ความคิดเห็นที่ 18
อยากให้ลองอ่านสิ่งที่คุณนันทขว้างเขียนถึงต้มยำกุ้งแบบยาว ๆ ในกรุงเทพธุรกิจ จะได้เข้าใจชัดเจนว่า เขา ติ และ ชม หนังเรื่องนี้อย่างไร
ลองอ่านกันดู...
เปิดหม้อ 'ต้มยำกุ้ง' เสียดายกุ้ง... 9 สิงหาคม 2548 11:18 น.
แล้วโปรเจคประจำปีที่คนไทยหลายคนรอคอย ก็เดินทางมาถึง เมื่อดีเดย์ของ 'ต้มยำกุ้ง' หม้อละ 300 ล้านบาท กำลังจะเข้าฉายในวันพรุ่งนี้ทั่วประเทศ
แต่ก่อนหน้านี้หนึ่งสัปดาห์ สหมงคลฟิล์ม และ บาแรมยู ปิดเมเจอร์ฯ รัชโยธินทุกโรง ชวนแขกทุกวงการไปร่วมชิม นันทขว้าง สิรสุนทร คือหนึ่งในรอบนั้น และมีรายงานหลายแง่มุมที่น่าสนใจ รวมไปถึงทัศนะของคนดูบางส่วนมายังพื้นที่นี้
ทันทีที่ 'รอบแรก' ของ 'ต้มยำกุ้ง' ถูกฉายในวันพรุ่งนี้(11 ส.ค.)ตามโรงหนังต่างๆ ในบ้านเรา...
ทันทีที่หนังเรื่องเดียวกันของ 'สหมงคลฟิล์ม' และ 'บาแรมยู' ได้เวลาพิสูจน์ตัวเองต่อคนดูทั่วโลกในสุดสัปดาห์นี้...
ไม่ว่าใครจะชอบหรือไม่ชอบหนังไทยเรื่องนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นก็คือ การวิ่งสปีดร้อยเมตรเข้าสู่รายได้ 100 ล้านบาทอย่างรวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์หนังไทย ก่อนจะตามติดด้วยอีก 100 ล้านบาทในเวลาต่อมา...
ฉะนั้น นอกเหนือจากประเด็นที่ 'ขาม'(จา พนม) จะตามหา 'ช้าง' ในหนัง กลับสู่ถิ่นฐานเดิมได้หรือไม่นั้น...แง่มุมที่น่าสนใจก็คือ ต้มยำกุ้งรสโทนี จา นั้น จะสร้างรายได้ในบ้านเราเท่าไหร่ 200 หรือ 300 ล้านบาท ?
และบางที การกวาดเงินหลายร้อยล้านบาทของ 'ต้มยำกุ้ง' อาจเป็นภารกิจที่ง่ายกว่าการตามหาช้างพ่อใหญ่ของ ไอ้ขาม ในที่สุด
เป็นเช่นนี้แล้ว, คำคุยโวที่ใครๆ บอกว่า 'เสี่ยเจียง' สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ หล่นวาจาบนหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์บางฉบับว่า ต้มยำกุ้งจะได้เงิน 1,000 ล้านทั่วโลก จึงไม่ใช่เรื่องที่เกินเหตุ หากดูจากศักยภาพของหนัง และความเป็น 'โปรดักท์' ที่มีมิติให้เล่นอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการทำหนังให้เป็นแฟรนไชส์ทุกทิศทาง, การค้าขายสินค้าใหม่ที่ฝรั่งมังค่าสนอกสนใจมา 4-5 ปี ตั้งแต่ traditional (พิธีบวงสรวงพื้นบ้าน, มวยไทย) ไปจนถึง authentic (เรือหางยาวเอย..ผ้าขาวม้าเอย...รวมไปถึงช้าง) นี่ยังไม่นับรายละเอียดปลีกย่อยที่ปรากฏในความหมายของ exotic ในรูปของผ้าไทย, ชุดแต่งกายพื้นบ้าน หรือลวดลายของศิลปะต่างๆ
ต้มยำกุ้งนั้น ผ่านการคิดอย่างรอบคอบมาแล้วในระดับหนึ่งว่า จะขายอะไรต่อฝรั่ง ? จะใส่ลงไปในหนัง ? ประจักษ์พยานส่วนนี้ถูกอธิบายด้วยการปรากฏรายละเอียดดังกล่าวในช่วงต้นของหนังจนเกือบหมด มันปรากฏและทำหน้าที่ราวกับ 'กลิ่น' ที่โชยออกมาจากหม้อต้มยำ เหมือนจะรู้ว่าตะวันตกหลงใหลในสิ่งนี้ อย่างที่ได้แสดงออกกับการเทคะแนนให้หนังเรื่องใดๆ ก็ตาม ที่เสนอถึง traditional ของถิ่นฐาน (นอกเหนือไปจากสินค้าเดิมๆ อย่าง คนนอกหรือ outsider ซึ่ง กัส แวน แซนต์ เคยบ่นถึง)
อย่างไรก็ตาม, ท่ามกลางการคิดเรื่อง โดยมีหมุดยึดเพียงตัวละครอย่าง จา พนม ในบทของ 'ขาม' ซึ่งจะต้องติดตามช้างที่ถูกขโมยไปยังต่างแดน (ซิดนีย์)นั้น ..ท่ามกลางสีสันที่ฉูดฉาดของตัวละครที่บทตกแต่งและฉาบทา...และท่ามกลางความหวือหวาน่าตื่นตาในบุคลิกเฉพาะ แบบ จา พนม นั้น
หากใครสักคน จะค่อยๆ ลองถอยออกมาและมองเข้าไปอย่างพินิจพิเคราะห์แล้ว เราจะพบว่า 'ต้มยำกุ้ง' หม้อนี้ นอกจากจะมี 'กุ้ง' ลอยคออยู่เต็มโถแล้ว เมนูช้างที่ปรุงโดย ปรัชญา ปิ่นแก้ว นั้น จะขาดๆ เกินๆ และมีข้อด้อยให้น่าพูดถึงด้วยความปรารถนาดีอยู่หลายอย่าง
ปรารถนาดีเพราะ นี่คือหนังไทยที่ผู้หลักผู้ใหญ่คุยว่าเป็นความภาคภูมิของชาวไทย ..และปรารถนาดีเพราะนี่คืองานช้างที่จะออกไปสู่สายตาคนดูทั่วโลก
โดยโครงสร้างแล้ว 'ต้มยำกุ้ง' ก็คือ 'องค์บาก' ภาคสอง ทั้ง 'ทางที่เดิน' และ 'สีที่ทา' เพียงแต่เปลี่ยนจากการตามหา 'เศียรพระ' มาเป็น 'ช้างใหญ่' และเคลมกรุงเทพฯ ให้กลายเป็นซิดนีย์ แต่รายละเอียดเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะสินค้าที่ฮอลลีวู้ดผลิตออกมาหลายร้อยเรื่องในแต่ละปีนั้น ถ้าจะชำแหละกันจริง อาจจะมีอยู่แค่ 5-6 เรื่อง แต่ร้อยชื่อ - ก็ได้
ความสำคัญนั้นอยู่ที่ 'จะเล่าอย่างไร' มากกว่า 'เล่าอะไร' (เพราะ kill bill ก็เล่าเนื้อเดียวกับ hero และไม่ได้แตกต่างกับ terminator แต่อย่างใด)
อาจเป็นไปได้ ที่ทีมงานผู้สร้างต้มยำกุ้งหม้อละ 300 ล้านบาท สนใจอยู่ที่ 'กุ้ง' ที่ชื่อ 'โทนี จา' แม้จะคิดทางกว้างเผื่อ mass หมดทุกมุมแล้ว บทหนังกลับละเลยรายละเอียดปลีกย่อยที่ควรจะทำ ไม่ว่าจะเป็น น้ำหนักของตัวละคร, สถานการณ์ที่ควรจะเกิดและไม่ควรจะเกิด, ความน่าเชื่อถือสมเหตุสมผล ฯลฯ
มองอย่างเห็นอกเห็นใจผู้สร้าง โจทย์ที่หนังจะต้องตอบก็คือ การขาย จา พนม ต่อคนดู สิ่งที่ตอบโจทย์ตัวเองในเวลาต่อมาก็คือ การคิดฉากแอ็คชั่นที่จะโชว์สินค้าและให้ในสิ่งที่ผู้ชมอยากดู เหมือน องค์บาก ที่เผ็ดเท่านนั้น เมื่อมาถึง ต้มยำกุ้ง จะต้องแซ่บกว่าเดิม ?
เป็นไปได้มั้ยว่า...นี่คือหนังที่คิดฉาก(แอ็คชั่น)มาก่อนเรื่องราว ..แทนที่จะคิด story เพื่อเกิด scene ต่างๆ ในหนัง
ถ้าสมมติฐานที่ว่านี้เป็นจริง นั่นเป็นเรื่องที่ชัดเจนว่า ทำไมต้มยำกุ้งจึงเกิดเหตุอันไม่ควรเกิดหลายประการ จนนำมาซึ่งความเสียดายและการตั้งคำถามจากคนดูหลายคน
'จุดประกาย' เชื่อว่า ช้างถูกขโมยไปจริงๆ แต่สงสัยว่า ขาม ไปซิดนีย์ได้อย่างไร ?
เราเชื่อว่า..จา พนม กระโดดเตะต่อยได้อย่างที่เห็น แต่ใครจะเชื่อว่า ทำไม ขาม ซึ่งถูกรุม teen ในฉากเห็นงาช้าง ไยจึงไม่ตายและสู้ต่อได้ราวกับยอดมนุษย์ ?
เราแกล้งๆ เคยเชื่อว่า..หม่ำ จ๊กมก หนีออกมาจากตึกใน 'องค์บาก' แล้วพบรถตุ๊กตุ๊ก แต่เราแสร้งเชื่อไม่ได้ว่า ขาม ไปโผล่ที่เรือหางยาว ได้อย่างไร ?
ต่อให้เชื่อเรื่องเกินเหตุที่ว่ามาทั้งหมด คำถามของคนดูก็ยังคงมีไปยัง...ขาม บุกไปบ้านมาเฟียได้อย่างไร รวมไปถึงการใช้ความบังเอิญ(coincidence) จนเกินงาม... melodrama นั้นอาจจะมีกฎอยู่บ้าง แต่มันก็อนุญาตให้ 'บทหนัง' โกหกคนดูแต่พองาม ไม่ใช่เกินงาม (เหมือนแนว musical คือหนังร้องเพลง แต่ไม่จำเป็นต้องร้องเพลงตลอดเวลา)
พ้นจากมุมมองเหล่านี้ ต้มยำกุ้ง ซึ่งวางตัวเองเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องหนึ่ง ก็ยังละเลยการทำ 'หน้าที่' ของหนังบางส่วนต่อคนดู อาทิ การสร้างความต่อเนื่องขั้นพื้นฐานในหนัง
"สิ่งที่เป็นข้อด้อยของต้มยำกุ้งในสายตาผมก็คือการเล่าเรื่อง และความต่อเนื่องของบท หนังไทยหลายเรื่องมีบทที่ดีขึ้น แต่ไม่น่าเชื่อว่าบทหนังราคา 300 ล้านเรื่องนี้ จะไม่มีความต่อเนื่องหรือคอนตินิวใดๆ เลย" ศิริชัย สู่ประดิษฐ์ อดีตนักศึกษาภาพยนตร์จากคณะวารสารศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ให้ความเห็น เขาบอกว่าสิ่งที่หนังเรื่องหนึ่งน่าจะคำนึงถึงก่อนส่วนอื่นๆ ก็คือ การเล่าเรื่องที่ต่อเนื่อง
"ผมโอเคนะถ้าหนังจะมีความอ่อนด้อยอย่างอื่นบ้าง หรือไม่มีความประณีตในบางส่วน แต่ความต่อเนื่องควรจะเป็นสิ่งที่มีในหนัง ถ้าให้คะแนนต้มยำกุ้งเต็ม 10 ผมให้ประมาณ 6 คะแนน"
6 คะแนนที่ ศิริชัย บอกกับ จุดประกาย นั้น ไม่ใช่ไม่มีด้านดี มองกันอย่างแฟร์ๆ เราต้องยอมรับว่า นี่คือหนังที่มีนักแสดงมีความสามารถด้านศิลปะการต่อสู้ ไม่มีใครสงสัยในความสามารถของเขา ทั้งยังยกย่องความพยายามของเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่มาได้ไกลขนาดนี้
แต่ตัวละครหรือคาแรคเตอร์นั้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของหนัง หลายครั้งที่ตัวละครดีๆ ตกอยู่ท่ามกลางวงล้อมของพล็อตที่อ่อนแอ...หรือถูกโครงสร้างที่ไม่แข็งแรง ขึงพืดไว้
"ผมว่าผู้สร้างไม่ผิด ที่จะขาย จา พนม นะ" ภาสกร ประมูลวงศ์ นักทำหนังสารคดีตัวจริงเสียงจริง ซึ่งมีผลงานป้อนทีวีหลายช่อง ทั้งยังเคยแปลบทภาพยนตร์บางเรื่องในบ้านเราให้ความเห็น
"แต่หัวใจคือความเป็นหนัง ซึ่งต้องสมเหตุสมผลกันในระดับหนึ่ง ต้มยำกุ้งนั้น ถ้าดูดีๆ จะพบว่าฉากแอ็คชั่นกับเรื่องราว แทบไม่ได้เกี่ยวกันเลย มันโดดออกจากกันอย่างชัดเจน มันต้องมีสิครับว่า ฉากนี้เกิดขึ้นมาเพราะเรื่องราวส่งมา ไม่ใช่จู่ๆ ก็เกิด จู่ๆ จา พนม ก็ไปขับเรือหางยาว หรือลุยดะบ้านมาเฟีย"
เขาอธิบายต่อท้ายว่า สิ่งที่ จุดประกาย เสนอแง่มุมว่า หนังขาย tradition หลายอย่างนั้น น่าสนใจและน่ายกย่องถึงไอเดีย แต่ในความเป็นหนังเรื่องหนึ่ง มันต้องมีหน้าที่ของตัวเอง
"ผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่ได้กระแดะ แต่ทนดูจนจบไม่ไหว ต้องออกจากโรงมาก่อน เพราะหนังมีแต่ความไม่ต่อเนื่องในทุกส่วน แต่หนังเรื่องนี้อย่างน้อยๆ 200 ล้านถึงแน่ๆ"
ความเห็นของนักดูหนังอย่าง ภาสกร นั้น สิ่งหนึ่งที่เขาหมายถึงก็คือ การที่หนังอัดฉากโชว์ของ จา พนม มากเกินไป เรื่องจึงไม่สำคัญ เพราะใจจดใจจ่ออยู่ตลอดเวลากับฉากแอ็คชั่น ความคิดเห็นเรื่องนี้ เขาไม่ได้รู้สึกอยู่คนเดียว เพราะ ดวงใจ สอาดจิตต์ หัวหน้าข่าวบันเทิงของ นสพ.คมชัดลึก ก็บ่นว่า 'รู้สึกเหนื่อย' ในการดู ต้มยำกุ้ง
"หนังมันมีแต่ฉากแอ็คชั่นเยอะไปหน่อย ดูแล้วเหนื่อยค่ะ นอกจากนี้ก็ยังมีหลายๆ ฉากที่ไม่น่าเชื่อถือ โดยเฉพาะฉากที่ ขาม ถูกรุมตั้งหลายสิบคน แต่ดันไม่ตาย ลุกขึ้นมาสู้เฉยเลย แถมยังปราบทุกคนหมดเกลี้ยง"
นอกจากความเห็นเหล่านี้ จุดประกาย ยังสอบถามความคิดเห็นของหลายๆ คน หนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ความรุนแรง (violence) ในหนัง
"ทำไมต้องมีการหักกระดูกกันหลายๆ ฉาก บางฉากดูแล้ว ต้องเบือนหน้า มันแรงไป" นักวิจารณ์รุ่นใหญ่คนหนึ่งซึ่งไม่ขอออกนาม บอกกับ จุดประกาย
ความเห็นของเขานั้น ชัดเจนที่สุดในฉากซึ่งเลียนแบบมาจากหนัง kill bill ภาคสอง เมื่อ อูมา เธอร์แมน บุกเข้าไปในสถานที่แห่งหนึ่งและจัดการเล่นงานศัตรูหลายสิบเสียอยู่หมัด แต่ใน ต้มยำกุ้ง ฉากนี้ถูกใช้เมื่อ ขาม พบความจริงบางอย่างและถูกเหล่าร้ายรุมสกรัม ก่อนจะนอกจากไม่ตายแล้ว ยังจัดการศัตรูด้วยการโชว์ศิลปะหักแข้งขา จนไม่รู้ว่าจะส่งเสียงเชียร์หรือนิ่งเฉยดี
"kill bill ก็แรง die hard สมัยก่อนก็แรง แต่ทำไมเราดูแล้วไม่รู้สึกว่าแรง เพราะเขาทำเป็น" ภาสกร ยกตัวอย่าง
จากความเห็นของเขา มีแง่มุมที่น่าคิดต่อ อาทิ ฉากที่ปูเกี่ยวกับความผูกพันของช้างและขามวัยเด็กนั้น ถ้าบทหนัง 'เป็นสักหน่อย' สามารถเอาไปใส่ไว้ในตอนแฟลชแบ็คได้ การเสียเวลาปูไม่ได้เกิดประโยชน์อันใดเลย เมื่อดูจากสิ่งที่หนังเดินไป
"ผมได้ข่าวว่า ต้มยำกุ้ง มีเวอร์ชั่นฮอลลีวู้ดที่ ตั๊ก โป๊มาก แต่ไม่รู้ว่าเวอร์ชั่นนั้น เอาเข้าจริงๆ แล้วจะดีกว่าเวอร์ชั่นนี้แค่ไหน" ศิริชัย ทิ้งท้ายกับ จุดประกาย
อย่างไรก็ตาม, แม้ทัศนะของคนดูบางส่วน และความคิดเห็นของ จุดประกาย จะมีน้ำเสียงที่ชัดเจนถึงความผิดหวัง เสียดาย ถึงคำตอบของต้มยำกุ้ง (อันไม่เคลือบแคลงใดๆ หากหนังจะทำเงินไปถึง 300 ล้านบาท ทั้งยังยินดีที่ความสำเร็จที่จะมาถึง) และแม้ว่าในความเป็นโจทย์ของสินค้าใหญ่ตัวหนึ่ง จะมีการวางแผน, พัฒนาแบรนด์(จา พนม) และผลักดันหนังให้ไปไกลที่สุดในเส้นทาง รวมทั้งสามารถใช้เป็น case study สำหรับวงการหนังไทย เท่าๆ กับที่มหาวิทยาลัยทั่วโลก เคยใช้หนังชุด เจมส์ บอนด์ 007 เป็นกรณีศึกษา การทำตลาดในอดีต
แต่ในความเป็นศิลปะภาพยนตร์แล้ว คำตอบของต้มยำกุ้งก็คือ 'สอบไม่ผ่าน'
สอบไม่ผ่านอันไม่ได้หมายถึง...ผู้ชายที่ชื่อ ปรัชญา ปิ่นแก้ว...หรือนายทุนใจดียิ้มเก่งที่ชื่อ เสี่ยเจียง...เป็นคนทำงานที่ไม่สามารถพิสูจน์ตัวเองได้
ตรงกันข้าม, มันสมองของคนสองคนนี้ ถูกอธิบายมายาวนาน แจ่มชัด ถึงวิสัยทัศน์อันกว้างไกลหลายครั้ง
แต่จะดีกว่ามั้ย ? ถ้าเราจะต่างทำหน้าที่อย่างซื่อตรง และปรารถนาดีในการติชมผลงานอย่างตรงไปตรงมา ไม่ต่างจากหลายๆ ครั้งที่ จุดประกาย ได้ยกหน้าวิเคราะห์ กล่าวชมหนังในเครือสหมงคลฟิล์มและบาแรมยู หลายต่อหลายครั้งก่อนหน้านี้
เหล่านี้คือหน้าที่ ที่ควรจะเป็นกลางของสื่อ อันไม่ต่างจากหน้าที่ของ ขาม ต่อหนังต้มยำกุ้ง
เมื่อ 'เรา' ต่างทำหน้าที่ต่อหนังเรื่องหนึ่งแล้ว จึงเป็นความชอบธรรมที่จะเรียกร้อง 'หน้าที่' ของหนังที่พึงกระทำต่อผู้ชม
และหาก หม่ำ จ๊กมก ถามคุณว่า ทำไมหนังต้องมีหน้าที่ต่อคนดู
ให้คุณตอบว่า...เพราะหนังมีค่าใช้จ่ายทางวัฒนธรรม
หรือเรียกกันเล่นๆ ว่า 'ค่าตั๋วภาพยนตร์' นั่นเอง.
จากคุณ :
pizzicatoj
- [
13 ส.ค. 48 08:20:54
]
|
|
|