Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
ศาลสั่งบำรุงราษฏร์ จ่าย 12 ล้าน วินิจฉัย อัลตร้าซาวผิด ทำเด็กพิการ  

หลังนายวอลเตอร์ ลี สัญชาติมาเลเซีย เชฟชื่อดัง ได้ต่อสู้มาอย่างยาวนานกว่า 3 ปี เพื่อร้องหาความยุติธรรมให้กับครอบครัว จากกรณีที่น้องซาย บุตรชายคลอดออกมามีความพิการแขนขวาและขาทั้งสองข้างขาด ทั้งๆ ที่คณะแพทย์ยืนยันผลอัลตราซาวด์ขณะอยู่ในครรภ์ว่า เด็กสมบูรณ์และแข็งแรงดี

คดีนี้ นางประภาพร แซ่จึง และด.ช.ไซเค่อ ลี หรือน้องซาย อายุ 3 ขวบ บุตรชายของนายวอลเตอร์ ลี ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ นพ.เดชะพงษ์ ภู่เจริญ แพทย์สูตินรีเวช และพญ.อรชาติ อุดมพาณิชย์ แพทย์รังสีวิทยา เป็นจำเลย ฐานละเมิด เรียกค่าเสียหาย 390,966,293 บาท

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า มูลเหตุที่นาง ประภาพรนำคดีมาฟ้องนั้น มาจากการอัลตราซาวด์ที่นพ.เดชะพงษ์และพญ.อรชาติ ไม่ได้ตรวจดูถึงความพิการของน้องซายขณะอยู่ในครรภ์ ทั้งที่ต้องบอกกล่าวให้ทราบตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2549 ขณะที่นางประภาพรตั้งครรภ์ได้ 4–5 เดือน โดยนพ.เดชะพงษ์ ส่งตัวนางประภาพรไปให้ พญ.อรชาติ ตรวจอัลตราซาวด์ ใช้เวลาตรวจนาน 5–10 นาที แล้วระบุว่าบุตรในครรภ์สมบูรณ์ดีทุกประการ หลังจากนั้นไม่มีการตรวจซ้ำอีก

จนกระทั่งน้องซายคลอดออกมามีความพิการแขนขวา และขาทั้งสองข้างขาด ไม่มีเบ้าสะโพก ศาลเห็นว่าจากบันทึกเวชระเบียนนางประภาพร ตั้งแต่วันที่ 20 ก.พ. 2549 กระทั่งคลอดบุตร ไม่ระบุถึงความพิการของทารกในครรภ์ จึงฟังได้ว่า นพ.เดชะพงษ์ ไม่เคยอธิบายผลดีผลเสียของบุตรในครรภ์ให้นางประภาพรทราบ จึงไม่ทราบถึงความพิการของทารกในครรภ์ ทั้งที่แพทย์ทั้งสองควรตรวจถึงความพิการของทารกในครรภ์ เพื่อแจ้งให้นางประภาพรมีสิทธิที่จะตัดสินใจว่าจะรักษาอย่างไร ซึ่งแพทย์มีหน้าที่บอกอธิบายวิธีการรักษา

แพทย์ทั้งสองจึงต้องรับผิดฐานประมาทเลินเล่อละเว้นปฏิบัติหน้าที่ที่ต้องระวัง ละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง อีกทั้งการยุติครรภ์ในกรณีที่ไม่ขัดศีลธรรมสามารถทำได้ตามมติของแพทยสภา ทั้งนี้ขึ้น อยู่กับตัวผู้ป่วยและคำแนะนำของแพทย์ ดังนั้นโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์จึงต้องร่วมรับผิดด้วย

ทั้งนี้ ศาลกำหนดค่าเสียหายที่จำเลยทั้งสามต้องร่วมกันชดใช้ แบ่งเป็นค่าเสียหายทางจิตใจของนางประภาพร 1 ล้านบาท ค่าเสียหายจากการขาดรายได้ 1 ล้านบาท ค่าจ้างคนเลี้ยงดูน้องซาย 3 ล้านบาท ค่าอุปกรณ์ที่ช่วยให้น้องซายสามารถพยุงตัวยืนได้และต้องเปลี่ยนไปตามวัย 5 ล้านบาท ค่ารักษาผ่าตัดในอนาคต 1 ล้านบาท ค่ารักษาทางจิตใจต่อน้องซาย 1 ล้านบาท

สำหรับค่าสินไหมทดแทนที่ศาลกำหนดนั้นไม่เต็มจำนวนตามที่โจทก์ฟ้อง เนื่องจากการกระทำการละเมิดของจำเลยทั้งสามไม่ได้มีเจตนาร้าย ไม่ได้ส่อไปในทางเป็นอาชญากรรม จึงให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้เงินรวมจำนวน 12 ล้านบาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตรา 7.5% นับตั้งแต่วันฟ้อง

วอลเตอร์ ลี กล่าวว่า คำพิพากษาของศาลถือเป็นชัยชนะของประชาชน และรู้สึกดีใจที่สิทธิของคนไข้ได้รับการเยียวยา จากนี้ไปก็หวังว่าโรงพยาบาลและแพทย์จะดูแลคนไข้ให้ดีขึ้น

“ผมควรจะได้รู้ข้อเท็จจริงตั้งแต่สัปดาห์ที่ 18 ของการตั้งครรภ์ว่าลูกเป็นอย่างไร เพื่อผมจะได้เตรียมใจรับกับสถานการณ์ ซึ่งครั้งแรกที่เห็นลูกคลอดออกมาผมรู้สึกช็อก” วอลเตอร์ ลี กล่าว

วอลเตอร์ ลี เล่าว่า หลังเกิดเหตุการณ์นี้กับครอบครัวก็ได้พาน้องซาย ไปรักษาตัวที่ประเทศเยอรมนี เพราะแพทย์ในประเทศไทยพูดตรงกันว่าต้องรอให้เด็กโตก่อนจึงจะรักษาได้ ทั้งที่ความจริงแล้วเมื่อเกิดปัญหาขึ้น สามารถแก้ไขปัญหานั้น ได้ในทันที เช่นเดียวกับกรณีน้องซายที่แพทย์ประเทศเยอรมนี สามารถทำขาเทียมทั้งที่น้องซาย ยังไม่มีเบ้าสะโพกได้ แม้จะหมดเงินไปนับล้านบาท ก็ตาม

“ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะสร้างขาเทียมสำหรับเด็กแรกคลอดที่ช่วยในการพยุงตัวได้ในราคาถูกกว่า ที่ผ่านมาได้ขอความร่วมมือจากแพทย์ประเทศเยอรมนี ให้เดินทางมาให้ความรู้กับแพทย์คนไทย โดยแพทย์เยอรมนี ยินดีที่จะสอนให้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย มูลนิธิซาย มูฟเม้นท์ จึงเป็นเหมือนสะพานเชื่อมระหว่างแพทย์ไทยให้ได้เรียนรู้การรักษาจากแพทย์ของประเทศเยอรมนี เชื่อว่าจะเกิดประโยชน์ต่อเด็กพิการตั้งแต่กำเนิดอีกจำนวนมากในประเทศ รวมไปถึงในแถบภูมิภาคนี้” วอลเตอร์ ลี กล่าว

ด้านนพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา เปิดเผยว่า แพทย์ที่ประกอบวิชาชีพรู้สึกหวั่นเกรงเรื่องการถูกผู้ป่วยฟ้องร้องมานานแล้ว ไม่ใช่เพียงเกิดขึ้นเมื่อศาลมีคำพิพากษาให้โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ชดใช้เงินจำนวน 12 ล้านบาท ให้กับนายวอเตอร์ ลี บิดาของน้องซาย ที่พิการตั้งแต่กำเนิด ซึ่งจากนี้ไปก็คงจะต้องมีการเข้มงวดในขั้นตอนการประกอบวิชาชีพตามมาตรฐานวิชาชีพให้มากยิ่งขึ้น รวมถึงการสื่อสารทำความเข้าใจกับผู้ป่วยให้เข้าใจมากขึ้น ปัญหาเรื่อการฟ้องร้องก็จะลดลง

นพ.เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า ปกติการดูแลของ ผู้ประกอบวิชาชีพก็ดำเนินการตามมาตรฐานของวิชาชีพ อาทิ แพทย์ทั่วไปก็ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม แพทย์เฉพาะทางก็ได้วุฒิบัตร ซึ่งถือว่าเป็นมาตรฐานเป็นตัวกำหนดอยู่แล้ว

“ส่วนการป้องกันการฟ้องร้องแพทย์ในสถานพยาบาลเอกชนด้วยการทำหนังสือยินยอมของผู้ป่วยไม่ให้ฟ้องร้องได้นั้น สมาคมไม่มีแนวความคิดดังกล่าว ทั้งนี้เป็นเรื่องที่ฝ่ายกฎหมายจะตีความ ส่วนตัวไม่อยากให้ความเห็น” นพ.เอื้อชาติ กล่าว

จากคุณ : ทางของเรา
เขียนเมื่อ : 26 ธ.ค. 52 09:51:28




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com