิดขึ้นในไซต์ของตนเองแต่ทั้งนี้ต้องดูต่อไปว่าจะมีการแก้ต่างว่าอย่างไร

1.3 บริษัทแม่ฮ่องกง เซิร์ฟเวอร์เวอร์จิเนีย ผู้ก่อตั้งนิวซีแลนด์ หมายเรียกสหรัฐ นี่มันอะไรกันฮึ ?

ข้อนี้เป็นการให้คำตอบสำหรับคนที่ยังงง ๆ ว่า Megaupload โดนปิดได้อย่างไร ? แล้วทำไมไปไกลได้ถึงนิวซีแลนด์กฎหมายเอื้อมไปไกลข้ามประเทศเลยหรืออย่างไร ? ก็ขอตอบแบบง่าย ๆ ว่า Megaupload มี Server (บางส่วน)อยู่ในเวอร์จิเนีย มีสมาชิกคนอเมริกา(ในรัฐเวอร์จิเนียร์และรัฐอื่น)เข้าใช้และ Megaupload ได้เงิน (มีรายได้) แปลแบบง่าย ๆ (อีกเหมือนกัน)ว่า Megaupload ประกอบธุรกิจในสหรัฐอเมริกา ณ เวอร์จิเนีย เมื่อมีการกระทำที่เป็นการละเมิดลิขสิทธ์โผล่มาใน Server ณ เวอร์จิเนียร์ ดังนั้นจึงตกอยู่ภายใต้กฎหมายของรัฐ ศาลเวอร์จิเนียร์จึงมีสิทธิจะออกหมายเรียกและแสดงข้อหาต่อผู้ต้องสงสัยว่ากระทำความผิด หมายนั้นก็ส่งต่อไปเพื่อขอความร่วมมือให้ศาลนิวซีแลนด์บังคับให้ … เอวัง ดังนั้นมันมิใช่ปัญหาเรื่องเขตอำนาจศาลนะเออ แต่ … แต่ … แต่ เรื่องมันไม่ได้มีอยู่แค่นั้นอ่ะสิ (โปรดดู 1.4.2)

1.4 หลากหลายข้อกังขาที่ยังรอคำตอบ

1.4.1 ข้อโต้แย้งจากสมมติฐานของ DoJ ตาม 1.1.1

- ให้รางวัลแก่ผู้ที่อัพโหลดไฟล์ที่ตัวไฟล์ได้รับการดาวน์โหลดมากที่สุด โดยมีหลักฐานสนับสนุนจากอีเมล์ของพนักงานบริษัทที่คุยกันถึงผู้ได้รับรางวัลคนหนึ่งว่าบุคคลผู้นั้นได้ทำการอัพโหลดบางไฟล์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย

นักวิชาการหลายคนคิดว่าออกจะเป็นการตีความถ้อยคำที่เกินเลยไปนิด เพื่อทำให้พนักงานดูไม่ดี การที่จ่ายเงินให้ผู้ที่อัพโหลดไฟล์ที่ได้รับการดาวน์โหลดมากที่สุด ไฟล์นั้นอาจไม่ใช่ไฟล์ที่เป็นไฟล์ลิขสิทธิ์ก็เป็นได้ ถึงบุคคลผู้นั้นอัพโหลดไฟล์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์จริงแต่อย่าลืมว่าข้อยกเว้นในหลาย ๆ เรื่องยังมีเช่น Fair use การสันนิษฐานว่าให้รางวัลผู้อัพโหลดไฟล์เป็นการสนับสนุนให้มีการละเมิดลิขสิทธิ์ข้อนี้ค่อนข้างอ่อน ถ้าจะนำข้อนี้มาเป็นฐานเพื่อสร้างข้อหาหลักฐานควรชัดแจ้งและมีรายละเอียดมากกว่านี้หน่อย

- คนในองค์กรทราบค่อนข้างชัดว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์ในเวปที่ตนดูแล โดยดูจากอีเมล์ที่โต้ตอบกัน

ในอีเมล์ที่ตอบโต้กันมีการพูดชื่องานที่ถูกละเมิดขึ้นมา จึงเป็นการสันนิษฐานว่าพนักงานแยกแยะได้โดยสะดวกว่างานชิ้นไหนเป็นงานที่ถูกละเมิดลิขสิทธิ์งานชิ้นไหนไม่ใช่ ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นเพียงแค่เอ่ยชื่อเพียงแค่เห็นภาพเคลื่อนไหวไม่ได้ทำให้พนักงานทราบได้ว่าใครเป็นเจ้าของผลงาน พนักงานรู้จักผลงานนั้นก็จริงแต่ไม่ได้รู้ลึกซึ้งว่าใครเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ใครเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเผยแพร่ หรือ สิทธิในการทำซ้ำ คนที่มีสิทธิอัพโหลดเป็นไปได้สูงที่จะมีมากกว่าหนึ่งรายแล้วแต่ลักษณะของการอนุญาตให้ใช้สิทธิตามกฎหมาย การอนุญาตมีตั้งหลายชนิด มากที่สุดคือรู้คือใครเป็นผู้สร้าง  แต่รายละเอียดนอกจากนั้นถ้าไม่ได้รับแจ้งคงรู้ได้ยาก

- บอกว่า Megaupload ไม่มี site search แปลว่าต้องการแอบซ่อนไม่ให้เจอไฟล์ละเมิดลิขสิทธิ์

ใน Case Law ของสหรัฐเองเคยบอกไว้ว่าการมี Site Search เพื่อให้ผู้ใช้บริการค้นหาไฟล์ที่ต้องการเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนให้มีการกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ แล้วในเคสนี้ … เง้อ ทำไมไม่เป็นไปทางเดียวกันล่ะ มีก็ซวยไม่มีก็ซวยเรอะ ?

- Megaupload จะลบไฟล์ที่มีอัตราการดาวน์โหลดน้อยอย่างรวดเร็ว ซึ่งผิดวัตถุประสงค์ของการเป็น filelocker ที่ผู้ใช้บริการใช้เป็นที่เก็บข้อมูลระยะยาว

ข้อนี้ก็ไม่ถูกเสียทีเดียวเหมือนกับว่าผู้ใช้บริการธรรมดาแบบถูกต้องตามกฎหมายนี่จะใช้ Megaupload เก็บข้อมูลเพียงอย่างเดียว ซึ่งอันที่จริงแล้วการใช้งานในรูปแบบ file sharing เช่นเอาไว้ส่งงานที่ใหญ่เกินกว่าจะแนบเมล์ก็มีแพร่หลาย ซึ่งไม่ได้หมายจะเก็บไฟล์ไว้นาน ๆ ส่งงานเสร็จแล้วก็จบกัน คนที่ดาวน์โหลดไปก็เฉพาะคนที่เกี่ยวข้องเท่านั้นจำนวนคนดาวน์โหลดก็มีน้อยโดยธรรมชาติ เป็นไปตามหลัก demand supply อะไรที่คนต้องการเยอะ ๆ ก็แขวนไว้ อะไรที่คนต้องการน้อยก็ลบไป การให้บริการก็มีทั้งสองส่วนเพราะฉะนั้นควรให้น้ำหนักเท่า ๆ กันด้วย

- แม้ Megaupload จะกระทำการตามหลัก Notice and Takedown แต่ก็เพียงลบไฟล์ที่ได้รับการแจ้งเท่านั้น ไฟล์ตัวเดียวกันที่ผู้อื่นอัพโหลดขึ้นมา Megaupload ยังปล่อยทิ้งไว้

ข้อนี้ก็กลับไปในข้อแย้งที่ว่าแล้วพนักงานจะรู้ได้ไงว่าอันไหนเป็นไฟล์ละเมิดอันไหนไม่ใช่ อย่างที่บอกไว้ว่าผู้มีสิทธิอาจไม่ได้มีเพียงรายเดียว ส่วนที่ได้รับแจ้งมาก็ต้องเอาลงตามหลัก Notice and Takedown แต่ไฟล์เดียวกันที่ยังไม่รู้ว่าคนมีสิทธิเป็นคนอัพหรือเปล่าจะต้องลบทิ้งไปพร้อมกัน ? หรือ ถ้าไฟล์คนที่ไม่มีสิทธิอัพโหลดขึ้นมานั้นเข้าหลัก fair use เช่น เอาไว้ดูส่วนตัวไม่ได้แชร์ลิงค์ให้ใคร ต้องโดนเอาลงด้วยหรือไม่ ?

1.4.2 อะไรยังไง ? สิทธิสภาพนอกอาณาเขต

จากข้อ 1.3 ที่ดูเหมือนจะสมบูรณ์ในตัวแล้วแต่ก็ยังมีปัญหาอยู่ในเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขต คือ การบังคับใช้กฎหมายอเมริกันกับพลเมือง หรือ บริษัทที่ไม่มีสัญชาติอเมริกัน หรือ ไม่ได้มีถิ่นที่อยู่ในอเมริกา ข้อนี้ขออธิบายเป็นสองส่วน คือ ในส่วนของโครงสร้างความรับผิดทางอาญา และ ส่วนของ case law หากพอจะได้ติดตามข่าวมาบ้างคงรู้ว่าคดีลิขสิทธิ์ที่ Megaupload โดนฟ้องเป็นคดีอาญา

กรณีนี้จึงต้องมาว่าด้วยหลักโครงสร้างความรับผิดฯ(เป็นการอธิบายแบบเทียบเคียงกับของไทยคิดว่าคล้าย ๆ กัน ถ้าใครแม่นกฎหมายอเมริกาหากเห็นว่าผิดโปรดชี้แนะแก้ไขด้วย)เป็นอันดับแรก ความรับผิดทางอาญาจะเกิดขึ้นได้อ่านแรกต้องผ่านโครงสร้างที่หนึ่งอันได้แก่องค์ประกอบภายนอกของความผิด คือมีผู้กระทำ การกระทำ และ วัตถุแห่งกระทำ เทียบตัวละครตามลำดับก็จะได้แก่ Megaupload กระทำการสนับสนุนการละเมิดลิขสิทธิ์ ต่อเจ้าของลิขสิทธิ์(สหรัฐฯ)และรัฐบาลสหรัฐ

เรื่องมันมายุ่งที่ตัว Megaupload ซึ่งถือเป็นผู้กระทำนี่ล่ะ อัน Megaupload นี้เป็นนิติบุคล(คือ เป็นบุคคลที่กฎหมายสมมติขึ้นมา) ถ้าจะถูกฟ้องก็ต้องฟ้องผู้แทน (ประมาณประธานบริษัท CEO อะไรทำนองนั้น) คำถามมีอยู่ว่ากฎหมายของอเมริกาจะบังคับกับนิติบุคลหรือบุคลที่ไม่ใช่คนสัญชาติอเมริกัน หรือ ไม่ได้มีถิ่นที่อยู่ในอเมริกาได้หรือไม่ ? สัญชาติของนิติบุคคลไม่ใช่อเมริกันแน่นอนเพราะต้องนับจากผู้แทนนิติบุคคลถ้าจำไม่ผิดคุณคิมถือสองสัญชาติและในสองสัญชาตินั้นไม่ใช่อเมริกัน คนที่ถูกจับคนอื่น ๆ ก็ไม่มีใครเป็นอเมริกันชนเช่นกัน ถ้าจะนับจากถิ่นที่อยู่คุณคิมและคนที่ถูกจับก็ไม่ใช่เรสซิเดนซ์อีก ถ้ามองในแง่นิติบุคลถิ่นที่อยู่ก็จะมองในแง่สำนักงานใหญ่ซึ่งก็ … อยู่ที่ฮ่องกง นอกจากประกอบธุรกิจบางประการในอเมริกาแล้วในส่วนผู้กระทำไม่ได้เกี่ยวอะไรกับอเมริกาเท่าไหร่เลย

จะตอบคำถามข้อนี้ก็ต้องเข้ามาที่ Case Law หรือ คำพิพากษาของศาล อเมริกาแตกต่างจากประเทศไทยในข้อนี้ ที่เขาถือ Case Law เป็นบ่อเกิดของกฎหมายที่มีความสำคัญพอ ๆ กับตัวกฎหมายสารบัญญัติ ส่วนใหญ่เวลาทำคดีก็มักจะอ้าง Case Law เป็นบรรทัดฐานว่าได้ตัดสินอย่างโน้นอย่างนี้มาทำให้คดีมีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น ในเรื่องการใช้สิทธิสภาพนอกอาณาเขตนี้มี Case Law ปี 2010 (Morrison Case) ที่วางหลักไว้ว่า การใช้สิทธิสภาพนอกอาณาเขตนั้นจะใช้ได้ต่อเมื่อตัวเนื้อหาของกฎหมายบอกไว้ชัดเจนว่าใช้บังคับกับคนต่างชาติได้แต่คดีนั้นเป็นคดีแพ่ง (ซึ่งมีผู้พิพากษาหลายท่านใช้ Case Law นี้ปรับกับคดีอาญาเช่นกัน) ในส่วนของคดีอาญานั้นต้องย้อนกลับไปในปี 1922 (Bowman Case) ที่วางหลักไว้ว่าหากข้อกฎหมายที่มีข้อสงสัยว่าจะใช้บังคับกับชาวต่างชาติได้หรือไม่นั้นสามารถเป็นอาวุธที่จะจัดการกับการกระทำที่ทำความเสียหายยิ่งยวดต่อรัฐได้ก็ให้ตีความให้สนับสนุนการใช้สิทธิสภาพนอกอาณาเขต คำถามคือ คดีอาญาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดลิขสิทธิ์ไปตีความไปในแนวทางของเคสปี 1922 หรือ 2010 ?

1.4.3 แล้วไฟล์ที่ไม่ได้ละเมิดลิขสิทธิ์ล่ะ?

จนบัดนี้ก็ยังไม่มีคำตอบว่าเจ้าของไฟล์ที่ไม่ได้ละเมิดลิขสิทธิ์ใด ๆ จะสามารถเข้าถึงข้อมูลตัวเองได้หรือไม่อย่างไร แล้วจะมีค่าชดเชยอะไรหรือไม่หากเกิดความเสียหายเพราะเหตุที่ Megaupload โดนปิด หรือ พูดง่าย ๆ ว่าจำต้องปิดทั้งเวบหรือไม่

2. Megaupload and Law Enforcement : ทางตันของ Cloud Computing ?

จากเหตุการณ์ข้างต้นคงพอจะเห็นภาพว่าในยุคของ Cloud Computing ที่คนเริ่มนิยมเก็บ หรือ ส่งผ่านข้อมูลในโลกออนไลน์ (Cloud Storage) เริ่มมาถึงทางตัน ไซต์หลายไซต์ที่ให้บริการแบบเดียวกับ Megaupload เริ่มมีอาการแหยงให้เห็น รีบจัดการข้อมูลและ file sharing function กันอย่างเร่งด่วน บางไซต์ก็บล็อกไม่ให้ IP ที่มาจาก US เข้าเวบเลย(ฮา) การบังคับใช้กฎหมายของสหรัฐในครั้งนี้ว่าไปแล้วยังไม่เห็นความเป็นมาตรฐานหลักฐานสนับสนุนข้อกล่าวหายังไม่เคลียร์เท่าไหร่นักอยู่ในโหมดฤาษีแปลงสาส์นพอสมควร (ความเห็นส่วนตัว) แสดงถึงความไม่เสถียรของการตีความและการบังคับใช้ซึ่งเหตุผลแต่ละอย่างที่ DoJ ให้มาด้านบนไม่ใช่เพียงจะจัดการกับไซต์ที่กระทำการละเมิดจริงเท่านั้น แต่ยังสามารถจัดการไซต์ที่ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายได้เหมือนกัน (ดูตัวอย่างที่ 1.4.1) เมื่อเป็นแบบนี้แล้วก็มาถึงข้อพิจารณาที่ว่า ใครจะกล้าเก็บข้อมูลในรูปแบบ Cloud Storage อีกล่ะ (เช่น Google Doc, Mediafire, rapidshare ฯลฯ) วันดีคืนดีโดนปิดทั้งไซต์ไม่ตายเรอะ ? ตอนนี้เหมือนกับว่าสหรัฐมองเวบที่ให้บริการรูปแบบนี้เป็นทางผ่านของการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์อย่างเดียวไม่ได้ให้น้ำหนักว่ามันใช้งานอย่างอื่นได้ด้วย การปราบปรามการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์เป็นเรื่องที่ถูกต้อง

3. มี DMCA แล้ว SOPA ไม่ต้องเกิด จริงหรือ ?

กลับมาที่ร่างกฎหมาย SOPA และ PIPA ที่ตกไปแล้วก็จริงอยู่(แต่คาดว่าคงมีความพยายามดึงกลับมาใหม่) หลายฝ่ายบอกว่า DMCA เพียงพอที่จะรับมือการละเมิดลิขสิทธิ์ที่เกิดนอกสหรัฐ ดังนั้น SOPA และ PIPA ไม่จำเป็นอีกต่อไป ข้อนี้ส่วนตัวคิดว่าไม่ได้ถูกต้องทั้งหมด ทาง DMCA มีข้อท้าทายในเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตอย่างที่อธิบายไว้ใน 1.4.2 ถ้าผ่าน test นี้ไปได้คงจะพอพูดได้ว่า DMCA มีดีเทียบเท่า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น SOPA กับ PIPA มีอำนาจทำลายล้างสูงกว่า DMCA สะดวกสบายมากกว่า DMCA มาก และการบังคับใช้คงไม่ต้องขอความร่วมมือจากต่างประเทศมากนัก เพราะ SOPA และ PIPA กดดันผู้เล่นในสังกัดตัวเอง (ISP, Content Provider, User ฯลฯ) ให้ตัดสัมพันธ์กับเวบที่มี Server อยู่ต่างแดนเมื่อคาดว่าจะมีการกระทำที่ละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าเวบที่เป็น target เดือดร้อนยังไงก็ต้องแล่นมาชี้แจงเอง อำนาจของรัฐมีล้นเหลือหลงหูลงตาซักไฟล์สองไฟล์เวบอาจจะถูกปิดได้พกแถมด้วยการบล็อก IP web ด้วย เจ้าของลิขสิทธิ์ค่อนข้างสบายเพราะภาระการพิสูจน์ไปตกอยู่ที่ Content Provider ISP อะไรเทือกนี้หมดที่ต้องสำรวจตรวจตราเวบตัวเองให้ดี เพราะความน่ากลัวในจุดนี้นี่เอง SOPA ถึงตกไปด้วยกระแสมหาชน แต่ถึงเป็นแบบนั้นการบังคับใช้ DMCA ในเคส Megaupload ก็ยังดูน่ากลุ้มใจไม่แพ้กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการพิจารณาคดีผ่านประเด็นสิทธิสภาพนอกอาณาเขต และ การละเมิดลิขสิทธิ์โดยอ้อม มาได้เชื่อว่าคดีนี้จะเป็นกลาย Case Law ที่เป็นบรรทัดฐานการตัดสินคดีอาญาเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์ต่อไป

4. บทสรุป : โลกไซเบอร์บนคานทรงตัว

การบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาว่ากันว่าคือการหาจุดสมดุลย์ให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย รัฐ เจ้าของลิขสิทธิ์ ผู้พัฒนาเทคโนโลยี และ ผู้บริโภค แต่วันนี้ในโลกไซเบอร์เห็นทีการบังคับใช้กฎหมายของอเมริกาไม้คานจะเอียงไปทางรัฐและเจ้าของลิขสิทธิ์ซะส่วนมาก ซึ่งทำให้ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และ เสรีของผู้บริโภคลดลง เรียกได้ว่าการบังคับใช้กฎหมายครั้งนี้ดูเหมือนจะต้อนนวัตกรรม Cloud Storage มาถึงทางตัน ทั้ง ๆ ที่กฎหมายไม่ควรจะเป็นอุปสรรคต่อการใช้และพัฒนาเทคโนโลยีให้เต็มศักยภาพ อีกอย่างคือเสรีของผู้บริโภค จะจัดการกับการละเมิดลิขสิทธิ์นั้นเป็นเรื่องดี แต่หลักประกันของผู้บริโภคที่ทำถูกกฎหมายอยู่ที่ไหน? อิสระในการเลือกใช้บริการอยู่ที่ไหน? การกำกับดูแลโลกไซเบอร์ไม่ว่าจะในแง่กฎหมายใดควรจะมี ประสิทธิภาพ ได้หลักสัดส่วน และ คงความเสรีของ internet ไว้ ไม่ใช่หรือ

จากคุณ : วรินทร์รตา
เขียนเมื่อ : 26 ม.ค. 55 08:14:57




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com