Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com


    10 เรื่องต้องจัดการ เมื่อตกงาน ลองอ่านดูนะครับอาจได้ประโยชน์บ้างครับ

    ต้องยอมรับว่า"ตัวเลขคนตกงาน"และกระแสเลย์ออฟมนุษย์เงินเดือน
    ที่กำลังระบาดไปทั่วโลกในเวลานี้ หากเป็น1ในความโชคร้าย
    มีอะไรบ้างที่ต้องการจัดการ

    ไม่เพียงตั้งรับพายุร้ายด้วยความสงบ  
    หากแต่คุณยังต้องเค้นสติให้กลับมาโดยไว
    ถ้าต้องกลายเป็นหนึ่งในผู้เคราะห์ร้ายที่"ตกงาน" อย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย  
    เพราะหลังจากตกงาน ยังมีหลากเรื่องราวและหลายธุรกรรมการเงิน
    ให้คุณต้องลงมือจัดการ


    ฉะนั้น อย่ามัวนั่งจิตตก จมอยู่กับความเศร้า
    หรือฟูมฟายกับความโชคร้ายของตัวเอง
    ลองมาดูกันว่า 10 อย่างที่คุณต้องจัดการหลังจากตกงานมีอะไรบ้าง

    1.จัดการเรื่องประกันสังคม

    "เสกสรร โตวิวัฒน์" ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายการตลาด... แนะว่า
    เมื่อว่างงาน 2 สิ่งที่คุณต้องดำเนินการเกี่ยวกับประกันสังคม คือ
    เรื่องเงินช่วยเหลือกรณีว่างงาน และ
    การเลือกว่าจะรักษาสิทธิความคุ้มครอง

    จากสำนักงานประกันสังคมต่อไปหรือไม่

    1) สำหรับลูกจ้างที่มีการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม
    มาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน
    ก่อนว่างงานจะมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือ
    สำหรับผู้ถูกเลิกจ้าง
    จะได้รับประโยชน์ทดแทนในอัตรา 50% ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 180 วัน
    สำหรับผู้ลาออกจากงาน
    ได้รับในอัตรา 30% ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 90 วัน
    ตามเงื่อนไขในการส่งเงินสมทบแต่ละกรณี

    โดยผู้ประกันตนจะต้องไปขึ้นทะเบียนหางาน
    ที่สำนักงานจัดหางานของรัฐ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ว่างงาน


    2) ลูกจ้างที่ออกจากงาน
    จะยังคงได้รับความคุ้มครองจากสำนักงานประกันสังคมต่อไปอีก 6 เดือน นับจากวันที่ลาออกจากงาน

    โดยจะได้รับความคุ้มครองต่อ 4 กรณี คือ
    เจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ และเสียชีวิต

    ตามเงื่อนไข ในการส่งเงินสมทบแต่ละกรณี

    และถ้าผู้ประกันตนประสงค์ที่จะอยู่ในระบบประกันสังคมต่อ
    ก็สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ได้ตามเงื่อนไข คือ
    เคยนำส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน
    และจะต้องสมัครภายใน 6 เดือน นับจากวันที่ลาออกจากงาน
    และจะต้องจ่ายเงินสมทบในอัตราเดือนละ 432 บาท
    ได้รับความคุ้มครองทั้งหมด 6 กรณี คือ เจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ เสียชีวิต สงเคราะห์บุตรและชราภาพ

    "อุมาพันธุ์ เจริญยิ่ง" ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนการเงินส่วนบุคคล ธนาคาร..
    แนะคนที่สะสมเงินเข้าประกันสังคม
    ต้องอย่าลืมว่าคุณมีสิทธิที่จะได้รับเงินชดเชยกรณีว่างงาน

    "แต่การเลิกจ้างนี้
    ต้องไม่ได้เกิดจากทุจริตหรือก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรง  
    หลายคนดีใจมาก
    นึกว่าเงินเดือนแสน ได้ถึงเงินชดเชยเดือนละ 50,000 บาท
    ที่จริงแล้วไม่ใช่  

    ก็ต้องบอกว่าในส่วนอัตราค่าจ้างจะคิดอัตราสูงสุดลิมิตอยู่ที่ 15,000 บาท
    ซึ่งเป็นอัตราเดียวกันกับอัตราที่ใช้คำนวณเงินที่คุณส่งเงินสมทบ
    ในแต่ละเดือน  

    แนะว่าให้ไปทำการยื่นเรื่องขอเบิกเงินค่าชดเชยที่ประกันสังคม
    เพื่อใช้เป็นต้นทุนที่ใช้ในการหางาน
    เป็นหลักประกันว่า
    แต่ละเดือนมีเงินใช้จ่าย  ถึงแม้จะไม่มากนักก็ตาม  
    แต่ประโยชน์ที่ควรจะได้รับให้ถูกต้อง นั่นคือจำนวนเงินค่าชดเชย
    ที่พึงได้รับตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน"

    2. ตรวจสุขภาพการเงิน

    เสกสรรบอกว่า เมื่อว่างงาน
    แน่นอนว่ารายรับของคุณจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
    แต่รายจ่ายส่วนใหญ่จะยังคงอยู่


    จึงจำเป็นต้องมีการตรวจเช็คข้อมูล
    ทางการเงินของตนเองเป็นการด่วน
    ว่า
    มีสินทรัพย์ หนี้สิน เงินลงทุน ภาระผูกพันอะไรอยู่บ้าง
    ยังมีแหล่งรายได้ที่ยังเหลืออยู่บ้างไหม
    และมีค่าใช้จ่ายต่างๆ ของตนเองและครอบครัวอยู่เท่าไร

    สำหรับสินทรัพย์และเงินลงทุน
    ควรจัดกลุ่มออกเป็นสิ่งที่มีสภาพคล่องและไม่มีสภาพคล่อง


    เพื่อประเมินถึงความสามารถในการแปรเปลี่ยนเป็นเงินสด
    ให้สอดคล้องกับภาระค่าใช้จ่ายที่ยังคงเหลืออยู่

    โดยจะต้องอัพเดทมูลค่าของทรัพย์สินเงินลงทุน
    ให้เป็นมูลค่าปัจจุบัน ไม่ใช่ราคาต้นทุน

    สำหรับค่าใช้จ่ายและการผ่อนชำระหนี้
    ต้องตรวจสอบว่า
    ในแต่ละเดือนจะมีค่าใช้จ่ายอะไรที่จำเป็นต้องจ่ายบ้าง
    และค่าใช้จ่ายอะไรที่สามารถลดได้หากจำเป็น


    รวมถึงมูลค่าหนี้สินที่คงเหลืออยู่ว่ามีสถานะเท่าใด
    เพื่อให้ทราบถึงสุขภาพการเงินของคุณที่เป็นปัจจุบัน

    สอดรับกับอุมาพันธุ์ที่มองว่า
    เมื่อตกงานถือว่าเป็นโอกาสอันดี ที่จะต้องสำรวจตัวเองว่า
    สุขภาพการเงินของเราเป็นอย่างไรบ้าง


    เพราะว่า ว่างงานในช่วงเศรษฐกิจตกสะเก็ดแบบนี้
    จะได้เตรียมตัวเตรียมใจพร้อมว่า เราสามารถรับมือวิกฤติได้แค่ไหน  

    การตรวจสุขภาพการเงิน คือ
    การดูว่า ณ จุดนี้ เรามีความมั่งคั่งเป็นอย่างไร

    เช็คว่า เราสะสมเงินทอง ของมีค่า มากน้อยแค่ไหน
    มีเงินสดอยู่เท่าไหร่ มีเงินลงทุนเท่าไหร่ ทรัพย์สินที่ดิน บ้าน
    รถ เครื่องประดับ หุ้น กองทุน เรามีอะไรบ้าง
    มูลค่าตลาดอยู่ที่เท่าไหร่  

    พอดูทรัพย์สินแล้ว ก็ต้องดูภาระว่า
    มีภาระหนี้สินอะไรบ้าง  ตัวไหนเยอะสุดๆ
    ทรัพย์สินที่มีคุ้มภาระหนี้ที่มีอยู่หรือไม่

    ซึ่งนั่นก็คือ ความมั่งคั่งของเรานั่นเอง

    "การตรวจสุขภาพยังทำให้รู้ด้วยว่า
    เรามีสัดส่วนการออม การลงทุน และภาระตัวไหนเยอะสุด
    มากไป หรือน้อยไป

    เพราะในบางครั้งอาจจะมั่งคั่งเยอะ แต่สภาพคล่องน้อย เช่น
    ทรัพย์สินส่วนใหญ่เป็นที่ดิน ก็มีปัญหาสุขภาพการเงินได้


    เพราะช่วงชีวิตสะดุด ไม่มีรายได้ แต่รายจ่ายยังคงมีอยู่ตลอด
    ก็อาจพบปัญหาขาดสภาพคล่องได้"


    3 รื้อปรับขยับการใช้เงิน

    เสกสรรให้ข้อคิดว่า
    เมื่อตรวจสอบสถานะการเงินเรียบร้อยแล้ว
    คุณคงพอทราบว่าตัวเองพอมีความมั่นคงทางการเงินเพียงใด

    รายได้ที่ยังเหลือกับทรัพย์สินที่มีอยู่
    เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายและหนี้สินหรือไม่

    หากมีไม่เพียงพอหรือสามารถรองรับภาระค่าใช้จ่ายได้ไม่นาน
    ก็ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เงินอย่างเร่งด่วน
    จะปรับมากหรือน้อยก็ขึ้นกับระดับความจำเป็น

    สิ่งที่ต้องลดลงก่อนเป็นอันดับแรก
    ได้แก่ รายจ่ายฟุ่มเฟือย เช่น ค่าใช้จ่ายเพื่อสันทนาการ ท่องเที่ยว
    ชอปปิ้ง ซื้อเสื้อผ้า

    ต้องลดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมตามสถานภาพปัจจุบัน

    ต่อมาคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต
    จ่ายให้น้อยลงสำหรับสิ่งจำเป็น เช่น
    ลดการทานอาหารนอกบ้านหรือมีราคาแพงให้น้อยลง

    สำหรับค่าใช้จ่ายที่ไม่ควรลดหรือเลือกลดเป็นอันดับท้ายๆ คือ
    ค่าใช้จ่ายสำหรับหนี้สินที่ลดแล้วจะกระทบต่อเครดิต

    และความน่าเชื่อถือของตัวคุณ เช่น ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ
    การค้างชำระหนี้บัตรเครดิตมากกว่าที่กำหนด เป็นต้น

    สิ่งที่อุมาพันธุ์แนะนำเพิ่มเติมคือ  
    คนตกงานควรจะใช้นโยบายรัดเข็มขัด ปรับการใช้เงิน

    สิ่งจำเป็นของคนตกงานคือควรจะจดบัญชีรับจ่าย
    จะได้รู้ว่า ค่าใช้จ่ายตัวไหนเป็นค่าใช้จ่ายหลัก
    หรืออาจเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น

    "ในช่วงนี้ไม่ต้องเดินทางไปไหนแล้ว  
    ค่าใช้จ่ายด้านพาหนะก็สามารถที่จะปรับลดลงได้  
    ค่าใช้จ่ายด้านอาหารการกิน
    แทนที่จะกินข้าวนอกบ้านให้สิ้นเปลืองและเสียสุขภาพ

    ก็เป็นโอกาสที่จะแสดงฝีมือ ทำอาหารทานเอง  
    ดีไม่ดี อาจพบพรสวรรค์ของตัวเอง สามารถนำมาเป็นอาชีพเสริมได้ด้วย

    นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายในส่วนของสันทนาการ
    เสื้อ ผ้า หน้า ผม ก็ควรที่จะปรับลดลง

    พอห้างเซลล์  ก็ไม่ต้องรีบกระโจนใส่
    เพราะถ้าเผลอรูดบัตรไป เดือนหน้าไม่มีเงินเดือนเข้ามาช่วยจ่ายแล้ว  

    หลักๆ คือ ต้องระวังการใช้เงิน"


    4.เคลียร์เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

    เสกสรร อธิบายว่า เงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะแบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ
    เงินสะสม (ที่สมาชิกจ่ายเข้ากองทุน)
    เงินสมทบ (ที่นายจ้างจ่ายให้)
    ผลประโยชน์เงินสะสม  และ
    ผลประโยชน์เงินสมทบ (สิ่งที่งอกเงยจากการลงทุน)

    เงินที่เป็นสิทธิของคุณ
    ในฐานะสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแน่นอนคือ
    เงินสะสมและผลประโยชน์เงินสะสม


    ส่วนเงินสมทบและผลประโยชน์เงินสมทบ
    จะได้รับก็ต่อเมื่อคุณปฏิบัติตามเงื่อนไขของกองทุน เช่น
    มีอายุงานถึงเกณฑ์ที่กำหนด

    เมื่อคุณออกจากงานจะมีทางเลือกคือ
    รับเงินก้อน โดยถือว่าเป็นการลาออกจากระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
    หรือไม่รับเงินก้อนนี้ โดยคงเงินไว้ในระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก่อน
    เพื่อรอโอนย้ายไปยังกองทุนสำรองใหม่ของบริษัทนายจ้างในอนาคต

    ข้อพึงระวังคือ
    หากคุณลาออกจากกองทุนโดยที่ยังไม่เกษียณอายุ
    คุณอาจจะเสียผลประโยชน์จากเงินสมทบที่จะได้รับไม่เต็มจำนวน

    อีกทั้งเงินที่ได้รับจากกองทุนในส่วนของเงินสมทบและ
    ผลประโยชน์ของเงินสะสมและเงินสมทบจะต้องถูกหักภาษีตามเงื่อนไข
    เรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพด้วย

    เรื่องนี้ อุมาพันธุ์ บอกว่า
    คนที่มีเงินสะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีสองทางเลือก
    ซึ่งต้องชั่งน้ำหนักดูว่า ควรเลือกทางเลือกไหน  
    ทางเลือกที่ 1 คงเงินไว้ในกองทุนต่อไป จนกว่าจะได้งานใหม่  
    ค่อยย้ายกองทุนไปที่กองทุนของที่ทำงานใหม่  
    หรือทางเลือกที่ 2 เอาเงินออกจากกองทุน เพื่อนำมาใช้จ่าย

    ส่วนทางเลือกที่ 1 หรือ 2 ดีกว่ากัน
    ก็ต้องบอกว่า ขึ้นอยู่กับสุขภาพทางการเงินของคุณ  
    และโอกาสที่คาดว่า จะหางานใหม่ได้เมื่อไหร่


    เพราะถ้าเลือกทางเลือกที่ 1
    ก็ต้องแจ้งกับฝ่ายทรัพยากรบุคคลว่า คุณมีความประสงค์จะคงเงินไว้
    ซึ่งมีค่าใช้จ่ายประมาณ 650 บาท ต่อปี

    ทางเลือกนี้ คุณจะได้ออมอย่างต่อเนื่อง
    ไม่ได้เอาเงินออกจากกองทุน เก็บก้อนนี้ไว้ใช้ในยามเกษียณ

    ทางเลือกที่สอง เอาเงินออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเลย  
    ซึ่งทางเลือกนี้ ต้องเสียภาษี  โดยสามารถแยกยื่นได้  

    หลักคือ ดูที่อายุงานว่า ถ้าน้อยกว่า 5 ปี
    จะไม่ได้สิทธิหักลดหย่อนภาษีเลย

    แต่ถ้ามากกว่า 5 ปี รัฐให้สิทธิลดหย่อนภาษี  
    โดยหักลดหย่อนขั้นที่ 17,000 บาท คูณจำนวนปีตามอายุงาน
    หักขั้นที่ 2 หักลดหย่อนได้อีก 50% ของเงินก้อนหลังหักลดหย่อนขั้นที่ 1  เหลือเท่าไหร่ ก็ต้องนำเงินก้อนนี้ไปเสียภาษี

    5.ถนอมเงินก้อนที่ได้มา

    เสกสรร เตือนว่า
    ถ้าตกงาน เงินก้อนที่ได้มาอย่าเพิ่งรีบใช้ หรือนำไปลดหนี้

    คนส่วนใหญ่จะคิดว่าวิธีที่ดีที่สุดสำหรับการจัดการเงินก้อนนี้ ก็คือ
    การเอาไปลดหนี้ เพื่อลดภาระดอกเบี้ยจ่าย

    แต่จริงๆ แล้วสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ
    การจัดสรรเงินให้เพียงพอต่อการดำรงชีพตามปกติ
    เพียงพอต่อการจ่ายคืนหนี้ได้ตามกำหนด


    โดยต้องคิดออกมาให้ได้ว่า
    ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพรวมค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ และชำระบัตรเครดิต
    ในแต่ละเดือนเป็นเท่าใด


    จากนั้นก็ต้องกันเงินสำรองส่วนนี้ให้ได้ก่อนเป็นอันดับแรก
    ประมาณ 6-8 เท่า

    เพื่อเป็นหลักประกันว่า
    ยามว่างงานคุณจะยังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติไปอีก
    อย่างน้อย 6-8 เดือน จนกว่าจะได้งานใหม่
    และเมื่อกันเงินส่วนนี้แล้วยังมีเงินก้อนเหลือ
    จึงค่อยพิจารณาว่าจะจัดการอย่างไรดี

    ส่วน อุมาพันธุ์ เสริมว่าบางคนทำงานมานาน
    ได้รับเงินชดเชยตามอายุงาน  เป็นเงินก้อน  
    หรือมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จจากกองทุนประกันสังคม  

    ก็ต้องบอกว่า
    อย่าเพิ่งผลีผลามนำเงินก้อนนั้นไปใช้จ่าย  
    ควรเก็บเป็นเงินก้นถุงสำรองไว้เผื่อฉุกเฉิน


    ปกติเงินเผื่อฉุกเฉินควรมีอย่างน้อย 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือน
    เผื่อในช่วงที่เราตกงาน และอยู่ในช่วงหางานใหม่  
    แต่ในสถานการณ์แบบนี้ ต้องบอกว่า
    ควรมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินเผื่อไว้อย่างน้อย 6 เดือนถึงหนึ่งปี

    เลยทีเดียว

    ดังนั้น เงินก้อนนี้ควรกันเก็บไว้เป็นเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินให้เพียงพอ
    ก่อนที่จะนำไปใช้จ่าย  
    โดยอาจจะเก็บในรูปของเงินฝากธนาคาร หรือกองทุนรวมตลาดเงิน
    กองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น

    จากคุณ : Learn and Live - [ 28 พ.ค. 52 20:43:22 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com