Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
t H E a R T I S T : เ สี ย ง แ ร ก ใ น โ ล ก เ งี ย บ ( เ ปิ ด เ ผ ย เ นื้ อ ห า สำ คั ญ ) ติดต่อทีมงาน

หนังเงียบขาวดำในจอ 4:3 ที่แม้จะเล่าด้วยภาพและดนตรีเป็นหลัก แต่กลับสื่อสารได้มากและดีกว่าหนังพูดทั่วไป ข้อจำกัดที่สร้างไว้บีบตัวเอง คือโอกาสในการอวดศักยภาพความสร้างสรรค์ที่เทคนิคพิเศษไม่ว่าจะล้ำยุคยังไงก็ทำแทนสมองคนไม่ได้

The Artist ผูกเรื่องไม่ซับซ้อน ว่าด้วยพระเอกหนังเงียบที่หลงไหลได้ปลื้มกับชื่อเสียงตัวเอง สื่อผ่านพฤติกรรม One man show ในการโค้งขอบคุณคนดู (เหมือนละครเวทีซึ่งเป็นที่มาของเครดิตหลังหนังจบ) พระเอกกอบโกยความชื่นชมจากเสียงปรบมือและครอบครอง spot light ไว้เพียงผู้เดียว หน่วงเหนี่ยวยาวนานกับนาทีแห่งความปิติ ไม่ให้เกียรตินางเอกร่วมจอเท่าที่ควร (น้อยกว่าน้องหมาคู่ใจ) มิพักต้องพูดถึงทีมงานเบื้องหลังที่ต้องเงียบกริบอยู่หลังจอ

หนังกล่าวถึงความสำคัญของทุกฟันเฟืองที่ขับเคลื่อนวงจรอุตสาหกรรมภาพยนต์ นอกจากในฝั่งของผู้ผลิต ยังมีพลังจากคนดู ความเกื้อหนุนของสื่อมวลชน และแรงส่งของบรรดาแฟนคลับ นางเอกของเรื่องเริ่มจากการเป็นคนไม่สำคัญ พลิกวิกฤติเล็กๆ เป็นโอกาสอันยิ่งใหญ่ ผลักดันตัวเองกระทั่งได้ขึ้นปกหนังสือคู่กับพระเอกแบบไม่คาดฝัน (เป็นสัญลักษณ์ของการฉวยโอกาสที่เข้ามาในชีวิต เข้ากันดีกับเพลง pennies from heaven ตอนหลัง) นางเอกต้องการเป็นที่รู้จักและก้าวเข้าสู่วงการบันเทิงในฮอลลีวูด (ผมเห็นว่าฉากเต้นแท็ปของนางเอกและพระเอกที่มีภาพท้องฟ้ากั้นอยู่แสดงถึงระยะห่างหรือช่องว่างที่ไม่น่าจะบรรจบกันได้) ด้วยความสามารถโดดเด่นและเป็นตัวของตัวเอง ประกอบกับความช่วยเหลือของพระเอกตอนนายทุนจะไล่เธอออก บวกคำแนะนำที่ให้สร้างความโดดเด่นด้วยการเติมไฝเสน่ห์ที่ริมฝีปาก (ไฝเสน่ห์ยังเป็นสัญลักษณ์ของการพูดในหนัง สื่อผ่านหนังพูดที่นางเอกเล่นเรื่อง Beauty Spot) ในที่สุดความฝันของนางเอกก็เป็นจริง

ความก้าวหน้าของนางเอกถูกสะท้อนผ่านระดับความสำคัญในเครดิต จากบทที่ไม่มีใครสังเกตเห็นกระทั่งขึ้นชื่อเป็นดารานำ สวนทางกับพระเอกที่ตกต่ำและเสื่อมความนิยมลงเรื่อยๆ เมื่อโลกภาพยนต์เริ่มก้าวเข้าสู่ยุคหนังพูด (ชอบฉากที่พระเอกนางเอกเดินสวนกันบนบันไดมาก นางเอกกำลังเดินขึ้น พระเอกกำลังเดินลง มีตัวประกอบเดินขึ้นเดินลงตลอดเวลา สะท้อนอารมณ์ตัวละครและสัจธรรมได้ดี) พระเอกปฏิเสธความเปลี่ยนแปลงของโลก ไม่แยแสต่อนายทุนและกระแสตลาด ทิฐิมานะจะสร้างหนังเงียบด้วยเงินทุนของตัวเองต่อไป

ในอีกด้านหนึ่ง ความสัมพันธ์ระหว่างพระเอกและภรรยาก็เริ่มแย่ลงเพราะอยู่กันด้วย “ความเงียบ” ตลอดเวลา (วิพากษ์หนังเงียบของตัวเองอยู่ในที) หนังสื่อออกมาได้ดีในฉากที่พระเอกและภรรยาทานอาหารร่วมโต๊ะ ปราศจากการพูดคุย ให้ความรู้สึกห่างเหิน หนังถ่ายภาพตุ๊กตาชาย-หญิงที่ด้านหลังภรรยาซึ่งค่อยๆ ห่างออกจากกันในแต่ละวัน ปัญหาดังกล่าวผนวกกับการลงทุนถ่ายหนังของพระเอกที่ตัดสินใจใช้เงินตามลำพังโดยไม่ได้หารือคู่ชีวิต (ชอบที่เมื่อตึงเครียดถึงขีดสุดภรรยาเดินเข้ามาบอกพระเอกว่า “เราต้องคุยกัน” แสดงถึงต้นตอของปัญหาชีวิตสมรส) ต่อมาตลาดหุ้นล่ม หนังของพระเอกเจ๊งไม่เป็นท่า ชีวิตคู่พังทลาย ดึงพระเอกให้ดำดิ่งเข้าสู่ช่วงแร้นแค้นอย่างแท้จริง

ในอารมณ์โศกเศร้า หนังเสริมด้วยบรรยากาศฝนตก (ชอบฉากเงาฝนที่ไหลผ่านหน้าพระเอกเหมือนหยดน้ำตา เชยหน่อยแต่ใช้ได้) พระเอกต้องเลหลังขายทรัพย์สินทั้งหมด ตัดใจไล่คนขับรถผู้ซื่อสัตย์ออกเพื่อไม่ให้ล่มจมไปกับตัว (ผมว่าเหตุผลคงคล้ายตอนจบในหนังเรื่อง Tear of Love ที่พระเอกบอกนางเอกว่าไม่เคยรักกัน เพื่อให้ง่ายขึ้นในการตัดใจปล่อยเขาจมหายในหลุมทรายนั้น)
พระเอกอยู่อย่างผู้ล้มละลาย ไร้ความสำคัญ ไร้ตัวตน (ฉากที่เงาเดินหนี) ชื่อเสียงเกียรติยศที่เคยมีสูญสิ้นไปกับกาลเวลา (หนังจับภาพป้ายโฆษณาหนังเรื่อง Lonely Star ตอนที่พระเอกเดินผ่าน) มีเพียงเจ้าสุนัขคู่ใจและคนขับรถที่ยังคงเป็นมิตรแท้ คอยช่วยเหลือประคับประคองอยู่ตลอดไม่ต่างจากเทวดาประจำตัว (มีฉากนึงที่ป้ายหน้าโรงหนังฉายเรื่อง Guardian Angel) และชัดเจนที่สุดในฉากที่เจ้าสุนัขคู่ใจวิ่งไปตามตำรวจมาช่วยพระเอกตอนไฟไหม้ (เจ้าสุนัขสื่อความหมายเพื่อช่วยชีวิตเจ้านายได้น่ารักมาก)

ฉากที่พระเอกรื้อฟิล์มหนังตัวเองมาเผาอย่างบ้าคลั่ง นอกจากจะประชดประชันโลกที่มองไม่เห็นคุณค่าของเขา หนังยังสะท้อนถึงความรู้สึกแห่งยุคสมัยปัจจุบันที่ของเก่าเริ่มถูกมองอย่างหมดความสำคัญ (โดยเฉพาะฟิล์มหนังซึ่งประเด็นนี้ถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวางในเรื่อง Hugo) การเผาฟิล์มหรือเผาตัวเองของพระเอกจึงมีนัยยะถึงกันว่าเป็นของเก่า ล้าสมัย ไร้คุณค่า ไม่เหมือนสิ่งใหม่ที่โลกพร้อมจะอ้าแขนต้อนรับอย่างนิยมยินดี

นางเอกซึ่งขณะนี้เป็นดาราดังคับฟ้าได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือพระเอก ทั้งด้วยความรักและต้องการจะตอบแทนบุญคุณ นางเอกใช้อำนาจต่อรองที่เหนือกว่า (เสียงที่ต้องรับฟัง) กับนายทุนเหมือนวิธีที่พระเอกเคยใช้เพื่อช่วยเหลือเธอมาก่อน พระเอกได้รับโอกาสอีกครั้ง แต่เพราะเข้าใจผิดในเจตนารมณ์ของนางเอกว่าต้องการจะครอบครองเขาอย่างวัตถุหรือของเล่น เหมือนที่นางเอกได้ตามซื้อทรัพย์สินของเขามาเก็บไว้ทั้งหมด บวกกับคำพูดของผู้คนที่ทับถมทำลายน้ำใจ พระเอกจึงคิดจะฆ่าตัวตาย ฉากคำบรรยายเสียง Bang ! ซึ่งแทนได้ทั้งเสียงปืนและเสียงรถชน คืออีกหนึ่งความฉลาดของหนังที่แสดงให้เห็นถึงแง่มุมของการสื่อสาร

สุดท้าย พระเอกและนางเอก (สัญลักษณ์ของอนุรักษ์นิยมและเสรีนิยม) ก็ร่วมมือกันสร้างสรรค์ผลงานรสชาติใหม่ให้โลกได้สัมผัส The Artist โชว์เก๋ด้วยการปล่อยเสียงเข้ามาในฉากจบ ต้อนรับพระเอกหนังพูดคนใหม่ผู้รู้จักปล่อยวางความยึดมั่นในตน (อีกแง่หนึ่งก็ยังสัมพันธ์กับฉากเปิดเรื่องที่พระเอกถูกทรมานให้พูด)

บนเส้นเรื่องที่เรียบง่ายเปิดที่ทางให้ The Artist สอดแทรกรายละเอียดเพื่อสื่อถึงอุดมการณ์ของหนัง ว่าด้วยโอกาสในการมีสิทธิมีเสียงของมนุษย์ในสังคม อย่างบทบาทของผู้หญิงในโลกปิตาธิปไตย สะท้อนผ่านหนังเรื่องแรกในภารกิจปลดปล่อยจอร์เจียของพระเอก (อิสรภาพจากการปกครองเผด็จการ และยังมีหนังสายลับอีกเรื่องคือภารกิจในเยอรมัน) นางเอกในเรื่องนั่งไขว่ห้างรอการช่วยเหลือจากพระเอกท่าเดียว (เป็นไปตามขนบของเจ้าหญิงดิสนีย์) และการปรากฏตัวของนางเอกคนนั้นในรอบปฐมทัศน์ที่ถูกพระเอกบดบังความสำคัญจนหมดสิ้น (ซึ่งเธอเองก็ขัดเคืองอยู่ไม่น้อย) รวมถึงบทบาทของภรรยาพระเอกที่อยู่บ้านเป็นแม่ศรีเรือน

บทบาทผู้หญิงในโลกยุคเก่าแตกต่างจากนางเอกที่มุ่งสร้างโชคชะตาชีวิตให้ตัวเอง รู้จักไขว่คว้าโอกาส พัฒนาตนจนเป็นที่ยอมรับและมีอำนาจต่อรองในสังคม (การมาของหนังพูดก็สื่อผ่านตัวละครผู้หญิงเป็นหลัก) นอกจากนั้นยังรวมถึงฟันเฟืองอื่นๆ ในวงจรของสังคมที่ควรมีสิทธิมีเสียงและไม่พึงถูกมองข้ามความสำคัญ (ผมชอบฉากจบที่คนเบื้องหลังในฐานะศิลปินแต่ละแขนงก็มีเสียงพูดให้ได้ยินด้วย)

แม้ The Artist จะมาในรูปลักษณ์ที่ดูเก่าและเชย คล้ายเป็นการหวนระลึกอดีตของคนรุ่นพ่อแม่ แต่ผมกลับมองว่านี่คือความกล้าหาญในการบุกเบิกพื้นที่ใหม่ ท้าทายกระแสหลัก และแตกต่างได้แปลกตา ยืนยันศักยภาพของไวยากรณ์หรือภาษาหนัง ว่ามันสามารถสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ได้ไม่ว่าจะถูกจำกัดด้วยอุปสรรคใด (คล้ายหนังเรื่อง Pleasantville ที่เอาหนังสีหนังขาวดำมาบิดเล่น เพื่อแสดงวิธีการเล่าเรื่องใหม่ๆ ยิ่งกว่าการผลิตซ้ำของเก่า)

The Artist ฉลาดที่อาศัยเครื่องมือของหนังเงียบเพื่อเล่าประเด็นเรื่อง “เสียง” และ “การรับฟัง” เราเคยชื่นชอบและคุ้นชินกับประสบการณ์ในโรงหนังจากการสื่อสารหลากมิติ The Artist จำกัดวงการรับรู้ให้แคบลงแต่ลึกขึ้น โฟกัสตาให้เต็มที่กับรายละเอียดภาพ โฟกัสหูให้เต็มที่กับดนตรีประกอบ นำเรากลับสู่ความเรียบง่ายแต่ทรงประสิทธิภาพสูงสุดในการสื่อสาร (ไม่สูญเสียเนื้อความระหว่างทาง)

อย่างที่การ์ตูน Tom & Jerry , ผลงานของ charlie chaplin หรือ Mr. Bean ทำได้ การสื่อสารลักษณะนี้ (ภาพ + ดนตรี) สามารถสลายกำแพงภาษาแห่งชนชาติ (พูดอังกฤษไม่ได้ก็เล่นหนังเงียบได้) ชนชั้น หรือแม้แต่เผ่าพันธุ์ (ในเรื่องสุนัขก็สื่อสารความคิดได้) ภาษาซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งความไม่เข้าใจหรือความเข้าใจผิด และนำไปสู่ความขัดแย้งระดับโลก เหมือนประเด็นที่เคยเห็นจากหนังเรื่อง Babel (เรื่องนี้ก็กล่าวถึงความเข้าใจผิดจากการสื่อสาร อย่างฉากสัมภาษณ์นางเอกที่ทำให้พระเอกรู้สึกแย่ในภัตตาคาร) นอกจากนั้น The Artist ยังโน้มนำเราให้เห็นความสำคัญในการทำความเข้าใจคนอื่นผ่านการอ่านอวัจนภาษาหรือบริบทแวดล้อมที่สื่อความได้ไม่ด้อยกว่าคำพูด

ในท่วงทำนองการวิพากษ์วิจารณ์ระบบเก่า หนังได้แสดงความคารวะกตัญญูอยู่ในที ระลึกคุณของอดีตที่กรุยทางสร้างโอกาสให้โลกยุคใหม่ได้เจริญเติบโต ส่วนตัวเห็นว่า The Artist มีส่วนคล้าย The Pianist โดยเฉพาะข้อความเรื่องการดำเนินชีวิต The Pianist เปรียบชีวิตกับบทเพลงที่ต้องบรรเลงให้จบไม่ว่าจะมีอุปสรรคอะไร ในขณะที่ The Artist เปรียบชีวิตกับการเล่นหนังซึ่งต้องสับเปลี่ยนบทบาทตลอดเวลา (อย่างเจมส์ ครอมเวล ที่มักผูกขาดบทสำคัญในเรื่องอื่นก็มาเล่นเป็นแค่คนขับรถในเรื่องนี้) ไม่พึงหลงสมมติกับภาพมายาในบางบทจนสลัดทิ้งไม่ได้ (เหมือนตัวประกอบที่เล่นเป็นจักรพรรดินโปเลียน)

ในความเป็นหนังซ้อนหนัง The Artist อาจสื่อว่าโลกจริงของเราก็แค่หนังอีกเรื่องหนึ่ง มีหลายบทบาทให้เราในฐานะศิลปินต้องแสดง บ้างก็ตามบทที่คนอื่นเขียนให้ บ้างก็ตามบทที่เราเขียนเองครับ

แก้ไขเมื่อ 12 มี.ค. 55 20:02:31

แก้ไขเมื่อ 11 มี.ค. 55 02:50:25

แก้ไขเมื่อ 11 มี.ค. 55 02:44:52

 
 

จากคุณ : beerled
เขียนเมื่อ : 11 มี.ค. 55 02:41:04




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com