Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com


    นิทาน...เรื่องเล่าก่อนนอนที่สร้างชาติได้ (ไอน์สไตน์ เคยแนะนำว่า อยากให้เด็กฉลาดก็เล่านิทานให้ฟัง)

    "นิทาน" เรื่องเล่าเล็กน้อยในบ้านที่พ่อแม่บางคนมองเป็น
    เพียงเรื่องหลอกเด็ก

    ความลึกซึ้งของนิทาน ไม่ได้เป็นเพียงประตูสู่ "โลกจินตนาการ"
    แต่ยังเป็นสื่อการเรียนรู้ที่เปี่ยมด้วยความสุข
    เป็นเครื่องมือกล่อมเกลาความคิดและจิตวิญญาณที่แยบยล
    เป็นสะพานเชื่อมสายใยรักระหว่างพ่อแม่กับลูก
    และเป็นประตูที่แง้มพาลูกน้อยสู่โลกใบใหญ่อย่างเข้าใจ

    กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว...

    สิ้นเสียงดังกล่าว ม่านแห่งโลกจินตนาการของผู้ฟังตัวจิ๋ว
    กำลังเปิดออกทีละน้อยๆ ในโลกใบนี้ราชสีห์เจ้าป่ากับเพื่อนหนูตัวน้อย
    โลดแล่นด้วยกันอย่างสนุกสนาน
    ในโลกใบนี้ยังมีสัตว์ในเทพนิยายอย่างมังกรไฟหรือพญานาค
    เป็นตัวเอกของเรื่อง
    ในโลกใบนี้มีแม่มดใจร้าย ซึ่งท้ายที่สุดก็ต้องพ่ายแพ้ให้กับเจ้าชาย
    และสุดท้ายเจ้าชายกับเจ้าหญิงก็แต่งงานอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข

    จบเรื่องเล่า หากผู้ฟังตัวน้อยยังไม่หลับฝันหวานไปเสียก่อน
    วลีปิดท้ายการผจญภัยในโลกนิทานประจำค่ำคืนนั้น มักจะมีว่า
    "นิทานเรื่องนี้ สอนให้รู้ว่า..."

    นิทานเป็นวรรณกรรมที่เก่าแก่ที่สุดของโลกรูปแบบหนึ่ง
    นิทานอาจมีกำเนิดพร้อมๆ กับการเกิดขึ้นของครอบครัวมนุษยชาติ
    แรกเริ่มอาจเป็นเรื่องจริงที่เล่าสู่กันฟังโดยมีการเสริมแต่ง
    ให้มีความมหัศจรรย์และสนุกขึ้นจนห่างไกลจากเค้าเรื่องจริง
    นิทานจึงเป็นเรื่องเล่าจากจินตนาการสืบต่อกันมา

    นอกจากนิทานอีสป
    ที่เชื่อกันว่าเป็นที่รู้จักของเด็กและผู้ใหญ่ทั่วโลกมากที่สุด

    ยังมีเทพนิยายกริมม์และนิทานการ์ตูนจากวอลท์ดิสนีย์
    ที่ได้รับความนิยมจากเด็กและพ่อแม่คนไทย เป็นอย่างมาก

    ขณะที่ทั่วโลกมีนิทานอีสปสั่งสอนศีลธรรมอย่างแยบคาย
    คนไทยก็ยังมีนิทานชาดกสั่งสอนคุณธรรมอย่างตรงไปตรงมา
    ขณะที่เทพนิยายกริมม์ของคนทั่วโลกมีเรื่องราวของ
    "ซิน เดอเรลล่า" สาวน้อยอาภัพที่พบกับความโชคดีในตอนท้ายสุด
    อันเนื่องมาจากความดีของเธอ
    นิทานพื้นบ้านของไทยก็มีเรื่องราวของนางเอื้อยใน "ปลาบู่ทอง"

    นิทานพื้นบ้านของไทยหลายต่อหลายเรื่องเป็นตำนานของท้องถิ่น
    ที่เล่าสืบทอดกันมานานนับร้อยนับพันปี
    ส่วนใหญ่เป็นการอธิบายความเชื่ออันเป็นที่มาของวัฒนธรรมประเพณี
    และกำเนิดของสถานที่สำคัญในท้องถิ่น
    รวมถึงเป็นชุดความคิดที่อธิบายปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ
    และความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตต่างๆ บนรากฐานความคิดของคนโบราณ

    ซึ่งบ่อยครั้ง มักแฝงซึ่ง "โบราณอุบาย"
    หรือภูมิปัญญาของบรรพบุรษในการให้คติแง่คิดกับอนุชนรุ่นหลัง

    การเล่านิทานพื้นบ้านไทย
    จึงเป็นหนทางในการเรียนรู้รากเหง้าทางความคิดของคนรุ่นก่อน
    และเป็นอีกแนวทางในการ รักษาความเชื่อ ทัศนคติ วิถีชีวิต
    และวัฒนธรรมของสังคมไทยให้สืบทอดต่อไป

    แต่ไม่ว่าจะเป็นนิทานสัญชาติใด
    หัวใจสำคัญของนิทานก็คือส่งเสริมให้เด็กได้ใช้ "จินตนาการ"

    "อยากให้เด็กฉลาดก็เล่านิทานให้ฟัง
    อยากให้ฉลาดขึ้นไปอีกก็เล่านิทานมากขึ้นอีกเท่านั้นเอง"

    อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์
    เคยให้คำแนะนำนี้กับคุณแม่ท่านหนึ่งที่อยากให้ลูกกลายเป็นอัจฉริยะ

    ในแต่ละคืนที่นิทานจบลงพร้อมกับหน้าที่ส่งผู้ฟังตัวจิ๋วให้นอนหลับฝันดี
    ทว่าต่อมจินตนาการของหนูน้อยยังไม่จบ เส้นใย ประสาทในสมอง
    โดยเฉพาะซีกขวากำลังขยายตัว

    ผลวิจัยทางการแพทย์ยืนยันว่า
    การเล่านิทานเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการกระตุ้นเซลล์สมอง
    และเสริมสร้างความฉลาด (Quotient) รอบด้านให้กับลูกน้อย


    เด็กที่ได้ฟังนิทานจึงมักมีเส้นใยสมองมากกว่าเด็กคนอื่น
    นั่นหมายถึงความสามารถในการคิดเชื่อมโยงหาเหตุผลและแก้ปัญหา
    ก็ย่อมมากกว่าเด็กคนอื่น

    แต่ทั้งนี้ การเล่านิทานจะได้ผลสูงสุด
    กับเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจนถึง 6 ขวบ เท่านั้น


    ดังนั้นหากพ่อแม่เริ่มเล่านิทานให้ลูกน้อยฟังก่อนวัย 6 ขวบ
    โอกาสที่ลูกจะกลายเป็นเด็กอัจฉริยะในด้านต่างๆ ก็มีมากขึ้น
    แต่หากช้ากว่าวัยนี้แล้วก็อาจจะสายเกินไป

    จึงไม่ใช่เรื่องที่กล่าวหากันจนเกินไปนักที่จะพูดว่า
    พ่อแม่ที่ไม่เล่านิทานให้ลูกในช่วงวัยนี้ฟังเท่ากับ
    กำลังตัดโอกาสความเป็นอัจฉริยะ (Quotient) ของลูกรัก


    นักวิชาการด้านพัฒนาการเด็กหลายประเทศยังเห็นตรงกันว่า
    นิทานอาจจะเป็นสื่อชนิดเดียวในยามนี้ที่สามารถสื่อกับเด็กเล็กได้ดีที่สุด นิทานถือเป็นสะพานที่สำคัญและ สวยงาม
    ที่พ่อแม่สามารถใช้เชื่อมสู่โลกของลูกน้อยได้อย่างแนบเนียน
    และเป็นเครื่องมือปลูกฝังคุณธรรมและจิตใจอันอ่อนโยน
    ให้กับลูกน้อยได้อย่างแยบยล


    แต่ไม่ว่าจะเป็นนิทานเรื่องใดของชนชาติไหน
    นิทานที่ถือว่าดีที่สุดสำหรับลูกน้อยก็คือนิทานที่มีพ่อแม่เป็นผู้เล่า

    "จริงๆ แล้ว แง่งามของการเล่านิทานคือ
    การที่พ่อแม่ได้มีโอกาสปฏิสัมพันธ์และโต้ตอบกับลูกน้อย
    โดยไม่จำเป็นต้องเล่าจากหนังสือ
    อาจแต่งขึ้นเองจากจินตนาการของผู้เป็นพ่อแม่
    และโยนคำถามให้ผู้ฟังตัวน้อยช่วยจินตนาการต่อเติม
    นิทานประจำบ้านเรื่องนี้ด้วยก็ยิ่งดี"

    แก้ไขเมื่อ 07 ก.ค. 52 18:49:01

    จากคุณ : Learn and Live - [ วันอาสาฬหบูชา 18:48:25 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com