 |
รบพม่าที่ลาดหญ้า
กรมพระราชวังบวรฯ เสด็จยกกองทัพออกจากกรุงเทพฯในเดือนอ้าย ปีมะเส็ง ทรงจัดให้พระยากลาโหมราชเสนา พระยาจ่าแสนยากรเป็นกองหน้าเป็นกองหน้า เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎาเป็นยกกระบัตรทัพ เจ้าพระยารัตนาพิพิธที่สมุหนายกเป็นเกียกกาย พระยามณเฑียรบาลเป็นกองหลัง ยกไปถึงเมืองกาญจนบุรี(เก่า) ให้ตั้งค่ายมั่นในทุ่งลาดหญ้าที่เชิงเขาบรรทัดเป็นหลายค่าย ชักปีกกาถึงกันสกัดทางที่พม่าจะยกเข้ามา แล้วทรงจัดให้พระยามหาโยธา(เจ่ง) คุมกองมอญจำนวนพล ๓,๐๐๐ ยกออกไปตั้งขัดตาทัพอยู่ที่ด่านกรามช้าง อันเป็นช่องเขาริมแม่น้ำแควใหญ่ในทางที่ข้าศึกจะยกมานั้นอีกแห่งหนึ่ง
ฝ่ายกองทัพพม่าที่ยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ ทัพเมียวหวุ่นที่ ๔ ยกเข้ามาก่อน เดินผ่านแขวงเมืองไทรโยค ตัดมาลงทางริมแม่น้ำแควใหญ่ที่เมืองท่ากระดาน เดินทางริมน้ำต่อลงมาถึงด่านกรามช้าง พม่ามากกว่าก็ระดมตีกองมอญซึ่งตั้งรักษาด่านกรามช้างแตก แล้วยกทัพเข้ามาถึงชายทุ่งลาดหญ้าที่กองทัพกรมพระราชวังบวรฯตั้งรับอยู่ ทัพพม่าที่ ๔ ก็ตั้งค่ายลงตรงนั้น ครั้นทัพเมหวุ่นที่ ๕ ตามเข้ามาถึงก็ตั้งค่ายเป็นแนวรบต่อกันไป จำนวนพลพม่าทั้ง ๒ ทัพรวม ๑๕,๐๐๐
ในพงศาวดารพม่าว่า กองทัพพม่ายกเข้ามาได้สู้รบกับกองมอญที่รักษาด่านกรามช้าง กองมอญล่าถอย พม่าติดตามมาถึงที่ค่ายไทยที่ลาดหญ้า พม่าก็ตรงเข้าตีค่ายไทย ได้รบกันเป็นสามารถ พม่ารบถลำเข้ามาให้ไทยล้อมจับได้กองหนึ่ง นายทัพพม่าเห็นว่าไทยมีกำลังมากเกรงจะเสียที จึงให้ตั้งค่ายมั่นลงหวังจะรบพุ่งขับเคี่ยวกับทัพไทยต่อไป
กระบวนยุทธวิธีที่ไทยไปตั้งระบพม่าข้าศึกที่ลาดหญ้า คราวนี้ผิดกับวิธีที่ไทยได้เคยต่อสู้พม่ามาแต่ก่อน พิเคราะห์ตามรายการที่ปรากฏมาในหนังสือพระราชพงศาวดาร เมื่อครั้งสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ก็ดี ครั้งสมเด็จพระนเรศวรก็ดี ถ้าพม่ายกมาเป็นศึกใหญ่เหลือกำลัง ไทยมักต่อสู้ที่พระนคร ถ้าคราวไหนไทยเห็นว่ากำลังพอจะต่อสู้ข้าศึกที่ยกมา ก็ยกกองทัพมาดักตีข้าศึกให้แตกในกลางทางเมื่อก่อนจะเข้ามาถึงชานพระนคร มักรบกันในแขวงเมืองสุพรรณบุรีโดยมาก ถ้าทางเหนือก็รบกันที่เมืองอ่างทอง
วิธีที่เอากองทัพใหญ่ออกไปตั้งสกัดกองทัพใหญ่ของข้าศึกถึงชายแดน เพิ่งมีขึ้นคราวนี้เป็นครั้งแรก เป็นวิธีที่คิดขึ้นใหม่เมื่อรัชกาลที่ ๑ คงเป็นเพราะพิจารณาเห็นว่า ที่ทุ่งลาดหญ้าอยู่ต่อเชิงเขาบรรทัด ทางที่พม่าต้องเดินทัพเข้ามา ถ้าไทยรักษาทุ่งลาดหญ้าไว้ได้ กองทัพพม่าที่ยกมาต้องตั้งอยู่บนภูเขาอันเป็นที่กันดาร จะหาเสบียงอาหารเลี้ยงกองทัพเข้ามาและจะเดินกระบวนทัพก็ยาก เปรียบเหมือนข้าศึกต้องอยู่ในตรอกไทยสกัดคอยอยู่ปากตรอก(๑) ถึงกำลังน้อยกว่าก็พอจะสู้ได้ด้วยอาศัยชัยภูมิดังกล่าวมา
การก็เป็นจริงเช่นนั้น เมื่อกองทัพหน้าของพม่ายกเข้ามาปะทะกองทัพไทยตั้งสกัดอยู่ที่ทุ่งลาดหญ้า ก็ต้องหยุดอยู่เพียงเชิงภูเขา เมื่อกองหน้าหยุดอยู่บนเขา กองทัพที่ยกตามมาข้างหลังก็ต้องหยุดอยู่บนภูเขาเป็นระยะกันไป ปรากฏว่าทัพตะแคงกามะราชบุตรทัพที่ ๖ ตั้งอยู่ที่สามสบ(๒) ทัพหลวงของพระเจ้าปดุงทัพที่ ๘ ต้องตั้งอยู่ที่ปลายลำน้ำลอนซี พ้นพระเจดีย์สามองค์เข้ามาเพียง ๒ ระยะ กองทัพพม่าตั้งอยู่บนภูเขา จะหาเสบียงอาหารในแดนไทยไม่ได้ ก็ต้องหาบขนเสบียงจากแดนเมืองพม่าเข้ามาส่งกันทุกทัพ พม่าจึงเสียเปรียบไทยตั้งแต่แรกยกข้ามแดนไทยเข้ามาด้วยประการฉะนี้
รายการที่รบกันที่ลาดหญ้า ปรากฏว่าพอกองทัพพม่าตั้งค่ายลงที่เชิงเขาบรรทัด กรมพระราชวังบวรฯก็ให้ตีค่ายพม่า แต่พม่าสู้รบแข็งแรง ไทยตีเอาค่ายพม่ายังไม่ได้ ก็ตั้งรบพุ่งติดพันกัยอยู่ พม่าให้ปลูกหอรบเอาปืนใหญ่ขึ้นยิงค่ายไทย กรมพระราชวังบวรฯจึงให้เอาปืนใหญ่และปืนปากกว้างอย่างยิงด้วยท่อนไม้ใช้เป็นกระสุน ไปตั้งรายยิงหอรบพม่าหักพังลงและถูกผู้คนล้มตายจนพม่าครั่นคร้ามไม่กล้าออกมาตีค่ายไทย
กรมพระราชวังบวรฯจึงทรงตั้งกองโจรให้พระยาสีหราชเดโชชัย พระยาท้ายน้ำ กับพระยาเพชรบุรี คุมไปซุ่มสกัดคอยตีลำเลียงเสบียงอาหารที่ส่งมายังค่ายพม่าข้าศึก พระยาทั้ง ๓ ยกไปแล้วไปเกียจคร้านอ่อนแอ ดำรัสสั่งให้ประหารชีวิตเสียทั้งสามคน แล้วให้พระองค์เจ้าขุนเณร(๓) ถือพล ๑,๘๐๐ ไปเป็นกองโจรซุ่มอยู่ที่พุตะไคร้ทางลำน้ำแควไทรโยค ซึ่งใกล้กับทางที่พม่าจะส่งลำเลียงมานั้น
ในพงศาวดารพม่าว่า กองทัพพม่าที่ยกมาด่านพระเจดีย์สามองค์คราวนั้น ขัดสนเสบียงอาหารมาแต่แรกทุกๆทัพ พระเจ้าปดุงทรงทราบว่า กองทัพหน้ามาตั้งประชิดอยู่กับไทย ให้แบ่งเสบียงในกองทัพหลวงส่งมายังกองทัพหน้า ก็ถูกไทยตีชิงเอาไปเสียเนืองๆ ครั้งหนึ่งให้เอาเสบียงบรรทุกช้าง ๖๐ เชือก มีกองลำเลียงคุมมา ๕๐๐ คน กองโจรของไทยที่ไปซุ่มอยู่ก็ตีเอาไปได้หมด ทีหลังจึงส่งเสบียงกันไม่ได้
ในขณะเมื่อกรมพระราชวังบวรฯ สู้รบกับพม่าติดพันกันอยู่ที่ลาดหญ้านั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพระปริวิตกเกรงกำลังจะไม่พอตีทัพพม่าให้แตกพ่าย จึงเสด็จยกกองทัพหลวงหนุนไปจากกรุงเทพฯ เมื่อ ณ วันอาทิตย์ เดือนยี่ ขึ้น ๙ ค่ำ เสด็จไปจนถึงค่ายกรมพระราชวังบวรฯทรงปรึกษาราชการสงคราม
กรมพระราชวังบวรฯกราบทูลว่า พม่าอดอยากมากอยู่แล้ว อย่าให้ทรงพระวิตกถึงทางลาดหญ้าเลย พม่าคงจะแตกไปในไม่ช้า ขอให้เสด็จกลับคืนพระนครเถิด เผื่อข้าศึกจะหนักแน่นมาทางอื่นจะได้อุดหนุนกันทันท่วงที ทรงพระดำริเห็นชอบด้วย ก็เสด็จยกกองทัพกลับคืนมาพระนคร
ต่อมากรมพระรวังบวรฯ ทรงทำกลอุบาย เวลากลางคืนแบ่งกองทัพให้ลอบกลับมาจนพ้นสายตาพม่า ครั้นเวลาเช้าให้กองทัพนั้นถือธงทิวเดินเป็นกระบวนทัพกลับไปเนืองๆ พม่าอยู่บนที่สูงแลเห็นว่ากองทัพไทยได้กำลังเพิ่มเติมไปเสมอ พม่าก็ยิ่งครั่นคร้ามเข้าทุกที
กรมพระราชวังบวรฯทรงสังเกตเห็นว่ากองทัพพม่าอดอยาก(๔)ครั่นคร้ามมากอยู่แล้ว ครั้นถึง ณ วันศุกร์ เดือน ๓ แรม ๔ ค่ำ ปีมะเส็ง ก็ตรัสสั่งให้กองทัพไทยเข้าระดมตีค่ายพม่าพร้อมกันทุกค่ายในเวลาเดียวกัน พม่าก็แตกฉานทั้งกองทัพที่ ๔ และที่ ๕ ไทยได้ค่ายพม่าหมดทุกค่าย ฆ่าฟันล้มตายเป็นอันมาก ที่เหลือตายแตกหนีกลับไป กองโจรของพระองค์เจ้าขุนเณรพบเข้าก็ตีซ้ำเติม ฆ่าฟันพม่าและจับส่งมาถวายอีกก็มาก
ในพงศาวดารพม่าว่า เมื่อไทยตีค่ายพม่าได้ครั้งนั้น พม่ากำลังอดอยากอิดโรย ถูกไทยฆ่าตายเสียบ้างจับได้บ้าง เสียทั้งนายไพร่ประมาณ ๒,๐๐๐ คน
ครั้นพระเจ้าปดุงทราบว่ากองทัพหน้าแตกกลับไป ก็เห็นว่าจะทำการต่อไปไม่สำเร็จ ด้วยกองทัพพม่าที่ยกมากับพระเจ้าปดุงทางด่านพระเจดีย์สามองค์ขัดสนเสบียงอาหาร และผู้คนเจ็บไข้ล้มตายลงด้วยกันทุกๆทัพ จึงสั่งให้เลิกทัพกลับไปเมืองเมาะตะมะ
ขอบคุณข้อมูลจากคุณกัมม์
จากคุณ |
:
CrazyMc
|
เขียนเมื่อ |
:
27 พ.ย. 55 23:41:37
|
|
|
|
 |