ความคิดเห็นที่ 52
เกี่ยวกับรถไฟฟ้าใต้ดิน
รถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกของไทย รถไฟฟ้าใต้ดินสายเฉลิมรัชมงคลหรือสายสีน้ำเงิน เกิดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรในกรุงเทพมหานครและเพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกในการเดินทางที่มีประสิทธิภาพ รถไฟฟ้าใต้ดินเป็นระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่(Heavy Rail) ที่สามารถขนผู้โดยสารได้สูงสุดถึงขบวนละ 1,000 คน ขณะที่การเดินทางด้วยรถยนต์ต้องใช้รถยนต์จำนวนถึง800คัน รถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมลคลเป็นระบบใต้ดินตลอดสายไม่กีดขวางการจราจร และไม่ทำให้เสียทัศนียภาพของเมืองสะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลาในการเดินทาง ปลอดภัย และไร้มลพิษ
รถไฟฟ้าใต้ดิน สะดวกสำหรับทุกคน เมื่อรถไฟฟ้าใต้ดินเปิดให้บริการแล้ว ประชาชนจะได้รับความสะดวกสบายในการใช้บริการระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ และสามารถเดินทางได้อย่างรวดเร็วและตรงเวลาและภายในสถานีรถไฟฟ้าจะมีการจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกและทันสมัยไว้บริการแก่ผู้โดยสาร ดังนั้น ผู้โดยสารควรศึกษาถึงระบบการใช้เครื่องมือและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น การผ่านเข้าออกประตูอัตโนมัติ โดยใช้ตั๋วที่ถูกต้องเพื่อไม่ให้มีปัญหาเมื่อผ่านเครื่องตรวจตั๋วช่วงขาออก ไม่ทิ้งหมากฝรั่งที่ประตูกั้นชานชาลา เพราะจะทำให้ประตูไม่สามารถเปิดปิดได้ ไม่นำวัสดุที่เป็นเชื้อเพลิงเข้าไปในสถานี ช่วยสอดส่องดูแลอาชญากรรม หรือการก่อการร้าย และแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบทันที และปฏิบัติตามเจ้าหน้าที่ภายในสถานีอย่างเคร่งครัด
ประโยชน์ที่จะได้รับจากรถไฟฟ้าใต้ดิน ประชาชนจะได้รับประโยชน์จากการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าดังนี้ 1) มีความรวดเร็ว สะดวก สบาย ปลอดภัย และตรงต่อเวลาในการเดินทาง 2) ลดความเครียดในการเดินทางของประชาชน เนื่องจากปัญหาการจราจร 3) ไม่ทำให้เกิดมลภาวะ เนื่องจากใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อนตัวรถ 4) ลดอุบัติเหตุ เพราะมีทางวิ่งเฉพาะและมีระบบควบคุมการเดินรถด้วยคอมพิวเตอร์ 5) ส่งเสิรมให้ประชาชนใช้บริการขนส่งสาธารณะแทนรถยนต์ส่วนตัว 6) ขยายและกระจายการพัฒนาเมืองออกไปสู่ส่วนต่างๆ ตามแนวเส้นทางและสถานีรถไฟฟ้า 7) ช่วยส่งเสริมให้สภาพแวดล้อมของเมืองดีขึ้น และเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชน 8) ทำให้ระบบเศรษฐกิจมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น
อัตราค่าโดยสารช่วงปีแรก อัตราค่าโดยสารของโครงการรถไฟฟ้ามหานคร ในปีเปิดบริการอยู่ในอัตรา 14 - 36 บาท โดยจะมีการปรับทุกๆ 2 ปี ตามสภาพเศรษฐกิจ ทั้งนี้จะมีการปรับลดอัตราค่าโดยสารลงเป็นกรณีพิเศษ ร้อยละ 15 ในระยะ 1 ปีแรกที่เริ่มเปิดบริการเดินรถ
จุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอส โครงการรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล กับ โครงการรถไฟฟ้า BTS จะมีจุดเชื่อมต่อที่สถานี รถไฟฟ้ามหานคร รถไฟฟ้า BTS ที่ตั้ง 1. สถานีสีลม สถานีศาลาแดง บริเวณแยกสีลม - พระราม 4 2. สถานีอโศก สถานีอโศก บริเวณแยกอโศก - สุขุมวิท 3. สถานีหมอชิต สถานีหมอชิต บริเวณหน้าสวนจตุจักร
สถานีที่ใหญ่ที่สุดในโครงการ โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล มีสถานีทั้งสิ้นจำนวน 18 สถานี โดยทั่วไปสถานีต่างๆ จะมีขนาดใกล้เคียงกัน คือ กว้างประมาณ 18-25 เมตร ยาวประมาณ 150 200 เมตร และระดับชานชาลาอยู่ลึกประมาณ 15-25 เมตร แต่สถานีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดสถานีเดียวคือสถานีสวนจตุจักร ซึ่งมีขนาดสถานีกว้าง 30 เมตร ยาว 369 เมตร ระดับชานชาลาอยู่ลึก 17 เมตรจากผิวดิน โครงสร้างสถานีมี 3 ชั้น ประกอบด้วย ชั้นรวมผู้โดยสาร ชั้นโถงผู้โดยสาร และ ชั้นชานชาลา โดยเป็นชานชาลาแบบกลาง สถานีดังกล่าวตั้งอยู่ในบริเวณสวนจตุจักร มีจุดขึ้น-ลงทั้งหมด 4 จุด คือ บริเวณใกล้กับทางขึ้น-ลงสถานีหมอชิตของรถไฟฟ้าบีทีเอส ซึ่งผู้โดยสารสามารถเดินทางจากสถานีสวนจตุจักรเพื่อเชื่อมต่อกับสถานีหมอชิตของรถไฟฟ้าบีทีเอสได้ใกล้และสะดวก
รถไฟฟ้าใต้ดินของไทยเป็นแบบ Heavy Rail Transis System รถไฟฟ้าระบบรางที่มีทั่วโลก จะแบ่งตามขีดความสามารถในการขนส่งผู้โดยสารจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 1) ระบบขนส่งมวลชน (Light Rail Transit System,LRT) เป็นระบบขนส่งมวลชนเบาที่ขนส่ง ทางราง โดยขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าและวิ่งบนรางเหล็ก มีทั้งที่วิ่งบนท้องถนนและบนเขตทางของตัวเองโดยเฉพาะมีความจุของผู้โดยสารประมาณ 20,000 40,000 คน ต่อชั่วโมงต่อทิศทาง ประเทศที่ใช้ระบบนี้คือประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์
2) ระบบขนส่งมวลชนหนัก (Heavy Rail Transit System, HRT) เรียกกันทั่วไปว่ารถไฟฟ้าขนส่งมวลชนหรือ รถไฟฟ้า เป็นระบบหนึ่งของยานพาหนะประเภทขนส่งมวลชนที่มีเส้นทางเป็นรางอยู่ใต้ดินหรือรางยกระดับ โดยทั่วไปอาจจะเรียกว่า รถไฟฟ้าใต้ดิน (Underground หรือ Subway) หรือระบบรางในอุโมงค์ (Tube) หรือรถไฟลอยฟ้า (Elevated Rail) เป็นการขนส่งตามเส้นทางไม่เปลี่ยนแปลงและเป็นไปตามตารางเวลา สำหรับความจุของผู้โดยสารประมาณ 40,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง
ระบบป้องกันกระแสไฟฟ้าขัดข้อง กระแสไฟฟ้าที่ใช้ในสถานี และการเดินรถนั้น จะรับมาจากการไฟฟ้านครหลวง 2 แหล่งจ่ายที่แยกจากกัน หากแหล่งจ่ายแหล่งใดแหล่งหนึ่งขัดข้อง จะยังสามารถรับกระแสไฟจากอีกแหล่งจ่ายที่เหลือเพื่อส่งไปยังส่วนที่สำคัญได้ แต่หากเกิดขัดข้องทั้ง 2 แหล่งจ่าย ก็จะมีระบบจ่ายไฟฉุกเฉิน (UPS) เพื่อจ่ายไฟให้กับระบบที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย เช่น ระบบป้องกันอัคคีภัย ระบบอาณัติสัญญาณ ระบบแสงสว่างฉุกเฉิน ทางหนีไฟ เป็นต้น
มาตรการป้องกันน้ำท่วม โดยปกติในกรณีที่เกิดน้ำท่วม บริเวณหลักที่น้ำจะสามารถไหลเข้าสถานีและอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินได้ คือ ทางขึ้น-ลงสถานี และอาคารระบายอากาศ ในการออกแบบป้องกันน้ำไหลเข้าสู่สถานีและอุโมงค์ รฟม.ได้ยึดถือสถิติของระดับน้ำท่วมสูงสุดในรอบ 200 ปีเป็นเกณฑ์ในการออกแบบ และได้พิจารณาการป้องกันน้ำท่วมเป็น 2 กรณี
1. กรณีน้ำท่วมฉับพลัน ในกรณีนี้ความสูงของระดับน้ำที่ท่วมขึ้นมาโดยทั่วไปจะไม่เกิน 0.5 เมตรจากระดับทางเท้าหรือประมาณ 1.3 เมตร จากระดับน้ำทะเล ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันน้ำไหลเข้าสู่สถานีและอุโมงค์ จึงได้ออกแบบให้ระดับความสูงของทางขึ้น-ลงสถานี และทางเข้า-ออกของอาคารระบายอากาศ ให้สูงกว่าโดยเฉลี่ย 1.2 เมตรจากระดับทางเท้า หรือประมาณ 2 เมตร จากระดับน้ำทะเล ซึ่งทำให้น้ำไม่สามารถไหลเข้าไปได้ กรณีเกิดน้ำท่วมในลักษณะนี้ การเดินรถสามารถทำได้ตามปกติ อย่างไรก็ตาม รฟม.ได้มีการกำหนดมาตรการในการติดตาม และตรวจสอบระดับน้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะส่งผลต่อการเดินรถได้
2. กรณีเกิดอุทกภัย ในกรณีที่เกิดอุทกภัย ระดับน้ำท่วมสูงสุดอยู่ที่ระดับ 2.5 เมตรจากระดับน้ำทะเล (สถิติน้ำสูงสุดในรอบ 200 ปี) หรือประมาณ 1.7 เมตร จากระดับทางเท้า ซึ่งจะสูงกว่าระดับความสูงของทางขึ้น-ลง และทางเข้า-ออกอาคารระบายอากาศ ประมาณ 0.5 เมตร เพื่อเป็นการป้องกันน้ำไหลเข้าสถานีและอุโมงค์ รฟม.จะทำการติดตั้งผนังกันน้ำ (STOP LOG) ซึ่งมีความสูง 1.5 เมตร ไว้บนทางขึ้น-ลงสถานีและทางเข้า-ออกอาคารระบายอากาศอีกชั้นหนึ่ง ดังนั้นระบบป้องกันน้ำท่วมที่ออกแบบไว้ จะสามารถป้องกันน้ำได้สูงกว่าสถิติน้ำสูงสุดในรอบ 200 ปีถึง 1 เมตร
ประตูกั้นชานชาลา (Screen Door) โครงการรถไฟฟ้ามหานคร ได้ถูกออกแบบให้ภายในชานชาลามีการติดตั้งประตู ชานชาลา (Platform Screen Door) ซึ่งมีลักษณะเป็นกระจกตลอดความยาวของชานชาลาเพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารขณะรถไฟฟ้าเข้า-ออกในสถานี โดยประตูชานชาลานี้จะเปิดออกได้ ก็ต่อเมื่อมีรถไฟฟ้าเข้ามาจอดสนิทที่ชานชาลา และจะเปิดปิดพร้อมกันกับประตูรถไฟฟ้าเท่านั้น นอกจากนี้ภายในบานประตูชานชาลายังมีระบบตรวจจับสิ่งกีดขวางเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้โดยสารติดอยู่ระหว่างประตูอีกด้วย ผู้โดยสารจึงสามารถมั่นใจได้ว่าจะใช้รถไฟฟ้าใต้ดินของ รฟม. ได้อย่างปลอดภัย
ระบบระบายอากาศภายในอุโมงค์ ภายในอุโมงค์และสถานีรถไฟฟ้าจะมีอากาศเพียงพอ เนื่องจากทุกสถานีจะมีระบบปรับอากาศและระบบระบายอากาศที่เพียงพอ โดยแต่ละสถานีจะมีพัดลมระบายอากาศสถานีละ 4 ตัวและปล่องระบายอากาศละ 2 ตัวซึ่งปล่องระบายอากาศจะอยู่บริเวณหัวและท้ายสถานี โดยระบบระบายอากาศดังกล่าวจะดูดความร้อนภายในอุโมงค์ ซึ่งเกิดจากการเบรกและการเร่งเครื่องของรถไฟฟ้าออกไปทางหนึ่งและจะดูดอากาศดีเข้ามาอีกทางหนึ่ง และเมื่อเกิดเพลิงไหม้พัดลมก็จะทำงานในลักษณะเดียวกันคือดูดควันและความร้อนออกไปทางหนึ่งและดูดอากาศดีเข้ามาอีกทางหนึ่ง แต่การทำงานจะเพิ่มเป็น 2 เท่าเพื่อให้สามารถดูดควันและความร้อนออกจากอุโมงค์ภายในเวลาอันรวดเร็ว
ผู้ให้เงินกู้ในการก่อสร้าง โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล เป็นโครงการที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม จึงได้รับความสนับสนุนด้านการเงินจากธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (Japan Bank for International Cooperation หรือ JBIC) สนับสนุนเงินกู้ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.75 ต่อปี โดยมีระยะเวลาปลดหนี้ 10 ปี
โครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าใต้ดิน และสายใหม่ นอกเหนือจากโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ช่วงหัวลำโพง บางซื่อ ระยะทาง 20 กิโลเมตรที่จะเปิดให้บริการในวันที่ 13 เมษายน 2547 นี้แล้ว รฟม.ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนตามแผนแม่บทอีก 3 โครงการ คือ 1. โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง บางแค ระยะทาง 13.8 กิโลเมตร (ใต้ดิน 4.8 กิโลเมตร และยกระดับ 9.0 กิโลเมตร) 2. โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ สะพานพระนั่งเกล้า ระยะทาง 11.6 กิโลเมตร (ทางยกระดับทั้งหมด) 3. โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางกะปิ ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 34.6 กิโลเมตร (ใต้ดิน 28.1 กิโลเมตรและยกระดับ 6.5 กิโลเมตร)
หน้าที่ของผู้รับสัมปทาน ผู้รับสัมปทานมีหน้าที่จะต้องจัดเตรียมเรื่องความปลอดภัยตามมาตรา 54 พ.ร.บ. การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2543 โดยจะต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของคณะกรรมการว่าด้วยการรักษาความปลอดภัย ในการใช้และรักษาทรัพย์สินของ รฟม. และกฎกระทรวงเกี่ยวกับความปลอดภัยของระบบรถไฟฟ้าคนโดยสาร และบุคคลอื่นที่อยู่ในเขตระบบรถไฟฟ้า และต้องจัดให้มีการประกันภัยสำหรับความเสียหาย ซึ่งการจัดให้มีการประกันภัยนี้จะต้องมีผู้รับประกันตั้งแต่สองรายขึ้นไป นอกจากนี้ผู้รับสัมปทานจะต้องรับผิดชอบสำหรับการจัดให้มีบุคลากรรักษาความปลอดภัยทั้งหมดตามที่เห็นสมควรสำหรับการดำเนินการระบบรถไฟฟ้า รวมทั้งจะรับผิดชอบจัดหาสถานที่ปฏิบัติงานและอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่โดยตรงในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณสถานีรถไฟฟ้าหรือสถานที่อื่นตามที่คู่สัญญาได้ตกลงกัน
ผู้รับสัมปทานโครงการ รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล คือ บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ณ สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท ตามทะเบียนเลขที่ (2) 154/2541 เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2541 มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Bangkok Metro Company Limited ใช้อักษรย่อว่า BMCL
http://www.geocities.com/railsthai/aboutmrt.htm
จากคุณ :
คลื่นแทรก
- [
17 ม.ค. 47 12:12:10
]
|
|
|