CafeTech-ExchangePantip MarketChatTrendyMobilePantown


    เทคโนโลยีการปรับเปลี่ยนสภาพดาวเคราะห์ กับพล็อตนิยายวิทยาศาสตร์

    เมื่อไม่นานมานี้ ผมเบื่อๆขึ้นมาลองค้นเว็บเกี่ยวกับ terraforming ดู

    เว็บเหล่านั้นมีการพูดถึงความเป็นไปได้ และเทคโนโลยีที่ต้องการ เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพดาวเคราะห์ให้เหมือนกับโลก ในหลายเว็บเหล่านี้ เว็บที่เสนอรายละเอียดทางเทคนิคก็มีมากมาย ผมเลยลองเลือกมาสักสองเว็บ ซึ่งสามารถคลิกอ่านได้ที่ลิงก์พวกนี้ครับ
    http://www.users.globalnet.co.uk/~mfogg/zubrin.htm
    http://www.geocities.com/alt_cosmos/

    จากเว็บเหล่านี้ทำให้ผมคิดถึงนิยายวิทยาศาสตร์ชุดหนึ่งที่ผมพยายามอดใจจนได้เล่มมือสอง ครบไตรภาคเมื่อไม่นานมานี้ นั่นคือชุด Mars Trilogy ของ Kim Stanley Robinson ซึ่งประกอบด้วย Red Mars(ได้รับรางวัลเนบิวลา), Green Mars(เข้ารอบสุดท้ายของรางวัลฮิวโก), และ Blue Marsเล่มสุดท้ายในชุดไตรภาค ที่ผู้ประพันธ์ใช้เวลาในการรวบรวมข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ในการเขียนถึงสิบเจ็ดปี

    ในเล่ม(ผมยังไม่ได้อ่าน) พลิกคร่าวๆมีกล่าวถึงช่วงเวลาการเปลี่ยนแปลงของแต่ละยุค ตั้งแต่ยุคบุกเบิกจนกระทั่งยุคที่ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติซ้ำรอย เมื่อชาวอาณานิคม เกิดขัดแย้งทางการเมืองกับโลกจนมีการเรียกร้องเอกราช เช่นเดียวกับโลกในสมัยบุกเบิก
    อเมริกานั่นเอง

    แต่ในทางเทคนิคนั้นเล่า เราจะเปลี่ยนสภาพของดาวเคราะห์(Terraform) ดาวที่แห้งแล้ง มีบรรยากาศเบาบาง มีความเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยา และการเปลี่ยนแปลงสภาพภายในดาวเพียงเล็กน้อย จนเกือบปราศจากสนามแม่เหล็ก(magnetosphere) ที่ห่อหุ้มดาวอยู่ให้พ้นจากลมสุริยะ และรังสีต่างๆจากดวงอาทิตย์ได้อย่างไร

    ในเปเปอร์ที่อยู่ในเว็บไซต์นี้นั้น การเปลี่ยนสภาพดาวเคราะห์แดงดวงนี้สามารถกระทำได้ด้วยเทคโนโลยีที่มีอยู่ในศตวรรษที่ 21 ไม่ว่าจะเป็นการใช้วัสดุจำพวกไมลาร์เคลือบผิวด้วยอลูมิเนียม ที่ใช้ทำเรือใบอวกาศ ที่นาซาเคยทดสอบไปเมื่อไม่นานมานี้ ร่วมกับการใช้อุกกาบาตที่มีแอมโมเนียอยู่มากในการบอมบาร์ดพื้นผิวดาว ซึ่งได้ประโยชน์สองต่อนั่นคือ นอกจากเพิ่มก๊าซเรือนกระจกแล้ว ยังมีการเปลี่ยนแปลงพลังงานจลน์ในการตกกระทบของวัตถุไปเป็นความร้อนเพิ่มอุณหภูมิให้กับผิวดาวอีกด้วย ไปจนถึงการสร้างก๊าซเรือนกระจกจำพวกคลอโรฟลูออโรคาร์บอน แต่จะต้องมีอัตราส่วนของคลอรีนน้อยลง หากต้องการสัดส่วนของก๊าซผสมที่พอดีสำหรับการก่อให้เกิดโอโซน

    แต่แน่นอนว่าเราไม่สามารถกักเก็บก๊าซพวกนี้ได้บนดาวเคราะห์ที่มีแรงโน้มถ่วงต่ำได้ โดยมันจะค่อยๆหลุดออกไปในอวกาศ เนื่องจากความเร็วหลุดพ้นบนดาวเคราะห์แดงดวงนี้มีค่าน้อยนั่นเอง ซึ่งอาจจะต้องมีการคิดกันต่อไปว่าเราจะหาทางกักเก็บก๊าซในบรรยากาศภายหลังเทอร์ราฟอร์ม ไม่ให้เสียไปได้อย่างไร หรือจะทำอย่างไรให้มีการป้อนก๊าซให้กับบรรยากาศอย่างต่อเนื่องให้พอดีกับที่มีการสูญเสียไป

    ในความคิดของผม พล็อตที่น่าสนใจนำมาเล่น ได้แก่

    - อุบัติเหตุในการนำส่งอุกกาบาต หรือเศษชิ้นส่วนดาวหางพวกนั้น ซึ่งมีความเสี่ยงสูง
    - โรคระบาดจากการที่นาซ่านำเศษชิ้นส่วนก้อนหินจากดาวอังคารที่(อาจจะ)มีจุลินทรีย์ก่อโรคติดอยู่ กลับมาวิเคราะห์บนโลกในปี 2008 – 2010
    - เครื่องสร้างสนามแม่เหล็กเทียมให้กับดาวเคราะห์ดวงนี้
    - การสร้าง “หลังคา” ให้กับดาวอังคาร(สร้างทรงกลมวัสดุใสน้ำหนักเบา ป้องกันก๊าซระเหยจากผิวดาว) ด้วยเทคโนโลยีที่ดูจะเหนือกว่าเทคโนโลยีในปัจจุบัน แต่อาจจะพัฒนาต่อให้เป็น Dyson Sphere ได้
    - พล็อตเกี่ยวกับการค้นพบร่องรอยอารยธรรมบนผิวดาว(พล็อตนี้เก่าแล้ว ถ้าจะนำมาใช้ต้องระวัง)
    - ระบบคอมพิวเตอร์เน็ตเวิร์ก(Inter-Planetary Network)ระหว่างอาณานิคม และผลกระทบต่อมนุษย์ชาวอาณานิคม กับมนุษย์โลก ทั้งในแง่เศรษฐกิจ การเมือง อารมณ์ และสังคม แน่นอนว่า อินเตอร์เน็ตยุคปัจจุบันในตอนนั้น คงกลายเป็นตำนานเล่าขานแบบเดียวกับอาร์พาเน็ต และ BBS ไปแล้ว

    ใครนึกอะไรน่าสนใจออกก็นำมาเล่าสู่กันฟังนะครับ

     
     

    จากคุณ : DigiTaL-KRASH!!! - [ 11 ส.ค. 47 09:48:17 ]