Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
"ออสการ์" หนังยอดเยี่ยมจากมุมมอง "ผู้ชาย-ผิวขาว-สูงวัย"? ติดต่อทีมงาน

ไปเจอในเว็บผู้จัดการค่ะ อ่านอุ่นเครื่องก่อนประกาศผลเช้าพรุ่งนี้แล้วกันนะคะ

"ออสการ์" หนังยอดเยี่ยมจากมุมมอง "ผู้ชาย-ผิวขาว-สูงวัย"?

นอกจากความยิ่งใหญ่ในฐานะ "เกียรติสูงสุดในวงการหนัง" แล้วในเวลาเดียวกัน "ออสการ์" ยังถูกตั้งคำถามถึงความน่าเชื่อถืออยู่เสมอ ล่าสุดมีการเปิดเผยถึงข้อมูลสมาชิกของ "สถาบันศิลปะและวิทยาการภาพยนตร์" ผู้ลงคะแนนตัดสินออสการ์ ว่าจำกัดอยู่ในคนกลุ่มเดียวเท่านั้น ผลรางวัลที่ออกมาจึงไม่สามารถสะท้อนรสนิยมของสังคมได้เลย
     
      เป็นที่รับรู้กันมาโดยตลอดว่า สถาบันศิลปะและวิทยาการภาพยนตร์ เป็นองค์กรระดับโลก และมีชื่อเสียงที่ใคร ๆ ก็รู้จัก โดยเฉพาะกับบทบาทผู้มอบรางวัล “ออสการ์” หรือที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “อคาเดมี อวอร์ดส์” แต่ขณะเดียวกันก็มีความลึกลับอะไรบางอย่างเกี่ยวกับองค์กรแห่งนี้อยู่เสมอ โดยเฉพาะรายชื่อสมาชิกของสถาบันฯ เองก็ไม่เคยถูกระบุเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างเปิดเผยให้ทุกคนสามารถตรวจสอบข้อมูลได้เลย
     
      แม้แต่ตัวของนักแสดงตัวเต็งออสการ์ปีนี้อย่าง วิโอลา เดวิส จาก The Help ก็ยังยอมรับว่า “พูดตามตรงนะคะ ฉันไม่รู้จริง ๆ ว่าใครกันมั่งที่เป็นสมาชิกของสถาบันฯ”
     
      "ผู้ชาย-ผิวขาว-สูงวัย"?
     
      จากข้อมูลของหนังสือพิมพ์ ลอสแอนเจลิส ไทม์ ที่ได้ทำการสำรวจสืบค้นข้อมูลของสมาชิกประมาณ 5,100 คนจากทั้งหมดเกือบ 6,000 คน ระบุว่าสมาชิกของสถาบันศิลปะและวิทยาการภาพยนตร์นั้น มีสัดส่วนของสมาชิกเพศชายอยู่ถึง 77%
     
      ด้านเชื้อชาติ ก็มีจำนวนมากถึง 94% ที่เป็นคนผิวขาว ส่วนสมาชิกที่เป็นคนผิวดำ และเชื้อสายเม็กซิโกอยู่จำนวนอยู่เพียงแค่กลุ่มละ 2% เท่านั้น
     
      แต่ประเด็นใหญ่กว่ากลับอยู่ที่เรื่องอายุ เพราะจากข้อมูลระบุว่าสมาชิกของสถาบันมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 62 ปีกันเลยทีเดียว ซึ่งหากจะนับสมาชิกที่มีอายุน้อยกว่า 50 ปี ก็มีจำนวนเพียง 14% และยิ่งสมาชิกที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปีแล้วก็มีเพียง 2%
     
      ซึ่งด้วยสมาชิกที่กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนไม่กี่ประเภทนี่เอง ทำให้บ่อยครั้งเกิดเสียงวิจารณ์ถึงผลของรางวัลออสการ์ ว่าถูกรสนิยมของคนเพียงกลุ่มเดียว ขณะที่หนังบางประเภทก็คงยากที่จะคว้ารางวัลได้ จนออสการ์คงไม่สามารถสะท้อนรสนิยมของสังคมโดยรวมได้อย่างแน่นอน
     
      อย่างในครั้งที่หนังดัง Brokeback Mountain พลาดรางวัลใหญ่อย่างภาพยนตร์ยอดเยี่ยมไป ก็เพราะสมาชิก “เพศชายสูงวัย” ของสมาคมหลายคน ไม่สะดวกใจกับหนังคาวบอยเกย์เรื่องนี้นัก รวมถึงนักแสดงรุ่นใหญ่อย่าง เออร์เนสต์ บอร์กไน ที่แสดงความเห็นอย่างตรง ๆ เลยว่าไม่ดูหนังเรื่องนี้อย่างเด็ดขาด “ผมยังไม่ได้ดูหนัง, ไม่สนใจที่จะดู ถ้า จอห์น เวย์น ยังอยู่ก็คงเซ็งน่าดู”
     
      หรือเมื่อปีก่อนที่ The Social Network ต้องพ่ายแพ้ให้กับ The King’s Speech ที่เล่าเรื่องและมีเนื้อหาค่อนข้างจะอนุรักษ์นิยมกว่าไป และสมาชิกส่วนใหญ่ของสถาบันฯ ที่มีอายุเหยียบเลย 50 - 60 ปี กันแล้วก็คงไม่ตื่นเต้นอะไรเกี่ยวกับประเด็นว่าด้วยโลกออนไลน์นัก
     
      และในปีนี้ Extremely Loud & Incredibly Close ก็เข้าชิงรางวัลอย่างเหนือความคาดหมาย ซึ่งก็เพราะหนังที่ว่าด้วยเรื่องของพ่อและลูกเรื่องนี้ ถูกรสนิยมของเหล่าสมาชิกสถาบันฯ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นคุณพ่อด้วยนั่นเอง
     
      ทำยังไงถึงได้เป็นสมาชิกสถาบันศิลปะและวิทยาการภาพยนตร์?
     
      สถาบันศิลปะและวิทยาการภาพยนตร์ถือเป็นองค์กรประเภทที่ทุกคนไม่สามารถเข้าเป็นสมาชิกกันได้อย่างง่าย ๆ แม้แต่คนที่คว้าออสการ์มาแล้ว ก็ใช่ว่าจะมีสิทธิ์เข้าเป็นสมาชิกของสถาบันกันได้อย่างอัตโนมัติ
     
      ซึ่งมีข้อมูลยืนยันว่า แม้แต่คนทำหนังระดับตำนานผู้ยังมีลมหายใจอย่าง วูดดี อัลเลน และ จอร์จ ลูคัส ก็ยังไม่ได้เป็นสมาชิกของสถาบันเลย
     
      สมาชิกเกือบ 6,000 คนของสถาบันศิลปะและวิทยาการภาพยนตร์นั้น ประกอบไปด้วยบุคลากรทั้งเบื้องหน้าอย่างเหล่านักแสดง และคนเบื้องหลังของวงการบันเทิงอีก 16 สาขาอาทิ ผู้กำกับภาพ, ผู้ตัดต่อ, โปรดิวเซอร์, ช่างแต่งหน้า, นักออกแบบเสื้อผ้า เป็นต้น
     
      ซึ่งสถาบันฯ จะพิจารณารับสมาชิกใหม่จากบุคคล 3 กลุ่มได้แก่ (1) ผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ (2) สมัครโดยต้องมีการรับรองจากสมาชิกของสถาบัน 2 คน และ (3) ได้รับรองจากคณะกรรมการสมาชิกสาขา
     
      โดยคณะกรรมการสมาชิกของสถาบันจะเป็นผู้พิจารณาว่าจะรับบุคคลดังกล่าวเข้าเป็นสมาชิกใหม่หรือไม่ ซึ่งนับแต่ปี 2003 เป็นต้นมาสถาบันฯ ได้ออกกฎว่าจะรับสมาชิกใหม่ได้มากที่สุดเพียงปีละ 30 คนเท่านั้น
     
      นอกจากนั้นสถานะของสมาชิกสถาบันฯ ยังเป็นในลักษณะของ “สมาชิกตลอดชีพ” จนทำให้ดาราหรือบุคลกรเบื้องหลังหลายคน แม้จะผันตัวไปสู่งานแขนงอื่นไม่ว่าจะเป็นวงการโทรทัศน์ หรือละครเวที และไม่ได้มีงานหนังเลยเป็นสิบ ๆ ปีก็ยังมีสิทธิ์ร่วมตัดสินรางวัลออสการ์ต่อไป
     
      ในบางกรณีมีข้อมูลว่าสมาชิกจำนวนหนึ่งก็แทบจะมีชีวิตที่ห่างไกลจากวงการบันเทิงไปเรียบร้อยแล้ว มีทั้งที่กลายเป็นแม่ชี หรือไม่ก็เปิดร้านขายหนังสือ แต่ก็ยังคงสามารถรักษาสิทธิ์การลงคะแนนออสการ์เอาไว้ได้
     
      จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ สถาบันฯ ต้องถูกข้อกล่าวหาที่ว่าเพิกเฉยต่อความคิดเห็นของ กลุ่มคนผิวดำ, เชื้อสายเม็กซิกัน และผู้หญิงมาตลอด ซึ่งแม้แต่ ซิด เกนิส อดีตประธานของสถาบันฯ ก็ยอมรับถึงปัญหาในข้อนี้ “บางทีคุณอาจจะเกาศีรษะแล้วพูดว่า ‘เขาคนนั้นได้เป็นสมาชิกของสถาบันฯ ได้ยังไงกันละเนี่ย’”
     
      เดนเซล วอชิงตัน อดีตเจ้าของรางวัลออสการ์เป็นอีกคนที่มองว่าออสการ์ควรจะ “เปิดใจ” และ “ถ่วงดุล” การรับสมาชิกให้ครอบคลุมกลุ่มคนที่หลากหลายมากกว่านี้ “ถ้าประเทศเรามีคนผิวดำอยู่ 12% สมาชิกผิวดำในสถาบันฯ ก็ควรจะมี 12% ด้วย ถ้าประเทศมีคนเชื้อสายเม็กซิโกอยู่ 15% พวกเขาก็ควรจะได้อยู่ในสถาบัน 15% เช่นเดียวกัน”
     
      เช่นเดียวกันผู้กำกับภาพหญิงคนเก่ง แนนซี ชไรเบอร์ สมาชิกจากงานสาขานี้ที่เป็นผู้หญิงซึ่งมีอยู่ไม่มากนักในสถาบันฯ ก็มองว่าหากจะพูดถึงวงการภาพยนตร์แล้ว อุดมคติเรื่องความเท่าเทียมกันยังไม่มีอยู่จริง
     
      เกียรติยศอันยิ่งใหญ่ และแผ่นดีวีดีฟรี
     
      ในแต่ละปีจะมีบุคลากรเบื้องหลัง และนักแสดงจำนวนไม่มากนัก ที่จะได้รับคำเชิญให้เป็นสมาชิกของสถาบันฯ อย่างปีล่าสุดดาราสาว รูนีย์ มารา แห่งหนัง The Girl With the Dragon Tattoo คือผู้ที่ได้รับเกียรตินั้น แม้จะตัวจะยอมรับว่า “ไม่รู้เลย” ว่าทำไมเธอจึงถูกเลือก
     
      ทอม เชอเร็ค ประธานของสถาบันฯ คนปัจจุบันยืนยันว่าบุคคลใดที่จะได้เป็นสมาชิกนั้น ขึ้นอยู่กับ “ผลงาน” ของพวกเขาเป็นหลัก ซึ่งดูจะสวนทางกับการเข้าเป็นสมาชิกของ มารา ที่มีผลงานเด่นเพียงไม่กี่เรื่องเท่านั้น
     
      สตีฟ กุตเตนเบิร์ค คือสมาชิกของสถาบันฯ อีกคน ที่ได้เป็นสมาชิกตั้งแต่เมื่อมีงานในวงการภาพยนตร์อยู่เพียง 2 เรื่องเท่านั้น ได้แก่หนังตลก The Chicken Chronicles และหนังที่ว่าด้วยเรื่องราวของนาซี The Boys From Brazil ซึ่งก็เพราะมี เกรกอรี เบค ที่ร่วมแสดงด้วยกันในเรื่องหลังนี่เอง ที่สนับสนุนให้เขาได้เป็นสมาชิกของสถาบันฯ
     
      อย่างไรก็ตาม กุตเตนเบิร์ก ยืนยันว่าที่ผ่านมาเขาได้ทำหน้าที่ในฐานะสมาชิกของสถาบันศิลปะและวิทยาการด้านภาพยนตร์อย่างเต็มที่มาโดยตลอด ไม่ใช่แค่โหวตเพื่อเลือกหนังให้ได้รับรางวัลออสการ์เท่านั้น แต่ยังเข้าร่วมงานสัมมนา และกิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดโดยสถาบันอยู่เสมอ
     
      “ผมว่ามันเป็นเกียรติยศระดับสูงสุดที่คุณจะได้รับนะครับ” กุตเตนเบิร์กวัย 53 ปี กล่าว “น่าเสียดายที่คนส่วนใหญ่อยากเป็นสมาชิกเพราะได้แผ่นดีวีดีฟรีเท่านั้นเอง ไม่ได้สนใจการดำรงไว้ซึ่งภาพยนตร์อะไรเลย”
     
เครดิต http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9550000025686

จากคุณ : beemanufan
เขียนเมื่อ : 26 ก.พ. 55 13:17:36




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com