Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
ลูกพูดช้าอยู่ที่พ่อแม่ ^^  

แนนเจอบทความนี้ที่เวป kapook  น่าสนใจดีเลยเอาแบ่งปันค่ะ ...

ลูกพูดช้า อยู่ที่พ่อแม่ (modernmom)
โดย: สุภาวดี หาญเมธี

         เจ้าตัวเล็กผมหยิกหยอยตัวบาง ๆ ยืนคอยรถเมล์อยู่ข้าง ๆ แม่ เสียงพูดจ๋อย ๆ ไม่มีหยุด เดี๋ยว ๆ ก็กระตุกแขนแม่..."แม่จ๋า"... ถามโน่นถามนี่ จนคนที่คอยอยู่ป้ายเดียวกันอดอมยิ้มด้วยความเอ็นดูเสียมิได้ แม่ค้าข้าวโพดต้มประจำป้ายเตาปูนพูดขึ้นลอย ๆ "เด็กอะไร้ช่างพูดจัง ฉลาดนะเนี่ย"...

         ใคร ๆ ก็รู้ว่าเด็กพูดเร็ว พูดมาก มักฉลาด เพราะการพูดเป็นการสื่อสารที่สำคัญ เด็กพูดเร็วแสดงว่าพัฒนาการของสมองส่วนที่เกี่ยวกับภาษามีความพร้อม และเมื่อเด็กพูดได้มาก ข้อมูลที่ได้จากการสื่อสารกับผู้คนรอบข้าง ก็จะกลับไปพัฒนาความสามารถของสมองเพิ่มขึ้นอีก แกจะเข้าใจอะไรได้ง่าย ยิ่งถามก็ยิ่งได้ข้อมูล ยิ่งได้ข้อมูลก็ป้อนเข้า สู่กระบวนการคิด ยิ่งคิดสมองก็ได้ฝึกฝนทำงาน

         ในทางตรงกันข้าม เด็กพูดช้า พัฒนาการหลาย ๆ ด้านอาจช้าไปด้วย

         เมื่อได้รับคำถามในรายการทาง UBC 7 (21.00-22.00 วันศุกร์) ว่า ปัจจุบันปัญหาของเด็กเล็กที่น่าเป็นห่วงมีอะไรบ้าง ท่านศาสตราจารย์แพทย์หญิงชนิกา ตู้จินดา คุณหมอขวัญใจของพ่อแม่ทั้งประเทศ ตอบว่า หนึ่งในปัญหาที่ท่านเป็นห่วงคือเด็กเล็กสมัยนี้พูดกันช้ามาก 2-3 ขวบแล้วยังไม่พูด ปัญหานี้พบมากขึ้น!!!

         พ่อแม่พาไปตรวจสภาพในช่องปากก็ไม่มีปัญหาอะไร ..ลิ้น..ปาก.. เพดาน..ปุ่มเหงือก..ฯลฯ อวัยวะทุกอย่างที่เกี่ยวกับการพูดก็เป็นปกติดี...แต่สิ่งที่ไม่ปกติคือเด็กๆ ไม่ค่อยมีคนพูดด้วย เพราะพ่อแม่ไม่อยู่บ้าน พ่อแม่ไม่มีเวลา พี่เลี้ยงไม่ช่างพูด ช่างคุย ช่างเล่น น้องเลยไม่ค่อยได้ฝึกการพูด ท่านบอกว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนที่พูดด้วย ไม่ได้พูดภาษาเดียวกับภาษาแม่... เป็นพี่เลี้ยงพม่า (หรือกะเหรี่ยงลาว) น้องเลยสับสน... ???

         สุดท้ายน้องก็ไม่พูดซะเลย... ที่หยิบมาพูดอย่างนี้ เราไม่ได้รังเกียจเดียดฉันท์ใครหรอกนะคะ มนุษย์ทุกผู้ทุกนามล้วนเป็นเพื่อนเกิดแก่ เจ็บ ตาย ของเราทั้งสิ้น เพียงแต่เราไปเกิดอยู่ในคนละพรมแดน คนละวัฒนธรรมเท่านั้น ไม่ว่าน้องได้พี่เลี้ยงเป็นใครถ้าต่างสำเนียงภาษา...น้องสับสนได้พอ ๆ กันแหละ

         ดิฉันไม่ติดใจว่าใครเป็นพี่เลี้ยง แต่ติดใจว่าทำไมพ่อแม่ต้องให้คนอื่นเลี้ยงลูกของตนเอง บ้านที่มีปู่ย่าตายาย หรือญาติพี่น้องที่ไว้ใจได้ว่าดูแลลูกของเราให้ปลอดภัยได้ ให้เติบโตมีพัฒนาการที่ดีทั้งร่างกาย สุขภาพจิต และสติปัญญา ถ้าพ่อแม่จะไม่เลี้ยงเอง ฝากลูกไว้ให้ท่านเลี้ยงคงไม่เป็นปัญหานักอาจโชคดีเสียด้วยซ้ำ

         แต่บางครอบครัวที่ไม่มีญาติผู้ใหญ่ให้พึ่งพิง ..มีลูกแล้ว...เอาลูกไปฝากไว้ในความดูแลของใคร ?

         ใครก็ไม่รู้ซี??... พี่เลี้ยงบางคนเพิ่งรู้จักหน้ากันมาไม่กี่วัน บางคนอายุเพียง 12-13 ปี บางคนเพิ่งมาจากบ้านนอก บางคนไม่เคยเลี้ยงเด็กมาก่อนเลย แล้วเราวางใจได้อย่างไร... ถ้าเกิดอุบัติเหตุ?!! ถ้าเขาทำพลาดเพราะความไม่รู้ เพราะอ่อนประสบการณ์ ถ้าใจเขาไม่ทนกับเด็ก... ถ้า... ฯลฯ

         เราอาจมีเหตุผลให้กับตัวเองมากมาย ก็พ่อแม่ต้องทำมาหากิน ? แรงเดียวหาเลี้ยงไม่พอ ?

         สำหรับคนหาเช้ากินค่ำ เหตุผลนี้คงพอเข้าใจได้... แต่สำหรับครอบครัวที่มีโอกาส มีฐานะอยู่แล้วพอประมาณ บางทีก็เข้าใจได้ยากเหมือนกันนะคะกับเหตุผลที่ว่า ทั้งหมดที่ทำก็เพื่ออนาคตของลูก... ???

         เรามักลืมกันว่า ชีวิตเด็กๆ (หรือแม้แต่เราเอง) นั้น สำคัญที่สุดคือวันนี้ ไม่ใช่วันข้างหน้า ไม่ใช่อนาคต

         ยิ่งเด็กเล็ก 3 ขวบ ปีแรกของชีวิต ความปลอดภัยของเขาอยู่ที่วันนี้ สมองต้องไม่ถูกกระแทกหรือบอบช้ำเสียแต่วันนี้ อาหารต้องพอเพียงสมบูรณ์เสียแต่วันนี้ เขาต้องไม่เจ็บป่วยกระเสาะกระแสะเสียตั้งแต่วันนี้ อารมณ์ดีต้องเริ่มต้นวางรากแต่วันนี้ จิตใจที่มั่นคง ไม่หวั่นไหวความไว้ใจในโลก ความผูกพันกับมนุษย์ต้องพัฒนาขึ้นมาตั้งแต่ช่วงวัยนี้ พัฒนาการทางสมองของเขามีประสิทธิภาพสูงสุดก็ช่วงวัยนี้

         เลือดเนื้อ กระดูกของเขาเติบโตวันนี้..ทุกๆ วัน ไม่ใช่รอวันพรุ่งนี้ หรือรอไปจนวันที่พ่อแม่ฐานะมั่นคงแล้วจึงค่อยสร้าง หรือค่อยแก้ไข... เพราะถึงวันนั้นก็อาจสร้างหรือแก้ไขไม่ได้แล้ว

         ถึงแม้ว่าพ่อแม่หลายบ้านจะห่างเหินหรือทิ้งจนลูกพูดช้า แต่จากที่ดิฉันได้มีโอกาสพบ คนรุ่นใหม่หลายบ้านเริ่มตระหนักแล้วยอมลงทุนเสียแต่วันนี้ แม่ออกจากงานมาเลี้ยงลูก มาดูแลพัฒนาลูกด้วยตนเองทุกด้าน ไปไหนกระเตงกันไปด้วย ให้กินนมแม่นานเป็นปีพูดคุยกันประจ๋อประแจ๋ อยู่กันกระหนุงกระหนิง ลูกพัฒนาการไปโลด ได้เงินน้อยหน่อยก็ใช้น้อยหน่อย ลงทุนเรื่องเงิน เรื่องฐานะการงานทีหลัง เอาเรื่องลูกก่อน เพราะการงานนั้น ไม่ตายเสียก่อน (และถ้าไม่งอมืองอเท้า) ก็ยังมีโอกาส แต่กับลูกนั้น โอกาสผ่านไปแล้วก็ผ่านไปเลย ไม่หวนกลับมา วัยหนึ่งขวบ สองขวบ สามขวบ... ผ่านไปแล้ว ยื้อยุดให้กลับมา รอพ่อแม่พร้อมก่อนนะลูก... ไม่ได้

         เรื่องพูดช้าของเด็กเล็กที่ท่านอาจารย์หมอชนิกาติงมานั้น อาจดูเหมือนเป็นเรื่องเล็ก ๆ เรื่องหนึ่ง แต่แท้ที่จริงอาจเป็นสัญญาณแรก ๆ ของปัญหาพัฒนาการหรือพฤติกรรมในชีวิตของลูกก็ได้ เพราะถ้าพ่อแม่ยังใจแข็ง แม้แต่ลูกอ่อน ๆ ก็ยังกล้าวางไว้ในมือใครก็ไม่รู้ จะหวังได้หรือว่าเมื่อโตขึ้นพ่อแม่คงกลับมาใกล้ชิดเอง?

         ลูกที่พ่อแม่ไม่ใกล้ชิด เห็นกันมามากแล้วค่ะ ว่ายากจะเติบโตด้วยดี ???

 
 

จากคุณ : lovecavalry
เขียนเมื่อ : 28 ก.ย. 53 21:55:26




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com