Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
วิจารณ์: รัก 7 ปี ดี 7 หน ติดต่อทีมงาน

“ทุก 7 ปี ความรักมักมีการเปลี่ยนแปลง” มีบางคนเชื่อกันแบบนั้น แต่มันจริงไหม ผมว่าถ้ามันจะจริงก็คงเพราะว่าการที่คนเราคบกันมานานขนาดนั้น ความสดใส ตื่นเต้น ซาบซ่าตอนที่คบกันใหม่ๆได้จางลงแล้ว กลายเป็นความคุ้นเคย ชินชา และอาจเลิกถึงขั้นเบื่อหน่ายจนเลิกรักกัน เพื่อให้ความรักก้าวผ่านหลัก 7 ปี ไปได้ คู่รักคงต้องหาอะไรที่แปลกใหม่มามอบให้แก่กัน และนำพากันสู่ความสัมพันธ์ที่เติบโตขึ้น ซับซ้อนขึ้น เข้มข้นขึ้น ค่ายหนังจีทีเอชที่สร้างหนังมอบความสุขให้ผู้ชมมาตลอด 7 ปี ก็อาจคิดเช่นนั้นครับ พวกเขาจึงอยากทดลองมอบความแปลกใหม่ให้ผู้ชมด้วยหนัง “รัก 7 ปี ดี 7 หน” ซึ่งเนื้อเรื่องเองก็ได้พูดถึงความรัก ชีวิต และการเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน ผ่านเรื่องราวความรักสามตอนโดยสามผู้กำกับที่โดดเด่นของค่ายอย่างปวีณ ภูริจิตปัญญา (บอดี้ ศพ19), อดิสรณ์ ตรีสิริเกษม (รถไฟฟ้ามาหานะเธอ) และจิระ มะลิกุล(15 ค่ำ เดือน 11) เป็นหนังที่ฉากหน้าดูคล้ายของที่คุ้นเคย แต่เมื่อได้พิศดีๆ แล้วถือเป็นพัฒนาการก้าวใหม่ของจีทีเอช ด้วยเนื้อเรื่องที่ไม่เพียงแค่ฟีลกู๊ดเอาใจตลาด แต่ได้ให้เราะตระหนักถึงชีวิตที่ต้องเปลี่ยนไปตามกาลเวลา และจุดประกายให้เรารู้จักที่จะวิ่งไปข้างหน้าเพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเอง ผ่านลูกเล่นที่มีทั้งทันสมัยและเก๋ มีการวางจังหวะการเล่าเรื่องที่ดี และจัดเรียงเรื่องราวแบบเหมาะเจาะและส่งเสริมกันไป ผ่านการแสดงของนักแสดงหน้าเก่าและหน้าใหม่ของค่ายที่ส่งบทบาทอันยอดเยี่ยม เป็นธรรมชาติ และน่าเชื่อ

นอกจากเป็นหนังเพื่อความบันเทิง และเป็นการทดลองอะไรใหม่ๆ ให้แก่ผู้ชมแล้ว “รัก 7 ปี ดี 7 หน” ยังทำหน้าที่ของการฉลองความสำเร็จผ่านเส้นทางการสร้างหนังครบ 7 ปีของพวกเขา แอบบอกเล่าเรื่องราวการเดินทางของค่ายแบบเนียนๆ ผ่านสัญลักษณ์และลูกเล่นต่างๆ ที่สอดใส่ไว้ในแต่ละตอน ซึ่งทำหน้าที่ตั้งแต่พาเราไปรำลึกถึงถึงจุดเริ่มต้นที่ยังลองผิดลองถูก ผ่านไปดูช่วงที่ประสบความสำเร็จสูงสุด และปิดท้ายด้วยการบอกมุมมองการสร้างหนังของพวกเขา ที่จะพาเรามองไปข้างหน้า และให้สัญญาว่าจะวิ่งจุดหมายใหม่ต่อไปอย่างเติบโต

ดังนั้น สำหรับผมแล้ว หนังสั้นทั้งสามตอนของ “รัก 7 ปี ดี 7 หน” จึงทำหน้าที่เหมือนผีสามตัวใน A Christmas Carol มีผีอดีตที่พาเราไปรำลึกจุดเริ่มต้นของคนทำหนังและค่ายหนัง ผ่านเรื่องราวรักของวัยรุ่น และมีผีปัจจุบันที่พาไปพบกับภาพลักษณ์ปัจจุบันของค่ายที่เกิดจากภาพของความสำเร็จในหนังรักตลกของคนวัยทำงาน และเรื่องสุดท้ายก็ไม่ต่างจากผีอนาคตที่เหมือนมาแย้มทิศทางและเป้าหมายใหม่ว่าพวกเขาจะวิ่งไปทางไหน และมันยังเหมือนเค้กในงานฉลองของการที่คบกันมา 7 ปี ที่ค่ายหนังทำให้แก่ผู้ชม ฉลองการสู่เส้นชัยใน 7 ปีแรกด้วย เป็นเค้กของขวัญที่มีทั้งความคุ้นเคยและรสชาติที่แปลกใหม่คละกันไป สอดไส้เมล็ดแห่งความทรงจำต่างๆ มันไม่ได้แค่หวานเอาใจเหมือนแต่ก่อน แต่ยังให้ความคิด และมีคุณค่าทางโภชนาการที่จะพาผู้ชมที่ชินกับสูตรเดิมได้เติบโต มันอาจไม่ใช่เค้กที่จะถูกปากทุกคน แต่มันเป็นเค้กชิ้นที่มีความสำคัญอย่างแน่นอน

และเหมือนกับใน A Christmas Carol ที่ผีอดีตที่จะพาเราไปรำลึกความหลังก่อน หนังพาเราไปที่เรื่องราวของคนวัยเยาว์ก่อนด้วย “14” ของผู้กำกับปวีณ ภูริจิตปัญญา เขียนบทโดยนวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ (Top Secret วัยรุ่นพันล้าน) ที่ทำหน้าที่ทั้งบอกเล่าเรื่องราวความรักของวัยรุ่น และพาเราไปย้อนรำลึกถึงยุคเริ่มต้นของค่ายจีทีเอชไปพร้อมๆกัน

หนังมีจิรายุ ละอองมณี รับบทหนุ่มมัธยมที่ชื่อป่วน เด็กเนิร์ดหน้าตาดี ผู้ที่ชอบพูดคุยผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ค ชอบที่จะแชร์กิจกรรมและเรื่องราวส่วนตัวลงเฟซบุคหรือยูทูบ มีอาการอันคลาสสิคของเด็กขี้อ้อนที่ชอบเรียกร้องความสนใจ อยากเป็นคนสำคัญ อยากโด่งดัง และอาจขาดความอบอุ่นในวัยเด็กเหมือนอีกหลายต่อหลายคนในโลกยุคอินเตอร์เนต

เมื่อป่วนมีแฟน ป่วนก็ประกาศก้องให้เฟซบุคทั้งบางได้รับรู้ในลักษณะของเด็กที่อยากให้คนอื่นมาให้ความสำคัญกับการมีแฟนของเขา และก็ทำได้สำเร็จเมื่อเพื่อนในเน็ตแข่งกันสืบสาวราวกับนักสืบพันทิปว่าสาวน้อยผู้นั้นเป็นใคร ซึ่งก็เฉลยออกมาว่าเป็นรุ่นน้องที่ชื่อน้องมิลค์ (สุทัตตา อุดมศิลป์)

ป่วนยังมีความสามารถด้านการทำหนังด้วยกล้องแบบมือสมัครเล่นที่มีอยู่ติดตัว รู้จักใช้โปรแกรมตัดต่อ แล้วอัดโหลดคลิปของตัวเองลงยูทูบเพื่อให้คนเข้ามาคลิกดู เข้ามากดไลค์เยอะๆ และในเมื่อใครๆสนใจความรักของป่วนกับน้องมิลค์ ป่วนก็ทำหนังเอ็มวี “น่ารักเฮี่ยๆ” ออกมาให้แฟนคลับบนโลกออนไลน์ได้กรี๊ดกร๊าด และป่วนก็เพ้อฝันว่าจะได้เป็นคนดังที่เกิดจากเน็ต ได้ออกทีวี ได้มีอาชีพตั้งแต่เด็ก แต่มิลค์ก็เริ่มอึดอัดใจที่เหมือนป่วนจะเที่ยวเอาเรื่องราวส่วนตัวของพวกเขาไปให้คนในเน็ตรู้มากไป

น้องมิลค์ทั้งอาย ทั้งรู้สึกว่าป่วนอาจรักที่จะแชร์มากกว่ารักเธอจริงๆ ทั้งคู่งอนๆง้อๆ และคืนดีกันเรื่อย จนถึงฟางเส้นสุดท้ายที่มิลค์รู้สึกว่ามันเกินไปแล้ว แล้วในที่สุดป่วนก็ใช้วิธีอัพโหลดคลิปขอโทษเพื่อขอคืนดี ซึ่งป่วนบอกว่าไม่ได้แคร์ยอดวิว ขอเพียงให้มิลค์ได้ดูแล้วเข้าใจ แต่คลิปนั้นก็ถูกแพร่กระจายราวกับไวรัส แล้วเราก็สรุปไม่ได้จริงๆ ว่าคลิปนั้นเพื่อมิลค์คนเดียวจริงๆ หรือคนทั้งโลก

เมื่อมองเผินๆ “14” จะเหมือนหนังรักวัยใสกระโปรงบานขาสั้นทั่วไป แต่ผมคิดว่านั่นไม่ใช่ความตั้งใจแท้จริงของผู้กำกับและผู้เขียนบท สิ่งที่พวกเขาต้องการจะสื่อก็คือการสะท้อนความรักอันฉาบฉวยของวัยรุ่นยุคอินเตอร์เน็ตต่างหาก ที่เหมือนกับว่าจะแคร์คนในเน็ตที่เป็นใครก็ไม่รู้มากกว่าคนที่เป็นแฟนหรือคนที่อยู่เคียงข้างจริงๆ โลกของป่วนดูจะมีแต่คนในเน็ตและกราฟฟิกอินเตอร์เนตเป็นส่วนใหญ่ มิลค์เป็นส่วนรอง และที่หายออกไปเลยจากในหนังก็คือพ่อแม่ของป่วนเอง

บทหนังของนวพลที่ก็เคยทำหนังจิกกัดการพิพากษาคนอื่นของคนโลกอินเตอร์เนตอย่าง “มั่นใจว่าคนไทยฯเกลียดเมธาวี” ได้อย่างแสบสันต์มาก่อน ก็ทำหน้าที่ได้ดีในแง่จิกกัดคนที่หลงอินเตอร์เนต แล้วทำให้เราอดขำไม่ได้เพราะเราเองหลายคนที่แม้โตแล้วก็ยังทำอะไรเหมือนกับที่ป่วนทำในหนัง ชอบให้คนมากดไลค์เยอะๆ ชอบคลิกมาดูว่ามีคนตอบกระทู้เยอะไหม ชอบดูยอดวิวเวลาอัพโหลดคลิป แล้วก็ทำให้เรามองย้อนดูตัวเองอีกว่าเรามีอาการหนักขนาดป่วนหรือไม่ แต่ก็มีบางวูบเช่นตอนตั้งกระทู้ถามว่าจะพาแฟนไปเที่ยวที่ไหนก่อนที่จะสรุปได้ว่าเป็นสวนรถไฟนั้นเป็นการให้รายละเอียดที่เยอะเกินไปของบทหนัง และลูกเล่นการเล่าเรื่องที่ให้ป่วนจินตนาการนึกภาพก็ออกจะเชยแล้วนิดๆ เมื่อเทียบกับลูกเล่นล้ำๆ ในส่วนอื่นของหนังตอนนี้

และเมื่อ “14” ทำให้เรามองย้อนดูตัวเอง ก็ทำให้ผมอดมองย้อนไปที่ผู้กำกับปวีณไม่ได้ คนในโลกอินเตอร์เนตมากมายมีความเป็นป่วนอยู่ในตัวเอง และผมก็เชื่อว่าผู้กำกับปวีณก็มีความเป็นป่วนอยู่เช่นกัน เคยได้ยินผู้กำกับบางคนของจีทีเอชเรียกผู้กำกับปวีณว่าเป็นผู้กำกับเนิร์ดแห่งจีทีเอช และตัวปวีณเองก็ก้าวสู่การเป็นผู้กำกับหนังด้วยการเป็นผู้กำกับมิวสิควิดีโอมาก่อน ปวีณได้ใช้ลูกเล่นของโลกอินเตอร์เน็ต สังคมออนไลน์ และมิวสิควิดีโอ มาเป็นลูกเล่นในการเล่าเรื่องได้อย่างคนที่เข้าถึง และเป็นสีสันอย่างมากให้แก่หนังตอนนี้ แต่ก็อดรู้สึกไม่ได้ว่าอาจเป็นลูกเล่นที่ล้ำเกินไป จนเราตามไม่ทัน หรือไม่ก็อาจเพราะเน้นโชว์ลูกเล่นมากเกินพอดี จนทำให้เมื่อหนังจบแล้ว ลูกเล่นกลายเป็นสิ่งที่เรานึกถึงมากกว่าสารที่หนังอยากสื่อ

ป่วนเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นของผู้กำกับหนังหลายคน ที่ชอบทำหนังเล่นๆ เอามาให้คนดูอื่นดู อาจยังไม่รู้ตัวว่าตัวเองชอบทำหนัง แต่ชอบที่เห็นคนเข้ามาดู เข้ามาแสดงความเห็นในผลงานเยอะๆ และขณะเดียวกับที่จุดเริ่มเต้นเล็กๆ นี้อาจทำให้ป่วนเป็นผู้กำกับหนังทำเงินในอนาคตได้

เรื่องราวตอนนี้ของ “รัก 7 ปี ดี 7หน” ก็แอบพาเราระลึกถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้จีทีเอชโด่งดังอยู่อย่างเนียนๆ ด้วยฉากของหนัง “แฟนฉัน” ที่ใส่เข้ามา นักแสดงรับเชิญในตอนนี้โดยส่วนใหญ่ของหนังก็มีส่วนทำให้ผู้ชมนึกถึงหนังวัยรุ่นวัยใสของจีทีเอช ทั้งโฟกัส จีระกุล (แฟนฉัน), จรินพร จุลเกียรติ (หนีตามกาลิเลโอ), โซระ อาโออิ (ปิดเทอมใหญ่ หัวใจว้าวุ่น), ฌภัทร โชคจินดาชัย (Suckseed ห่วยขั้นเทพ), อังศุมาลิน สิรภัทรศักดิ์เมธา (ปิดเทอมใหญ่…หัวใจว้าวุ่น) เป็นต้น และยังมีนักแสดงรับเชิญที่มาแอบมาทำให้เรานึกถึงผลงานแรกของผู้กำกับปวีณอย่าง "บอดี้ ศพ19" และทำให้เรานึกถึงหนังรักวัยรุ่นอีกเรื่องของจีทีเอชอย่าง "รัก/สาม/เศร้า" ด้วย

เมื่อผ่านจุดเริ่มต้น จุดที่เริ่มทำให้ผู้คนได้หันมาสนใจ ตอนที่สองของหนัง “รัก 7 ปี ดี 7 หน” ที่ชื่อว่า “21/28” โดยผู้กำกับอดิสรณ์ ตรีสิริเกษม และผู้เขียนบทเบญจมาภรณ์ สระบัว ก็จะพาเราไปสู่ภาพลักษณ์ผลงานปัจจุบันของค่ายจีทีเอชที่คนส่วนใหญ่นึกถึง นั่นก็คือหนังรักตลกของคนวัยทำงานที่จีทีเอชประสบความสำเร็จติดต่อกันในระดับร้อยล้านอย่าง “รถไฟฟ้ามาหานะเธอ”, “กวนมึนโฮ” และ “ATM เออรักเออเร่อ”

นอกจากโทนของ “21/28” จะคล้ายกับทั้งสามเรื่องที่ประสบความสำเร็จสูงสุดของค่ายแล้ว ตัวละครสมทบและรับเชิญในหนังยังล้วนมาจากหนังทั้งสามเป็นส่วนใหญ่ เช่นหนึ่งธิดา โสภณ (กวนมึนโฮ), ปรีชญา พงษ์ธนานิกร (ATM เออรักเออเร่อ), ฉันทวิชช์ ธนะเสวี (ATM เออรักเออเร่อ) แถมยังมีการยืมบทพูดเด่นจาก “กวนมึนโฮ” มาใส่ในหนังด้วย นักแสดงนำอย่างคริส หอวัง และ ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์ ก็ถือเป็นภาพลักษณ์ในหนังแนวนี้ของจีทีเอชด้วยเช่นกัน

การนำเสนอของ “21/28” ก็ยังคงมีการทำหนังเข้ามาเกี่ยวเหมือน “14” แต่เป็นการทำหนังที่โตขึ้นตามวัยของตัวละคร เป็นเบื้องหลังการทำหนังจริงๆ ไม่ใช่หนังยูทูบ และเล่าเรื่องออกมาในลักษณะของหนังซ้อนหนัง ว่าด้วยเรื่องราวของแหม่ม นักแสดงสาวตกอับที่เคยรุ่งโรจน์และประสบความสำเร็จจากหนังร้อยล้านเรื่อง “Sea You รักติดเกาะ” เธอยังคงหลงในความสำเร็จนั้นอยู่ และหวังที่จะกลับไปโด่งดังมีชื่อเสียงอีกครั้งด้วยการกลับไปรับบทเดิมในภาคต่อของหนังที่เคยทำให้เธอเปรี้ยงปร้าง เธอไปเฝ้าตามตื้อจอน นักแสดงหนุ่มที่แจ้งเกิดในภาคแรกร่วมกับเธอ ผู้ที่พบรักกับเธอกลางกองถ่ายในภาคแรก และเธอก็ทิ้งเขาไปเพราะการที่เธอลุ่มหลงกับวงการมายา และระเริงไปกับการเป็นดาราดัง แต่ปัญหาก็คือจอนได้ทิ้งวงการมายาไปแล้ว ไปทำงานเป็นนักประดาน้ำในสวนสัตว์น้ำ ปล่อยตัวจนไม่เหลือเค้าหนุ่มหุ่นดีขวัญใจสาวๆ และที่สำคัญ เขาไม่อยากกลับไปเล่นหนังอีก เพราะกลัวจะช้ำใจอีกครั้ง

แม้ว่าโทนของ “21/28” จะไม่ต่างจากหนังรักตลกร้อยล้านทั้งสามเรื่องของจีทีเอชเท่าไหร่ แต่บทหนังก็ใส่ความขมของชีวิตจริงเข้ามาในตอนจบให้ไม่รู้สึกว่าฟีลกู๊ดเกินไป ตัวละครไม่ได้สมหวังเสียทีเดียว และก็ได้เติบโตและเรียนรู้ว่าอะไรคือความจริง อะไรคือมายา ทั้งคริส หอวัง กับซันนี่ สุวรรณเมธานนท์ ได้มีโอกาสส่งบทบาทการแสดงอันยอดเยี่ยมด้วยกันทั้งคู่ ฉากที่ทั้งสองอ่านบทละครเพื่อฝึกซ้อมกันก่อนไปทดสอบการแสดงนั้นถือเป็นฉากที่ได้แสดงศักยภาพออกมาได้อย่างเต็มที่ เราได้เห็นการแสดงในสองระดับ ระดับของการอ่านบทแบบที่อ่านผ่านๆกับกับบท กับระดับที่ใส่ความรู้สึกของหัวใจจริงๆ เข้าไปในตัวบท และทั้งคู่ก็แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างอย่างชัดเจน ในแบบที่เป็นธรรมชาติอย่างมาก เป็นฉากที่หนุ่มสาวที่ชอบเรื่องราวแนวนี้จะต้องเสียน้ำตาให้

แหม่มกับจอนอาจเปรียบได้กับคนทำหนังกับคนดูหนัง เมื่อคนทำหนังยึดติดกับความสำเร็จ และทำแต่หนังเดิมๆด้วยการสร้างภาคต่อออกมา ไม่ใส่ใจคนดูหนัง ไม่แคร์ความรู้สึกกัน คนดูหนังก็อกหักในที่สุด จนเลิกติดตามกัน ไม่ยอมกลับไปหากันเพราะกลัวที่จะอกหักอีก แต่เมื่อคนทำหนังคิดได้ ก็คงอยากถามคนดูหนังว่า “เราจะกลับมารักกันได้ไหม” ซึ่งแน่นอนว่าหากคนทำหนังจะทำให้คนดูหนังกลับมารักกันอีก คนดูหนังจะต้องไม่สักแต่ว่าทำหนัง เพราะการทำหนังนั้นใครๆก็อาจทำได้ คนทำหนังต้องเติบโต ต้องไม่อยู่กับที่ ต้องหัดที่จะวิ่งไปข้างหน้า ต้องหัดที่จะวิ่งสวนทางคนอื่น ต้องวิ่งให้เกิดเปลี่ยนแปลงด้วยจุดหมายที่เหมือนกับการวิ่งมาราธอน ซึ่ง “42.195” ของผู้กำกับจิระ มะลิกุล อันเป็นตอนที่สามของหนังก็ได้ใช้การวิ่งมาราธอน และปรัชญาที่แฝงอยู่มาช่วยจุดประกายแง่คิดนี้ให้

“42.195” เป็นเรื่องราวของหล่อน (สู่ขวัญ บูลกุล) หญิงสาววัยผู้ใหญ่ที่ใช้ชีวิตอยู่ไปวันๆ หลังจากสามีเสียชีวิต และเธอก็สัญญากับตัวเองว่าจะไม่มีคนใหม่ แต่แล้วชีวิตของเธอก็พบการเปลี่ยนแปลงเมื่อเขา (นิชคุณ หรเวชกุล) เด็กหนุ่มที่อายุห่างกันเกือบ 20 ปี ผู้ที่ชอบวิ่งสวนทางคนอื่น วิ่งมาชนหล่อนจนล้มแว่นตาแตก แล้วเขาก็ได้แนะนำให้หล่อนรู้จักกับการวิ่งมาราธอน

แรกๆ หล่อนก็ดูเหมือนจะวิ่งไปเพื่อแค่จะได้ใกล้ชิดเขา ให้หัวใจของหล่อนได้แช่มชื่นที่ได้อยู่ใกล้หนุ่มหน้าใส และเขาก็ดูเหมือนจะมีใจให้แก่หล่อนด้วย แต่เมื่อหล่อนลองได้ฝึกซ้อมวิ่งมาราธอนจริงๆ เพื่อที่จะได้ลงแข่งตามตารางการฝึกซ้อมที่เขาเอามาให้ หล่อนก็พบว่ามันลำบากเหลือเกิน เพราะหล่อนแค่อยากวิ่ง ไม่ได้อยากเหนื่อย แต่คำพูดของเขาก็ทำให้หล่อนฮึดสู้ขึ้นมา

เรื่องราวดำเนินไปจนวันหนึ่งที่ความจริงได้มาฟาดแสกหน้าของหล่อนให้รู้ตัวอีกครั้งว่าเขาน่ะเด็กกว่าหล่อนมาก รักของเขากับหล่อนคงเป็นไปไม่ได้หรอก หล่อนบอกเลิกกับเขาในช่วงที่ใกล้ถึงวันแข่งขัน แต่ก็เป็นการวิ่งมาราธอนนั่นเองที่ดึงให้หล่อนกับเขากลับมาเจอกันอีก เพราะแม้ว่าหล่อนยังไม่แน่ใจว่าอนาคตทางความสัมพันธ์จะวิ่งไปยังไง แต่หล่อนก็อยากที่จะวิ่งมาราธอนเพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ได้พบอะไรใหม่ๆ เช่นพระอาทิตย์ขึ้นที่สะพานพระราม 8 ที่หล่อนไม่เคยได้เห็นมาก่อน

ตอน “42.195” เป็นตอนที่น่าจะดีที่สุด กลมกล่อมที่สุด มีการแสดงที่ดีที่สุด และมีพลังที่สุดของทั้งสามตอน เป็นการปิดฉากหนังที่ให้แรงบันดาลใจ และให้ความคิดอย่างมาก สอนเราว่าหากที่จะอยากเหนือคนอื่น เราต้องวิ่งไปอย่างแตกต่าง อย่างไม่ย่อท้อ อย่างไม่หยุดยั้ง ถ้าคุณกล้าที่จะออกไปวิ่งแล้ว เส้นชัยรออยู่เสมอ

คุณสู่ขวัญได้ส่งบทบาทการแสดงที่เป็นธรรมชาติ ลึก มีพลัง และน่าติดตามไปพร้อมกันจนไม่อยากเชื่อว่านี่เป็นการแสดงครั้งแรกของเธอ ชื่อของเธอจะต้องอยู่ในโผของหลายสำนักแน่ๆ เมื่อมีการประกาศรายชื่อรางวัลด้านภาพยนตร์ในปีหน้านี้ ส่วนนิชคุณก็ทำหน้าที่ได้ดี และมีการแสดงที่เป็นธรรมชาติ ชวนให้ติดตามเช่นกัน

และเช่นเดียวกับสองตอนก่อนหน้านี้ “42.195” ก็มีลูกเล่นในการเล่าเรื่องที่เป็นสีสันใหม่สำหรับค่ายจีทีเอช ด้วยการใช้เสียงบรรยายของอาจารย์อรชุมา ยุทธวงศ์ที่คอยบอกเล่าความรู้สึกของตัวละครพร้อมกับสร้างอารมณ์ขันแบบน่ารักไปพร้อมๆกัน และอดทำให้นึกถึงเทคนิคในหนังฝรั่งเศสอย่าง “Amelie” ไม่ได้ การเล่าเรื่องของจิระ มะลิกุล ก็ทำได้มีประสิทธิภาพ ไต่ระดับของอารมณ์ขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงตอนจบของหนังที่ได้พีคจนเรายิ้มทั้งน้ำตา สมกับเป็นผู้กำกับตัวพ่อของค่ายจีทีเอช

และอีกเช่นกัน เหมือนกับ “14” และ “21/28” ขณะที่ฉากหนังของเรื่องราวพูดถึงความสัมพันธ์ของคนสองคน และการเปลี่ยนแปลงของคน “42.195” ก็แอบพูดถึงการทำหนัง และความเป็นจีทีเอช ไปพร้อมกันด้วย แต่มีวิธีการแอบเล่าที่โจ่งแจ้งน้อยกว่า เป็นการเล่าในเชิงสัญลักษณ์แทน

ตั้งแต่เปิดเรื่องเลย เราจะได้ยินเสียงผู้บรรยายซึ่งไม่เพียงแต่ทำหน้าที่บรรยายความคิดในหัวของตัวละครเท่านั้น ลักษณะของการใช้น้ำเสียง และการใช้ศัพท์ ในหลายครั้งก็คล้ายคลึงกับผู้ทำหน้าที่อ่านบรรยายฉากต่างๆ ของขั้นตอนการประชุมเพื่ออ่านบทของนักแสดงก่อนที่จะเริ่มมีการถ่ายทำหนัง

นอกจากนี้ หนังยังใช้การวิ่งเป็นสัญลักษณ์ของทัศนคติและเส้นทางการสร้างหนัง ใช้ตัวหล่อนแทนคนสร้างหนัง และใช้เขาแทนเส้นชัยในอนาคต เราจะได้ยินเสียงบรรยายที่เล่าแทนเสียงในหัวของหล่อนในตอนใกล้จบว่า “หล่อนรู้ดีว่า ไม่ว่าหล่อนจะตอบว่าอะไร หล่อนก็จะไม่ใช่คนเดิมอีกแล้ว และนี่เป็นเหตุผลเดียวในการใช้ชีวิตของมนุษย์ เคลื่อนที่ไปให้ผ่าน 7 ฟุตข้างหน้า เพื่อที่จะพบการเปลี่ยนแปลงใน 7 ฟุตถัดไป” ซึ่งฟุตในที่นี้นอกจากแทนระยะทางแล้ว ฟุตยังเป็นหน่วยความยาวของฟิล์มอีกด้วย

แล้วความคิดว่าด้วยการสร้างหนังแบบไหนกันที่ตอนนี้ต้องการจะบอกเรา ผมคิดว่าเป็นการที่อยากบอกเราให้รู้ถึงหลักการการสร้างหนังของค่ายจีทีเอชที่ต้องไม่วิ่งตามใคร ต้องสดใหม่ จริงใจ มีคุณภาพ ต้องพยายามเปลี่ยนแปลงตัวเองอยู่เรื่อยๆ ต้องไม่สักแต่แค่ทำหนัง เพราะถ้าอยากแค่นั้นก็ทำหนังเรื่องเดียวก็ได้ แต่ถ้าอยากเปลี่ยนแปลงชีวิต ก็ต้องทำหนังแบบวิ่งมาราธอนที่มองตรงไปข้างหน้าอย่างเดียว มองไปที่เส้นชัยที่ไกลกว่ากิโลเมตรเดียว ต้องกล้าที่จะก้าวอย่างอุตสาหะ อาจมีบางครั้งที่บนเส้นทางนี้จะต้องเจอปีศาจที่กิโลเมตร 35 ที่มาบอกว่าเลิกสร้างหนังเถอะ แต่ก็ต้องไม่ย่อท้อเพราะเส้นชัยรออยู่ ตัวละครหล่อนเรียกเขาว่า “เส้นชัย” (Finisher) นั่นอาจเสมือนเป็นเป้าหมายใน 7 ฟุตต่อไปข้างหน้าหรือในอนาคตอีก 7 ปีข้างหน้าของจีทีเอช เป็นการพาหนังไทยออกไปสู่ระดับอินเตอร์เหมือนที่นิชคุณผู้รับบทนี้เป็นอยู่ และตอนจบของ “42.195” อาจเป็นอนาคตที่จีทีเอชมองตัวเองไว้นั่นเอง

ผมยังชอบที่หนังยังให้การยอมรับและคาราวะผู้ที่วิ่งมาก่อน หรือเคยสร้างหนังมาก่อนด้วย ในฉากที่ใกล้สู่เส้นชัยนั้น เมื่อเสียงบรรยายบอกว่า “ทั้งคู่วิ่งมา 6 ชั่วโมง ช้ากว่าคนทั่เร็วที่สุดไป 3 ชั่วโมงครึ่งเท่านั้น เส้นชัยกั้นรอนักวิ่งทุกคน ไม่ว่าจะเข้าคนแรกหรือคนที่ 1500 ทุกคนที่เส้นชัย จะได้รับการปฎิบัติอย่างผู้ชนะเหมือนกัน” ซึ่งในฉากนั้น เราได้เห็นเปี๊ยก โปสเตอร์ วิ่งเข้าเส้นชัยไป ผู้ที่เป็นนักสร้างหนังไทยมามากมายก่อนจีทีเอช ผู้เป็นไอดอลของผู้กำกับบางคนในค่าย และผู้ที่ทั้งร่วมแสดงนำใน Top Secret วัยรุ่นพันล้าน หนังแนวทางใหม่ที่จีทีเอชได้เริ่มทดลองเปลี่ยนแปลงตัวเอง

การที่หนัง “รัก 7 ปี ดี 7 หน” แบ่งออกเป็นสามตอนก็เป็นกุศโลบายที่สำคัญเช่นกัน พวกเขาอยากเสนอสิ่งแปลกใหม่จากเดิมให้แก่แฟนๆที่ติดตามกันมา แต่เลือกให้ลองชิมอย่างละนิดสามรสสามแบบ ยังไม่อยากเปลี่ยนสูตรแบบเต็มๆ เพื่อเป็นการลองถามว่าคนดูจะชอบไหม และเป็นการเตรียมคนดูไปพร้อมๆกัน และถือเป็นจุดสตาร์ทใหม่ที่จะวิ่งสู่เส้นชัยในอีก 7 ฟุตข้างหน้า อาจต้องพบปีศาจตัวใหม่มาทำให้เป็นลมสลบระหว่างทาง แต่อย่างที่เสียงบรรยายในหนังบอก “หากไม่มีความเจ็บปวดมาเกี่ยวข้องด้วย ใครในโลกจะอยากแข่งมาราธอน” ผมว่าการทำหนังก็คงเหมือนกัน

คะแนน: 9/10

ข้อมูลเบื้องต้น
รัก 7 ปี ดี 7 หน
วันที่เข้าฉาย 26 กรกฎาคม 2555
ผู้กำกับ จิระ มะลิกุล, อดิสรณ์ ตรีสิริเกษม, ปวีณ ภูริจิตปัญญา
นักแสดง นิชคุณ หรเวชกุล, คริส หอวัง, จิรายุ ละอองมณี, สู่ขวัญ บูลกุล, สุทัตตา อุดมศิลป์, ปาณิสรา พิมพ์ปรุ, ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์
เว็บไซต์ทางการ: http://www.sevensomething.com/blog/

ที่มา http://jediyuth.wordpress.com/2012/08/07/jediyuths-review-seven-something/

แก้ไขเมื่อ 08 ส.ค. 55 08:22:16

แก้ไขเมื่อ 07 ส.ค. 55 22:45:16

 
 

จากคุณ : JEDIYUTH
เขียนเมื่อ : 7 ส.ค. 55 21:54:22




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com