CafeTech-ExchangePantip MarketChatPantownBlogGangTorakhongGameRoom


    เกิดปี 2506-2526 ยามแก่! เดียวดาย

    คนที่เกิด ปี 2506-2526 อนาคตมีสิทธิ์สูง กลายเป็นเฒ่าเดียวดาย ไม่ใช่คำทำนายของหมอดู แต่เป็นการทายทักของ 2 นักวิจัยประชากร ดร.ปราโมทย์ ประสาทกุล กับ ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

    จุดน่าสนใจของคำทักอยู่ตรง...เหตุใดผู้ที่เกิดในช่วงนั้น ซึ่งปัจจุบันมีอายุระหว่าง 22-42 ปี มีโอกาสกลายเป็นคนแก่ผู้โดดเดี่ยวมากกว่าผู้ที่เกิดใน พ.ศ.อื่น ดร.ปราโมทย์ หนึ่งในเจ้าของงานวิจัยเรื่อง “ประชากรไทย และประชากรต่างชาติในเมืองไทย ปี 2548” แย้มคำเฉลย เพราะเด็กที่เกิดในช่วงนั้นเป็นช่วงที่ประเทศไทยมีประชากรเกิดใหม่ ปีละเกิน 1 ล้านคน ต่อเนื่องนานถึง 20 ปี คนที่เกิดในช่วงนั้นจึงเปรียบ เหมือนคลื่นลูกใหญ่ เวลากระทบกับอะไรจะกระทบรุนแรง ปัญหาแรกของคลื่นลูกใหญ่ ซึ่งปัจจุบันยังถือว่าอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ ก็คือ ดันเป็น ผู้นิยมมีลูกน้อย เฉลี่ยเพียงครอบครัวละไม่เกิน 1-2 คน เทียบกับช่วงที่คนเหล่านี้ยังไม่ลืมตาดูโลก คนไทยนิยมมีลูกโดยเฉลี่ย มากกว่าครอบครัวละ 6 คน บางบ้าน...มีกันเป็นโหล หนำซ้ำ ทุกวันนี้ คนรุ่น “คลื่นลูกใหญ่” ยัง แต่งงานช้าลง อยู่เป็นโสด หรือ อยู่เป็นคู่ แต่ไม่ยอมมีลูก และ มีพฤติกรรมผิดเพศ มากขึ้น หรืออีกนัย เวลานี้ประชากรรุ่นเกิดปีละเกิน 1 ล้านคน ซึ่งถือเป็นช่วงที่มี
    การเปลี่ยนผ่านประชากรครั้งใหญ่ของประเทศ กำลังมีพฤติกรรมการเจริญพันธุ์ ผิดปกติ ในสายตาของนักประชากรจึงมองว่า สภาพเช่นนี้จะทำให้เกิดภาวะ “วิกฤติคนแก่” ในอีก 20 ปีข้างหน้า ดร.ปราโมทย์บอกให้หลับตานึกภาพ พอคนกลุ่มนี้ซึ่งเปรียบเหมือนคลื่นยักษ์ เคลื่อนเข้าสู่วัยชรา ในอีก 20 ปีข้างหน้า จะทำให้เมืองไทยมีผู้สูงอายุมหาศาล แต่กลับเป็นผู้สูงอายุที่มีลูกหลานไว้คอยดูแลไม่มาก หรือบางคนไม่มีเลย ปัญหาตามมาก็คือ หากวันนี้คนรุ่นนี้ยังไม่เก็บหอมรอมริบ เพื่อเตรียมตัวไปสู่วัยชราในอนาคต พวกเขาจะกลายเป็นภาระที่ใหญ่หลวงของรัฐบาล และสังคมอนาคต ดร.ปราโมทย์ว่า ตอนสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง เมื่อปี 2488 ได้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศมากขึ้น ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยีการแพทย์ และสาธารณสุ ส่งผลให้อัตราตายของประชากรไทยลดลง แถมประชากรกลุ่มทารก และสตรีวัยเจริญพันธุ์ (อายุ 15-45 ปี) มีอัตรารอดชีวิตมากขึ้นเทียบกับก่อนปี 2488 เมืองไทยมีเด็กเกิดใหม่ปีละประมาณ 4-5 แสนคน แต่ในเด็กเกิดใหม่ทุก 1,000 คน มีอัตราตายก่อนอายุครบ 1 ขวบ มากกว่า 150 คน หรือตายก่อนอายุครบขวบ มากกว่าร้อยละ 15

    “ส่วนใหญ่ถ้าไม่ตายเพราะโรคระบาด ก็ตายตอนคลอด เพราะช่วงนั้นระบบการแพทย์และสาธารณสุขของเรายังไม่ดี” ด็อกเตอร์นักวิจัยฯ ย้อนอดีต

    แต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา การที่แม่และเด็กทารกมีอัตรารอดชีวิตมากขึ้น และแม้จะมีการรณรงค์คุมกำเนิดกันตั้งแต่ปี 2500 แต่ช่วงนั้น การวางแผนครอบครัวยังไม่เป็นที่ยอมรับแพร่หลาย เมื่อทั้งแม่และลูกมีอัตรารอดชีวิตมากขึ้น ขณะที่การคุมกำเนิดยังไร้ผล จึงไม่ต่างกับฐานการผลิตของโรงงานที่ขยายวง ทำให้ช่วงปี 2506-2526 ประเทศไทยมีภาวะเจริญพันธุ์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีเด็กเกิดใหม่ปีละ เกิน 1 ล้านคน ดูจากสถิติประชากรไทยเมื่อปี 2453 ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 หรือ เมื่อ 95 ปีที่แล้ว เมืองไทยเริ่มทำสำมะโนประชากรเป็นครั้งแรก สมัยนั้นทั้งประเทศมีประชากรเพียง 8 ล้านคน ปี 2480 มีประชากร 14 ล้านคน ปี 2490 เพิ่มเป็น 17 ล้านคน ปี 2499 จำนวน 23 ล้านคน ปี 2503 จำนวน 26 ล้านคน ปี 2513 จำนวน 34 ล้านคน เมื่ออัตราเพิ่มของประชากรมีท่าทีสูงขึ้นเรื่อยๆ วันที่ 17 มี.ค. 2513 รัฐบาลยุคจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกฯ จึงตัดสินใจประกาศ “นโยบายชะลออัตราเพิ่มประชากร” หลังจากนั้นมีการรณรงค์คุมกำเนิดอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2527 เป็นต้นมา อัตราเกิดของคนไทยเริ่มลดและกลับไปอยู่ที่ต่ำกว่าปีละ 1 ล้านคน และเริ่มลดลงเรื่อยๆ จนเหลือปีละประมาณ 8 แสนคน ตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา ปัจจุบันมีเด็กเกิดใหม่ปีละประมาณ 8 แสนคน มีคนตายปีละประมาณ 4 แสนคน เมื่อหักลบกัน เท่ากับเหลือประชากรเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 4 แสนคน นำจำนวนนี้ตั้ง คูณด้วย 100 หารด้วยประชากรทั้งประเทศประมาณ 60 กว่าล้านคน ประเทศไทยมีอัตราเพิ่มของประชากรเพียง ปีละ 0.67% การเพิ่มขึ้นของประชากรอย่างรวดเร็วในยุค “เกิดปีละเกิน 1 ล้านคน” เทียบกับอัตราเพิ่มเพียงน้อยนิดในยุคปัจจุบัน ส่งผลที่แตกต่างกันหลายเรื่อง

    “ผู้ที่เกิดในยุคปีละเกินล้านคน เวลาขับเคลื่อนแต่ละทีเหมือนคลื่นยักษ์ที่ไล่กระทบไปทุกเรื่อง และมีผลต่อการวางแผนของประเทศ เช่น แผนการขยายที่เรียน หรือสถานพยาบาล รองรับให้เพียงพอ แต่พอคลื่นลูกนี้ค่อยๆหมดไป หรือแผ่วลง แผนการเดิมที่เคยเตรียมไว้ในอนาคต อาจต้องกลับมาทบทวนใหม่”

    ดร.ปราโมทย์ว่า ปัจจุบันผู้ที่เกิดช่วงปี 2506-2526 ส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน และมีสถานะเป็นพ่อ-แม่
    แต่เป็นพ่อ-แม่ในยุคที่ต้องแข่งขันรุนแรง หรือดิ้นรนสร้างเนื้อสร้างตัวมากกว่าคนที่เกิดในรุ่นก่อนหน้า หรือเกิดหลังจากปี 2526 ซึ่งเป็นช่วงที่มีอัตราเด็กเกิดใหม่ต่ำกว่าปีละ 1 ล้านคน นอกจากคนรุ่น “เกิดเกินล้าน” ต้องแข่งกันกิน แข่งกันใช้ แข่งกันเรียน แข่งกันหางานทำ และแข่งขันทุกอย่าง เพื่อความอยู่รอด ตามสัดส่วนจำนวนคนที่เกิดร่วมยุค การที่พวกเขาต้องตั้งหน้าทำมาหากิน และเลือกที่จะมีลูกน้อย เฉลี่ยครอบครัวละไม่เกิน 1-2 คน ยังส่งผลไปถึงการอบรมเลี้ยงดูลูก ซึ่งส่วนใหญ่ มักจะเลี้ยงดูแบบตามใจมากกว่าคนรุ่นอื่น ผล...ในอนาคตเมืองไทย อาจเต็มไปด้วยประชากรที่ถูกตามใจจนเคยตัว
    ดร.ปราโมทย์ว่า ในทางทฤษฎีประชากร เมื่อภาวะเจริญพันธุ์ หรืออัตราเกิดของประชากรลดลงอย่างมากและต่อเนื่อง ถือว่ายากที่จะทำให้อัตราเกิดของประชากรพลิกกลับไปเพิ่มใหม่ เปรียบเหมือนสายน้ำที่ไหลแล้วไม่มีวันย้อนคืน เพราะผู้คนจะมองว่า ในระบบเศรษฐกิจที่ทวีการแข่งขันขึ้นเรื่อยๆ การมีลูกมาก นอกจากทำให้เลี้ยงไม่ไหว ยังทำให้ตัวเองทำงานแข่งขันสู้ คนอื่นไม่ได้ “เวลานี้บางประเทศในยุโรป จำนวนประชากรเกิดใหม่น้อยมาก อัตราเพิ่มของประชากรอยู่ในภาวะติดลบ อย่างญี่ปุ่น เวลานี้มีประชากร 127 ล้านคน แต่อัตราเพิ่มประชากรเริ่มอยู่ตัว อีก 50 ปีข้างหน้า อาจจะเหลือประชากรแค่ 120 ล้านคน เพราะเมื่อถึงช่วงนั้น ตามโครงสร้างประชากรจะมีคนแก่ตายมาก มีเด็กเกิดใหม่นิดเดียว”

    ดร.ปราโมทย์มองว่า การที่คนไทยยุคนี้มีการศึกษาดีขึ้น มีงานทำและมีรายได้เป็นของตัวเอง มีอิสระที่จะเลือกใช้ชีวิตมากขึ้น การไม่อยากแต่งงาน หรือแต่งงานแล้วยังไม่ยอมมีลูก หรือนิยมเลือกใช้ชีวิตแบบ “ไม้ป่าเดียว จับคู่อยู่กิน” ไม่แน่...ในอนาคตเมืองไทย อาจดำเนินรอยตามญี่ปุ่นและยุโรป “มีคนเคยพยายามคิดหารูปแบบประชากรที่เหมาะสมของเมืองไทย ควรจะอยู่ที่เท่าไร แต่พอถามต่อว่าเหมาะกับอะไร เช่น รายได้ หรือความสุข กลายเป็นคำถามโลกแตกที่ยังไม่มีใครตอบได้”

    ดร.ปราโมทย์ทิ้งท้าย “ที่แน่ๆ การที่ในอนาคตเรามีคนแก่ไร้คนดูมากขึ้น ปัญหาคนแก่ ถอดใจคิดสั้นฆ่าตัวตายจะมากตาม ถึงตอนนั้นรัฐบาลอาจต้องออก กฎหมายให้สิทธิคนไทยเลือกตาย”.

    จากคุณ : Taohooyee - [ 1 ก.ย. 48 16:30:36 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป