Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
วางแผนการศึกษาดี ลูกมีแต้มต่อ (เรื่องที่พ่อ-แม่ทุกคน ควรรู้และทำความเข้าใจให้ถ่องแท้)  

มีลูกหนึ่งคนจนไปสิบปี!สำนวนนี้ดูเหมือนจะล้าสมัยไปแล้ว
เพราะยุคถดถอยของดอกเบี้ย แถมยังถูกเงินเฟ้อกัดกร่อนค่าเงิน
ค่าครองชีพวิ่งแซงเงินเดือน

แค่มีลูกหนึ่งบางคนบอกจนไปครึ่งชีวิตก็มี

ไม่เห็นจำเป็นต้องวางแผนอะไรเลย  ก็ส่งลูกเรียนไปตามมีตามเกิด
ตามยถากรรม ตามฐานะ ตามกำลัง !!!

ในความเป็นจริง คุณจะทำอย่างนั้นก็ได้  เพราะปัจจุบันก็มีคนทำแบบนี้
ไม่ใช่น้อย  แต่จะดีกว่าไม่ใช่หรือ หากคุณลงมือสร้างแต้มต่อ
ให้ลูกหลานที่ลืมตาดูโลก ด้วยการวางแผนเรื่องการศึกษาให้กับเขา
อย่างมีคุณภาพที่สุด


หากแต่ในปัจจุบันการวางแผนการเงินเพื่อเตรียมพร้อม
เรื่องลงทุนในทรัพย์สินทางปัญญาให้ลูกหลาน
ไม่ง่ายเหมือนสมัยก่อน
ที่ดอกเบี้ยทะยานเหนือ 10%
แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากเสมอไป หากคุณจะลงมือวางแผน

Fundamentals ฉบับนี้ พาไปดูว่า มีลูกหนึ่งคน
คุณต้องเตรียมเงินไว้อย่างน้อยที่สุดเท่าไหร่
เพื่อการศึกษาของลูกรักให้ไปตลอดรอดฝั่ง


จากสถิติในอเมริกา โดยทั่วไปเด็กอายุ 18 ส่วนใหญ่
จะย้ายออกจากบ้าน  แต่ปัจจุบัน 68% ของเด็กอายุ 18
ไม่ย้ายออกจากบ้านแล้ว
เพราะเขาเริ่มรู้สึกแล้วว่า การย้ายออก
จากอ้อมอกของพ่อแม่ ทำให้พวกเขาต้องหันมาทำงานพิเศษ
ต้องจ่ายค่าเช่าห้องเอง  ส่งตัวเองเรียน เด็กเริ่มรู้สึกว่า ไม่เห็นจำเป็น
ต้องออกไปลำบากอย่างนั้น  สู้เอาเงินที่หามาได้ นำไปซื้อข้าวของ
ที่อยากได้หรือของที่จำเป็นต้องใช้ไม่ดีกว่าหรือ

ขณะเดียวกันภาระของพ่อแม่ทั่วโลกมีแนวโน้มยาวนานขึ้น
เพราะจากในอดีตแค่เรียนจบระดับปริญญาตรีก็เพียงพอแล้ว
แต่ปัจจุบันต้องจบระดับปริญญาโทหรือปริญญาเอก
ถึงจะเดินลงสู่สนามแรงงานได้อย่างยืดอกได้

นอกจากนี้ เด็กสมัยนี้ใช้เวลาค้นหาตัวเองนานขึ้น และระหว่างทาง
ของเด็กคนหนึ่ง จะต้องมีทั้งเรียนพิเศษนอกห้องเรียน ทั้งเตรียม
เอนทรานซ์ เรียนเปียโน เรียนบัลเล่ต์  สมัยก่อนเรียนแค่ภาษาอังกฤษ
แต่เท่านั้นไม่พอ เดี๋ยวนี้ขยับไปเรียนภาษาจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี
เพิ่มเติมอีก ถึงจะสู้คนอื่นได้

......บอกว่า เหตุผลทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้นี่เอง ที่ทำให้ขบวนการ
วางแผนทางการเงินเพื่อเตรียมพร้อมในเรื่องการศึกษาของลูก
จึงไม่ใช่เรื่องเล็กอีกต่อไป
ฉะนั้น ถ้าไม่เตรียมจะแย่

"พอพูดถึงเรื่องการศึกษาของลูกหลาน  เดี๋ยวนี้ไม่ใช่แค่การศึกษา
ในระบบแล้ว  แต่มันเป็นเรื่องของการเพิ่มแต้มต่อให้ลูกหลาน
ขบวนการการเตรียม ไม่ใช่เรื่องเล็กอีกต่อไป

สาเหตุที่พ่อแม่ต้องเตรียมวางแผนเรื่องการศึกษาให้ลูกมากขึ้น
เพราะเดี๋ยวนี้มีเรื่องเงินเฟ้อ 4-6% เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ไม่น้อยเลยทีเดียว

ฉะนั้น  ตั้งแต่วันที่เด็กเกิดออกมากลืมตาดูโลก
พ่อแม่ควรจะให้ของขวัญเป็นการศึกษาที่ดีกับลูก


เพราะถ้าให้เงิน  บางทีเงินอาจจะหมดได้ แต่ให้การศึกษา
จะอยู่กับลูกตลอดไป  มีการศึกษาที่ดีลูกก็ไปหาเงินได้
แต่การศึกษาที่ดี ต้องมีเงินเป็นตัวช่วย

พ่อแม่ทุกคนอยากให้การศึกษาสูงที่สุดแก่ลูกเท่าที่จะทำได้
แต่ไม่ใช่ทุกคนที่ทำได้"

...มองว่า  การศึกษายุคนี้เพิ่มความหลากหลายมากขึ้น
สมัยก่อนอาจจะเรียนตั้งแต่เด็กจนจบมัธยมที่โรงเรียนเดียว

แต่ปัจจุบันนี้ไม่ใช่แล้ว อาจจะเริ่มต้นที่ประถมเอกชน
แล้วเปลี่ยนไปเรียนนานาชาติ ทางเลือกไม่ได้มีแค่โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยรัฐบาลและเอกชน  แต่มีโรงเรียนประเภทไบลิงกวล
และโรงเรียนนานาชาติเข้ามาเป็นทางเลือก   ขณะที่ การเดินทาง
ไปศึกษาในต่างประเทศ ในอดีตอาจจะมีแค่อังกฤษ และอเมริกา
แต่เดี๋ยวนี้มีทั้งออสเตรเลีย อินเดีย ไต้หวัน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลี
และนิวซีแลนด์มาเป็นทางเลือก  

ข้อสำคัญ  สมัยก่อนพ่อแม่อาจไม่จำเป็นต้องวางแผน
เรื่องการศึกษาให้ลูกก็ได้  เพราะดอกเบี้ยเงินฝากสูงเกิน 10%

แค่เอาเงินไปนอนแช่ทิ้งไว้ในบัญชีเงินฝาก 10 ล้านทุกปี
ก็ได้ดอกผลปีละ 1 ล้านเอามาเป็นทุนการศึกษาของลูกได้

แต่ปัจจุบันไม่ใช่ เดี๋ยวนี้ดอกเบี้ยเงินฝากแค่ 2-3% เท่านั้น
พันธบัตรเต็มที่ก็ได้ดอกผลไม่เกิน 5%

ดังนั้น  คอนเซปต์ของการศึกษา จึงไม่ใช่วางแผนการศึกษาแบบเดิมๆ
ง่ายๆ อีกต่อไป  แต่เป็นการเพิ่มแต้มต่อ  และการบริหารผลตอบแทน
ของเงิน ที่ซับซ้อนมากขึ้น และจะใช้วิธีการและรูปแบบ
การลงทุนแบบเดิมไม่ได้


--------------------------------------------------------------
เริ่มต้นวางแผนดีลูกมีแต้มต่อ

เดิมพันบอกว่า พ่อแม่ที่อยากเห็นอนาคตอันสดใสของลูกน้อย
หากเริ่มต้นด้วยการวางแผนที่ดี  ลงมือทำตามแผนก็ทำให้ลูกรัก
ของคุณเติบโตอย่างมีอนาคตที่สดใสได้

โดยปกตินั้น ขบวนการในการจัดการวางแผนเรื่องนี้แบ่งเป็น 2 ส่วน
คือ  "Pre College Fund"  หรือช่วงก่อนเข้ามหาวิทยาลัย
กับ "College Fund" แบ่งเป็นปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก


ในการเตรียมเงินทั้งหมด
...บอกว่าโดยปกติหากเป็นมนุษย์เงินเดือนที่เป็นคนชั้นกลาง
ส่วนใหญ่ก็จะใช้วิธีค่อยๆ สะสมเงินต้นไปเรื่อยๆ เมื่อได้
ดอกผล ค่อยๆ นำส่วนหนึ่งออกมาใช้เพื่อใช้จ่ายเป็นทุนการศึกษา

แต่ถ้าเป็นครอบครัวที่มีสตุ้งสตางค์หรือมีฐานะอยู่ก่อนแล้ว
ก็มักจะดึงเฉพาะดอกผลออกออกมาจับจ่ายอย่างเดียว

ฉะนั้น วิธีการตรงนี้ แตกต่างตรงที่ความมั่งคั่งของแต่ละครอบครัว


"จากสถิติในไทย  ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับเด็กๆ
มากกว่า 50% ไม่สามารถเรียนจบได้ มีเหตุผลจากพ่อแม่ล้มละลาย


บางคนเก็บเงินไปเรื่อยๆ พอขัดสน ชักหน้าไม่ถึงหลัง
พ่อแม่ยืมจากเงินออมก้อนนี้ออกมาใช้ก่อน แล้วก็ไม่ได้คืน
เงินก็หมดไป

กับอีกกรณีคือพ่อแม่เสียชีวิต  หรือทุพพลภาพ  แล้วไม่ได้
เตรียมเงินไว้ให้อย่างเพียงพอ ในที่สุดก็เกิดปัญหา "

...แนะนำว่า เมื่อลูกเกิดมา
อย่างแรกที่พ่อแม่ต้องทำคือประเมินค่าใช้จ่ายในอนาคต ว่ามีอะไรบ้าง


ตั้งแต่ช่วงก่อนเข้ามหาวิทยาลัยและช่วงเรียนมหาวิทยาลัย
ยิ่งถ้าพอรู้เป้าหมายว่าช่วงเรียนประถมที่ไหน มัธยมที่ไหน หรือ
อยากให้เรียนนานาชาติตั้งแต่ต้นจนจบ  เพราะตัวเงินจะแตกต่างกัน
หากพอรู้เป้าหมายจะได้วางแผนตระเตรียมเงินทองได้คร่าวๆ

ถัดมา  เมื่อประเมินเป้าหมายพอได้  คราวนี้หันมาดูกำลังของเราว่า
เพื่อให้สอดรับกับแผนคร่าวๆ ที่วางไว้ จะเอาเงินจากไหน

เพราะถึงจะบริหารจัดการเงินก้อนนี้อย่างไรก็ต้องไม่ให้กระทบแผน
การออมของเราเอง   ดังนั้น
ในแง่การจัดการงบประมาณจึงต้องเริ่มต้นมองจากภาพแม็คโครก่อน
ดูรายรับรายจ่ายแต่ละปีของเรา คะเนคร่าวๆ จะได้รู้สถานการณ์การเงิน
ว่ามีกำลังเพียงพอหรือไม่

"ไม่ว่าจะลูกกี่คน  ยังไงคุณก็ต้องเกษียณต้องเตรียมสะสมเงินออม
เอาไว้ใช้ตอนเกษียณ

เพราะฉะนั้น  ต้องบริหารจัดการให้ดี ต้องไม่ให้กระทบแผนเงินออม
เพื่อเกษียณของคุณต้องไม่สะดุดหรือไม่เปลี่ยน  แผนชีวิต
แผนการเงินของเราที่วางไว้ต้องไม่เปลี่ยน

ดังนั้น จึงเกิดคำถามที่ว่า สำหรับคนไม่ได้ร่ำรวยเงินทองมาเป็นทุนเดิม
เงินสะสมเพื่อการศึกษาของลูกควรจะมาจากไหน


นั่นเป็นสิ่งที่คนสงสัย  มีหลายคนคิดว่าดึงบางส่วนมาจากการเงินออม
ของเรานี่แหละ

ที่จริงแล้วไม่ใช่  เงินออมส่วนนี้ต้องดึงมาจากส่วนที่เป็นค่าใช้จ่าย
ของเรา
เราต้องลดรายจ่าย ปรับไลฟ์สไตล์และความสะดวกสบาย
เดิมๆ ลงบ้าง"

ที่จริง...บอกว่า  หากคุณเป็นพ่อแม่ประเภทที่สามารถผลิต
รายได้พิเศษเพิ่มได้ คงไม่เป็นปัญหา

แต่กรณีที่ไม่ได้ร่ำรวยเป็นทุนเดิม พ่อแม่หลายคนจำเป็น
ต้องลดคุณภาพชีวิตลงนิดหนึ่ง  ปรับไลฟ์สไตล์ลง


เพราะการหารายได้เพิ่ม   ไม่ใช่ว่าทุกคนจะทำได้
แต่วิธีการลดรายจ่ายทุกคนทำได้

"แต่ละคนคงต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่า  มีรายจ่ายอะไรที่ลดลงได้บ้าง
แน่นอน ปัจจัย 4 ลดไม่ค่อยได้

ต้องไปปรับโครงสร้างและรีดจากค่าใช้จ่ายไม่จำเป็น
เช่นคุณอาจต้องไปปรับโปรโมชั่นโทรศัพท์   หรือจากเดิม
เคยกินกาแฟวันละ 2 แก้วก็ลดลงเหลือวันละแก้ว หรือเลิกเลย
ก็อาจจะประหยัดเงินไปได้วันละ 100 บาท

คุณรู้มั้ยว่า  แค่ไม่กินกาแฟวันละ 100 บาท  ณ ดอกเบี้ย 4%
ผ่านไป 40 ปี คุณอาจจะมีเงินเก็บ 2.6 ล้านบาท

นี่คิดจากแค่เดือนละ 22 วันเท่านั้นนะ

ถึงตรงนี้สามีภรรยาคงต้องนั่งดูว่าปรับลดอะไรได้อีกบ้าง

สมมติแผนของคุณอยู่ที่เก็บเงิน 1 ล้านบาท
เก็บ 20 ปีๆ ละ 5 หมื่นบาท ก็เท่ากับเดือนละ 4 พันบาทเศษๆ
สามีภรรยาเงินเดือน 6 หมื่นรวมกันไม่ใช่เรื่องใหญ่

แค่ลดเบียร์วันละกระป๋อง ลดกาแฟวันละแก้ว ลดนุ่นโน้นนี่
ได้แล้ว 4 พันบาท  แต่ปัญหาของคนไทยคือยังไม่ทันลองเลย
บอกว่าทำไม่ได้  ดังนั้นก่อนจะบอกว่าทำได้หรือไม่ได้  ลองทำหรือยัง"

จากคุณ : Learn and Live
เขียนเมื่อ : 5 ม.ค. 53 18:29:16




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com