Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
บทวิเคราะห์: GMM Z ท้าชน True Visions ชิงตำแหน่งจ้าวทีวีดาวเทียม [ย้ายจาก : บันเทิงวิทยุ-โทรทัศน์] ติดต่อทีมงาน

ข่าวความขัดแย้งเรื่องลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโรระหว่างแกรมมี่กับทรูตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ช่วยให้กล่องดาวเทียม GMM Z กลายเป็นประเด็นสนใจอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามในตลาดทีวีที่มีความซับซ้อนสูง ทำให้หลายท่านอาจยังไม่เข้าใจยุทธศาสตร์ของแกรมมี่ว่าทำไมต้องมาทำทีวีดาวเทียมแข่งกับกลุ่มทรู

SIU ขอนำประเด็นความขัดแย้งเรื่องลิขสิทธิ์ฟุตบอลยูโร มาเป็นจุดตั้งต้นของกรอบวิเคราะห์การต่อสู้ที่ใหญ่กว่านั้นใน “วงการทีวีดาวเทียม” ซึ่งเป็นเกมยาวและมีมูลค่ามหาศาล



โครงสร้างการแข่งขันทีวีไทย

อันดับแรกสุดต้องย้อนความไปถึง “ฟรีทีวี” ในปัจจุบันทั้ง 6 ช่องว่าเป็นทีวีที่ใช้การแพร่ภาพผ่านเสาอากาศ หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า terrestrial TV ซึ่งจะส่งสัญญาณเป็นอะนาล็อกหรือดิจิทัลก็ได้ โดยปัจจุบันระบบของเมืองไทยยังเป็นอะนาล็อกทั้งหมด และมีแผนจะเริ่มใช้การแพร่ภาพแบบดิจิทัลช่วงปลายปีนี้ โดยผู้อนุมัติคือ กสทช. แต่ทั้งหมดเป็นการส่งสัญญาณผ่านเสาอากาศก้างปลาที่พบเห็นทั่วไป

ฟรีทีวีทั้ง 6 ช่องถือเป็นการผูกขาดตลาดอย่างสมบูรณ์ โดยทีวีจำนวนถึง 4 ช่องเป็นทีวีของหน่วยงานของรัฐ เช่น ช่อง 5 เป็นของกองทัพบก ช่อง 9 ของ อสมท ช่อง 11 ของกรมประชาสัมพันธ์ และ Thai PBS ที่เป็นทีวีสาธารณะ ส่วนช่อง 3 กับช่อง 7 เป็นเอกชนดำเนินการภายใต้คู่สัมปทานของรัฐยาวนานหลายสิบปี ไม่มีช่องให้เอกชนรายอื่นเข้ามาแทรกได้เลย

ช่อง ชนิด ผู้ดำเนินการ ระยะเวลาสัมปทาน
ช่อง 3 เอกชนได้สัมปทานจากรัฐ (อสมท) บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด (ในเครือ BEC) 2513-2563
ช่อง 5 รัฐดำเนินการเอง บริษัท อาร์ทีเอ เทเลวิชั่น จำกัด (กองทัพบก) -
ช่อง 7 เอกชนได้สัมปทานจากรัฐ (กองทัพบก) บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด 2510-2566
ช่อง 9 รัฐวิสาหกิจ บริษัท อสมท จำกัด -
NBT รัฐดำเนินการเอง กรมประชาสัมพันธ์ -
Thai PBS ทีวีสาธารณะ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย -
(รายละเอียดอ่านจากบทความ การกลับมาของคุณแดง ในยามที่ช่อง 7 ไม่ได้เข้มแข็งเหมือนเดิม)

บริษัทเอกชนที่เข้ามาทำสัญญากับรัฐและสร้างกำไรมหาศาลจากการทำสถานีทีวีก็คือ กลุ่ม BEC ของช่อง 3 และกลุ่ม BBTV ของช่อง 7 เท่านั้น ในขณะที่บริษัทด้านทีวีรายอื่นๆ เช่น กลุ่มเนชั่น กลุ่มแปซิฟิก กลุ่มกันตนา กลุ่มแกรมมี่ กลุ่มอาร์เอส  กลุ่มเวิร์คพอยต์ ฯลฯ เป็นได้อย่างมากก็แค่ “ผู้ผลิตรายการ” ป้อนทางทีวีทั้ง 6 ช่อง มีอำนาจต่อรองในเรื่องผังรายการและโฆษณาต่ำกว่าการเป็นเจ้าของโฆษณาเองมาก



โฆษณาจานดาวเทียมของ PSI

เข้าสู่ยุค “ทีวีทางเลือก”

เมื่อเทคโนโลยีการแพร่สัญญาณทีวีแบบอื่นๆ พัฒนาขึ้นมา ทำให้ผู้ชมชาวไทยมี “ทีวีทางเลือก” ที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ หลายอย่าง เช่น IPTV หรือทีวีออนไลน์ แต่ที่สำคัญมีเพียง 2 อย่างคือ “ทีวีผ่านสายเคเบิล” และ “ทีวีผ่านดาวเทียม” นั่นเอง

ในส่วนของเคเบิลทีวี ในอดีตเคยมีผู้เล่น 3 รายคือ IBC, ThaiSky และ UTV ซึ่งภายหลังได้ควบกิจการกันเหลือเพียงรายเดียวคือ UBC ของกลุ่มซีพี (และปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้ชื่อ True Visions) อย่างไรก็ตามถึงแม้  True Visions ในช่วงแรกจะเริ่มจากเทคโนโลยีสายเคเบิลใน กทม. แต่ต่อมาเมื่อเทคโนโลยีดาวเทียมพัฒนาขึ้น ทรูก็เปลี่ยนมาใช้ดาวเทียม “จานแดง” อย่างที่เห็นกันทุกวันนี้ โดยที่ยังมีลูกค้ากลุ่มเคเบิลอยู่บ้างแต่ไม่เยอะนัก

ตลาดเคเบิลทีวีในภายหลังก็มีเคเบิลทีวีท้องถิ่นรายย่อยๆ เป็นจำนวนมาก ซึ่งผู้ให้บริการกลุ่มนี้รวมตัวกันเป็น “สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย” กันอย่างหลวมๆ โดยเจาะตลาดตามพื้นที่ของตัวเอง ลดการแข่งขันในพื้นที่เดียวกันเพื่อรักษาอัตรากำไรจากราคาที่คงที่

ส่วนทีวีดาวเทียม ช่วงแรกเริ่มจาก “จานดำ” หรือดาวเทียมระบบ C-Band ที่มีสามารถและ PSI เป็นหัวหอก ทีวีดาวเทียมกลุ่มนี้จะรับสัญญาณดาวเทียมที่ไม่เข้ารหัสจากต่างประเทศได้ด้วย ต่อมาก็พัฒนาเป็นระบบ “จานสี” หรือ KU-Band ที่รับสัญญาณจากดาวเทียมไทยคมเป็นหลัก โดยมีผู้เล่นในตลาดนี้หลายราย เช่น PSI ที่มียอดขายสูงสุด, DynaSAT, InfoSAT หรือ DTV ที่ทำเองโดยบริษัทไทยคมของกลุ่มอินทัช เป็นต้น

ภาวะทางการเมืองที่ร้อนแรงทำให้กลุ่มก้อนการเมืองหันมาทำทีวีดาวเทียมของตัวเอง (เพราะการครอบครองสื่อเป็นเครื่องมือสำคัญทางการเมือง และกลุ่มการเมืองไม่สามารถแทรกตัวเข้ามายังช่องฟรีทีวีได้มากนักเช่นกัน ทางออกจึงเหลือเพียงทีวีดาวเทียมที่ใช้ช่องว่างทางกฎหมายจากการที่ไม่มี กสช. ทำหน้าที่กำกับดูแล) และส่งผลให้ยอดขายจานดาวเทียมเพิ่มสูงขึ้นมากโดยเฉพาะพื้นที่นอกกรุงเทพ บวกกับปัญหาเรื่องคุณภาพสัญญาณของการแพร่ภาพแบบ terrestrial ทำให้ปัจจุบันมียอดผู้ชมดาวเทียมสูงมาก

เมื่อทั้งเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมสามารถรับชมช่องฟรีทีวีแบบ terrestrial ได้เช่นกัน บวกกับคุณภาพสัญญาณที่ดีกว่า (ไม่โดนตึกบังหรือคลื่นรบกวน) และจำนวนช่องที่มีให้เลือกเยอะกว่าในราคาที่ไม่แพงนัก ทำให้คนไทยจำนวนมากหันมาดู “ทีวีทางเลือก” แทนการใช้เสาก้างปลาแบบเดิม



Platform vs Content

การวิเคราะห์สภาพการแข่งขันของทีวีไทยในยุคปัจจุบัน จำเป็นต้องแยกพิจารณาผู้เล่นในตลาดเป็น 2 ส่วน

platform provider หรือคนสร้างระบบการแพร่ภาพหรือรับสัญญาณภาพ ตัวอย่างเช่น บริษัทเคเบิลทีวี หรือเจ้าของจานดาวเทียมยี่ห้อต่างๆ อย่างสามารถ PSI DTV เป็นต้น
content provider หรือเจ้าของรายการทีวี จะผลิตเองหรือจะซื้อมาจากต่างประเทศก็ได้ ตัวอย่างบริษัทในกลุ่มหลังได้แก่ เนชั่น เวิร์คพอยต์ แกรมมี่ อาร์เอส สปริงนิวส์ เป็นต้น
สำหรับวงการฟรีทีวีแบบ terrestrial จะควบทั้ง 2 บทบาท คือเป็นเจ้าของระบบส่งสัญญาณ เสาสัญญาณเองด้วย และเป็นผู้ผลิตรายการหรือซื้อรายการมาฉายด้วย (เช่น ทำข่าว ละคร รายการของตัวเอง ถ้าเวลาเหลือจึงให้เอกชนรายอื่นมาเช่าเวลาต่อ) แต่สำหรับแวดวงเคเบิล-ดาวเทียม โดยปกติแล้ว ผู้เล่นในสองกลุ่มนี้จะเป็นคนละบริษัทกัน โดยมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจต่อกัน เช่น กลุ่มเนชั่นซื้อช่องบนแพลตฟอร์มของ PSI และนำรายการมาฉายเพื่อหากำไรจากสปอนเซอร์อีกต่อหนึ่ง ในขณะเดียวกันเนชั่นก็ซื้อช่องบนแพลตฟอร์มดาวเทียมอื่นๆ อย่าง DTV ด้วย

ความสัมพันธ์ลักษณะนี้ทำให้จานดาวเทียมและเคเบิลทีวีแทบทุกราย (ยกเว้น True Visions) มีช่องรายการที่ใกล้เคียงกัน อาจต่างกันในรายละเอียดบางส่วนแต่ช่องหลักๆ จะเหมือนกัน ประสบการณ์การรับชมจึงไม่ต่างกันนักไม่ว่าจะเป็นดาวเทียมหรือเคเบิลทีวี

กรณีของ True Visions ถือเป็นกรณีพิเศษคือ True ควบทั้ง 2 บทบาทเช่นกัน ในด้านหนึ่งทรูก็ทำจานแดง ทำกล่องรับสัญญาณของตัวเองออกมาขาย ในอีกด้านหนึ่งก็ซื้อรายการฟุตบอล ภาพยนตร์ ซีรีส์จากต่างประเทศ รวมถึงผลิตรายการเองอย่างเช่น Academy Fantasia หรือช่องข่าว TNN อีกด้วย นโยบายลักษณะนี้ของทรูคือเป็น “แพลตฟอร์มปิด” ซึ่งในที่นี้แปลว่ารายการที่ฉายบน True Visions ห้ามไปฉายบนทีวีระบบอื่นๆ ฉายได้เฉพาะบนแพลตฟอร์มของทรูเท่านั้น

การควบบทบาททั้ง platform provider และ content provider ช่วยสร้างความได้เปรียบในแง่การแข่งขันมาก เพราะควบคุมทุกอย่างได้ดั่งใจ อำนาจต่อรองสูง (vertical integration) ตรงนี้เลยเป็นเหตุให้แกรมมี่ซึ่งเดิมทีเป็น content provider รายใหญ่อยากเข้ามาเป็น platform provider บ้าง

http://www.siamintelligence.com/gmmz-analysis/

 
 

จากคุณ : เกิดOnBoard
เขียนเมื่อ : 12 มิ.ย. 55 14:30:52




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com