Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
เบบี้บูมสหรัฐ ส่อวิกฤติ เร่งไทยรีบออมก่อนเกษียณ (ออมก่อน รวยกว่าครับ)  

ผลวิจัย"เบบี้บูมเมอร์ รีไทร์เมนท์"
บ่งชี้ประชากรกลุ่มใหญ่สุด80ล้านคน สหรัฐที่เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่2
ใกล้วัยเกษียณแต่ยังออมไม่พออาจถึงวิกฤต

ขณะที่คนไทยในอีก 20 ปีข้างหน้า
อาจเผชิญปัญหาวิกฤติผู้สูงอายุเช่นกัน
เพราะประชากรอายุกว่า 60 ปี
จะเพิ่ม 2 เท่าจาก 9.3% ในปี 2543 เป็น 18% ในปี 2563
ขณะที่โครงสร้างประชากร 30 ปีข้างหน้าจะเปลี่ยนแปลงไป
สู่สังคมผู้สูงอายุ มีวัยทำงานน้อยลง

แนวโน้มน่าวิตกข้างต้น ทำให้ผู้เชี่ยวชาญ"เอ็มดีอาร์ที"
สมาคมที่ปรึกษาการเงินมืออาชีพเก่าแก่ที่สุดในโลกอายุกว่า 80 ปี
อาสาถ่ายทอดข้อมูลกับประสบการณ์ผ่าน Fundamentals ฉบับนี้

หวังกระตุ้นคนไทยเปลี่ยนทัศนคติจากการพึ่งพาลูกหลานหันมา
ตื่นตัวสนใจวางแผนเร่งออมบริหารเงินเพื่อเกษียณอย่างมีความสุข


มิลเลี่ยน ดอลลาร์ ราว เทเบิล (Million Dollar Round Table:MDRT)
หรือ เอ็มดีอาร์ที สมาคมที่ปรึกษาการเงินมืออาชีพเก่าแก่ที่สุดในโลก
อายุกว่า 80 ปีในสหรัฐ ได้สำรวจและศึกษาประชากรกลุ่มที่เรียกว่า
เบบี้บูมเมอร์ ซึ่งเป็นคนอเมริกันที่เกิดช่วงปี 2499-2507 มาตั้งแต่ปี 2549
และนำเสนอข้อมูลโดยใช้ชื่อการสำรวจครั้งนั้นว่า "เบบีบูมเมอร์
รีไทร์เมนท์"


งานสำรวจและศึกษาของเอ็มดีอาร์ที ยิ่งเป็นที่รับรู้และตื่นตัว
ในหมู่คนอเมริกัน หลัง อลัน กรีนสแปน อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ
(เฟด) ร่วมกับประธานของเอ็มดีอาร์ที เชิญนักการเงินทั่วโลกร่วมสัมมนา
รับรู้ผลสำรวจของเอ็มดีอาร์ที ที่กำลังบอกคนทั่วโลกว่า

กลุ่มเบบี้บูมเมอร์ อาจก่อวิกฤติให้กับโลกได้

วิกฤติข้างต้นจะมีความรุนแรงยิ่งกว่าโรคซาร์ส ยิ่งกว่าสึนามิ
ยิ่งกว่าแผ่นดินไหวญี่ปุ่น ยิ่งกว่าไข้หวัดนกหรือไข้หวัด 2009 มารวมกัน


เพราะปริมาณเงินหรือดีมานด์ที่จะหายไปจากโลกนี้
อันเนื่องมาจากคนกลุ่มนี้จะไม่มีเงินแล้ว

เบบี้บูมเมอร์คนแรกเริ่มเกษียณแล้วในปี 2549
จำนวนอีกไม่น้อยทยอยเกษียณ คนกลุ่มนี้ไม่น้อยกว่า 80 ล้านคน
ถือเป็นกลุ่มใหญ่สุดของโลกกลุ่มหนึ่ง

และเป็นดีมานด์หลักของหลายอุตสาหกรรมใช้ต้นทุนผลิตสินค้าต่ำหรือ
โลว์คอส รองรับตลาดแมสอย่างเบบี้บูมเมอร์
ซึ่งเปรียบได้กับพลังสำคัญ เป็นกลไกหลักช่วยอุตสาหกรรมต่างๆ
และการเงินทั่วโลกขยายตัวได้

"สิ่งที่อเมริกาตระหนักตอนนี้ คือให้กลุ่มคนเริ่มเกษียณ
ต้องบริหารเงิน  หรือคนกำลังเกษียณอีก 5-10 ปีต้องทำงานและวางแผน
การเงินควบคู่กันไป
สนับสนุนคนกลุ่มนี้หางานพาร์ทไทม์

ซึ่งญี่ปุ่นทำได้สำเร็จดึงคนกลุ่มนี้กลับมาทำงานได้แม้ตำแหน่งไม่ค่อยดี
และกลุ่มคนที่จะเกษียณอีก 10 ปีข้างหน้า ยังมีเวลาพอเตรียมเงินได้มาก
จะช่วยลดวิกฤติกับปัญหานี้ได้มาก"

เดิมพัน อยู่วิทยา กรรมการผู้จัดการ บริษัทแพลทตินัม คอนซัลติ้ง
และเป็นสมาชิกและประธานของเอ็มดีอาร์ทีในไทย ให้ข้อมูล

ไทยอาจเกิดวิกฤติผู้สูงวัย

จากข้อมูลเบบี้บูมเมอร์สหรัฐ อาจจุดวิกฤติโลกในอนาคต ทำให้ไทย
ต้องหันมามองแนวโน้มคนวัยเกษียณในประเทศบ้าง ด้วยการดูผลศึกษา
ของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย หรือ เอดีบี เรื่องสัดส่วนประชากร
ไทยที่มีอายุมากกว่า 60 ปี

เอดีบีชี้ว่าคนไทยอายุเกิน 60 ปี จะเพิ่มขึ้นจาก 9.3% ในปี 2543
เป็น 18% ในปี 2563 ส่งผลให้สัดส่วนคนวัยทำงานต่อจำนวนผู้สูงอายุ
จะลดลง จาก 6 ต่อ 1 เป็น 3 ต่อ 1 ภายในปี 2563
หรืออีกไม่เกิน 13 ปีข้างหน้า

และในปี 2583 หรืออีกประมาณ 33 ปี สัดส่วนจะลดลงเป็น 2 คน ต่อ 1 คน


จากข้อมูลเอดีบีสรุปได้ว่าโครงสร้างประชากรของไทย
กำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่ “สังคมผู้สูงอายุ”
และอีก 20 ปีข้างหน้าไทยอาจเผชิญวิกฤติผู้สูงอายุได้

ซึ่งหมายความว่าอีกไม่นานประชากรวัยทำงานจะเริ่มมีภาระ
ในการเลี้ยงดูคนสูงอายุในสังคมมากขึ้น

และแม้ไทยจะมีระบบประกันสังคม หรือระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
แล้วก็ตาม แต่ยังไม่สามารถทำให้ประชาชนมีเงินออมมากเพียงพอ
สำหรับการใช้จ่ายในบั้นปลายของชีวิต


จึงจำเป็นคนไทยทั่วไปขณะนี้ ต้องเตรียมพร้อมตั้งแต่หนุ่มสาว
หรือในวัยกลางคน
เพื่อสามารถใช้ชีวิตหลังเกษียณ
ได้อย่างมีความสุขและไม่ขัดสน

------------------------------------------------------------------------
หนุนคนไทยวางแผนการเงิน

แอน มารี ลี ประธานร่วมเอ็มดีอาร์ทีประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ซึ่งเดินทางมาประชุมและพบปะสมาชิกในไทยรวมทั้งเดิมพัน
ได้ให้ภาพรวมของคนเอเชียซึ่งรวมถึงคนไทยว่า

ในกรณีเลวร้าย
หากคนเอเชียไม่วางแผนหรือไม่เตรียมตัวไว้เพียงพอ
ย่อมเกิดผลกระทบครั้งใหญ่

เพราะสาธารณสุขดีขึ้น
ทำให้คนเอเชียต้องจัดการกับชีวิตที่ยืนยาวขึ้น


ซึ่งเกี่ยวกับความสามารถทางการเงินต้องเปลี่ยนไปตามภาวะแวดล้อม
ทางเศรษฐกิจ
กลายเป็นเรื่องเร่งด่วน ส่งผลกระทบต่อประชากรวัยทำงาน
ยิ่งเปอร์เซ็นต์ประชากรสูงวัยที่ไม่มีหรือไม่สามารถหารายได้
เลี้ยงตัวเองมีมาก ภาระรัฐต้องจัดการเรื่องนี้ยิ่งมากขึ้น และเป็น
ภาระต่อเนื่องให้คนรุ่นใหม่อายุน้อยกว่า

"ถ้าประชาชนเข้ามามีส่วนรับผิดชอบด้วยการคิดวางแผนให้ตัวเอง
ไม่ใช่แค่พึ่งพาลูกหลานตัวเอง ไม่ใช่พึ่งแค่สวัสดิการสังคมและรัฐบาล
แต่วางแผนเลือกโปรดักท์บริหารเงินของตนเองด้วยหนทางนี้
จะช่วยลดภาระการเงินตัวเองในอนาคต และมีความสุขแม้วัยมากขึ้น

แต่ยังรู้สึกภูมิใจสามารถเป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้" แอน  มารี ลี แนะนำ

ประธานร่วมเอ็มดีอาร์ทีเตือนว่า
การไม่ตื่นตัวหรือวางแผนการเงินไม่เพียงพอ ผู้สูงวัยต้องถูกบีบ
ให้ใช้ชีวิตด้วยต้นทุนต่ำลง


และใครจะเป็นคนช่วยเหลือผู้สูงวัยเหล่านี้เมื่ออายุย่างเข้าเลข6
พวกเขาอาจต้องพึ่งพารัฐบาล ซึ่งกลายเป็นภาระรับผิดชอบหนักมาก
มายมหาศาลของภาครัฐ

--------------------------------------------------------------------------
ค่านิยมเป็นอุปสรรค

แอน มารี ลี ชี้ว่าการยึดติดวัฒนธรรมค่านิยมตามแบบเอเชีย
ที่คนสูงวัยผู้เป็นพ่อและแม่ยังพึ่งพาลูกหลานคอยดูแล
อย่างจีนจะมีลูกสัก10 คน ร่วมกับแบ่งรับต้นทุนต้องเลี้ยงดูผู้ใหญ่
แต่อนาคตย่อมมีภาระเมื่อลูกหลานก็มีเหลน ที่ต้องเลี้ยงดูไปพร้อมกับ
การเตรียมการเพื่อวัยเกษียณของตัวเอง ซึ่งถือเป็นผลกระทบ
อย่างมากมายที่จะเกิดขึ้นตามมา และเป็นต้นทุนสูงมาก

"วิถีชีวิตแบบเก่า
ที่ผู้สูงวัยต้องพึ่งพาลูกหลานตัวเอง เป็นต้นทุนการเลี้ยงดูเพิ่มขึ้น
สำหรับคนรุ่นใหม่ ซึ่งปกติจะต้องหารายได้มาเลี้ยงดูครอบครัว
ของตัวเองอยู่แล้ว แต่ต้องรับภาระมากขึ้นในการดูแลผู้สูงวัย
ที่มีอายุยืนยาวขึ้น


แต่การปรับคนเอเชียที่กำลังกลายเป็นผู้สูงวัยให้เปลี่ยนทัศนคติตรงนี้
ให้มองบวกกับอนาคต มีพลังมีบทบาทคล่องตัว ดูแลตัวเองได้
สามารถทำงานได้ ไม่จำเป็นต้องเกษียณตัวเองเมื่ออายุ
เข้าเลข 5 หรือ 6 นั้น  ถือเป็นเส้นทางอีกยาวไกลต้องไปให้ถึง"
แอน มารี ลี ให้ความเห็น

----------------------------------------------------------------------                                                                                          
ชูสิงคโปร์ตื่นตัวแก้ปัญหา

แอน มารี ลี ซึ่งพกพาประสบการณ์เป็นที่ปรึกษาการเงินมืออาชีพ
ของพรูเดนเชี่ยลในสิงคโปร์ มานำเสนอด้วยนั้น ให้ข้อมูลเปรียบเทียบ
การตื่นตัวของสิงคโปร์กับไทยว่า

รัฐบาลไทยอาจล่าช้ากว่าเพราะไม่ดำเนินการอย่างจริงจังในการกระตุ้น
คนรุ่นใหม่หรือแก้ปัญหาผู้สูงวัยที่ไม่วางแผนหรือเตรียมพร้อม
ทางการเงินอย่างสิงคโปร์
ที่เอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ หลังรับข้อมูล
และเรียนรู้ถึงปัญหาวัยเกษียณทั้งในสหรัฐและยุโรป

โดยขณะนี้ประมาณ 70% ของคนสิงคโปร์ตื่นตัวรับข้อมูล
แม้ต้องใช้เวลาอีกนานอาจถึงทศวรรษหน้า เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย
ให้มีประชากรรับรู้ข้อมูลได้ร้อยเปอร์เซ็นต์
แต่ 10 ปีที่ผ่านมาถือเป็นการพัฒนาที่ดี ในการทำให้คนสิงคโปร์
ตระหนักว่าการวางแผนการเงินสำคัญ                                                

"คิดว่า 10 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลสิงคโปร์ประสบความสำเร็จ
อย่างมากเป็นเวลากว่า 15 ปีแล้วที่ดิฉันเข้ามาอยู่ในอุตสาหกรรมการเงิน
และรับรู้ว่ารัฐบาลได้เร่งดำเนินการอย่างมาก ในการให้ความรู้กับ
คนสิงคโปร์เรื่องการวางแผนการเงิน"

--------------------------------------------------------------------
เน้นให้ความรู้คนรุ่นใหม่

ทั้งนี้ แอน มารี ลี เล่า
รัฐบาลสิงคโปร์พยายามเปลี่ยนทัศนคติคนรุ่นใหม่
ให้คิดถึงเวลาที่พวกเขาอายุมากขึ้น
และอยากเกษียณตัวเอง
แบบไม่คิดเชิงอนุรักษนิยม  ที่ว่าการเป็นสูงวัยไม่สามารถทำอะไร
ที่คล่องตัวได้

ที่ผ่านมารัฐบาลสิงคโปร์ทำไปค่อนข้างมากแล้วและทำต่อเนื่อง เช่น
ช่วยครอบครัวมีบุตรโดยให้เงินช่วยเหลือ ช่วยเรื่องที่อยู่อาศัยสำหรับ
ครอบครัวขนาดเล็ก ลดหย่อนภาษีจูงใจคนทุกรุ่นมีวินัยออม
เพื่อเกษียณ  ช่วยคู่สมรสไม่มีบุตรหรือผู้สูงวัยมีอายุยืนยาวสามารถ
จับกลุ่มขอใช้บริการสถานสงเคราะห์ดูแลผู้สูงวัยได้ หรือกระตุ้น
บริษัทต่างๆ รับผู้สูงวัยทำงานมีรายได้ กรณีมีอายุขัยยาวนานขึ้น

"สิงคโปร์ให้ความรู้ประชาชนผ่านบทความในสื่อสิ่งพิมพ์
เน้นถึงความจำเป็นต้องมีแผนการเงิน ผลกระทบหากไม่เตรียมการที่ดี

เพื่อวัยเกษียณ

หรือให้ตัวอย่างชีวิตมีความสุขของกลุ่มคนที่มีการวางแผนที่ดี
และมีมุมมองที่ดีเกี่ยวกับอนาคตทางการเงิน  รัฐทำงานกับบอร์ดกองทุน
สำรองเลี้ยงชีพส่วนกลาง (Central Provident Fund: CPF) ร่วมกับสมาคม
วางแผนการเงินจัดสัมมนาให้ความรู้คนทั่วไปสม่ำเสมอ"

ขณะที่ธนาคารหรือบริษัทบริการการเงิน หรือแม้แต่กลุ่มองค์กร
ไม่แสวงผลกำไร จัดสัมมนาสาธารณะให้ความรู้ถึงผลเสียของสังคม
ที่เพิกเฉยละเลยความจำเป็นต้องมีการวางแผน และต้องทำอย่างไร
ในการบริหารเงิน

ตอนนี้ยังให้ความรู้แก่นักเรียนตามสถานศึกษาต่างๆ ไม่ว่าจะระดับ
ประถมหรือมัธยม
มีการจัดเวิร์คชอปและสัมมนา
สอนให้เด็กรู้ความสำคัญของการบริหารเงิน ทำงบการเงินและ
ให้รู้ว่าใช้อย่างไรเพื่อให้มีเงินเหลือเก็บ
ทุกอย่างที่สอนสามารถ
นำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้
โดยปรับทัศนคติคนรุ่นใหม่ควบคู่กันไปไป
----------------------------------------------------------------------------

รัฐจูงใจคนให้ออม

แอน มารี ลี กล่าวว่าเป็นเวลาหลายปีแล้ว คนสิงคโปร์ที่มีงานทำ
สามารถสมัครซีพีเอฟ โดยมีส่วนร่วมในการส่งเงินค่าจ้างส่วนหนึ่ง
ให้กองทุน และนายจ้างส่งเงินสมทบ กองทุนนี้ตั้งขึ้นมาโดยเฉพาะ
เพื่อรองรับวัยเกษียณ รัฐบาลเป็นผู้บริหารซีพีเอฟเอง ผู้ส่งเงิน
จะเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์เพื่อการเกษียณ เพื่อความจำเป็นทางการแพทย์
และใช้เป็นทุนสำหรับที่อยู่อาศัย

แต่ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา วิกฤติกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้รัฐบาลสิงคโปร์
เพิ่มทางเลือกบริหารกองทุน เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดีแก่ประชาชน
และเพื่อไล่ให้ทันกับเงินเฟ้อที่ปรับขึ้นตลอดเวลา จึงออกนโยบาย
เปิดทางผู้ถือหน่วย สามารถลงทุนได้หลากหลาย จากรูปแบบการลงทุน
ที่รัฐบาลเลือกให้ และรัฐบาลยังคงมีอำนาจอนุมัติในชั้นสุดท้าย
เพราะเกรงว่าการเปิดเสรี อาจก่อความเสี่ยงให้ผู้ลงทุนเมื่อเข้าสู่
วัยเกษียณได้

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 20 ธํนวาคม 2552
http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/finance/finance/20091220/90509/เบบี้บูมสหรัฐ-ส่อวิกฤติ-เร่งไทยรีบออมก่อนเกษียณ.html

แก้ไขเมื่อ 20 ธ.ค. 52 16:58:22

แก้ไขเมื่อ 20 ธ.ค. 52 16:56:04

จากคุณ : Learn and Live
เขียนเมื่อ : 20 ธ.ค. 52 16:55:11




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com