ความคิดเห็นที่ 14
THE STATION AGENT หนังยอดเยี่ยมอันดับ 8 ประจำปี 2003
จากข่าวของรอยเตอร์ที่ออกมาเมื่อราว 2-3 เดือนก่อน
ทอม แมคคาร์ธี เพิ่งกำกับภาพยนตร์เป็นเรื่องแรก แต่ภาพยนตร์ทุนต่ำของเขาเรื่อง The Station Agent นี้ กลับได้รับรางวัลสำคัญ, สร้างความประทับใจให้ผู้ชม, ทำยอดขายตั๋วได้ดี และได้รับคำชมจากนักวิจารณ์เกือบทุกคนที่ได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้
ภาพยนตร์ The Station Agent มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรู้สึกแปลกแยกและมิตรภาพระหว่างคนกลุ่มหนึ่งที่มีลักษณะแตกต่างกัน โดยแมคคาร์ธีรับหน้าที่เขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย และปฏิกิริยาที่เขามีต่อความสำเร็จอย่างล้นหลามในครั้งนี้ก็คือการหัวเราะอย่างชอบอกชอบใจ
The Station Agent ซึ่งใช้ทุนสร้าง 500,000 ดอลลาร์ได้รับรางวัลขวัญใจผู้ชมในเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์ในเดือนม.ค.ปีนี้ และในเทศกาลนี้เองที่แมคคาร์ธีได้ขายสิทธิการจัดจำหน่ายภาพยนตร์เรื่องนี้ไปให้กับบริษัทมิราแมกซ์ ฟิล์มส์เป็นราคา 1.5 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นอัตราผลตอบแทนที่ดีเมื่อเทียบกับเงินที่ลงทุนไป และหลังจากนั้น The Station Agent ก็ได้เปิดฉายตามเทศกาลภาพยนตร์ต่างๆทั่วโลก และได้รับคำชมเป็นอย่างมาก
"ผมไม่คิดว่าหนังเรื่องนี้เคยได้รับคำตำหนิที่เลวร้ายจริงๆ" แมคคาร์ธีกล่าวกับรอยเตอร์พร้อมกับหัวเราะ
The Station Agent เริ่มเปิดฉายตามโรงภาพยนตร์อาร์ทเฮาส์ในเมืองใหญ่ของสหรัฐเมื่อสองสัปดาห์ที่แล้ว และทำรายได้ไป 260,000 ดอลลาร์จากจำนวนโรงฉาย 58 โรง หรือคิดเป็นรายได้เฉลี่ยราว 4,500 ดอลลาร์ต่อโรง ส่วน Kill Bill, Vol.1 ที่กำกับโดยเควนติน ทารันติโน ทำรายได้เฉลี่ย 2,400 ดอลลาร์ต่อโรง แต่ฉายในจำนวนโรงภาพยนตร์ที่สูงถึง 2,414 โรง
แมคคาร์ธีกล่าวว่าเขาไม่กังวลกับรายงานยอดขายตั๋วมากเท่ากับกังวลว่าจะทำอย่างไรให้มีคนมาชมภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะภาพยนตร์ของเขาพูดถึงลักษณะความเป็นมนุษย์ และไม่ได้เป็นภาพยนตร์ทุนสร้างสูงของฮอลลีวู้ดที่เต็มไปด้วยฉากนองเลือดและเทคนิคพิเศษ
"ผมตัดสินใจว่าจะไม่คิดถึงเรื่องยอดขายตั๋วมากเกินไป ผมคิดว่าผมรู้สึกมั่นใจมากในขณะนี้ในเกมนี้ และผมก็ตื่นเต้นที่มิราแมกซ์อยู่เบื้องหลังหนังเรื่องนี้ ซึ่งถ้าหากจะมีใครสักคนที่สามารถดึงดูดให้ประชาชนมาดูหนังเรื่องนี้ ใครคนนั้นก็คือมิราแมกซ์" แมคคาร์ธีกล่าว
The Station Agent นำแสดงโดยปีเตอร์ ดิงคลาจ ในบทของฟินบาร์ แมคไบรด์ ซึ่งเป็นคนแคระ ซึ่งการที่เขามีร่างกายแคระแกร็นส่งผลให้เขาซ่อนตัวออกจากสังคม โดยเขาทำงานซ่อมแซมรถไฟของเล่นในขณะที่เจ้านายของเขาเป็นเจ้าของร้านขายรถไฟจำลอง แต่เมื่อเจ้านายของเขาเสียชีวิตลงอย่างกะทันหัน ฟินบาร์ก็พบว่าเขาได้รับมรดกเป็นสถานีรถไฟทรุดโทรมแห่งหนึ่งในเมืองนิวฟาวด์แลนด์ในชนบทรัฐนิวเจอร์ซีย์
หลังจากฟินบาร์สูญเสียเพื่อนแท้เพียงคนเดียวที่เขามีอยู่ เขาก็มุ่งหน้าไปยังนิวฟาวด์แลนด์และใช้ชีวิตอยู่ภายในสถานีรถไฟโดยแทบไม่ติดต่อกับโลกภายนอก เพราะโลกภายนอกไม่เข้าใจและไม่ยอมรับในตัวเขา
อย่างไรก็ดี หลังจากที่ฟินบาร์อยู่ที่สถานีได้ระยะหนึ่ง เขาก็พบกับคน 2 คนที่ปลีกตัวออกจากสังคมเหมือนกับเขาแต่ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งสองคนนี้ได้แก่โอลิเวีย (แพทริเซีย คลาร์คสัน) ศิลปินที่เดินทางมานิวฟาวด์แลนด์เพื่อไว้อาลัยให้กับการตายของลูกชายของเธอ และโจ (บ็อบบี แคนนาเวล) ชาวแมนฮัตตันที่พูดเร็วและกำลังดูแลพ่อที่ล้มป่วย โดยโจทำงานขายฮ็อทด็อกที่แผงขายอาหารของครอบครัว
Station Agent ได้รับความนิยมจากผู้ชมเพราะภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้ผู้ชมส่วนใหญ่นึกถึงช่วงเวลาที่ตัวเองเคยรู้สึกโดดเดี่ยวและหงอยเหงา และนึกถึงเพื่อนๆที่เคยช่วยให้ตัวเองกลับมารู้สึกเบิกบานใจอีกครั้ง
นอกจากแมคคาร์ธีจะกำกับและเขียนบทแล้ว เขายังเป็นนักแสดงด้วยเช่นกัน โดยเขาเคยร่วมงานในละครโทรทัศน์ชุด Boston Public และในภาพยนตร์บางเรื่อง ซึ่งรวมถึงภาพยนตร์เบาสมองเรื่อง The Guru
แมคคาร์ธีรู้จักคนในวงการฮอลลีวู้ดเป็นอย่างดี และคงเป็นเรื่องง่ายสำหรับเขาที่จะเขียนบทภาพยนตร์ทุนสร้างสูง, หาดาราดังมาแสดง และใส่เทคนิคพิเศษราคาแพงเข้าไปในภาพยนตร์ อย่างไรก็ดี แมคคาร์ธีกลับเลือกที่จะเล่าเรื่องของมิตรภาพที่เรียบง่ายแทน
"นี่เป็นหนังประเภทที่ผมดูในเวลาว่าง เนื้อเรื่องแบบนี้ทำให้ผมสะเทือนใจและสามารถเข้าเกาะกุมหัวใจของผมได้ด้วยวิธีการที่เรียบง่าย" แมคคาร์ธีกล่าว
ปีเตอร์ ดิงคลาจเคยแสดงในภาพยนตร์แนว "หนังซ้อนหนัง" เรื่อง Living in Oblivion โดยรับบทเป็นแคนแคระที่ไม่พอใจที่ตัวเองมักได้แสดงภาพยนตร์เฉพาะในฉากความฝันเท่านั้น
รูธ สไตน์ นักวิจารณ์ของซานฟรานซิสโก โครนิเคิล ตั้งข้อสังเกตว่าฉากเด่นของฟินบาร์ในเรื่องนี้คือฉากที่เขารู้สึกโกรธเคืองที่คนในบาร์เอาแต่จ้องมองเขา ดังนั้นเขาจึงลุกขึ้นตะโกนให้ทุกคนหันมามองเขา ในขณะที่แพทริเซีย คลาร์คสันก็แสดงได้ดีเช่นกัน โดยเธอสามารถถ่ายทอดความรู้สึกสูญเสียของโอลิเวียได้ผ่านทางการแสดงออกเพียงเล็กน้อย ซึ่งรวมถึงการที่โอลิเวียมักใจลอยในชีวิตประจำวัน
สไตน์กล่าวเสริมว่าแมคคาร์ธีสามารถถ่ายทอดบรรยากาศที่หดหู่และล้าหลังของเมืองนิวฟาวด์แลนด์ได้ดีมากโดยใช้ช็อตเพียงไม่กี่ช็อต และฉากที่ติดตามากที่สุดฉากหนึ่งในเรื่องนี้คือฉากที่เท้าของโจยื่นมาพบกับเท้าของฟินบาร์และฟินบาร์พยายามปกป้องพื้นที่วางเท้าของตัวเอง
นอกจาก The Station Agent แล้ว ยังมีภาพยนตร์อีกหลายเรื่องที่ใช้ฉากเป็นสถานีรถไฟและตัวละครเป็นพนักงานประจำสถานี ซึ่งรวมถึงภาพยนตร์ญี่ปุ่นเรื่อง Poppoya (1999) ที่กำกับโดยยาสุโอะ ฟุรุฮาตะ และสร้างจากนิยายของจิโร อาซาดะ, The Stationmaster's Wife (1977) ที่กำกับโดยไรเนอร์ แวร์เนอร์ ฟาสบินเดอร์ และสร้างจากนิยายของออสการ์ มาเรีย กราฟ, Closely Watched Trains ที่กำกับโดยจิริ เมนเซล จากสาธารณรัฐเช็ค และ Outside Time (1996) ที่กำกับโดยแอนเดรอัส ไคลเนอร์ท จากเยอรมันตะวันออก
The Station Agent ได้รับรางวัลสเปเชียล จูรี จากเทศกาลภาพยนตร์ซาน เซบาสเตียนในสเปน และเทศกาลภาพยนตร์มาร์ราเคชในโมร็อกโก แต่พลาดรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากทั้งสองเทศกาลนี้ โดยภาพยนตร์ที่คว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในซาน เซบาสเตียนไปได้คือภาพยนตร์เยอรมันเรื่อง Gun-shy ที่กำกับโดยดิโต ซินซาเจอ ส่วนที่มาร์ราเคชนั้นภาพยนตร์ที่ชนะรางวัลสูงสุดคือ Fuse ที่กำกับโดยเพียร์ ซาลิกา จากบอสเนีย
The Station Agent เพิ่งเปิดฉายในเทศกาลภาพยนตร์โตรอนโตเมื่อไม่กี่เดือนก่อน และภาพยนตร์อีกเรื่องที่ได้รับคำชมอย่างมากจากเทศกาลนี้คือภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Dying at Grace ที่กำกับโดยแอลัน คิง จากแคนาดาและมีความยาว 148 นาที โดยภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับคะแนนโหวตจากผู้ชมใน imdb.com ถึง 9.4 เต็ม 10
Dying at Grace ใช้ฉากเป็นห้องผู้ป่วยในโรงพยาบาลเกรซในนครโตรอนโต ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับความตายด้วยวิธีการที่เรียบง่าย โดยคิงเพียงแค่ใช้กล้องจับไปที่ผู้ป่วย 5 คนในเรื่องนี้ และไม่มีการใส่เสียงบรรยายหรือการสัมภาษณ์ผู้ป่วย แต่ผลที่ได้จากการทำเช่นนี้กลับทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ทรงพลังอย่างมาก
ผู้ป่วย 5 คนในเรื่องนี้คือคาร์เมลา นาร์ดัน, จอยซ์ โบน, ริค พอลลาร์ด, อีดา ไซแมค และลอยด์ กรีนเวย์ โดยทั้ง 5 คนนี้มีพื้นเพที่แตกต่างกันและมีสภาพครอบครัวที่แตกต่างกัน แต่ทั้ง 5 คนนี้ต่างก็ป่วยเป็นโรคมะเร็งและใกล้จะตายเหมือนกัน
นักวิจารณ์ให้ความเห็นว่าในขณะที่ผู้ชมเฝ้ามองความตายที่กำลังคืบคลานเข้ามาหาผู้ป่วยเหล่านี้ ผู้ชมจะรู้สึกมีอารมณ์ร่วมไปกับผู้ป่วยเหล่านี้ และสามารถเข้าใจความฝัน, ความหวาดกลัว และความศรัทธาของผู้ป่วย นอกจากนี้ ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังให้คำตอบเกี่ยวกับชีวิต, เป็นภาพยนตร์ที่กระตุ้นความคิดของผู้ชม และมีผลกระทบต่ออารมณ์ของผู้ชมอย่างมาก
แองเจลา บาลดาซซาเร นักวิจารณ์ทางอินเทอร์เน็ตให้ดาว Dying at Grace ถึง 5 ดาวเต็ม และระบุว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ที่ไม่มีวันลืมได้ลง
แอลัน คิง มีอายุ 73 ปี และเคยกำกับภาพยนตร์มาแล้ว 30 กว่าเรื่อง ซึ่งรวมถึงเรื่อง Who Has Seen the Wind (1977), Warrendale (1967), Termini Station (1989) และ Silence of the North (1981)
จากคุณ :
Madeleine de Scudery
- [
18 ม.ค. 47 21:29:52
A:203.156.89.178 X:
]
|
|
|