คล็ดไม่ลับที่ไม่ควรมองข้าม
โดย บงกช
นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับจุดประกายวรรณกรรม
ศาสตร์ของการเขียนเรียนเท่าไรก็ไม่รู้จบสิ้น แม้สิ้นสุดอายุขัย
แต่ในเมื่อถนนสายนี้มีรุ่นพี่รุ่นพ่อที่กรุยทาง?เรียนและรู้ชีวิตและผ่านประสบการณ์มาเป็นอย่างดี
ดังนั้นเคล็ดการเขียนต่างๆ จึงเป็นเรื่องที่น่าศึกษาอย่างยิ่ง
1.บันเทิงคดีเป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิต ชีวิตหมายถึงการเปลี่ยนแปลงเรื่องไม่น่าสนใจเป็นแน่หากไม่มีอะไรเกิดขึ้นกับตัวละคร และสิ่งนั้นเกิดขึ้นโดยไม่ปราศจากคำพูด แต่วิธีหนึ่งที่ผู้อ่านจะรู้ว่ามีบางสิ่งเกิดขึ้นก็คือเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในช่วงระหว่างตอนต้นเรื่องกับตอนจบเรื่อง เรื่องที่ดีจะต้องจบอย่างสมเหตุสมผล เพราะผู้อ่านมักคาดหวังบางอย่างในตอนจบเรื่อง
2.หากใจความสำคัญของเรื่องเป็นการโต้แย้ง จงพิสูจน์ เรื่องที่ดีต้องมีมุมมองบางอย่าง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการโต้แย้งถึงตัวละครสำคัญว่าผิดหรือถูก ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในเรื่องน่าจะเป็นการเสริมการโต้แย้งที่สร้างขึ้น ( เช่น ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ฯ ) หากเรื่องของคุณไม่เป็นเช่นนี้ ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ไร้เป้าหมายและว่างเปล่า
3.นำสำนวนซ้ำซากไปเผาซะ ถ้อยคำสำนวนซ้ำซากที่เห็นเป็นหมื่นๆ ครั้ง อย่านำมาใช้ในเรื่องเพราะจะทำให้เรื่องน่าเบื่อ หากนำมาใส่ในบทสนทนาก็จะทำให้เป็นบทสนทนาที่ไม่ดี
4.เรื่องที่ดีคือเขียน 40% เขียนใหม่ 60% สิ่งที่คุณประทับใจตอนแรกสุดไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นสิ่งที่ดีที่สุด โดยเฉพาะร่างแรกของบทสนทนามักหาที่เยี่ยมยอดยาก เพราะบทสนทนาเป็นความข้องเกี่ยวระหว่างผู้คนหลากหลาย ตัวละครต่างๆ ล้วนต้องมีสุ้มเสียงเฉพาะตน ต้องมีความคิดและน้ำเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ ส่วนใหญ่ร่างแรกของบทสนทนามักเป็นน้ำเสียงของผู้เขียนเอง ดังนั้นคุณจึงจำเป็นต้องปรับสิ่งต่างๆ และแก้ไขรูรั่วของโครงเรื่องและฉากต่างๆ การเขียนใหม่จึงเป็นเรื่องจำเป็น
5.โครงเรื่องที่ดีสร้างเรื่องที่ดี เรื่องที่ดีคือเรื่องที่รู้สึกว่าไม่มีช่องโหว่ใดๆ ในเรื่อง ซึ่งก็คือการผสมผสานอย่างลงตัวระหว่างความคิดและส่วนประกอบต่าง ๆ หากเรื่องของคุณเป็นการรวมความคิดต่างๆ ที่แวบเข้าในหัวของคุณ มันน่าจะเต็มไปด้วยจุดอ่อนซึ่งผู้อ่านจะรู้สึกได้
6.ฉากทุกฉากต้องส่งเสริมเรื่อง ฉากที่สร้างขึ้นเพียงเพื่อแสดงบางสิ่งที่ผู้เขียนคิดว่าดีหรือสนุกสนานเป็นฉากที่ไร้ประโยชน์ เพราะอะไรก็ตามที่ไม่เสริมส่งเรื่องในทางใดทางหนึ่งถือว่าเป็นการก่อกวนการไหลเลื่อนของเรื่อง เรื่องน่าจะถูกสร้างให้เลื่อนไหลไปข้างหน้า โดยมีฉากเสริมส่ง
7.การสืบค้นและค้นคว้าเป็นหัวใจสำคัญของข้อมูล วิธีที่ดีที่สุดในการเข้าถึงข้อมูลที่ใหม่สดก็คือการค้นคว้า โลกของเรามีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่เสมอแทบทุกๆ วินาที ดังนั้นคุณน่าจะต้องอ่านสารคดีและข่าวสารต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อจะได้นำความคิดใหม่ๆ เหล่านั้นสอดแทรกลงไปในเรื่องของคุณอย่างเหมาะสม
8.อย่าวางใจความคิดที่เกิดขึ้นแรกสุด จงบันทึกรายการความคิดทั้งหลายไว้ หากคุณกำลังเขียนฉาก แน่นอนที่คุณต้องการให้ฉากของคุณเร้าใจผู้อ่านและเห็นความสมจริง ดังนั้นจงอย่าเพิ่งผลีผลามเขียนตามความคิดแรกสุดที่ผุดขึ้นมา จงจดบันทึกทุกสิ่งทุกอย่างที่คุณคิดเกี่ยวกับฉากนั้นลงไป แม้ว่าบางประเด็นจะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างประหลาดพิศดารก็ตาม แล้วจงนำมาพิจารณาอีกครั้งเพื่อหาสิ่งที่ดีที่สุด แล้วคุณจะประหลาดใจเมื่อเห็นสิ่งดีๆ ปรากฏขึ้นตามกระบวนการเหล่านี้
9.หากคุณทำให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกไม่ได้ คุณก็ล้มเหลว การเขียนเรื่องสักเรื่องหนึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องก่อให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกบางอย่าง คิดว่าคุณเองก็คงเคยมีประสบการณ์ลืมเลือนเรื่องที่อ่านบางเรื่องภายในเวลาสองวินาทีหลังจากอ่านหนังสือเล่มนั้นจบลง คุณคงไม่อยากให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นกับเรื่องที่คุณเขียนเป็นแน่ ถ้าอย่างนั้นควรทำอย่างไร ? จะทำให้คนอ่านเกิดความรู้สึกอะไรบางอย่างได้อย่างไร
เริ่มต้น?คุณจำเป็นจะต้องสร้างอารมณ์ที่สามารถดึงดูดให้ผู้อ่านดิ่งลึกลงไปได้ และจำเป็นต้องเขียนถึงหัวข้อหรือสถานการณ์ต่างๆ ที่คุณมั่นใจว่าจะทำให้ผู้อ่านสนใจได้ ลองสำรวจความรู้สึกของตนเองที่มีต่อสรรพสิ่งและเขียนออกมาเป็นเรื่อง อย่าได้พยายามใช้วิธีทำให้ผู้อ่านช็อกหรือตกใจสุดขีดเพราะจะทำให้เรื่องของคุณเฉิ่มเบ๊อะกลายเป็นของราคาถูกไป
10.จงอย่าได้เขียนทุกสิ่งที่ตัวละครคิด ในชีวิตจริงก็ไม่มีใครจะทำอย่างนั้นกัน นอกจากในหนังน้ำเน่า เมื่อเราดูคนเขาพูดคุยกัน เราจะเห็นว่าเขาต่างรู้สึกต่อกันอย่างไรโดยสังเกตท่าทางของเขา เช่น หากเขารู้สึกว่าคนที่เขาคุยด้วยอยู่นั้นมีความสำคัญกับเขา เขาก็จะโน้มตัวลงต่ำ ประกายนัยน์ตาแสดงความชื่นชมอย่างเปิดเผยเป็นต้น
ถ้าเราจะแจ้งให้ผู้อ่านรู้ว่าตัวละครแต่ละตัวมีความสัมพันธ์กับตัวละครตัวอื่นอย่างไร เราก็แสดงออกด้วยท่าทางหรือวิธีที่พวกเขาพูดคุยกันนั่นแหละ หายากที่พวกเขาจะเปิดเผยสิ่งที่เขาคิดจริงๆ ในบทสนทนา แต่คุณสามารถเก็บข้อมูลได้มากมายจากบริบทและสไตล์การพูด
11.เก็บสิ่งที่ดีที่สุดไว้ตอนท้ายสุด คุณอย่าได้เขียนถึงความคิดที่ดีที่สุดไว้ตั้งแต่ตอนเปิดเรื่อง เพราะจะเหมือนกับการลงภูเขา การเขียนเรื่องน่าจะเหมือนกับการเล่นกระดานโต้คลื่น กล่าวคือน่าจะมีช่วงเวลาที่นานสักหน่อยกว่าจะถึงจุดสูงสุด มีการขึ้นลง มีจุดบิดผันก่อนจะถึงจุดสุดยอดหรือจุดที่ดีที่สุดของเรื่อง
12.ตัวละครที่แท้จริงจะเผยโฉมออกมาภายใต้แรงกดดัน ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ! ในชีวิตจริงเป็นอย่างไรในนวนิยายก็เป็นเช่นนั้นแล การจะใส่แรงกดดันให้ตัวละครขึ้นอยู่ว่าตัวละครนั้น ๆ เป็นคนเช่นไรด้วย วิธีที่ดีที่สุดที่จะแสดงว่าเขาเป็นคนอย่างไรก็คือการแสดงให้เห็นตัวเลือกที่เขาจะเลือกในสถานการณ์ที่เราสร้างให้ตัวละครกับพฤติกรรมคือสิ่งเดียวกัน คุณให้คำจำกัดความผู้คนก็จากวิธีการที่เขาปฏิบัติและกระทำต่อสิ่งต่างๆ มิใช่หรือ ?
13.ตอนจบของเรื่องไม่ควรเป็นแค่การส่งข่าวสาร หากคุณจะตีหัวใครสักคน คุณจะค่อยๆ เคลื่อนกายอย่างช้าๆ ให้พวกเขารู้ตัวก่อนไหม ? หรือถ้าคุณจะทำให้ใครประหลาดใจ คุณจะบอกเขาเป็นนัย ๆ ก่อนไหม ?
ดังนั้นการเขียนตอนจบของเรื่องจึงไม่ใช่เรื่องที่จะทำอย่างสุกเอาเผากินได้ หากคนอ่านรู้ว่าเรื่องจะลงเอยอย่างไร เขาคงไม่ต้องมานั่งเสียเวลาอ่านตอนจบต้องทำให้ผู้อ่านประทับใจ และไม่ผิดหวัง
14.ให้ตัวละครเอกได้ผ่านการพิสูจน์คุณค่า โดยพื้นฐานแล้วในการแสดงถึงสิ่งต่าง ๆ ที่ได้เกิดขึ้นกับตัวละครของคุณ คุณจำเป็นต้องแสดงให้ผู้อ่านได้เห็นว่าตัวละครเอกของคุณได้ฝ่าฟันประสบการณ์ของมนุษยชาติมามากมาย จากสุขเป็นเศร้า รวยเป็นจน เกลียดเป็นรัก เป็นต้น
หากไม่เป็นเช่นนั้นจะทำให้เรื่องขาดอารมณ์ที่หลากหลายและคุณอาจล้มเหลวในการขับเคลื่อนตัวละคร
15.รู้จักโลกทั้งภายในและภายนอกเป็นอย่างดี ไม่ว่าคุณจะเขียนเรื่องแนวสมจริงหรือเหนือจริง ล้วนมีพื้นฐานอยู่ที่การตีความโลกที่อยู่รอบตัวคุณและวิธีการที่คุณมองโลกและนับแต่คุณได้สร้างโลกของคุณขึ้นมา มันน่าจะเป็นโลกที่ดูสมจริงสำหรับผู้อ่าน
1) ผู้อ่านน่าจะเชื่อมันมากเท่า ๆ กับโลกที่พวกเขาอยู่
2) หากผู้อ่านไม่เชื่อ พวกเขาก็จะไม่สนใจ และหากคุณขาดความคิดด้านลึกในโลกที่คุณสร้าง ผู้อ่านก็จะรู้สึกว่าเรื่องของคุณไม่น่าแม้แต่จะใส่ใจแล
3) หากคุณทำให้ผู้อ่านมีความรู้สึกร่วมได้ก็ต่อเมื่อพวกเขารู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องที่พวกเขาอ่าน
4) ดังนั้นคุณจึงจำเป็นต้องรู้กฎและการทำงานของโลกเป็นอย่างดีก่อนที่คุณจะลงมือเขียน
16.คิดถึงแต่อาชีพของคุณอย่าเปรียบเทียบกับคนอื่น อาชีพนักเขียนในเมืองไทยเป็นอย่างไรก็รู้ดีกันอยู่ การสร้างชื่อเสียงให้โด่งดังเป็นเรื่องยากยิ่ง หรือเพียงแค่จะให้คนรู้จักชื่อแบบไม่ต้องดังมากก็สาหัสเอาการ และอาจใช้เวลาไปกว่าครึ่งชีวิต
หากคุณคิดจะเป็นนักเขียนจงอย่าได้เสียเวลาแม้แต่สักวินาทีไปกับการน้อยอกน้อยใจในวาสนาเมื่อเปรียบเทียบกับคนอื่นๆ ที่เป็นนักเขียนด้วยกัน หรือคนที่มีอาชีพอื่น ไม่ว่าจะเป็นด้านของชื่อเสียงหรือเงินทอง ความสำเร็จของใครก็ไม่เห็นจะมีผลอะไรกับพรสวรรค์หรือความสามารถของคุณ
หากคุณเสียเวลาไปกับการโกรธเกรี้ยวโชคชะตาวาสนา และพร่ำบ่นน้อยอกน้อยใจ ใครๆ ก็จะมองคุณเป็นเพียงแค่คนขี้อิจฉาริษยาที่เจ้าอารมณ์เท่านั้น จะดีกว่ากับการมองโลกในแง่บวก และพุ่งพลังกายใจไปที่งานและอาชีพของคุณ คุณจะได้รับผลตอบแทนที่ดีขึ้นหากคุณทำได้เช่นนั้น
ที่มา : http://www.pocketonline.net/board/view.php?id=9999
จากคุณ :
Firodendon
- [
11 ก.ค. 47 16:35:35
]