Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com


    โจ..มณฑานี ตันติสุข" กับชีวิตใหม่ ผ่าน "ทุกข์" จนพบ "สุข" ทางการเงิน

    ลองอ่านดูนะครับ
    อาจได้ประโยชน์ในการออมบ้างครับ

    ==========================================
    จากคนที่เคยล้มเหลวในชีวิตการเงินอย่าง "รุนแรง" จนถึงขั้นขึ้นศาล
    เพราะถูกฟ้องร้องและเกือบล้มละลายจากหนี้สินล้นพ้นตัว


    แต่วันนี้ชีวิตใหม่ของ.."โจ" มณฑานี ตันติสุข ดีเจรายการวิทยุ พิธีกรรายการ นักวิจารณ์ภาพยนตร์ นักเขียนเรื่องสั้นแนวไซไฟ ล่าสุด
    เป็นผู้เขียนหนังสือ "เงิน..เรื่องใหญ่ที่โรงเรียนไม่เคยสอน" ..
    กำลังแปรเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง
    สู่อนาคตอันสดใส และมั่งคั่งยั่งยืนทางการเงิน

    เธอเล่าว่า จุดเริ่มต้นของปัญหาทางการเงินของตัวเอง ปะทุขึ้น
    หลังจากเจอวิกฤติเศรษฐกิจค่าเงินบาทลอยตัว
    ผลจากการตั้งบริษัทจัดคอนเสิร์ตครบวงจร ซึ่งได้นำนักร้องเกาหลีเข้ามาแสดงคอนเสิร์ตเป็นครั้งแรก แต่กลับกลายเป็นว่าเกิดหนี้สินรุงรังตามมา
    จนไม่มีเงินจ่ายเงินเดือนพนักงาน และไม่มีเงินผ่อนบ้าน บัตรเครดิต จิปาถะ..

    "ตอนนั้นมีภาระหนักต้องส่งค่าผ่อนบ้าน 4 หมื่นบาทต่อเดือน
    แถมเป็นหนี้บัตรเครดิตอีกเกือบแสน"

    แต่เหตุการณ์ที่ทำให้ชีวิตของโจเปลี่ยนแปลง และหันมาสนใจ "แก้ปัญหา" การเงินอย่างเป็นจริงเป็นจัง ครั้งแรกเมื่อเกิดไฟไหม้บ้านจนหมดตัว
    และอีกครั้งเมื่ออยู่ในเหตุการณ์ซึนามิ เฉียดตาย !!

    "ตอนนั้นไฟไหม้หมดตัว แต่ค้นพบว่าเหลือเพียงรองเท้า 200 คู่ที่ซื้อมา
    นอกนั้นสิ่งอื่นๆ ไหม้หมด ก็คิดว่าจะซื้อมาทำบ้าอะไรไม่รู้
    เอาไปขายก็ไม่ได้ เอาไปช่วยตัวเองตอนไฟไหม้ก็ไม่ได้
    นั่นทำให้หันมาเริ่มปรับปรุงชีวิตและการเงินตัวเอง
    แต่ไม่สำเร็จ

    จากนั้นสองปีต่อมาก็เกิดซึนามิ
    รู้สึกว่าชีวิตไร้ค่ามาก ใช้ชีวิตไปวันๆ"

    โจ บอกว่า ส่วนหนึ่งของปัญหาของเธอเกิดจาก
    การขาดการอบรมความรู้เรื่องการเงิน
    โดยเฉพาะที่บ้าน พ่อแม่ และครูที่โรงเรียน ไม่ได้สอนการเงินให้แก่เด็ก

    "พื้นฐานครอบครัวไม่ได้สอนให้รู้จักการวางแผนการเงินเลย
    แม้จะเป็นเด็กที่หาเงินตั้งแต่เด็ก
    รู้จักออมเงินและนำเงินมาช่วยพ่อแม่ยามวิกฤติ
    แต่โตมาก็บริหารเงินไม่เป็น

    ทั้งพ่อและแม่มีนิสัยใช้เงินเกินตัว
    และซื้อความสบายก่อนนึกถึงอนาคต

    พ่อมีเงินเดือนหมื่นบาทแต่ใช้สามหมื่นบาท
    ส่วนแม่เป็นข้าราชการใช้เงินเก่ง มีหนี้บัตรเครดิต มีมือถือสองเครื่อง
    เข้าโครงการเกษียณก่อนกำหนดเพียงเพราะต้องการเอาบำเหน็จ
    ได้เงินมา 5 แสน แต่ใช้หนี้ไป 4 แสน"

    เมื่อรอดจากเหตุการณ์ซึนามิมาได้
    โจก็เริ่มเรียนรู้การเงินด้วยตัวเองอย่างจริงจัง
    ผ่านเวบไซต์การเงินของต่างประเทศ จนถ่องแท้ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา

    ด้วยการเริ่มจากทำบันทึกการเงิน
    ก็ทำให้โจค้นพบปัญหาการเงินของตัวเอง และแนวทางแก้ไข
    ซึ่งเหมือนกับ "ไฟส่องทาง" ให้แก่ตัวเธอ

    เพื่อเป้าหมายล้างหนี้บ้านที่มีอยู่ 3.7 ล้านบาท
    และหนี้บัตรเครดิตอีก 1.2 แสนบาท

    หลังจากเกิดปัญหาวิกฤติยุคไอเอ็มเอฟ เธอก็ "หยุด" ผ่อนบ้าน
    จนกระทั่งถูกธนาคารเป็นโจทก์ฟ้องร้องต้องขึ้นศาลพิพากษาคดีบ้าน

    แนวทางการ "ปฏิวัติ" นิสัยการเงินใหม่ของโจ ที่เธอต้องการเสนอแนะ
    สำหรับผู้ที่ยังไม่หลุดพ้นจาก "หลุมดำ" การเงิน 6 ข้อ กล่าวคือ..

    หนึ่ง..แยกแยะให้ได้ระหว่าง "อยากได้" กับ "จำเป็น"
    สอง..รู้สถานการณ์การเงินของคุณอย่างดี ทั้งตัวเลขในบัญชี
    ใบแจ้งหนี้ ยอดชำระ เป็นต้น
    สาม..ต้องเริ่มทำบันทึกการเงินตั้งแต่วันนี้ เพื่อป้องกัน
    "เงินฉันหายไปไหน?"
    สี่..ให้รางวัลตัวเองด้วยการออม
    ห้า..ฝึกนิสัย "มีเงินสดค่อยซื้อ"
    หก..ทิ้งมนุษย์พิษที่บั่นทอนสุขภาพเงินของเรา
    แต่ให้สะสมมนุษย์ยอดเยี่ยมเก็บไว้

    ส่วนการบริหารการเงินส่วนตัวของ โจ-มณฑานี นั้น
    เธอใช้วิธีออมเงินแยกย่อยออกเป็น "5 ขุมพลัง"

    พลังแรก..บัญชีเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ
    บัญชีเงินฉุกเฉิน 6  เดือน เพื่อใช้ในยามตกงาน

    โจบอกว่า เพราะงานที่ทำส่วนใหญ่เป็นงานฟรีแลนซ์
    ทำให้มีรายได้ไม่แน่นอน
    ดังนั้น
    ทุกครั้งที่ได้เงินมาจะหักไว้ 10% เป็นเงินออมส่วนนี้ไว้ก่อนทันที
    เพื่อจ่ายให้ตัวเองก่อน(Pay yourself first) เงินก้อนนี้เธอหักเก็บไว้ใน "ธนาคาร..." โดยขณะนี้สำรองไว้ได้แล้ว 6 เดือนของรายได้
    (ปัจจุบันโจมีรายได้จากหลายทางราวๆ 6 หมื่นบาทต่อเดือน)
    "ตอนนี้ตัวเองมีค่าใช้จ่ายต่อเดือนราว 4.4 หมื่นบาท ก็จะนำหักรายได้
    ไว้ 10% เก็บไว้ในบัญชีนี้ก่อนเลย ซึ่งตรงนี้ก็ยังได้กินดอกเบี้ย
    ช่วงที่เรายังไม่จำเป็นต้องเอาออกมาใช้

    แรกๆ ก็เริ่มออมจาก 3 เดือนก่อน
    พอออมครบ 3 เดือนก็ขยายเพิ่มขึ้นเป็น 6 เดือน 12 เดือน"


    พลังสอง..เงินฉุกเฉินสำหรับค่าใช้จ่ายไม่คาดคิด
    หลังจากที่เริ่มออม 10% แล้ว ก็เริ่มออมเพิ่มเป็น 15%
    โดยนำส่วนที่เพิ่มขึ้น 5% นี้ใส่ไว้ในบัญชีเงินค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน
    สำหรับค่าซ่อมแซมบ้าน ค่าหมอค่ายาเวลาป่วยกระทันหัน
    ค่าภาษีย้อนหลังหากสรรพากรเรียกเก็บ เป็นต้น

    ซึ่งปัจจุบันเธอมีเงินเก็บส่วนนี้ไว้แล้ว 3 หมื่นบาท
    ฝากไว้กับ "ธนาคาร..."

    พลังสาม..เงินประกันชีวิต และสุขภาพ
    โจ บอกว่า บัญชีนี้เธอใช้วิธีกันเงินออมเพิ่มไว้อีก 5%
    จากบัญชีที่สองที่เก็บไว้แล้ว 15%
    หากเมื่อใดที่เจ็บป่วยต้องนอนโรงพยาบาลจะได้ไม่เดือดร้อนเงินก้อน
    และต้องมีเงินไว้ให้แม่
    โดยปี ๆ หนึ่งจะกันเงินไว้จ่ายเป็นค่าประกันชีวิต 3 หมื่นบาท
    ซึ่งจะฝากไว้กับ "ธนาคาร..."

    พลังสี่..เงินลงทุนเพื่องอกเงย และสร้างฝัน
    "บัญชีนี้เป็นการออมเงินเพิ่มขึ้นจากสามบัญชี
    คือเพิ่มจาก 20% เป็น 30% โดยเอาเงิน 10% ที่เพิ่มขึ้นนี้
    ไปฝากไว้ในบัญชีเพื่อการลงทุนกับ "ธนาคาร..."

    ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาออมเงินได้แล้ว 4 แสนบาท
    ก็นำเงิน 3 แสนไปลงทุนทำธุรกิจของตัวเอง
    โดยตั้งบริษัทของตัวเองชื่อ บริษัท....
    เพื่อสร้างรายได้ให้แก่เราตลอด
    เหมือนกับห่านที่ไข่เป็นทองคำให้ไม่สิ้นสุด"

    ไม่เพียงเท่านั้น โจ..ยังแบ่งเงินส่วนที่ได้จากกำไรพิมพ์
    และจำหน่ายหนังสือ ไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลอายุ 24 เดือน
    ที่ออกโดย "ธนาคาร..." ได้รับผลตอบแทนปีละ 6% อีกด้วย

    พลังห้า..บัญชีค่าใช้จ่ายรายเดือน
    จะเป็นบัญชีเงินฝากเพื่อหักเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัว
    และเพื่อทำสเตทเมนท์รายได้ของตัวเองด้วย
    ซึ่งจะเปิดในชื่อบัญชีของบริษัท เพื่อลดค่าใช้จ่าย และภาษี

    นอกจากนั้น หากมีเงินเหลือจากรายเดือนหรือลดค่าใช้จ่ายได้เล็ก ๆ น้อย ๆ
    ก็จะนำเก็บไว้สำหรับการ "ท่องเที่ยว" ซึ่งกำลังจะเปิดอีกบัญชีหนึ่งอีกด้วย

    ถ้าแยกแยะเป็นสัดส่วนเงินออม และการลงทุนของมณฑานีนั้น
    เธอจะเก็บออมในทุกบัญชีรวมกันคิดเป็นสัดส่วน 30% ของรายได้
    แต่ในอนาคตต้องการจะเพิ่มเป็น 50%
    โดยส่วนที่เพิ่มอีก 20% จะนำไปลงทุนเพิ่มเพื่อสร้างอนาคต

    แต่เป้าหมายเกษียณอายุของโจ วางแผนว่าจะเกษียณเมื่ออายุ 55 ปี (ปัจจุบันอายุ 40 ปี) และมีชีวิตอยู่ถึง 80 ปี

    ด้วยแผนการเงินที่วางไว้อย่างดีดังกล่าว
    อีก 15 ปีเธอจะมีเงินถึง 8 ล้านบาทเมื่อเกษียณ

    ในระยะเวลาอีก 25 ปี
    เธอก็จะมีเงินไว้ใช้เมื่อแก่ชราและท่องเที่ยวแบบสบายๆ

    ผลจากการวางแผนการเงินและ
    เปลี่ยนนิสัยการเงินใหม่ด้วยการเก็บออม


    ทำให้ปัจจุบันโจ เหลือหนี้ผ่อนบ้านอีกราว 3 ล้านบาท
    วางแผนไว้ว่าภายใน 5 ปีจะใช้หนี้ให้หมดจากผลตอบแทนเงินลงทุนที่ได้มา
    และรายได้ที่เพิ่มขึ้น
    ส่วนหนี้บัตรเครดิตคงค้างอีกเพียง 2 หมื่นบาทเท่านั้น..!!

    เป้าหมายของโจ..
    ไม่ได้อยู่เพียงแค่ต้องการเป็น "อิสระทางการเงิน" เท่านั้น

    เธอยังมีจุดมุ่งหมายไกลกว่านั้นคือ การเป็น "นักให้กำลังใจอาชีพ"
    ในการเปลี่ยนแปลงชีวิตแก่คนทั่วไป และใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ
    ทั้งด้านการเงิน ความรัก และอื่นๆ

    ข้อมูลจาก นสพ.BizWeek วันศุกร์ที่ 08 กันยายน พ.ศ. 2549

    จากคุณ : Learn and Live - [ 27 เม.ย. 52 17:26:06 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com