THE PASSION OF THE CHRIST
เดอะแพสชั่น ออฟ เดอะ ไครสซ์
โดย อาร์ม อิสระ
นำแสดง จิม คาวีเซล , ไมอา มอร์แกนสแตนด์ , โมนิกา เบลุชชี่,
กำกับการแสดง เมล กิ๊บสัน
ถือว่าเป็นภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จอีกเรื่องหนึ่งของ เมล กิ๊บสัน สำหรับ THE PASSION OF THE CHRIST เมื่อภาพยนตร์เรื่องนี้ทำรายได้ขึ้นอันดับหนึ่งในอเมริกาเรียกว่ากวาดรายได้ถล่มทะลายอย่างไม่คาดฝัน เพราะก่อนหน้านั้นได้ข่าวว่าบทภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวนี้ถูกปฏิเสธจากสตูดิโอระดับยักษ์หลายแห่งด้วยกันจนกระทั่ง เมล กิ๊บสันตัดสินใจที่จะลงทุนสร้างเอง
THE PASSION OF THE CHRIST ได้รับการดัดแปลงจากหลายเหตุการณ์ในเรื่อง THE PASSION ซึ่งเรียบเรียงมาจากพระคัมภีร์ 4 เล่มของ แมทธิว มาร์ค ลุค และจอห์น ที่บรรยายถึงช่วงเวลา 12 ชั่วโมงสุดท้าย ก่อนการสิ้นพระชนม์ของพระเยซู ซึ่งชาวคริสต์ทั้งหลายเชื่อกันว่า หลังจากนั้นพระองค์ทรงฟื้นคืนจากความตายและเสด็จสู่สวรรค์
ภาพยนตร์เริ่มต้นขึ้นในฉากแรกที่สวนมะกอก ซึ่งเป็นสถานที่ซึ่งพระเยซูคริสต์ ใช้เวลาสวดมนต์ภาวนาหลังจากเสร็จสิ้นอาหารค่ำมื้อสุดท้าย ในภาพแลเห็นร่างอันสั่นเทาของพระองค์ซึ่งทรงพยายามเอาชนะความกลัวเพื่อเผชิญกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเมื่อพระองค์ทราบว่ากำลังถูกตามล่าจากพวกฟาริสีที่กล่าวหาว่าพระองค์เป็นพวกดูหมิ่นศาสนา และจากการทรยศของ ยูดาส อิสคาริโอท พระองค์จึงทรงถูกจับได้ในเวลาต่อมา จนถูกนำกลับไปทรมานเพื่อให้รับสารภาพจนกระทั่งถูกตัดสินประหารชีวิต
ทุกนาทีที่ผ่านไปของภาพยนตร์เรื่องนี้ จะเต็มไปด้วยความเครียด ความสลด หดหู่ ซึ่งจะบังเกิดขึ้นกับผู้ชมที่ได้ล่วงล้ำเข้าไปลึกถึงอารมณ์หนังหลังจากที่นั่งลงผ่อนคลายได้ไม่ถึง 20 นาที และนับจากนั้นไป ภาพแห่งการทุกข์ทรมานหลากหลายที่พระเยซูคริสต์ได้รับจากทหาร มันคือความทรมานที่ผู้ชมทุกคนซึ่งนั่งอยู่หน้าจอสามารถที่จะสัมผัสได้ เพราะเท่าที่เห็นในรอบที่ผมชมนั้นแลเห็นหลายคนต้องเบือนหน้าหนี เมื่อยามที่แส้ ถูกกระหน่ำโบยลงไปฉีกเนื้อหนังของพระองค์จนแหลกยับไปทั้งร่าง เลือดเนื้อสาดกระจายจนแดงฉาน
ฉากทรมานพระเยซูคริสต์นั้น ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของเรื่อง เพราะคำว่า THE PASSION ในภาษาลาตินนั้น หมายถึง ความทรมาน หรือในอีกแง่หนึ่ง ของความหมายก็คือ กิเลสและความลุ่มหลง ซึ่งเป็นสิ่งที่พระเยซูคริสต์ได้รับ ในช่วง 12 ชั่วโมงสุดท้ายบนโลกมนุษย์ จากการเล่าเรื่องสี่แบบจากพระคัมภีร์ใหม่ปละตำนานที่เล่าขานกันมากว่า 2000 ปี ด้วยเหตุนี้เอง ภาพที่ปรากฏขึ้นบนจอหนังตลอดเวลาที่นั่งชมอยู่นั้น เราจะได้พบเห็นการกระทำที่เลวร้ายป่าเถื่อนซึ่งพวกทหารและพวกศาสนจักรในสมัยนั้นกระทำต่อพระเยซูคริสต์ ชนิดที่ว่าโหดร้ายทารุณเสียยิ่งกว่าภาพยนตร์ประเภท ศุกร์ 13 หรือภาพยนตร์เรื่องไหนๆที่เคยได้ชมมา
ก่อนหน้านี้ เคยมีผู้นำเอาเรื่องราวของพระเยซูคริสต์ มาสร้างหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นหนังเงียบของ โทมัส เอดิสัน เรื่อง THE PASSION ที่สร้างความบันดาลใจให้กับนักสร้างหนังทั้งหลาย จนกระทั่งในปี ค.ศ.1927 ซิซิล บี เดอ มิลล์ จึงได้กำกับภาพยนตร์เงียบเรื่องแรกที่บรรยายภาพความทรมานและการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูคริสต์ ในKing of the King และล่าสุดเมื่อไม่นานมานี้ มาร์ติน สกอร์เซซี ก็ได้นำเอาเรื่องราวและภาพความขัดแย้งในตนเองของพระเยซูคริสต์มาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง The Last Templation of Christ ซึ่งดูเหมือนว่าในบ้านเรานั้น ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวนี้ได้ถูกห้ามฉาย เพราะถือว่าเป็นการตีแผ่ภาพลักษณ์อีกด้านหนึ่งของพระเยซูคริสต์ที่อาจจะมีผลกระทบตามมา
แต่ไม่ว่าอย่างไร ก็ไม่เคยมีภาพยนตร์เรื่องใด ที่จะนำเอาภาพของความจริงจัง ที่จะเสียสละชีวิตของพระเยซูคริสต์มาตีแผ่ในแง่ของภาพยนตร์โดยละเอียด จนกระทั่ง เมล กิ๊บสัน ซึ่งเกิดความศรัทธาในศาสนาอย่างแรงกล้า ตัดสินใจที่จะนำเรื่องราวดังกล่าวนี้ มาตีแผ่ให้เห็นถึงความเป็นไปในช่วงนั้น โดยเฉพาะการเอาชนะความกลัวหรือพญามารที่พระเยซคริสต์ทรงเผชิญหน้าก่อนจะถูกตรึงกางเขน โดยเน้นไปถึงสิ่งที่พระองค์ทรงได้รับ อันยากยิ่งที่สามัญชนจะทนแบกรับได้ และเป็นที่มาของคำว่า ไถ่บาป
เมื่อจบภาพยนตร์เรื่องนี้จบ หลายคนพบว่า เกิดมีปัญหาผุดขึ้นมาในสมองอย่างมากมาย ว่า เมล กิ๊บสัน สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ขึ้นมาทำไม เพราะถ้าพูดถึงในแง่ของภาพยนตร์ เนื้อหนังก็ไม่มีอะไร เป็นสิ่งที่ชาวคริสต์ทั่วไป ต่างก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่เมื่อปรากฏออกมาเป็นภาพยนตร์ซึ่งจะถูกฉายแพร่หลายออกไปทั่วโลกนั้น แน่นอนว่า ในบางประเทศที่ผู้ชมไม่เข้าใจในเรื่องศาสนา อาจจะสร้างความสับสน เนื่องจากผู้คนเหล่านั้น ไม่ได้รับรู้เรื่องราวก่อนหน้า หลากหลายคำพูดที่พระเยซูคริสต์ตรัสออกมา เหมือนกับอ้างว่าพระองค์ทรงอยู่เหนือผู้อื่น
อย่างเช่นเมื่อ ปีลาตผู้นำของโรมันซึ่งไม่ต้องการที่จะสั่งประหารพระองค์ ได้เอ่ยขอร้องให้พระเยซูคริสต์ กล่าวอะไรออกมา เพราะว่าตัวเขามี อำนาจ ที่จะตัดสินให้พระองค์รอดตายได้ แต่พระเยซูคริสต์กลับกล่าวออกมาว่า ท่านไม่มีอำนาจเหนือเรา ผู้ชมที่ไม่เข้าใจ อาจจะแปลความหมายไปอีกทาง ทั้งๆที่ในความหมายนั้น อาจจะหมายถึงที่ว่า พระองค์ทรงประสงค์ความตาย มาใช้ในการไถ่บาปทั้งมวล
แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ภาพยนตร์เรื่องนี้ ถือว่าเป็นการนำเสนอการเสียสละอย่างยิ่งใหญ่ของผู้นำศาสนาคริสต์ที่แม้ว่าในเบื้องต้นนั้น ผู้คนมากมายมีความประสงค์ให้พระองค์ต้องตาย คล้ายกับว่าไม่มีค่ามากไปกว่า บาราบัส โจรร้ายที่รอดชีวิตมาได้จากการแลกเปลี่ยนชีวิตของพระเยซูคริสต์
หนังนำเสนอทุกขั้นตอนอย่างละเอียดละออ ไม่มีการข้ามข้อหนึ่งข้อใดไป โดยเก็บรายละเอียดเหล่านั้นมาร้อยเรียงเข้าด้วยกันอย่างโหดร้ายทารุณ จนทำให้ผมอดที่จะคิดไปถึงภาพยนตร์ไทยเรื่อง องคุลิมาล ของ อังเคิล-อดิเรก วัฏลีลา เสียไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับฉากทรมานพระคริสต์ที่ทุบตีจนเลือดเนื้อกระจาย กับฉากที่ชาวบ้านใช้ก้อนหินขว้างปาและใช้ไม้ทุบตีพระสาวกอย่างองคุลิมาล เพียงแค่สองสามที ซึ่งเรื่องราวดังกล่าวนี้ ล้วนแล้วแต่ถูกจารึกเอาไว้ในพระคัมภีร์ของทั้งสองฝ่ายไม่ว่าจะเป็นคริสต์หรือพุทธ แต่สุดท้าย ฉากทรมานพระคริสต์ก็สามารถผ่านการเซ็นเซอร์มาได้ ในขณะที่ฉากทุบตีพระในองคุลิมาลและอีกหลายฉากในเรื่องนั้น ถูกตัดหายไป เพราะมีชาวพุทธและพระเถระบางราย แกล้งทำเป็นหน้าบางรับไม่ได้ บ่งบอกถึงสถานภาพทางจิตใจว่าแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน เมื่อมองจากในมุมเดียวกันนี้.......
แก้ไขเมื่อ 23 เม.ย. 47 22:41:22