Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
โลกของผู้หญิง "ในละคร" ไม่เคยเคลื่อนที่ไปไหน ติดต่อทีมงาน

จากมติชนออนไลน์

แม้บ้านเราจะให้สิทธิเท่าเทียมกันระหว่างหญิงกับชาย แต่ในความเป็นจริงความเหลื่อมล้ำยังมีให้เห็นอยู่เสมอ

ทั้งในชีวิตจริง และที่สะท้อนผ่านละคร ซึ่งเรื่องไหนเรื่องนั้นมักฉายภาพผู้หญิงที่ถูกกดให้อยู่ในสภาพโดนรังแก ถูกกลั่นแกล้ง และถ้ารายไหนที่ดูเก่ง ทันคน ก็มักจะมาพร้อมการถูกมองว่าผิดขนบกุลสตรี

ขณะที่ถ้าเป็น "นางร้าย" วันๆ เธอก็ไม่ต้องทำอะไร นอกจากทาปากแดง แต่งตัวสวยเดินไปมา และหาวิธีจับพระเอกรวยๆ ให้อยู่หมัด

ดูแล้วภาพของหญิงไทยในละครเลยไม่ค่อยน่าชื่นชม

สถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ ไทยพีบีเอส จึงจัดให้มีการเสวนา "เขียนชีวิต/พลิกบทบาทผู้หญิงไทยในละคร การรื้อสร้างภาพตายตัวและมายาคติ" โดยหวังให้เกิดความเปลี่ยนแปลง

ซึ่งไม่ใช่

เพราะจากการสำรวจของ ผศ.เอกธิดา เสริมทอง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะนิเทศศาสตร์ ม.ศรีปทุม พบว่า แม้ละครจะมีการนำเสนอเรื่องเกี่ยวกับผู้หญิงมากขึ้น แต่ภาพการนำเสนอก็ยังเป็นแบบเดิมๆ

คือภาพลักษณ์ของการเป็นแม่, ภรรยา และเรื่องความงาม

ดังนั้น พอขอให้นึกถึงตัวละครซึ่งเป็นหญิง ผู้ชมหญิงจึงมักนึกถึง "นางเอก"

โดยนางเอกในความคิดคำนึงของพวกเขา มักอยู่ในข่ายของแม่ศรีเรือน คนทำงานสุจริตหาเลี้ยงชีพ หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องเป็นผู้หญิงมหัศจรรย์ที่ดูแลงานทั้งในและนอกบ้านได้เป็นอย่างดี

ผู้หญิงกล้าที่เก่งในเรื่องของผู้ชายก็ไม่เลว

แต่ไม่ว่าอยู่ในประเภทใดก็ต้องเป็นคน "แต่งตัวสวย" ซึ่งในความเห็นของพวกเขาการแต่งตัวเหล่านั้นเป็นแรงดึงดูดใจได้ดีกว่าเรื่องของหน้าตาและความสามารถทางการแสดง

"คนดูจะชอบ เพราะมองผู้หญิงเป็นสัตว์โลกแสนสวย" ผศ.เอกธิดากล่าว

เช่นเดียวกับในรายการข่าว ที่ผู้ประกาศสาวหรือผู้สื่อข่าวหญิง ที่แม้จะถูกมองเป็นตัวแทน "สาวเก่ง" แต่คนดูก็ยังอยากเห็นพวกเธอในมาดสาวสวยอยู่ดี

นอกจากนี้หากวิเคราะห์ให้ลึก จะเห็นว่าละครไทยนั้นมักมีโครงสร้างแบบ "ผู้ชายเป็นใหญ่"

"คือผู้ชายจะมีอำนาจบังคับทิศทางของเรื่อง แม้แต่ในละครผีที่ส่วนใหญ่ผีเป็นผู้หญิง ที่แม้จะมีอำนาจ สร้างความหวาดกลัวให้ใครๆ แต่สุดท้ายเธอก็จะหลุดพ้นไม่ได้ ถ้าผู้ชายไม่เป็นผู้ปลดปล่อย"

ดังนั้น ถ้าอยากให้ผู้หญิงดูมีคุณค่าเพิ่มขึ้นก็ต้อง "ฉีกกฎ"

"อย่าผลิตซ้ำในภาพเดิมๆ อย่ามองว่าฮีโร่ต้องเป็นผู้ชายเท่านั้น

"ต้องพยายามเปลี่ยนภาพใหม่"

โดยค่อยๆ ใส่ ค่อยๆ เปลี่ยนอย่างแนบเนียน อย่าให้คนดูรู้สึกว่าถูกยัดเยียด

แล้วอีกหลายๆ ปีอาจเห็นผล

ถ้าได้ทำน่ะนะ!!

เพราะ ณัฐริยา ศิรกรวิไล คนเขียนบทมือทองจากละคร "สูตรเสน่หา", "รักไม่มีวันตาย", "ตะวันทอแสง" ฯลฯ บอกว่าแม้เธอจะเห็นด้วยแค่ไหน แต่ก็ยังมีเงื่อนไขของคนดูซึ่งมักไม่ชอบนางเอกที่มีความแข็งแกร่งมากเกินไป รวมถึงยังอาจไม่ถูกใจบรรดาผู้จัด

"เราไม่ใช่คนปฏิเสธว่าจะทำหรือไม่ทำ เพราะสุดท้ายช่องจะเป็นคนเคาะอีกที"

แถมบางครั้งเคาะแล้ว อนุมัติแล้ว ยังมีการเติมบท โดยเฉพาะฉากฮิตที่พระ-นางล้มทับกัน แล้วปากก็พลันชนแก้ม ที่หลายเรื่องเธอยืนยันว่าในบทไม่มี เพราะรู้ว่าเป็นไปได้ยากในความจริง

แต่เมื่อเป็นคำสั่ง ใครเล่าจะกล้าขัด

"เราไม่ได้อยากให้มีการตบตี ชี้นำให้ผู้หญิงแย่งผู้ชาย" เธอบอกอีก

สถาพร นาควิไล ก็อยากได้ภาพผู้หญิงแบบดีๆ ในละครเหมือนกัน ดังนั้น จึงเลือกทำละคร "อำแดงเหมือนกับนายริด" ออกอากาศทางไทยพีบีเอสให้คนดู โดยชูสตรีที่เรียกร้องสิทธิให้ตัวเอง มาตั้งแต่สมัยที่ความไม่เท่าเทียมทางเพศถูกมองเป็นเรื่องปกติ

"ผมรู้ว่าอาจเปลี่ยนสังคมไม่ได้ด้วยละครแค่เรื่องเดียว แต่ก็อยากให้สังคมหันมามองและนำไปต่อยอด"

เช่นเดียวกับ เทินพันธ์ แพนสมบัติ ผู้จัดการฝ่ายจัดหารายการของไทยพีบีเอส ที่พยายามสร้างวัฒนธรรมใหม่ ด้วยการไม่เลือกนักแสดงจากหน้าตาหรือว่าความสวย หากจะดูที่ฝีมือเป็นหลัก

"ผมอยากให้เห็นคุณค่าของนักแสดงจริงๆ"

แม้ว่าอาจจะเสียกำไร-ถ้าวัดกันด้วยเรตติ้ง แต่หากเทียบกับคุณภาพระยะยาวเขาว่า "คุ้ม"

หากจะส่งผลทางปฏิบัติแค่ไหน ยังตอบไม่ได้ เพราะตราบใดที่ "โลกแห่งความจริง" ยังวัดคุณภาพผู้หญิงด้วยความสวย

"ผู้หญิงในโลกของละคร" ก็คงต้องย่ำอยู่กับที่

 
 

จากคุณ : Anemone2526
เขียนเมื่อ : 1 ต.ค. 55 13:59:35




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com