 |
รีวิว
คำพิพากษาของมหาสมุทร มหกรรมฉายหนังทั้งชีวิต (8ปีเต็ม) ของ ธัญสก พันสิทธิวรกุล และ ภาณุ อารี (18-20 เมษายน 2551) โดย พัลลภ ฮอหรินทร์ 21/04/2551 โพสต์ครั้งแรกใน เว็บบอร์ดไบโอสโคป
ผู้เขียนได้ดูหนังสั้นของธัญสกเรื่อง Private Life*** (2000) เป็นเรื่องแรกเมื่อหลายปีก่อน และเป็นหนังสั้นที่ชอบที่สุดของปีนั้น (คู่กับหนังสลับสีของตั้ม พัฒนะ) ชอบเพราะเป็นหนังทดลองที่มีโครงสร้างสมบูรณ์มาก ไม่ได้แต่จะทดลองท่าเดียว
มาในงานนี้ ก็ยังได้ดูไม่ครบทุกเรื่อง จึงจะขอพูดถึงเฉพาะงานที่น่าสนใจ
หัวใจต้องสาป (Voodoo Girls***, 2002) เป็นสารคดีที่ทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ นั่นคือการติดตามตัวละครกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของผู้กำกับไปเป็นระยะเวลาหนึ่ง เมื่อถึงตอนจบ เราจะได้พบว่าตัวละครเหล่านั้นได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วจากตอนต้นเรื่องในทางใดทางหนึ่ง ธัญสกสามารถทำให้คนดูรู้สึกร่วมไปด้วยได้อย่างสวยงาม และทิ้งช่องว่างเอาไว้ในใจคนดูในตอนจบ
ตรงกันข้าม สวรรค์สุดเอื้อม (Happy Berry**, 2004) ล้มเหลวอย่างมากในฐานะหนังสารคดีเกี่ยวกับคนกลุ่มนี้ เพราะผลลัพท์ที่ได้ กลับเป็นเพียงเส้นทางในการ 'ล่าฝัน' ของคนกลุ่มที่ไม่น่าสนใจอย่างยิ่ง การที่เราเริ่มเกิดความรำคาญกับคนกลุ่มนี้ สะท้อนถึงความล้มเหลวในการเจาะเข้าไปในชีวิตของพวกเขา เพราะถ้าธัญสกทำได้ดีกว่านี้ เราคงจะไม่รู้สึกว่าชีวิตคนพวกนี้ช่างน่าเบื่อและไร้จุดหมายอย่างยิ่ง รวมทั้งไม่มีพัฒนาการใดๆในตอนจบ Happy Berry ยังถูกซ้ำเติมให้เสียศูนย์ไปอีกด้วยเรื่องของ 'ผู้ชายคนนั้น' ซึ่งน่าสนใจกว่ากลุ่มตัวละครหลักซะอีก Happy Berry จึงประสบความสำเร็จในฐานะหนังแฉชีวิตดารามากกว่าสารคดีตีแผ่ชีวิต
แต่อย่างไรก็ดีสารคดีสองชิ้นนี้ตอกย้ำธัญสกในฐานะคนทำหนังเกี่ยวกับกลุ่มคน unisex ได้อย่างมีชีวิตชีวาที่สุดของไทย ขณะที่เขาเลือกเสนอวิถีชีวิตแบบ heterosexual ว่าเป็นเรื่อง cliche ในหนังเรื่อง ภาพติดตา (Blinded Spot*) เขากลับ fantasize วิถีชีวิตแบบ homosexual ให้เป็นเรื่องเหนือธรรมชาติใน มัชฌิมโลก (Middle-Earth**) ซึ่งเป็นหนังที่โดดที่สุดของธัญสก เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากอภิชาติพงศ์มาเต็มๆ แม้จะต้องการทำเพื่อวิพากษ์การเซ็นเซอร์แสงศตวรรษก็ตาม (หนึ่งในนักแสดงที่เปลือยกายอยู่ในหนัง เป็นนักแสดงจากแสงศตวรรษ ธัญสกกล่าวว่าเขาใช้เงินที่ได้จากรางวัลศิลปาธร อันเป็นรางวัลของกระทรวงวัฒนธรรม จ่ายเป็นค่าจ้างให้นักแสดงมาแก้ผ้าในหนังเรื่องนี้ )
ในวันที่ฝนตกลงมาเป็นคูสคูส (Vous Vous Soviens De Moi?***) นั้น ประสบความสำเร็จอย่างดีในการผสานเรื่องสั้นของโตมร เข้ากับเรื่องส่วนตัวของผู้กำกับ จนทำให้เราเกิดประสบการณ์ร่วมไปด้วย
ส่วน ปลายทาง (You Are Where I Belong To***) เป็นหนังสั้นที่ไม่มีเนื้อเรื่องใดๆ แต่แสดงความเก๋าของผู้กำกับได้ดี ขณะเดียวกันหนังเรื่องนี้ก็ทำให้ผู้เขียนเกิดความรู้สึกว่า ธัญสกกำลังหมดมุกและหมกมุ่นมากเกินไปในเรื่องเดิมๆ เราเริ่มรู้สึกล้าที่จะรอดูเรื่องของ "ผู้ชายคนต่อไปของธัญสก"
ความรู้สึกนี้ถูกตอกย้ำอีกครั้งโดยธัญสกเองในหนังเรื่องล่าสุดอย่าง ชุ่ม (Soak*, 2008) ซึ่งเป็นเรื่องที่ธัญสกตามถ่ายผู้ชายคนหนึ่งที่กำลังว่ายน้ำในทะเลเป็นเวลายาวนาน ก่อนที่เมื่อขึ้นจากน้ำแล้วทั้งสองก็ขี่มอเตอร์ไซด์ออกไป เพื่อจะพบว่าตัวเองหลงทาง พวกเขาใช้เวลาอีกพักใหญ่กว่าจะหาทางกลับเข้าเมืองได้
หนังเรื่องนี้สำหรับผู้เขียนแล้ว กำลังสะท้อนการทำหนังทั้งชีวิต (ตามชื่อเทศกาล) ของธัญสก นั่นคือการหมกมุ่นกับการตามไขว่คว้าวัตถุทางเพศของตัวผู้กำกับ เหมือนที่กล้องตามถ่ายชายคนนั้นขึ้นและลงน้ำ จนเปียกชุ่มทั้งคนทั้งกล้องและทั้งผู้กำกับ ธัญสกทำหนังที่ต้องจมอยู่ในมหาสมุทรของความใคร่มาอย่างยาวนาน และเมื่อมันเป็นน้ำทะเล ยิ่งเราดื่มมันเข้าไปเรากลับยิ่งจะกระหายมากขึ้นเท่านั้น
มันน่าจะถึงเวลาแล้วที่ธัญสกจะลุกขึ้นเดินขึ้นสู่ฝั่ง แล้วกวาดตามองรอบๆตัวเสียบ้าง ความสกปรก ความห่าม หยาบคายของความใคร่ไม่ใช่เรื่องผิด ยิ่งความงาม ความมีชีวิตชีวา ความตื่นเต้นเร้าใจของความใคร่ ยิ่งเป็นเรื่องน่าค้นหา
แต่หนังของธัญสกนั้น ความใคร่ยังคงเป็นเพียงแค่ความใคร่ ไม่อาจก้าวเข้าไปสู่พรมแดนอื่นได้ ลองดูตัวอย่างของ โอชิม่า, พาโซลินี่, แบร์โตลุกชี่, หรือ Breillat ที่สามารถพาเรื่องเพศไปสู่การเมือง สงคราม เป้าหมายของชีวิต เฟมินิสต์ หรือความตาย น่าดีใจที่ธัญสกได้กล่าวว่างานชิ้นต่อไปของเขาจะแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากงานเหล่านี้
ธัญสกอาจจะใช้เวลามาเกินพอแล้วในการควานหาสัตว์ประหลาดใต้น้ำ ยังมีสัตว์ประหลาดอีกมากให้ค้นหาบนผืนแผ่นดินใหญ่
ขึ้นจากน้ำได้แล้วปุ่น!
http://www.liveindy.com/thunska.html
แก้ไขเมื่อ 19 พ.ค. 55 03:48:21
จากคุณ |
:
หมูหันตัวอ้วนกลม
|
เขียนเมื่อ |
:
19 พ.ค. 55 03:47:55
|
|
|
|
 |