สงครามโฆษณาของธนาคารสีม่วงและสีเขียว
|
 |
สงครามโฆษณาของธนาคารสีม่วงและสีเขียว ผมอนุมานว่าคนที่อ่านบทความของผมแล้วน่าจะเคยดูโฆษณาของทั้งสองแบงค์ ตอนที่ผมดูครั้งแรก งงเป็นที่สุด เขาต้องการจะสื่ออะไร ไม่มีการพูดถึงผลิตภัณฑ์ ดอกเบี้ยเท่าไหร่ เงินกู้เป็นยังไง บอกแค่เพียงว่า คร้ังแรกยังงั้น ครั้งแรกยังงี้ อีกค่ายก็เอาสาวเสื้อเขียวสวยเซ็กซ์เอ็กซ์บึ้มมาเดินให้ผู้ชมน้ำลายไหลเล่นซะงั้น
หลังจากเอาเท้ามาก่ายหน้าผากนอนคิดอย่างหนักมาหลายคืน พาลน้อยใจที่แม่ไม่ได้ส่งข้าพเจ้าไปเรียนอ๊อกฟอร์ด ตัวเองเลยโง่ที่ตีความโฆษณาไม่ออก แต่ด้วยความมุมานะ ปากกัดตืนถีบ ผมก็ได้ข้อสรูปและสิ่งที่โฆษณาต้องการจะสื่อจนได้
สิ่งที่ทั้งสองโฆษณามีเหมือนกันคือ ไม่ได้พูดถึงการขายสินค้าหรือบริการ แต่เป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ขององค์กรและยังเป็นการ "ปลูกฝั่ง" แรงบันดาลใจและแรงกระตุ้นแบบเนียนๆ ให้กับผู้ชมเพื่อให้ผู้ชมนั้นเลือกใช้สินค้าหรือบริการของของแบงค์นั้นๆ จะเรียกว่าสร้าง Inception เหมือนหนังฝันเตลิดของโนแลน (ไปโน้น)
มาดูโฆษณาตัวแรกของแบงค์ม่วง ไทยพานิชย์ กันก่อน หนังเปิดตัวด้วยภาพเหตุการณ์การณ์ครั้งแรกของหลายๆบุคคล แล้วจบด้วยการบอกว่าแบงค์เรานะคือแบงค์แรกของประเทศไทย(นะโว้ย)
ดูเสร็จแล้วมานั่งเกาหัว "อะไรวะ"
ตัวโฆษณาเน้นคำว่า "ครั้งแรก" เพื่อบอกนัยยะสองอย่างคือ หนึ่ง ความน่าเชื่อถือ และ สอง กระตุ้นให้ผู้ชมเกิดกิจกรรมกับธนาคาร
"ครั้งแรก" ที่มีความหมายว่าน่าเชื่อถือนั้น ก็เหมือนกับที่บริษัทต่างประเทศชอบลงท้ายชื่อบริษัทว่า Since ตามด้วยปีที่บริษักก่อตั้ง เพื่อบอกถึงผู้ชมถึงความยาวนานและประสบการณ์ขององค์กร นัยยะนี้น่าจะสร้างขึ้นมาเพื่อตอบโต้ธนาคาร Me ซึ่งเริ่มเปิดตัวได้ไม่นานและหลายคนยังคงคลางแคลงในความน่าเชื่อถือที่ใช้เพียงเครื่องจักรเป็นตัวทำงาน ถ้าลองสังเกตโฆษณาจะเห็น่วามีแต่ภาพคน ซึ่งให้ความรู้สึกคุ้นเคยและน่าอุ่นใจกว่า
นัยยะที่สอง เกิดขึ้นหลังจากที่ผมได้ฟังประโยคที่ว่า "ครั้งแรก เกิดขึ้นได้ทุกวัน" อืมมมมมม ครั้งแรกมันจะเกิดทุกวันได้ยังไง
สำหรับใครที่ไม่ใช่นักลงทุน ก็คงไม่ได้รู้สึกอะไรกับประโยคนี้
แต่ลองนึกภาพคนที่กำลังคิดว่าจะเอาเงินไปลงทุนอะไรสักอย่าง แล้วกำลังกล้าๆ กลัวๆ อยู่ว่าควรจะทำดีไหม มันจะเวิร์คหรือเปล่า พอเขาเห็นโฆษณานี้ แล้วได้ยินประโยคที่ว่า "คร้ังแรก เกิดขึ้นได้ทุกวัน" มันจะเหมือนเป็นการบอกเขาว่า "ทุกอย่างย่อมมีครั้งแรก" ประกอบกับภาพที่ดูอบอุ่นเป็นกันเอง(รูปคน) อีกทั้งนัยยะแห่งความเชื่อถือในข้อแรก มันจะไปกระตุ้นคนที่กำลังกลัวการลงทุน ให้รู้สึกเบาใจและมั่นใจกับการลงทุนกับแบงค์ม่วงได้อย่างเนียนๆ
ส่วนโฆษณาตัวที่สองเป็นของแบงค์เขียว กสิกรไทย ต้องขอบอกก่อนว่า "โคตรลงทุน" ทำเป็นละครให้ดู ซึ่งเป็นสิ่งที่คนไทยเข้าถึงและยอมรับได้ง่าย
โฆษณาเน้นไปที่ ตัวนางเอกเสื้อเขียว(สวยเซ็กซ์เอ็กซ์บึ้ม) และ ประโยคที่ว่า "คนกล้า ต้องเคยกลัว"
ถ้าดูจากเครื่องแต่งกายของตัวละครและบรรยากาศที่โฆษณาใช้ จะให้ความรู้สึกถึงอดีตและ"ความโบราณ" มีเพียงนางเอกเสื้อเขียวเท่านั้นที่แตกต่างด้วยการใส่ชุดโฉบเฉี่ยว ไฉไล แนบเนื้อ และ สวยเซ็กซ์เอ็กซ์บิ้ม ซึ่งแสดงถึงความทันสมัย ประเด็นของความทันสมัยถูกขับเน้นให้เพิ่มขึ้นด้วยการที่ผู้ชมได้รู้จัก "ป้า" ที่พระเอกเข้าใจว่าเป็นนางเอก โดยป้าเป็นตัวแทนของความเก่า เชย ไว้ใจได้ก็จริงแต่ไม่น่าอภิรมย์เท่าไร ตรงจุดนี้ผมคิดว่าเขาต้องการจะหมายถึงธนาคารเก่าแก่ ซึ่งจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากแบงค์ม่วง
การที่แบงค์นี้จะพูดถึงความทันสมัยก็ไม่แปลก เพราะแบงค์เขียวนั้นได้ลงทุนไปกับเทคโนโลยีเรียกว่าน่าจะสูงที่สุดถ้าเทียบกับแบงค์อื่นๆในประเทศไทย
ประเด็นที่สอง เรื่องความกล้านั้น ถ้าดูที่โฆษณา ตัวพระเอกเจอนางเอกเสื้อเขียวก่อน แต่พระเอกกลับไม่กล้าทัก ได้แต่ชะเง้อคอบิดไปด้านหลังจนเธอลับตา พอหันกลับมาอีกทีเจอป้ายืนเก๊กซิ้มอยู่ พระเอกก็ทำหน้าเจื่อนๆ ก่อนเริ่มการสนทนา
พระเอกก็เหมือนเราๆท่านๆที่พอเห็นอะไรที่ดูไม่คุ้นตาหรือ"ของใหม่" ก็มักจะกล้าๆกลัวๆไม่กล้าเขาไปหาไม่เข้าไปทัก แต่เรากลับกล้าคุยกับป้าที่เราคุ้นเคย แต่ก็อดนึกเสียดายถึงสาวชุดเขียวสวยเซ็กซ์เอ็กซ์บึ้มคนนั้นไม่ได้ เหมือนที่เราไปหาแบงค์ม่วงเพราะเราคุ้นเคย ทั้งที่เราก็รู้ว่าแบงค์เขียวทันสมัยกว่าและดูดีกว่า แต่เราแค่ไม่คุ้นชินกับของใหม่เท่านั้น
โฆษณาต้องการจะบอกเราว่า ไม่ผิดที่จะกลัว แต่ถ้าคุณกล้าสักนิดก็จะได้คุยกับสาวชุดเขียวที่ไฉไลกว่า ซึ่งนั้นดีกว่าการคุยกับป้าไม่ใช่ฤา
ผมเข้าใจเอาเองว่าที่แบงค์เขียวเล่นประเด็นนี้อาจเป็นเพราะ ตัวเองลงทุนไปกับเทคโนโลยีตั้งมากมายแล้วทำไมคนถึงยังไปใช้บริการของแบงค์ม่วงซึ่งมีเทคโนโลยีตามหลังกันอยู่ ผลที่ได้ก็เลยออกมาเป็นโฆษณาตัวนี้เพื่อให้คนหันมาสนใจแบงค์เขียวที่ทันสมัยกว่ากว่าแบงค์ม่วงผ่านสาวเสื้อเขียว(สวยเซ็กซ์เอ็กซ์บิ้ม)
สรุปก็คือ โฆษณาของทั้งสองพยายามสร้างภาพลักษณ์ของแบงค์ให้ดูดีขึ้น โดยแบงค์ม่วงขับเน้นสิ่งที่ตัวเองเด่นอยู่แล้วให้เด่นยิ่งขึ้นไปอีก คือความน่าเชื่อถือและประสบการณ์ที่มากกว่า อบอุ่นและเป็นกันเอง ในขณะที่แบงค์เขียวขับเน้นความเด่นของตัวเองในเรื่องควาทันสมัย พร้อมบอกให้ผู้ชมทั่วไปกล้าที่จะเปลี่ยนจากของเก่าที่คุ้นเคยเป็นของใหม่ที่ดูดีกว่า
ในที่สุดผมก็สามารถเอาเท้าออกจากหน้าผากตัวเองได้ซะที Bufferwolfa
จากคุณ |
:
BufferWolfa
|
เขียนเมื่อ |
:
3 ก.ค. 55 14:01:22
|
|
|
|