 |
Yes or No 2 : รับไม่รับ อย่ากั๊ก ! ปรอทวัดเสรีภาพสังคมไทย
|
 |
คอลัมน์"หนังช่างคิด" OLDBOY บางคูวัด วันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2555 เวลา 20:19:16 น.
มีข่าวเรื่องหนึ่งผ่านตาไปอย่างน่าตกใจมาก นั่นคือ พม่า เลิกเซ็นเซอร์สื่อสารมวลชนแล้ว เปิดเสรีให้นำเสนอความเห็นได้อย่างเต็มที่
และข่าวในสัปดาห์เดียวกันนั้น มหาวิทยาลัยชื่อดัง ธรรมศาสตร์ อนุญาตให้ นายเด่นจันทร์ แต่งชุดนักศึกษาหญิงเข้าพิธีพระราชทานปริญญาบัตร
น่าปลื้มใจไม่น้อยสำหรับกลุ่มชนผู้ฝักใฝ่ใน เสรีนิยม เพราะสัญญาณเหล่านั้นเสมือนแสงสว่างที่วาบขึ้นมาเมื่อประตูแห่งความมืดมิดและคับแคบที่ปิดตายมานานแง้มบานออกมา
แต่อย่าได้ถามว่า จะมั่นใจได้อย่างไรว่า ประตูบานนี้จะเปิดกว้างให้แสงสว่างส่องเข้ามาได้อย่างเต็มที่...ตลอดไป คำตอบอาจยังล่องลอยอยู่ในสายลม
เช่นเดียวกับข้อถกเถียงเรื่อง เพศสภาพ และพื้นที่ยืนของบุคคลที่ถูกจัดประเภทให้เป็น เพศที่ 3 ในสังคมไทยก็ดูจะมีแนวโน้มที่สดใสมากขึ้น ซึ่งอันนี้ผมอนุมานเอาเองจากกระแสตอบรับของภาพยนตร์อย่าง รักแห่งสยาม หรือ Yes or No(โดยพยายามจะลืมๆ กรณีของ แมลงในสวนหลังบ้าน ไปเสีย)
เสรีภาพส่วนบุคคลในการเลือกที่จะเป็น เลือกที่จะใช้ชีวิตตามความชอบ รสนิยมส่วนตัว ก็ดูจะได้รับความเคารพมากขึ้น แม้จะยังถูกมองด้วยสายตาอิลักอิเหลื่อเช่นเดิมก็ตาม
เกริ่นมาเสียยาวเพื่อที่จะโยงเข้ามาเขียนชม เอ้ยเชียร์ เอ้ย ชี้ประเด็น ที่ปรากฎอยู่ในภาพยนตร์ Yes or no 2 รักไม่รัก อย่ากั๊กเลย
ภาพยนตร์ที่บอกเล่าเรื่องราวความรักของคนที่เป็น ผู้หญิง กับ ผู้หญิง ด้วยกันได้อย่างน่าสนใจนับตั้งแต่ภาคแรก ที่ใช้ชื่อว่า Yes or no เฉยๆ แนะนำอย่างรุนแรงว่าหากยังไม่ได้ชมภาคแรก ควรแสวงหามาชม ก็จะช่วยให้เข้าใจ ประเด็น ที่ผู้กำกับภาพยนตร์ สรัสวดี วงศ์สมเพ็ชร ต้องการนำเสนอได้อย่างชัดเจนมากขึ้น เล่าย่อๆ ก็ได้ว่า ในภาคแรก ตัวละครหลักของเรื่องคือ คิม (รับบทโดย ติ๊นา - ศุภนาฏ จิตตลีลา) นักศึกษาสาวที่มองเสื้อผ้า หน้า ผมและกริยาท่าทีก็ต้องตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนว่า ทอมบอย มั้ง ได้มารู้จักและสานสัมพันธ์กับ สาวจริงหญิงแท้อย่าง พาย (รับบทโดย ออม - สุชาร์ มานะยิ่ง) โจทย์หลักของภาคแรกคือการเรียนรู้จิตใจตัวเองของแต่ละฝ่ายว่า จะก้าวข้ามความกลัว สายตาที่จับจ้องจากภายนอก กระทั่งกล้าเดินไปทำในสิ่งที่หัวใจตัวเองเรียกร้องได้หรือไม่ แน่นอนว่านั่นเป็นแก่นเรื่องหลักที่แข็งแรงและมีพลัง มีตัวภาพยนตร์เองจะมีจุดอ่อนเล็กๆ น้อยๆ ปรากฎออกมาให้เห็นเป็นระยะๆ ก็ตาม แต่ด้วยความสดใหม่และจริงใจต่อการเล่าเรื่องทำให้ ภาคแรกเปี่ยมไปด้วยพลังของการนำเสนอประเด็น จุดประกายให้กลับมาฉุกคิดเรื่อง ความรัก กับเพศสภาพ ได้อย่างน่าชื่นชม ด้วยประสบการณ์น่าประทับใจจากภาคแรก ทำให้ผมเดินเข้าโรงภาพยนตร์เพื่อชม Yes or no 2 รักไม่รัก อย่ากั๊กเลย โดยไม่ลังเล พร้อมกับความคาดหวังมากมาย และทำให้ได้พบความจริงที่ว่า โลกนี้ไม่ได้มีแต่ผีเสื้อแสนสวย หากยังมีหนอนผีเสื้อที่ตรงกันข้ามในทุกๆ อย่างอยู่ด้วย จากเรื่องรักที่สับสนในตัวเองของภาคแรก แกนเรื่องของ ภาค 2 Yes or No ก้าวข้ามประเด็น หญิงรักหญิงได้จริงวหรือเปล่า ไปสู่การตั้งคำถามหลายประเด็นให้กับผู้ชม ว่าด้วยเรื่อง รักสามเส้า เราควรทำอย่างไรเมื่อมี มือที่ 3 เข้ามาในชีวิต(ไม่ว่าจะเข้ามาหาตัวเราหรือเข้ามาหาคนที่เรารักก็ตาม) คิม กับคาแร็กเตอร์ แมนๆ มีเรื่องระหองระแหงกับ พาย สาวน้อยที่แสนจะงุงิ เจ้าอารมณ์แต่ก็โรแมนติกได้ใจเหลือเกิน ภาค 2 นี้เพิ่มโจทย์ที่จะเป็นบทพิสูจน์ว่า จะประคับประคองความรักได้หรือไม่ในยามที่ต้องอยู่ห่างกัน แยม (รับบทโดย อภิษฐา คล้ายอุดม) กลายเป็นตัวแปรที่เข้ามาทดสอบ คิม ว่า หากจะมีใครอีกสักคนหนึ่งที่ ใช่มากกว่า เข้ามาในชีวิต รักแท้จะแพ้ความใกล้ชิดอย่างที่เขาชอบพูดกันหรือเปล่า สิ่งที่น่าชื่นชมสำหรับภาพยนตร์ภาคต่ออย่าง Yes or No 2 เมื่อเทียบกับภาคแรกนั่นคือ ความเป็นมืออาชีพมากขึ้นตั้งแต่การพิถีพิถันกับบท แคแร็กเตอร์ของแต่ละตัวละครชนิดไม่มีปล่อยให้หลุด จนทำให้ผู้ชมเชื่อในบุคลิกของแต่ละคน เข้าใจวิธีคิดและตัวตนของตัวละครหลักทั้ง 3 ได้ไม่ยากนัก เมื่อบวกกับการแสดงที่พัฒนาขึ้นอย่างเห็นได้ชัดโดยเฉพาะ พาย (รับบทโดย ออม - สุชาร์ มานะยิ่ง) น่าจะฟ้องถึงฝีมือในการกำกับของ สรัสวดี วงศ์สมเพ็ชร ที่ดีขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปูพื้นฐานหรือแบ็กกราวด์ของตัวละคร ความพยายามในการใช้บทสนทนาอธิบายประเด็นที่ซับซ้อนในเรื่องจิตใจและความรัก ความห่วงหวง ข้อเรียกร้องที่ไม่ลงตัวระหว่างคนรัก ฯลฯ สรัสวดี วงศ์สมเพ็ชร กระจายน้ำหนักจนทำให้การเข้ามาของมือที่ 3 อย่าง แยม ก็ดูดีมีเหตุผล แตกต่างไปจากละครหรือภาพยนตร์ที่เน้นดราม่าในการ แย่งผัว ชิงเมีย แบบที่เราคุ้นๆ กันเป็นปกติ สิ่งเดียวที่น่าเสียดายสำหรับภาค 2 ที่กลายเป็นจุดด้อยเมื่อเทียบกับภาคแรกนั่นคือ สาร สำคัญที่สื่อไปถึงผู้ชมนั้น Yes or No 2 ถูกตีความให้เป็นหนังรักประเภท เราสามคน ได้อย่างง่ายดาย(และดูสนุกไม่แพ้ รักสามเศร้า เลยเชียวละ)
ในขณะที่ประเด็น ความกล้า ในการยอมรับสถานะของ คู่รัก เพศเดียวกันที่เคยโดดเด่นในภาคแรกกลับมีพลังน้อยเหลือเกินในภาคนี้ คงจะสนุกและท้าทายไม่ไปน้อยหากประเด็นดังกล่าวถูกขยายผล ขยี้ หรือจี้ให้เกิดผลกระทบต่อคู่รักเพศเดียวกันอย่างชัดเจนมากกว่านี้ หรือชวนขบคิดให้ลึกลงไปอีกว่า ครอบครัว สังคมแวดล้อมจะจัดการกับความสัมพันธ์ที่ขยายตัว ขยายผลเหล่านั้นอย่างไร ไม่ต่างจากที่เมื่อกรณี แต่งหญิงรับปริญญาได้ ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุดประเด็นให้คนถกเถียง ขยายความต่อไปถึงเสรีภาพในการเลือก สิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลภายใต้รัฐธรรมนูญ ฯลฯ ผลที่จะติดตามมาจะยิ่งเป็นประโยชน์ หรือสั่นสะเทือนความเชื่อดั้งเดิมของสังคมได้ดีมากยิ่งขึ้น กระนั้นก็ตาม ความผิดหวังจากประเด็นหลักของภาพยนตร์ที่เปลี่ยนไป ก็ยังได้รับการชดเชยจากความสนุกในการเล่าเรื่อง ความงดงามของฉากหลังที่เลือกใช้
รวมไปถึงความตั้งใจที่จะใช้ภาพความสดใสของทั้ง คิม,พาย,แยม สะกดจิตใจผู้ชมกันอย่างเต็มเหนี่ยวแทบทุกฉาก ทุกซีนนั้น ผู้ชายแท้ๆ ที่ไม่ยังไม่แปรผัน ไม่เบี่ยงเบนอย่างผม ก็อิ่มใจ และรู้สึกได้ถึงความคุ้มค่าในการเข้าชม ผีเสื้อแสนสวย จะอย่างไรเสียก็สดใสงดงาม แม้จะไม่สามารถครอบครอง หากขอเพียงชื่นชมอยู่ห่างๆ ก็ยังอิ่มใจได้อยู่นั่นเอง...
matichon online
แก้ไขเมื่อ 28 ส.ค. 55 17:48:48
จากคุณ |
:
lucky123
|
เขียนเมื่อ |
:
28 ส.ค. 55 17:46:47
|
|
|
|  |