Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
เมื่อมุตตา แปลว่า ไข่มุก...ใครว่าละครเรื่องนี้น้ำเน่า? ติดต่อทีมงาน

หลังจากติดตามชมละครแรงเงามาพักหนึ่ง ขออนุญาตตั้งสักกระทู้เพื่อระบายความในใจนะคะ

เราคิดว่าละครเรื่องนี้นำเสนอปัญหาครอบครัวและตีแผ่ความเป็นมนุษย์ออกมาได้ดีและลึกมากๆ และมีการนำเสนอที่ลึกซึ้งหลายอย่าง ยิ่งดูยิ่งเห็นประเด็นที่น่าสนใจ ขอระบายความคิดเป็นข้อๆ นะคะ

1  "มุตตา" แปลว่า ไ่ขุุ่มุก  /"มุนินทร์" แปลว่า นักปราชญ์ ...ชื่อนี้มีความหมาย

เราสงสัยตั้งแต่ดูแรกๆ แล้วค่ะว่า ชื่อมุตตาและมุนินทร์แปลว่าอะไร แต่ก็ยังไม่ได้หาความหมาย ต่อมาก็เริ่มสงสัยว่าทำไมละครดูเน้นประเด็นเรื่อง "สร้อยมุก" ของมุตตา เยอะเหลือเกิน  ...จนเมื่อไม่กี่วันก่อน เราเลยลองเสิชหาความหมาย ก็พบว่า ชื่อมุตตาแปลว่า ไข่มุก และมุนินทร์แปลว่า นักปราชญ์ ...เราถึงบางอ้อเลยค่ะ ว่าชื่อตัวละครนี้มีนัยลึกซึ้ง

มุตตา  แปลว่า ไข่มุก   เราเข้าใจเลยว่าทำไมเรื่องถึงเล่นและเน้นสร้อยไข่มุกของมุตตาเหลือเกิน  เราตีความว่าสร้อยไ่ข่มุกน่าจะเป็นสัญลักษณ์ของชีวิตมุตตา  เช่น  มุตตามักมองสร้อยมุกขที่ ผอ.ให้ด้วยแววตาเพ้อฝันหลงใหล เหมือนกับที่เธอเพ้อฝันกับชีวิตของเธอว่าจะงดงามลงเอยกับ ผอ. /  หรือวันที่นพนภามาตบมุตตา นพนภากระชายสร้อยมุกขาดกระจาย นั่นเป็นสัญลักษณ์ว่าชีวิตและความฝันของมุตตาพังทลายลงตั้งแต่วันนั้น / ส่วนวันนี้ ถ้าจำไม่ผิด เหมือนวีกิจจะพูดว่า จะซ่อมสร้อยมุกของมุตตาอีกครั้ง เราว่าคำพูดนี้ก็มีนัยลึกซึ้งมาก มันสะท้อนว่าวีกิจนั้นรักและต้องการดึงชีวิตของมุตตาให้กลับมางดงามอีกครั้ง

ส่วนชื่อ มุนินทร์ แปลว่า นักปราชญ์ เราว่าอันนี้ก็น่าสนใจ มันสะท้อนบุคลิกและตัวตนของมุนินทร์ชัดเจนว่า เป็นคนรู้เท่าทันโลก (รู้เท่าทันเจนภพ รู้เท่าทันยัยนก ฯลฯ) นับว่าชื่อทำให้เข้าใจตัวละครชัดขึ้น (สำหรับเรา)


2 แรงเงาสะท้อนปมปัญหาครอบครัว : พ่อแม่ลูก

เราว่าคนเป็นพ่อเป็นแม่ ดูละครเรื่องนี้แล้วน่าจะได้ข้อคิดเยอะนะคะว่า การเลี้ยงดูลูกเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมนิสัยใจคอลูก และถ้าเลี้ยงแบบผิดๆ ก็จะเป็นการสร้าง "แผล" ในใจลูกโดยไม่รู้ตัว

- กรณีนพนภากับน้องสาว และมุตตากับมุนินทร์ เห็นชัดเลยว่า การที่ถูกพ่อแม่เลี้ยงมาแบบรักลูกไม่เท่ากัน หรือชอบเปรียบเทียบว่าพี่ดีกว่าน้อง หรือน้องดีกว่าพี่ ทำให้ลูกๆ มีแผลในใจ แทนที่จะรักกัน กลับรู้สึกห่างเหินหรืออิจฉากัน

- กรณีนพนภา เจนภพ กับลูกๆ ทั้ง 3  อันนี้เห็นชัดเลยว่า พ่อแม่ที่วันๆ เอาแต่ทะเลาะด่าทอกัน ไม่สามารถเป็นต้นแบบให้ลูกรักและศรัทธาได้ ย่อมสร้างปมในใจลูก  ลูกสาวก็ไม่รักแม่   ลูกชายก็เกลียดพ่อ   และหาทาง "หลีกหนี" จากบ้านที่ร้อนเป็นไฟ ไปในทางที่ผิดๆ


3 แรงเงาสะท้อนปมปัญหาครอบครัว : สามี ภรรยา

เราว่าสามีภรรยาดูละครเรื่องนี้แล้ว ก็น่าจะได้แง่คิดเช่นกัน

- ภรรยาที่เอาแต่ข่มสามี ลำเลิกบุญคุณสามี ไม่เคยให้เกียรติสามี (อย่างนพนภา) ย่อมกลายเป็น "ของร้อน" สำหรับสามี ที่ผลักให้สามีไปหาเมียน้อยหรือความสุขนอกบ้านในที่สุด

- ส่วนสามีที่เจ้้าชู้ ไม่เคยรักและดูแลภรรยาและครอบครัวอย่างจริงใจ นอกจากทำลายครอบครัวแล้ว ยังทำลายเกียรติของตัวเอง (ลูกน้องนินทา คนใช้นินทา) และลึกๆ ก็ไม่มีความสุขที่แท้จริง เพราะต้องคอยโกหกภรรยา

-ส่วนภรรยาน้อย แน่นอนที่สุด เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นชัดว่า เป็นภรรยาน้อยมีความทุกข์และจมน้ำตา  คำหวานของผู้ชายประเภท "รักคุณมากกว่าเมีย" "จะหย่าเมียมาแต่งกับคุณ" บลาๆๆ เป็นเพียงคำหลอกลวงเท่านั้น ผู้หญิงดูละครเรื่องนี้แล้วน่าจะได้สติกันนะคะ

4.แรงเงาตีแผ่มนุษย์หลายประเภท
ละครเรื่องนี้ยังสะท้อนให้เห็นมนุษย์หลายจำพวกรอบตัวเรา ที่ทั้งดี ไม่ดี และเทาๆ เช่น ตัวร้ายอย่าง "ปริม" (ร้ายแบบโจ่งแจ้ง ต่อหน้าต่อตา)  ตัวร้ายอย่าง "นก" (ตีสองหน้า นกสองหัว น่ากลัวที่สุด)

5. มุนินทร์มาแก้แค้นให้มุตตาทำไม?
ประเด็นนี้ ตอนแรกเราก็คิดเหมือนอย่างหลายๆ คนว่า  มุนินทร์มาแก้แค้นทำไม ในเมื่อมุตตาทำตัวเอง ทำผิดเองที่ยอมเป็นเมียน้อย จงใจแย่งสามีคนอื่น

แต่เมื่อมาคิดๆ ดู เราว่าการที่มุนินทร์กลับมาทำอะไรรุนแรงโต้กลับเจนภพ นพนภา และคนอื่นๆ  ไม่ใช่แค่เพื่อต้องการแก้แค้นหรอก แต่เพื่อ "ล้างความผิดในใจตัวเอง"  ....เราว่าลึกๆ มุนินทร์รู้สึกผิดและคิดว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักให้มุตตาต้องมาพบจุดจบแบบนี้ (สังเกตจากการที่ชอบฝันร้ายว่าตัวเองผลักมุตตาตกน้ำ)  มุนินทร์คงคิดว่าถ้าตัวเองใกล้ชิดกับน้องมากกว่านี้ เป็นที่พึ่งพิงให้น้องได้มากกว่านี้ มุตตาก็คงไม่มีจุดจบแบบนี้ เราว่ามุนินทร์รู้สึกผิด จึงกลับมาเพื่อจัดการกับทุกคนที่ำให้น้องต้องตาย เพื่อให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้นว่า ได้กลับมาปกป้องน้องแล้วนะ

6. "แรงเงา" ...คืออะไร?
"เงา" ตรงนี้ก็คือ ตัวมุนินทร์กับมุตตาที่เป็นเหมือน "เงา" ของกันและกัน การที่มุินินทร์กลับมาแก้แค้นให้น้อง ก็คือ "แรง" ของ "เงา" ....

แต่ที่น่าสนใจก็คือ ฉากที่มุตตาแขวนตัวตาย มีการฉายไปที่เงาบนผนัง เป็นเงารูปมุตตาแขวนคอตาย  มองในแง่นึงอาจเพราะต้องการหลีกเลี่ยงภาพรุนแรงเลยฉายไปที่เงา แต่มองที่แง่นึง เราว่า ผกก.อาจจงใจเล่นกับ "เงา" ตรงนี้เพื่อสื่อถึง "แรงเงา" ในอีกความหมายหนึ่ง...คือเงาความตายของมุตตา เป็นแรงผลักดันให้มุนินทร์กลับมาทวงแค้นคืน

*เพิ่มเติม*
""แรงเงา" ในอีกความหมายนึง เราว่าอาจจะจะหมายถึง แรงกรรม ก็ได้ เหมือนที่เราชอบพูดติดปากกันว่า บุญกรรมเป็นเหมือนเงาตามตัว...เพราะท้ายที่สุดตัวละครในเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นนพนภา เจนภพ มุตตา มุนินทร์ ก็ล้วนได้รับผลจาก "แรงกรรม" ของตนเองทั้งสิ้น

ระบายมา 6 ข้อแล้ว พอก่อนนะคะ ไว้คิดอะไรอื่นอีกได้จะมาแปะเพิ่ม (บางประเด็นเราอาจคิดลึกไปก็ได้ แหะๆ)

ที่พูดๆ มานี้  ก็เพื่ออยากแสดงให้เห็นว่า สำหรับเรา ละครเรื่องนี้ไม่ใช่แค่ละครแย่งผัวแย่งเมีย ตบกันไปตบกันมา...แต่ภายใต้ความสนุกกับเรื่องแย่งผัวแย่งเมียนั้น มีสาระซ่อนอยู่ ใครก็ตามที่ดู จะเป็นผู้หญิง ผู้ชาย พ่อ แม่ ภรรยา สามี หากคิดตาม ก็นา่จะได้แง่คิดอะไรที่เป็นประโยชน์อยู่ไม่น้อยค่ะ

แก้ไขเมื่อ 24 ต.ค. 55 10:18:58

จากคุณ : แป้งทอด
เขียนเมื่อ : 24 ต.ค. 55 02:01:32




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com