Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
@@ เมื่อลูกน้อยไม่กินข้าว...แนวทางและการแก้ไขจากคุณหมอ..@@  

“คุณหมอคะ ลูกไม่ค่อยกินข้าว จะทำอย่างไรดีคะ กลุ้มใจจัง”
     
      ปัญหา “ลูกไม่กินข้าว” เป็นปัญหาที่พบบ่อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กวัย 1-7 ปี เชื่อว่า พ่อแม่ทุกคนจะต้องเคยพบปัญหานี้แน่นอน เพียงแต่ระยะเวลา ความยาวนานของปัญหา และความรุนแรงอาจต่างกันไป
     
      จากการศึกษาของ พญ.วรุณา กลกิจโกวินท์ พบว่า แม่ที่มีลูกวัย 1-3 ปี รายงานว่า ลูกมีปัญหาการกินร้อยละ 35.3 ส่วนวัย 3-5 ปี มีปัญหาร้อยละ 40.6 ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาในต่างประเทศ ที่พบว่า ปัญหาการกินของเด็กช่วงอายุ 4 ปี มีถึงร้อยละ 42

      ทำไมลูกไม่กินข้าว
     
      สาเหตุ หลักของการที่ลูกไม่กินข้าวนั้น เริ่มต้นจาก “ความวิตกกังวลมากเกินไปของผู้ปกครอง ว่า ลูกอาจได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ” ซึ่งความวิตกกังวลนี้เกิดจาก “ความไม่รู้หรือเข้าใจผิด” เป็นเหตุสำคัญ อันนำมาสู่การแก้ไขที่ผิดๆ ส่งผลให้ปัญหารุนแรงยิ่งขึ้น
     
      ความไม่รู้หรือเข้าใจผิดของผู้ปกครองเกี่ยวกับเรื่องกินและน้ำหนักตัวของลูก ได้แก่
      1.เข้าใจผิดว่าเด็กอ้วนเป็นเด็กแข็งแรง พ่อแม่จำนวนมากมีค่านิยมที่ผิด มองว่าเด็กอ้วน (จนเกินเกณฑ์น้ำหนักปกติ) เป็นเด็กแข็งแรง และน่ารัก ทำให้มองเด็กที่น้ำหนักปกติว่าเป็นเด็กผอมเกินไปและพยายามยัดเยียดเรื่องกิน มากขึ้น
      2.เข้าใจผิดว่า ลูกน้ำหนักน้อยเกินไป ทั้งๆ ที่น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ เพราะไปเปรียบเทียบกับเด็กคนอื่นในชั้นเดียวกันที่มีน้ำหนักเกิน ซึ่งในปัจจุบันมีเด็กอ้วนในบ้านเราอยู่ถึงร้อยละ 15-20
      3.ไม่รู้ว่าเด็กหลังอายุ 1 ขวบ จะสนใจการกินน้อยลง ธรรมชาติเด็กอายุขวบปีแรกจะกินเก่งเพราะเป็นช่วงที่เติบโตเร็ว เด็กจะมีน้ำหนักเพิ่มถึง 3 เท่าตัว คือ น้ำหนักแรกเกิดประมาณ 3 กิโลกรัม จะเพิ่มเป็น 9 กิโลกรัม เมื่ออายุ 1 ขวบ จึงมีความต้องการสารอาหารมากตามธรรมชาติและหิวบ่อย กินเก่ง แต่เมื่ออายุ 1 ปี จนถึง 10 ปี จะมีน้ำหนักขึ้นเฉลี่ยปีละ 2 กิโลกรัมเท่านั้น ร่างกายต้องการสารอาหารน้อยลงเมื่อเทียบกับปีแรกเด็กจึงมีความกระตือรือร้น เรื่องกินลดลง
      4.ไม่รู้ว่าลูกควรกินอาหารปริมาณเท่าใดในแต่ละวัน ปริมาณอาหารที่พ่อแม่คาดหวังว่าลูกควรจะกินมักจะมากเกินความจริง จากการศึกษาวิจัย พบว่า พ่อแม่ส่วนใหญ่ในปัจจุบัน จะตักอาหารให้ลูกปริมาณมากกว่าที่ร่างกายของลูกต้องการจริงๆ เมื่อเด็กกินไม่หมด ทำให้พ่อแม่กังวลและพยายามยัดเยียด
      5.ไม่รู้ว่าเป็นเรื่องปกติที่เด็กอาจกินน้อยเป็นบางมื้อหรือบางวัน เด็กคนเดียวกันความต้องการอาหารแต่ละวันไม่เหมือนกัน บางวันเด็กอาจกินมาก บางวันอาจกินน้อย ขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น กิจกรรมที่ใช้พลังงานในวันนั้น สภาพทางอารมณ์จิตใจ แม้แต่สภาพอากาศก็มีผลต่อการเจริญอาหารของเด็กในแต่ละวัน เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ที่อาจมีบางมื้อที่รู้สึกไม่หิว ไม่อยากกินอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเด็กเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ เช่นไข้หวัด ก็อาจทำให้เบื่ออาหารไปชั่วคราวได้
      6.ไม่รู้ว่าความต้องการปริมาณอาหารของเด็กแต่ละคนไม่เท่ากัน แม้ว่าจะน้ำหนักเท่ากันแต่เด็กแต่ละคนอาจกินอาหารมากน้อยต่างกันได้มาก ซึ่งขึ้นกับอัตราการใช้พลังงาน การย่อย การดูดซึม อัตราการเผาผลาญของร่างกาย ฯลฯ ของเด็กแต่ละคน

      และเมื่อเกิดความกังวลว่าลูกได้สารอาหารน้อยเกินไป ผู้ปกครองจะพยายามหาวิธีแก้ไข ซึ่งส่วนใหญ่มักใช้วิธีที่ผิด คือ ใช้การดุว่า บังคับ ลงโทษ ใช้การให้รางวัลหรือหลอกล่อให้เพลิดเพลิน หรือใช้กินเพิ่มเติมระหว่างมื้ออาหาร จะเห็นได้ว่า การพยายามแก้ปัญหาโดยวิธีที่ไม่ถูกต้อง ทำให้เด็กมีทัศนคติในแง่ลบต่อการกินและไม่รู้สึกหิวเมื่อถึงมื้ออาหาร จึงเกิดพฤติกรรม ที่ไม่เหมาะสมขึ้น เช่น ทำท่าทางไม่อยากกิน ปฏิเสธ กินน้อย ต่อรอง กินช้า อมข้าว บ้วนอาหาร กินไปเล่นไป แม้แต่อาเจียน ซึ่งยิ่งทำให้พ่อแม่เครียดและกังวลมากขึ้น เท่ากับเพิ่มปัญหาให้รุนแรงยิ่งขึ้น

จากคุณ : Lotus&Rose
เขียนเมื่อ : 7 เม.ย. 53 12:34:35




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com