ความคิดเห็นที่ 7
อากาศข้างนอกร้อนมากค่ะ แต่ตอนนี้แอนหนาวมากเลยอยุ่ในห้องแอร์อ่ะ...
คุณ Annie~ตาโต ทำให้นึกถึงบทความของ อ.นิธิ เรื่อง "ปัจเจกในวัฒนธรรมบริโภค"
ลองอ่านกันดู :)
.............................................
วารสาร "สานใจคนรักป่า" ฉบับเดือน ม.ค.-ก.พ.2546 ลงบทความเรื่องหนึ่ง ผู้เขียนเล่าว่า การนั่งรถไฟชั้นสามนั้นทำให้ได้เพื่อนคุยอย่างน้อยก็สามคน คือคนนั่งข้างกับสองคนที่นั่งตรงข้าม เพราะอย่างน้อยคุยกันก็บรรเทาความเบื่อหน่ายทิวทัศน์สองข้างทางไปได้มาก
แต่ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยว่า หากเพื่อนร่วมโดยสารเป็นหนุ่มสาวรุ่นใหม่แล้ว เขาก็มักไม่คุยด้วย มัวแต่คุยกับคนที่ไหนก็ไม่รู้ด้วยโทรศัพท์มือถือตลอดทาง
ฉะนั้น ตรงข้ามกับที่บริษัทมือถือโฆษณาทางทีวี โทรศัพท์มือถือทำให้เราคุยกันน้อยลงต่างหาก ไม่ได้ทำให้คุยกันมากขึ้น เพราะโทรศัพท์มือถือทำให้เราไม่สนใจคนรอบข้างที่อยู่ใกล้ชิดกับเราเท่ากับคนหน้าเก่าซี่งอยู่ห่างกันเป็นหลายร้อยกิโลเมตร
การไม่มีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างนั้น คิดดูก็ประหลาดดี เพราะผมเกิดในสมัยที่การมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างนั้นทำกันเสียจนเหมือนเป็นธรรมชาติของมนุษย์ คำถามแรกที่ผมคุ้นเคยในสมัยนั้นก็คือ "พ่อหนุ่ม จะไปไหนเล่า" ไม่ว่าจะบนรถไฟหรือรถเมล์ หรือเดินเข้าไปในหมู่บ้าน
แล้วอยู่ๆ วันหนึ่งเราทุกคนก็กลายเป็นคนแปลกหน้าของกันและกันโดยสิ้นเชิง ไม่พูด ไม่มองหน้า และทำประหนึ่งว่าไม่มีคนอื่นอยู่ตรงนั้น โดยอาศัยเครื่องมือชิ้นเล็กๆ อันหนึ่งที่เรียกว่าโทรศัพท์มือถือ ซึ่งสามารถพูดอะไรที่ใจอยากลงไปก็ได้ โดยไม่ต้องรู้สึกขวยเขินต่อคนที่นั่งอยู่ใกล้ๆ เลย เพราะไม่มีเขาในสายตาและความคิดของเรา
เท่ากับที่เราก็รู้ว่าไม่มีเราในสายตาและความคิดของเขา
ผมไม่เคยไปต่างประเทศเสียนานแล้ว (นอกจากประเทศที่มือถือยังไม่ระบาด) ผมจึงไม่รู้ว่า ผู้คนในประเทศอื่นใช้มือถือปิดกั้นปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างเหมือนหนุ่มสาวไทยหรือไม่ และด้วยเหตุดังนั้นผมจึงไม่รู้ว่ามือถือมีฤทธิ์อย่างนี้ในทุกวัฒนธรรม หรือมีความอ่อนแอบางอย่างในวัฒนธรรมไทยอยู่แล้ว จึงทำให้หนุ่มสาวไทยพ่ายแพ้ต่ออิทธิฤทธิ์ของมือถือได้ถึงเพียงนี้
อย่างไรก็ตาม ในฐานะสินค้าอย่างหนึ่งของกระแสบริโภคนิยม ผมออกจะเชื่อว่ามือถือก็เหมือนสินค้าอื่นๆ ภายใต้กระแสเดียวกันนี้ นั่นคือมุ่งตอบสนองความเป็นปัจเจกของผู้บริโภค... กล่าวคือ ตอบสนองสิ่งสำคัญที่สุดที่ผู้บริโภคคิดว่าตัวเขาเป็นคือความเป็นปัจเจกชน ในขณะเดียวกันก็ช่วยตอกย้ำและส่งเสริมให้เขามีชีวิตที่เป็นปัจเจกยิ่งขึ้น
สินค้าที่ผลิตขึ้นภายใต้กระแสบริโภคนิยมล้วนทำให้เราสามารถใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยว โดยไม่ต้องไปมีปฏิสัมพันธ์กับใครๆ ได้เสียเกือบทั้งนั้น
การดูมหรสพทางโทรทัศน์นั้นแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากการดูมหรศพอื่นๆ เช่น ลิเก, ลำตัด, ละครเวที หรือแม้แต่ภาพยนตร์ เพราะในการดูโทรทัศน์ เราดูในบ้านของเราเอง จึงให้เสรีภาพแก่เราอย่างเต็มที่ ปราศจากปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นทั้งหมดยกเว้นคนใกล้ชิดในครอบครัว อย่าลืมด้วยว่าบ้านสมัยใหม่ทั้งหลาย รวมแม้แต่เพิงพักในสลัม ย่อมกีดกันการแทรกแซงของคนอื่นออกไปจากเรา ผิดจากบ้านทรงไทยและทำเลการตั้งบ้านเรือนสมัยก่อน ซึ่งค่อนข้างเปิดโล่งและเชื้อเชิญการแทรกแซงจากคนนอกได้มาก
เรียกว่าอยู่บ้านไทยในทำเลตั้งบ้านเรือนแบบนั้น คุณจะไม่ทักคนเดินผ่านว่าไปไหนมาไม่ได้ เท่ากับปิดปากคนเดินผ่านไม่ให้ร้องถามว่าแกงอะไรก็ไม่ได้
ตรงกันข้ามกับมหรสพทางโทรทัศน์ คนดูลิเกออกจากบ้านไปลานวัดหรือโรงลิเก ซึ่งรู้อยู่แล้วว่าจะมีคนอื่นๆ อยู่ที่นั่นมาก เขาเตรียมตัวเพื่อจะไปเผชิญกับคนอื่น และมีปฏิสัมพันธ์ทางตรงหรือทางอ้อมกับคนอื่น นับตั้งแต่ทักทายกันไปจนถึงเตรียมเสื่อของตัวไปเอง ไม่ได้คิดจะไปเบียดเบียนใครเป็นต้น รวมทั้งมี "มารยาท" ที่พอจะตกลงรับรู้กันทั่วไปเป็นเครื่องมือสำหรับปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างซึ่งไม่รู้จักหน้าค่าตา
ในแง่นี้ โทรทัศน์จึงดึงเอามหรสพซึ่งอยู่ในพื้นที่สาธารณะเข้าไปมาเป็นพื้นที่ส่วนตัว และทำให้เราสามารถชมมหรสพได้โดยไม่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับใครเลย โทรทัศน์ในแง่นี้จึงเป็นตัวอย่างที่ดีอันหนึ่งของสินค้าบริโภคนิยม สินค้าที่ทำให้คุณอยู่กับตัวคนเดียวได้ โดยไม่ต้องแคร์ใครเลย
นั่งรถส่วนตัวกับนั่งรถเมล์ก็เหมือนกัน
ผมจำได้ว่า เมื่อสมัยก่อนโน้นตอนที่ผมยังเป็นเด็กและเป็นหนุ่ม คำโฆษณาอย่างหนึ่งของการมีรถยนต์ส่วนตัวคือทำให้ได้เป็นส่วนตัว ไม่ใช่เพียงแค่ไปไหนมาไหนได้ตามใจชอบอย่างเดียว แต่รถยนต์บำเรออะไรอื่นๆ ที่เป็นส่วนตัวได้มากกว่านั้นอีกมาก
อันที่จริงพัฒนาการของเฟอร์นิเจอร์ติดรถยนตร์ในทุกวันนี้ก็ยิ่งตัดปฏิสัมพันธ์กับคนนอกรถออกไปมากขึ้น แอร์และเครื่องกรองอากาศทำให้จมูกของเราสูดอากาศคนละก้อนกับคนอื่น เครื่องเสียงบำเรอหูเราด้วยเพลงที่เราชอบเป็นส่วนตัวและด้วยสุ้งเสียงที่เราปรับแต่งเป็นส่วนตัว, เช่นเดียวกับโทรทัศน์และดีวีดีติดรถยนต์ เฟอร์นิเจอร์เหล่านี้ทำให้หู, ตา, จมูกของเราเป็นส่วนตั๊วส่วนตัวจริงๆ โดยไม่จำเป็นแม้แต่จะชำเลืองดูคนอื่นที่ร่วมถนนกับเราเลย
หิวน้ำยังสามารถเปิดตู้เย็นในรถเอาน้ำออกมาดื่มได้ โดยไม่ต้องหยุดรถเพื่อไปซื้อข้างถนน
ซูเปอร์ก็ทำให้เราอยู่กับตัวเราคนเดียวโดยไม่ต้องเกี่ยวข้องกับคนอื่นยิ่งกว่าร้านชำ ไม่มีใครเดินตาม แทบไม่ต้องพูดกับใครเลย เพราะแคชเชียร์คิดเงินได้โดยไม่ต้องพูด ท่ามกลางผู้คนและชั้นสินค้าพะเนินเทินทึก เราเดินอยู่คนเดียว เข็นรถไปเลือกหยิบสินค้าตามใจชอบโดยไม่มีคนอื่นในสายตาของเราเลย
ประเพณีของการพักแรมในโรงแรมแตกต่างจากโรงเตี๊ยม เพราะแม้โรงแรมจะใหญ่โตและมีคนพักมากมายแค่ไหน เขาก็ไม่เกี่ยวกับเรา ไม่ต้องพูดกับเขา ไม่ต้องทักทายเขา และต่างคนต่างอยู่โดยแท้ ในขณะที่โรงเตี๊ยมก่อให้เกิดนิยายขึ้นมากมายจากความสัมพันธ์ของแขกที่มาพัก โรงแรมสมัยปัจจุบันจึงเป็นสินค้าที่แยกเราออกไปจากการมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างได้ดี
คิดไปเถิดครับ สินค้าภายใต้กระแสบริโภคนิยมของปัจจุบันนั้น ล้วนเป็นการขายสินค้าให้แก่ผู้บริโภคซึ่งเป็นปัจเจกทั้งนั้น
ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเหตุสองอย่าง หนึ่งก็คือบริโภคนิยมเกิดขึ้นท่ามกลางวัฒนธรรมปัจเจกชนนิยมซึ่งทุนนิยมและเสรีนิยมสร้างขึ้น ฉะนั้น เมื่อบริโภคนิยมคิดถึงผู้บริโภค ก็จะคิดถึงปัจเจกเป็นคนๆ ไปอยู่เสมอ ไม่เคยคิดถึงกลุ่มทางสังคมชนิดใดๆ ทั้งสิ้น พัฒนาการของบริโภคนิยมในปัจจุบันได้คลี่คลายมาถึงขั้นที่พยายามผลิตสินค้าให้ได้ตามความต้องการของผู้บริโภคแต่ละคนด้วยซ้ำ
เหตุผลอย่างที่สองก็สืบเนื่องกับข้อแรก เมื่อบริโภคนิยมผลิตสินค้าเพื่อป้อนปัจเจก จึงเป็นธรรมดาที่วัฒนธรรมบริโภคนิยมจะส่งเสริมความรู้สึกปัจเจก ยิ่งมีเครื่องไม้เครื่องมืออะไรที่ทำให้คนอยู่อย่างโดดเดี่ยวโดยไม่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นได้มากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งทำให้ผู้บริโภครู้สึกในอำนาจของตัวมากขึ้นเท่านั้น ดังที่โฆษณามือถือบางบริษัท, รถยนต์บางยี่ห้อ, ฯลฯ ก็เน้นความมีอำนาจ
ฉะนั้น ผมจึงคิดว่า หนึ่งในการต่อสู้กับบริโภคนิยมคือการฝึกให้คนมีสำนึกความเป็นปัจเจกของตัวน้อยลง ทำให้คนมีกิจกรรมร่วมกันมากขึ้นจนเป็นปรกติ เคยชินกับการหาความสุข, ความรู้ และความรัก จากการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ
ผมไม่ได้หมายความว่านี่คือสูตรสำเร็จของการต่อสู้กับบริโภคนิยม ถึงได้พูดว่าหนึ่งในการต่อสู้ เพราะบริโภคนิยมนั้นอาศัยและสร้างเงื่อนไขอีกหลายอย่างซึ่งเราอาจเรียกรวมๆ ว่าวัฒนธรรมบริโภคนิยม สำหรับเป็นช่องทางให้ครอบงำคนในยุคสมัยนี้
และหนึ่งในนั้นคือสำนึกปัจเจกชนนิยมอย่างสุดโต่ง ซึ่งบริโภคนิยมทั้งอาศัยและทั้งสร้างขึ้นเอง เป็นช่องทางการครอบงำ
ชื่อเรื่อง : ปัจเจกในวัฒนธรรมบริโภค ผู้เขียน อาจารย์ นิธิ เอียวศรีวงศ์ จาก มติชนสุดสัปดาห์ 11 ก.ค. 46
......................................................................
ปล. วันนี้แถวบ้านร้อนจนปวดหัว แต่ลมร้อนที่พัดโชยโมบายกะลามะพร้าวริมระเบียง ส่งเสียงเย็นใจ ทำให้คลายความหงุดหงิดไปได้บ้าง
จากคุณ :
เที่ยงวัน
- [
17 ก.ค. 47 14:22:50
]
|
|
|