[HARD SCIENCE FICTION] ไทม์แมชชีน และการเดินทางระหว่างดวงดาว...เราจะสร้างวอร์พไดรฟ์ได้จริงหรือไม่!!!

    บทความซีรีส์รายสะดวก หลักการเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ โดย ดิจิตอล เดี้ยง

    ลงตีพิมพ์เผยแพร่ในเน็ตครั้งแรก ห้องนิยายวิทยาศาสตร์-แฟนตาซี สังกัดร่วมโต๊ะเฉลิมไทย ห้องสมุด และหว้ากอ พันทิบดอทคอม บทความนี้จะได้นำไปเผยแพร่ในเว็บไซท์ของชมรมนิยายวิทยาศาสตร์ (ชื่อเดิม ชมรมนิยายวิทยาศาสตร์ กลุ่มห้องสมุด พันทิพย์ดอทคอม) ในกาลต่อไป สนใจติดตามดูได้ที่ http://www.geocities.com/scifipantip/
    ===========================================

    งานเขียนประเภท เรื่องสั้น หรือนิยายวิทยาศาสตร์ที่ดีนั้น ควรจะเขียนโดยมีการสำรวจความเป็นไปได้ในเชิงวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่จริง หรือทฤษฎีทางฟิสิกส์ที่มีอยู่ก่อนที่จะนำมาเขียน แม้จินตนาการเกี่ยวกับเครื่องมือหรืออุปกรณ์ต่างๆที่ไม่มีอยู่จริงจะช่วยชูรสให้งานเขียน แต่ผู้เขียนก็ควรจะให้ความสำคัญแก่ความเป็นไปได้จริงด้วย ทั้งนี้จินตนาการ ความจริง รวมทั้งสมดุลของเรื่องราว ฉาก ตัวละคร และการพัฒนาของเรื่องอย่างลงตัวก็มีความจำเป็นยิ่ง แก่นิยายวิทยาศาสตร์ในฐานะของวรรณกรรมเช่นกัน

    ในงานเขียนเรื่องสั้นเชิงวิทยาศาสตร์ ชื่อ "สู่ธุลีดาว" ที่เคยลงตีพิมพ์ในวารสารอัพเดท วารสารในเครือบริษัทซีเอ็ดยูเคชัน ฉบับเดือนสิงหาคม 2539  (เมื่อนานมาแล้ว) ผู้เขียนได้มีการสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับหลักการเดินทางระหว่างดวงดาวมาเป็นอย่างดี ในท้องเรื่องนั้น...มนุษยชาติได้มีการเดินทางระหว่างดวงดาวโดยใช้เทคโนโลยียานเดินทางระหว่างดาวฤกษ์ที่เรียกว่า Laser Sail ที่ขับดันโดยเครื่องกำเนิดลำแสงเลเซอร์พลังแสงอาทิตย์ความเข้มสูงที่ติดตั้งในดาวเทียมนับพันดวงในวงโคจรสถิตย์ในวงโคจรของดาวพุธ และได้ค้นพบเครื่องยนต์กราวิทัตจากยานต่างดาวที่หลงเข้ามาในระบบสุริยะ จนเครื่องเกิดทำงานทำให้เกิดความไม่เสถียรของสมดุลการแผ่รังสีและแรงโน้มถ่วงในชั้นโปรโตสเฟียร์(Photosphere)ของดวงอาทิตย์ที่ต่อกับบรรยากาศชั้นกลาง(convection zone) จนเกิดความพินาศขึ้นบนโลกนั้น....

    ในความเป็นจริงแล้ว เราสามารถสร้างยานเหล่านั้นได้จริงหรือ หรือเป็นเพียงความฝันอันเจิดจ้าของเหล่ามวลมนุษย์ในวรรณกรรมที่เรียกว่า นิยายวิทยาศาสตร์ เท่านั้น เรามาสำรวจข้อมูลอัพเดทกันครับ

    ในวันเวลาที่เขียนสู่ธุลีดาวนั้น ข้อมูลประกอบเกี่ยวกับระบบดาวที่มีความเป็นไปได้ในการส่งยานออกไปสำรวจมีไม่มาก และเต็มไปด้วยข้อสงสัยกันอยู่ แต่เพียงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอวกาศเป็นไปอย่างก้าวกระโดด นักดาราศาสตร์ สามารถค้นพบระบบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะได้จริงๆ สำหรับข้อมูลอัพเดทมากๆของระบบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ซึ่งอัพเดทขึ้นมาจากข้อมูลที่ใช้ในสมัยที่เขียนสู่ธุลีดาว เมื่อ พ.ศ. 2539 นั้น สามารถดูได้ในฟอร์แม็ตของแผนที่ดาวสามมิติได้ที่
    http://planetquest.jpl.nasa.gov/documents/dswmedia/3duniverse.html

    ส่วน Light Sail/Solar Sail หรือยานอวกาศที่ขับดันด้วยแสง หรือลมสุริยะนั้น ก็มีการทดสอบกันแล้วเมื่อไม่นานมานี้ ส่วนเครื่องยนต์ขับดันพลังอิออน(Ion Drive) ก็มีการนำมาใช้จริงแล้วในยานสำรวจระบบสุริยะรุ่นต่อไปของนาซา เพียงแต่ยังให้พลังขับดันได้ไม่มากเท่าเครื่องยนต์แบบเชื้อเพลิงเคมีอย่างที่ใช้ในปัจจุบัน

    ถามว่า มีอะไรที่มีความเป็นไปได้ในเชิงปฏิบัติอนาคตอันใกล้บ้าง คงต้องตอบว่าเป็นเครื่องยนต์พลังขับดันที่ใช้นิวเคลียร์ฟิวชันในการขับดันอย่างโปรเจ็คเดดาลัส ซึ่งมีรายละเอียดอยู่ในลิงก์นี้
    http://www.socorro.demon.co.uk/whats_poss.htm

    แน่นอนว่าวอร์พ ไดรฟ์ ที่สามารถทำให้ยานอวกาศบินระหว่างดวงดาวได้ด้วยความเร็วเหนือแสงนั้น ยังไม่มีอยู่จริงในโลกปัจจุบัน แต่ด้วยการเสนอสมมติฐานเกี่ยวกับมวลลบจึงทำให้เกิดแนวคิดเกี่ยวกับ Negative mass propulsion ขึ้น และแม้ความพยายามในการตรวจหารูหนอนอวกาศ ที่เกิดขึ้นในธรรมชาติในเอกภพในปฏิบัติการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ต่างๆจะยังไม่พบ แต่เราไม่ควรปฏิเสธการมีอยู่ของมันครับ(แฟนๆ Stargate Sg-1 กับบาบิลอน 5ได้เฮกันแน่ๆถ้ามีการค้นพบรูหนอนอวกาศ) สำหรับเว็บที่ดีเว็บหนึ่งในการหาอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับการอภิปรายความเป็นไปได้ของการสร้างวอร์พไดรฟ์ สำหรับยานเดินทางระหว่างดวงดาว ให้ไปดูที่ลิงก์ในเว็บขององค์การนาซาเว็บนี้ครับ
    http://www.lerc.nasa.gov/WWW/PAO/warp.htm

    ในแง่ของการเดินทางย้อนเวลานั้น ค่อนข้างเป็นไปได้แน่ว่าไม่สามารถกระทำได้ แม้ว่าในภาพยนตร์เรื่อง The Time Machine พระเอกจะสามารถเดินทางกลับไปพยายามช่วยคนรักได้ก็ตาม (ซึ้งครับ กับประโยคของพระเอก “ผมกลับมาได้ถึงพันหน เพื่อดูเธอตายไปต่อหน้าถึงพันครั้ง...”) แม้เครื่องเก็บประจุฟลักซ์(flux capacitor) ของดอกบราวน์อาจจะถีบคุณให้กระเด็นกลับไปในยุค 50 ได้ก็ตาม(ฮ่าๆๆๆ) สำหรับเหตุผลที่ว่าทำไมเราจึงไม่สามารถสร้างไทม์ แมชชีนที่ย้อนเวลากลับไปได้นั้น ให้ไปดูได้ที่ลิงก์นี้ครับ(คำเตือน - เป็นข้อเขียนที่วิชาการมาก สมการมากมาย กรุณาทานพาราเซ็ตผสมยาบ้าก่อนอ่าน)
    http://xxx.lanl.gov/PS_cache/gr-qc/pdf/0111/0111054.pdf

    รูปข้างล่างนี้เป็นยานในจินตนาการ ที่ขับเคลื่อนด้วยระบบเครื่องยนต์รูปวงแหวน ที่สามารถเหนี่ยวนำให้เกิด negative energy เพื่อบิดผันกาล-อวกาศรอบตัวยานเพื่อให้สามารถเดินทางจากสถานที่หนึ่งไปยังอีกสถานที่หนึ่งได้อย่างรวดเร็วครับ อนึ่งเนื่องจากบทความนี้เป็นบทความที่เกี่ยวข้องกับการเขียนนิยายวิทยาศาสตร์จึงมีความยืดหยุ่นได้ในแง่ของความถูกต้องของทฤษฎี ดังนั้นหากมีประเด็นใดๆที่เป็นสมมติฐานที่รอการพิสูจน์อยู่ก็อย่าซีเรียสนะครับไม่แน่ครับว่าในวันหนึ่งมันอาจเป็นจริงขึ้นมาก็ได้ เหมือนประโยคฮิตในนิยายวิทยาศาสตร์... “อะไรจะเกิดขึ้น.......ถ้า” …

    แก้ไขเมื่อ 16 ธ.ค. 46 12:31:31

     
     

    จากคุณ : DigiTaL-KRASH!!! - [ 16 ธ.ค. 46 11:50:17 ] ส่งภาพนี้เข้ามือถือ