ความคิดเห็นที่ 180
เรียนคุณ Ironica ครับ, ขอบพระคุณสำหรับการทักท้วงน่ะครับ กรณีที่ผมได้อ้างอิงไว้ในเรื่องของเหตุแห่งการทำสงครามและกรณีตัวอย่างของเมืองที่ต้องร้างอันเป็นผลจากสงคราม ภาพที่เห็นได้ชัดมากที่สุดคือ ระหว่างสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ ๒ ปี พ.ศ. ๒๓๑๐ ครับ เชียงใหม่คือเมืองที่สำคัญมาก พอ ๆ กับเมืองเชียงแสนครับ ครั้งราชวงศ์คองบอง รัชกาลพระเจ้ามังระ Hsinphyushin ค.ศ. ๑๗๖๓-๑๗๗๖ ได้ยกระดับให้เมืองเชียงแสนสำคัญเทียบเท่ากับเมืองเชีงใหม่ มีขุนนางระดับสูง คือ Myo Sa และ Sawbwa เทียบเท่ากันทั้งสองเมือง และทั้งสองเมือง ได้ถูกกำหนดให้เป็นปริมณฑลหนึ่งของเมืองประเทศราช คือ มณฑลหริภุญชัย ส่วนอยุธยาและเมืองข้างเคียง ก็ถูกกำหนดให้เป็นมณฑล อโยธยา ครับ (อ่านเพิ่มเติมได้นะครับที่ Maung Kyaw Thet, Burmas relations with her Eastern Neighbors in the Konbaung Period, 1752-1819, Thesis submitted for the degree of Doctor of Philosophy in the University of London, 1940. หาอ่านได้นะครับที่ สถาบันวิทยบริการ หรือหอสมุด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครับ) ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ได้กล่าวชัดเจนว่า กำลังคนในเมืองเชียงใหม่มีเพียง ๑,๙๐๐ คน จนคนในเชียงใหม่ "อยากน้ำกั้นเข้าหาสังกิน สังไว้บ่ได่แม่น จักก่า จะเล้อ จิ้งหรีด จั๋กแตนก็บ่ค้าง" (ในหนังสือตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ หน้า ๙๕) หลังจากกองทัพทางใต้(กรุงเทพฯ)ยกกำลังมาช่วยขับไล่พม่าที่ล้อมเชียงใหม่แตกพ่ายไปแล้ว พระยาวชิรปราการจึงทิ้งเมืองเชียงใหม่ให้ร้าง คนที่เหลือ ได้กล่าวว่า "ยามนั้นผู้คนทั้งหลายเป็นอันอยากน้ำกั้นเข้า ท้องพาอยากปกาพาไป พ่องก็ไปทางเหนือพ่องก็ไปทางใต้" (เรื่องเดียวกัน หน้า ๙๕) เมืองเชียงใหม่ถูกปล่อยร้างไปประมาณ ๒๐ ปี คือ ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๑๙-๒๓๓๙ จนกระทั่งพระเจ้ากาวีละได้ฟื้อนฟูเมืองเชียงใหม่อีกครั้ง ในปี พ.ศ. ๒๓๓๙ หมายเหตุ หน่อยน่ะครับ กันสับสน พระยาหลวงวชิรปราการ ที่กล่าวข้างต้นคือ พระยาจ่าบ้าน ขุนนางเชียงใหม่ที่แข็งเมืองต่อพม่า ในคราวแรก โดยร่วมมือกับพระเจ้ากาวีละ เมืองลำปาง และตอนหลังได้แรงหนุนจากทัพกรุงเทพฯ พระยาจ่าบ้านได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๑๗ ครับ แต่ต้องมาเสียชีวิตที่กรุงธนบุรีเพราะกรณีข้อหาฆ่าอุปราชก้อนแก้วครับ ต่อมาพระเจ้ากาวีละ จึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นพระยาหลวงวชิรปราการ แทน กระบวนการฟื้นฟูล้านนาหรือ "เก็บฮอมตอมไพร่" หรือ ยุค "เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง" เป็นปัญหาอย่างมากนะครับ นับแต่ปี ๒๓๒๕ ถึง พ.ศ. ๒๓๓๙ รวม ๑๔ ปี เกณฑ์ไพร่จากลำปางกว่า ๓๐๐ คน และเมืองอื่น ๆ เช่น เมืองลวง เมืองวะ เมืองเลน เมืองขอน เมืองกาย เมืองสาด เมืองยู้ เมืองหลวย เมืองพยาก เมืองกุง ฯลฯ ตั้งถิ่นฐานทั้งบ้านช่างกระดาษ สันป่าตอง บ้านป่าลาน หางดง บ้านสันกลาง สันกำแพง บ้านป่าดู่ ดอยสะเก็ด ลำพูน ก็มีพวกเมืองยอง ครับ รายรอบเมืองก็มีมากเช่นจากเมืองพวกหงส์ เมืองหาง ลักษณะการกวาดต้อนก็ยกมาทั้งเมืองครับ ทำให้ได้พลเมืองทั้งระดับเจ้านายและไพร่ ช่างฝีมือ และขุนนาง รวมถึงทรัพยากรอันมีค่าพร้อมทรัพยสินประกอบอาชีพครับ (อ่านเพิ่มเติมที่ คนยองย้ายแผ่นดิน : การเคลื่อนย้ายและการตั้งถิ่นฐานของชาวยองในเมืองลำพูน (พ.ศ. 2348-2445) / แสวง มาละแซม,กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2540) หนังสือเล่มหลังนี้จะบอกรายละเอียดได้มากถึงลำดับการฟื้นเมืองเชียงใหม่ หรือ เก็บผักใส่ซ้าเก็บข้าใส่เมือง นะครับ ว่ามีพึงรัชกาลรัชกาลพระเจ้าพุทธวงศ์ คือปี พ.ศ. ๒๓๘๙ ครับ ในกลุ่มหัวเมืองล้านนาตะวันออก เช่นเมืองน่าน แห่ง "วงศ์เจ้าหลวงตื่น" ก็ทุ่มเทช่วยทำสงครามขับไล่พม่าจากเมืองเชียงแสน พ.ศ. ๒๓๔๗ ด้วยเช่นกัน และยังกวาดต้อนชาวลื้อสิบสองปันนามาตั้งถิ่นฐานที่เมืองน่านด้วย และที่คุณ Ironica ได้กล่าวถึงลาวพวน ที่สระบุรี นะครับ ผมไปหามาได้ความว่า เป็นชาวล้านนา หรือ ชาวเหนือบ้านเรานี่แหล่ะครับ อพยพมาตั้งบ้านเรือนที่สระบุรี หลังจากที่เจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) หรือ กรมพระราชบวรฯ ในรัชกาลที่ ๑ เสร็จสงครามเมืองเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๓๑๗ ครับ ครั้งนั้น เจ้าศรีอโนชา ผู้เป็นน้องสาวของพระเจ้ากาวีละ ได้ถวายตัวเป็นนางห้ามของเจ้าพระยาสุรสีห์ และคงมิได้มาเฉพาะพระนางและคนสนิท คนคอยรับใช้ มีการเกณฑ์ไพร่พลล้านนา กลับมาตั้งชุมชนถิ่นฐานพร้อมพรรคด้วยเช่นกัน ดังที่กล่าวไว้ในตำนานเจ้าเจ็ดตน ว่า เจ้าศรีอโนชามีความดีความชอบในคราวช่วยพระยาสุริยอภัยปราบกบฎพระยาสรรค์ครั้งปลายรัชกาลพระเจ้าตากสิน ในปี พ.ศ. ๒๓๒๔ โดยเจ้าศรีอโนชาเกณฑ์ชาวลาวที่ปากเพียวสระบุรี ในตำนานเจ้าเจ็ดตน ได้กล่าวว่า "เจ้าครอกศรีอโนชาหงายเมืองได้ไว้แล้ว ก็ใช้ไปเชิญเอาเจ้าพระยาจักรี พระยาสุรสีห์ ๒ องค์ พี่น้องเข้ามาผ่านพิภพขึ้นเสวยราชย์ เจ้าพระยาจักรีตนเป็นพี่เป็นกษัตริย์องค์หลวง...พระยาสุรสีห์คนน้องปรากฏว่าล้นเกล้าล้นกระหม่อมกรมพระราชวังบวรสถานมงคลวังหน้า" (ตำนานเจ้าเจ็ดตน หน้า ๓๕ ครับ) การเกณฑ์ไพร่พล ครั้งกรุงเทพฯมีชัยเหนือ ทัพพม่า ที่มีโป่มะยุง่วน ใน พ.ศ. ๒๓๑๗ ไพร่พลล้านนา จำนวนมาก ถูกเกณฑ์ตั้งบ้านเรือนเขตภาคกลางตอนล่างจำนวนมาก บ้างบางส่วนก็ไปไกลถึงนครศรีธรรมราช ก็มี จึงไม่แปลกอะไรเลย การสงครามนั้นมีเหตุและปัจจัยที่สอดคล้องกับบริบทร่วมสมัยของสังคมนั้น ๆ ในสมัยอยุธยา ครั้งสมัยพระเจ้าปราสาททองพยุหยาตราทัพไปตีเมืองเขมร ก็เกณฑ์ไพร่พลเขมรมาก็มาก กลับกัน ครั้งสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา พระยาละแวก กษัตริย์เขมร ก็ยกทัพมาตี เกือบถึงกำแพงเมือง แม้จะพ่ายกลับไปก็เกณฑ์ไพร่พล เขตเมืองตะวันออกปัจจุบันไปมากเช่นกัน (ลองอ่านน่ะครับ War and the rise of the state : The military foundations of modern politics / Bruce D. Porter,New York : The Free Press, c1994 เดี๋ยวนึกออกแล้วบอกอีกเล่มนะครับ
จากคุณ :
บรรณารักษ์ (บรรณารักษ์)
- [
17 ธ.ค. 47 15:02:14
]
|
|
|