Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
เลี้ยงลูกให้มีวินัยรู้จักการเก็บของ.....เลี้ยงลูกให้รู้จักการแบ่งปัน  

เด็กอายุประมาณ 1 ขวบ เราสามารถเริ่มฝึกเริ่มวางกรอบระเบียบวินัยให้เขาได้แล้วค่ะ  อย่าคิดว่าหรืออย่าหวังว่าให้โรงเรียน หรือให้เนอสเซอรี่เป็นผู้สอนให้  เพราะพ่อแม่ต่างหาก คือแม่พิมพ์ชั้นดีเยี่ยมของลูก   ดังคำพูดที่บอกว่า พ่อแม่คือแม่พิมพ์ของลูก  ทุกครั้งที่คุณทำอะไร เด็กจะเห็นพฤติกรรม แล้วจะทำตามโดยที่เราไม่รู้ตัว  ดังนั้นมันจึงเป็นการสอนสั่งทางหนึ่ง ที่พ่อแม่มีให้ลูก แม้ว่าจะไม่ใช่การสอนด้วยวาจาก็ตาม


สอนลูกเก็บของเล่นหลังจากเขาเล่นเสร็จ


วิธีการสอนลูกให้เก็บของเข้าที่หลังจากที่เขาเล่นเสร็จแล้ว  (เพราะไม่อย่างนั้นคุณแม่เหนื่อยตายค่ะ  หรือถึงไม่เหนื่อยเพราะมีแม่บ้านคอยทำตามให้  แต่การฝึกวินัยลูกก็ยังเป็นสิ่งที่ควรทำ  เพราะถ้าไปอยู่ในสังคมภายนอก คงไม่มีแม่บ้านไปตามปรนนิบัติได้แน่ ๆ )


เวลาที่เขาเล่นของเสร็จแล้ว ไม่ว่าจะเป็นของเล่นชิ้นไหน  ให้บอกกับเขาว่า       เก็บบบบ...  ลูก .......เก็บบบบบ..... แล้วทำให้เขาดูด้วย โดยค่อย ๆ เก็บของเข้าตระกร้า หรือเข้าตู้   ให้เขาดูทีละชิ้น อย่างช้า ๆ ทำไปทุก ๆ ชิ้น  และทำทุกครั้งที่เขาเล่นเสร็จ  พาเขาทำไปพร้อมด้วย  เพราะโดยธรรมชาติเด็กจะชอบมอง ชอบทำตามที่พ่อแม่ตัวเองทำ  อยากทำด้วย อยากสนุกด้วยนั่นเอง


ผลลัพธ์ที่ได้ ให้แอบสังเกตุค่ะ  เวลาเขาเล่นของเล่นคนเดียว  เล่นเสร็จแล้ว เขาจะนำของชิ้นนั้นกลับไปเก็บที่เดิมค่ะ  บางครั้งอาจจะไม่เก็บทั้งหมด  แต่ก็จะเก็บ แล้วค่อย ๆฝึกไปเรื่อย ๆ  แอบดูลูก แล้วบอกลูก  เก็บสิลูก เก็บบบบบ.......   ทำแบบนี้ไม่กี่ครั้งเขาจะเริ่มจำค่ะ ว่าถ้าเล่นของเล่นแล้วต้องเก็บเข้าที่เสมอ   ถ้าไม่ฝึกลูกตอนนี้ ยิ่งโตยิ่งฝึกยาก  เพราะความเป็นตัวเป็นตนแท้ ของตัวเองเริ่มมา  ยิ่งถึงอนุบาล จะยิ่งยากเพราะเขาเป็นตัวของตัวเองค่ะ ดื้อเป็น  งอแงเป็น  โยเยเป็น  




สอนลูกให้แบ่งปันโดยเริ่มจากแบ่งให้พ่อแม่ก่อน


การแบ่งปันเป็นสิ่งที่จำเป็นค่ะ  การแบ่งปัน แบ่งได้หลายแบบ แบ่งได้หลายคน  โดยเฉพาะการแบ่งปันให้กับพ่อแม่ของตัวเอง  เพราะการแบ่งปันคือการเสียสละของที่ตัวเองรักตัวเองชอบ  ออกมาถ้าไม่ฝึกลูกให้มีนิสัยแบ่งปันตอนนี้   โตไปเขาจะเป็นเด็กหวงของ หวงทุกอย่าง  กับคนอื่นยังไม่น่ากลัวเท่ากับการหวงกับพ่อกับแม่ของตัวเอง  อย่าคิดว่าไม่มีนะคะ  เคยเห็นไหมคะ เด็กที่หวงของกิน หวงนม หวงข้าว กับพ่อกับแม่  ซึ่งไม่ได้เด็ดขาดค่ะ  ต้องไม่ให้ลูกมีนิสัยแบบนี้  เพราะจะส่งผลไปในภายภาคหน้าที่เขาจะไม่รักพ่อไม่รักแม่  ไม่ดูแล ทิ้งพ่อทิ้งแม่ เพราะเขาไม่เคยรัก


เริ่มจากวิธีง่าย ๆ ที่ใกล้ตัวที่สุด  คือเวลาป้อนข้าวลูกให้ป้อนสลับกันไประหว่างแม่(ตัวคนป้อน) กับลูกค่ะ  พอป้อนเข้าปากลูก ....ก็บอกเขาว่า แบ่งแม่นะลูก แบ่งแม่...... เขาก็จะมองหน้าเรา  เราก็เอาช้อนที่มีข้าวอยู่ในช้อนป้อนเข้าไปกินในปากเรา แล้วก็เคี้ยวและกลืนจริง ๆ นะคะ  (ไม่ต้องกลัวเชื้อโรคค่ะ  ไม่ต้องกลัวสกปรก ถ้ากลัวคุณก็ไปแปรงฟันก่อนมาป้อนข้าวลูกก็ได้)  พอเอาช้อนเข้าปากเรา  ก็เปลี่ยนไปตักข้าวป้อนเข้าปากลูกใหม่อีก ให้ทำแบบนี้สลับกันไปค่ะ  เขาจะไม่หวงของกินกับพ่อกับแม่  ตรงกันข้ามเขาจะรัก  เพราะการแบ่งข้าวที่เขากำลังกิน ซึ่งมันทั้งอร่อย ทั้งมีความสุข  ให้พ่อให้แม่ไปนั้น  มันคือการแสดงความรักต่อพ่อแม่ค่ะ  ที่เมื่อเวลาเขากิน เขาอยากให้พ่อแม่กินด้วย  การฝึกแบบนี้จะทำให้ลูกมีความรู้สึกร่วมทุกข์ร่วมสุขกันไปในภายภาคหน้าค่ะ  สามารถทำได้ทั้งน้ำ ทั้งข้าวนะคะ


แต่การป้อนแบบนี้ก็ยังมีข้อควรระวังนะคะ  คืออะไร  และทำไม

ต้องขอเกริ่นก่อนเลยว่า  สัญชาติญาณของสิ่งมีชีวิตทุกอย่างในโลกนี้  มีความกลัว 2 อย่างค่ะ นั่นคือ   กลัวหิวและกลัวตาย  แท้จริงมันคือการกลัวตายนั่นแหล่ะ เพราะถ้าหิวมาก ไม่มีอะไรกิน มันก็ต้องตาย  (มนุษย์ หรือสัตว์ จึงเหมือนกันตรงที่  ฆ่าเพื่อให้ได้มีอาหาร  ฆ่าเพื่อให้ได้กิน ฆ่าเพื่อให้ตัวเองมีชีวิตอยู่รอด)    ซึ่งนั่นก็คือ การรักตัวเองที่สุด  ไม่รักใครไปมากกว่าตัวเอง    (เราจะหยุดพูดเรื่องนี้ก่อนค่ะ มิฉะนั้นจะถกกันไม่จบและจะหลุดไปประเด็นเรื่องอื่นไป   ไม่ว่าจะเข้าทางธรรมหรือด้านใด ๆ  เพราะบางคนจะค้านในใจว่า ไม่จริง ชั้นรักลูกชั้นสุด รักมากกว่าชีวิตชั้น  ซึ่งไม่จริงหรอกค่ะ เพียงแต่คุณยังไม่รู้ตัว  หรือยังไม่ถึงนาทีสุดท้ายจริง ๆ ต่างหาก  เพราะ ถ้ายังไม่อรหันต์ มนุษย์รักใครไม่ได้มากไปกว่าตัวเองหรอกค่ะ เป็นไปไม่ได้  แต่หยุดเรื่องนี้ไว้แต่เพียงเท่านี้ก่อนค่ะ)


กลับมาต่อที่คนทุกคนรักตัวเองที่สุด  เบบี๋ก็เหมือนกันค่ะ  เขารักตัวเขาที่สุด  เวลาเขาหิว เขาก็จะกินอย่างกระหาย นั่นคือ หม่ำเอา หม่ำเอา  (เรื่องมารยาทเป็นเรื่องไปฝึกทีหลังได้ค่ะ นั่นลูกต้องเข้าใจภาษาและการสื่อสารได้แล้ว) ดังนั้น  ช่วงที่ลูกยังหิว  และหม่ำเอา หม่ำเอา  คุณแม่อย่าเพิ่งไปขอแบ่งจากเขานะคะ  เพราะเขาหวงของของเขา  เขาจะคิดว่าเรากำลังแย่ง  จากการฝึกไปในทางบวก  มันจะกลายเป็นทางลบค่ะ  (เด็กบางคนร้องไห้เลยนะ พอเห็นแม่เอาช้อนป้อนข้าวเข้าปากแม่   เพราะคิดว่าถูกแย่ง  เขาไม่สนใจหรอกค่ะ ว่าจะเป็น แม่ หรือจะเป็นใคร)  เพราะฉะนั้น  เวลาจะฝึกทานข้าวกับลูกให้ดูจังหวะ  ว่าลูกหยุดหม่ำเอาหม่ำเอาแล้วนะคะ  อาจจะป้อนไปสัก 4-5 คำ หรือให้เขาหายหิวลงไปหน่อย  เราก็ค่อยเริ่มขอแบ่งจากเขา   คราวนี้เขาก็จะไม่หวงของค่ะ


ก็แหม!  คุณเทียบจากตัวคุณดูสิคะ  เวลาหิวคุณอยากแบ่งของกินให้ใครไหมคะ  แล้วคุณนึกภาพตาม แถมคน ๆ นั้น ตักข้าวป้อนเข้าปากตัวเองด้วย  ไม่รู้จะกินหมดจาน หรือเหลือให้เราหรือเปล่าก็ไม่รู้  เด็กเขาจะมีความคิดเหมือนกัน เพียงแต่ไม่ได้ซับซ้อนขนาดนี้ แต่เขาก็หวง ของของเขานั่นแหล่ะค่ะ


แล้วก็ให้ทำแบบนี้ทุกครั้งกับลูกนะคะ ผ่านไปได้ไม่กี่ครั้งหรอกค่ะ คุณจะเห็นผลลัพธ์ที่ทำให้คุณน้ำตาคลอเบ้าได้เหมือนกัน  นั่นคือ อีกหน่อย เวลาลูกเขากินอะไร เขาจะผลักช้อน ที่กำลังป้อนเข้าปากเขา  เข้าปากคุณแทน  เพราะเขาอยากให้คุณทานด้วย  เขารักคุณ  อยากให้คุณอิ่มด้วย  นั่นแหล่ะค่ะ ความผูกพันธ์  การแบ่งปันที่เขาให้คุณ   แล้วเวลาลูกผลักของเข้าปากเรา  หรือจับมือเราเอาของเข้าปากเรา  ให้คุณกินเข้าไปจริง ๆ เลยนะคะ กินเข้าไปเลย ไม่ใช่แกล้งกิน  เขารู้นะคะ เขาไม่ได้โง่นะ  ถ้าคุณทำแบบนั้น อีกหน่อยเดี๋ยวเขาไม่แบ่งให้ คุณจะเสียใจเองนะ


และอีกเรื่องที่สำคัญมาก  การจะฝึกลูกเรื่องนี้  ระวังอย่ากลัวว่าจะเปื้อน จะเลอะเทอะ  เพราะเวลาที่เขาผลักช้อน/ผลักแก้วเข้าปากเรา แน่นอนค่ะ กระจุย  กระจาย  เลอะเทอะ อย่ามัวแต่เก็บกวาด  อย่ามัวแต่เสียงดังใส่ลูกว่า   โอ้ย......ไม่เอา.....เปื้อนลูก......  ให้คิดถึงความรู้สึกลูก แล้วกินไปกับเขา เลอะยังไงมันก็เก็บได้  ถ้าไม่อยากให้เลอะ ให้เปลี่ยนไปใช้วิธีป้อนข้าวที่โต๊ะ หรือสนามหญ้าที่จะทำความสะอาดได้ง่าย จะได้ไม่ต้องกังวลเรื่องความสะอาดค่ะ



นี่แหล่ะค่ะ หลังจากที่ได้แบ่งปันของกินให้พ่อแม่แล้ว  ต่อไปแบ่งของเล่นที่เขารักเขาชอบให้พ่อแม่บ้าง

วิธีการแบ่งของเล่นให้พ่อกับ:-)่าย ๆ ค่ะ  ของเล่นของลูก ให้สังเกตุว่า ถ้าเป็นของเล่นชิ้นโปรดมาก ๆ ของเขา  เวลาคุณขอเขามา  บอกลูกว่า แม่ขอลูก.....แม่ขอ.....แม่เล่นด้วย.......  ถ้าเขายื่นให้คุณ  ให้คุณรับมาจากมือเขาค่ะ.......   แล้ว !!! ให้รีบคืนของเขากลับไป  อย่าถือไว้นาน  อย่าลืมว่าเขาก็หวงของเขาเป็นนะคะ   เพราะถ้าคุณรีบคืนให้  เขาจะไม่รู้สึกว่าของเขาหาย  จะไม่รู้สึกว่าถูกแย่ง   แต่จะรู้ว่า  ของของเขา ถึงแบ่งให้แม่เล่น  แป๊บเดียวไม่นานเขาก็ได้คืน  แล้วคุณก็ค่อย ขอใหม่  ... คืนกลับไป.....ขอใหม่....คืนกลับไป  โดยค่อย ๆ ขยายเวลาขึ้น


แล้วพ่วงเลยค่ะ  ไหน ๆ ขอของเล่นลูกแล้ว  เมื่อคุณขอได้  .....คุณฝึกให้ลูกเอาไปเก็บพร้อมกันเลย  เช่นพอขอมาเล่นในมือคุณได้สักพัก คุณก็บอกลูกไปว่าไปเก็บลูกกก....ไปเก็บบบ.....  แล้วชี้ไปที่ตู้หรือตระกร้าที่เก็บของชิ้น นั้น ๆ ลูกก็จะเอาไปเก็บค่ะ  เป็นยังไงคะ ไม่ยากใช่ไหมคะ  ลองดูนะ  ถ้าฝึกกับพ่อแม่ได้  อีกหน่อยไม่ว่าจะของกิน ของเล่น  จะกับใคร จะฝึกได้ไม่อยากค่ะ  บอกเขา สอนเขา แบ่งให้พี่ ให้น้อง  เขาก็ยินดีจะแบ่งให้ค่ะ  ไปเรียนอนุบาลจะได้ไม่เป็นเด็กหวงของ  หรือคุณครูมาฟ้องเอาว่าลูกแย่งของ ลูกหวงของกับเด็กคนนั้นคนนี้


อ้อ!  ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยนะคะ  ถ้าพอใจประโยคไหน จับไปใช้เฉพาะตรงนั้น ๆ ตรงไหนไม่ชอบก็ไม่ต้อง  เพราะคนเราทุกคน คิดเห็นไม่เหมือนกันค่ะ  ด้วยจากการมองคนละมุม  เห็นคนละมุม  มองเห็นความสำคัญในแต่ละเรื่องไม่เท่ากัน  จึงไม่มีผิดไม่มีถูกค่ะ

จากคุณ : Jo_Smart
เขียนเมื่อ : 19 ต.ค. 52 19:16:10




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com