Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
<<<< Single Mom ด้วยน้ำมือของกฎหมาย >>> เอาบทความมาให้อ่านปิดท้ายเดือนกันยายนคะ ^^  

โดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่



ปรากกฏการณ์ของ Single Mom หรือแม่เลี้ยงเดี่ยวกำลังขยายตัวอย่างกว้างขวางในสังคมไทย
จะพบว่ามีเด็กไทยจำนวนมากที่เติบโตขึ้นมาภายใต้ครอบครัวที่มีพ่อหรือแม่ เพียงคนเดียวเป็นผู้เลี้ยงดู
และครอบครัวประเภทนี้มักจะเป็นครอบครัวในรูปแบบของแม่เลี้ยงเดี่ยวเป็นส่วนใหญ่


ดังจะเห็นได้จากข่าวตามสื่อมวลชนซึ่งมีภาพของแม่เลี้ยงเดี่ยวปรากฏ อย่างบ่อยครั้ง ซึ่งลักษณะ
ของการเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวอาจเป็นผลมาจากการหย่าร้างระหว่างสามี ภรรยา การแยกกันอยู่
หรือการปฏิเสธความรับผิดชอบของทางฝ่ายชายต่อเด็กที่ถือกำเนิดขึ้นมา ร่วมถึงการทอดทิ้งไป
อย่างไม่ไยดีของทางฝ่ายผู้เป็นบิดาของเด็ก


ปฏิเสธไม่ได้ว่า สภาวะครอบครัวแบบเลี้ยงเดี่ยวมีการเพิ่มมากขึ้นในด้านหนึ่งอาจเป็นผลจาก
ความเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคมที่เปิดกว้างมากขึ้นในการตัดสินใจต่อการใช้ชีวิตคู่ระหว่าง
ชายกับหญิง อันไม่จำเป็นอดทนใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันไปตราบจน "ถือไม้เท้ายอดทอง กระบองยอดเพชร" เฉกเช่นที่
เคยมีการอบรมกันมาในอดีต สถิติการหย่าร้างระหว่างสามีภรรยาที่สูงมากขึ้นเป็นสิ่งที่สะท้อน
ถึงความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม ลำพังความเปลี่ยนแปลงในทางสังคมอาจไม่เพียงพอต่อการอธิบายถึงความเปลี่ยน
แปลงนี้ได้อย่างรอบด้าน ในอีกด้านหนึ่งระบบกฎหมายของไทยก็มีส่วนสำคัญก็ต่อการขยายตัว
ของแม่เลี้ยง เดี่ยวให้เกิดขึ้น


ในความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงและบุตรที่ถือกำเนิดขึ้นตามระบบกฎหมาย ครอบครัวของไทย
แม้จะได้มีกำหนดสิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบของฝ่ายชายเอาไว้ในฐานะที่เป็น ส่วนหนึ่ง
ของครอบครัวที่ต้องเข้ามาร่วมรับผิดชอบต่อการเลี้ยงดูทั้งภรรยาและ บุตร แต่ภาระหน้าที่
ดังกล่าวนี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิง ได้มีการจดทะเบียนสมรส หรือกล่าว
อีกนัยหนึ่งคือ ต้องมีการแต่งงานที่ถูกต้องตามกฎหมายเกิดขึ้น จึงจะทำให้เกิดหน้าที่ของฝ่ายชาย
ตามกฎหมายขึ้น


หากหญิงชายไม่ได้มีการแต่งงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จะถือว่าระหว่างหญิงชายคู่นั้น
ไม่มีความสัมพันธ์ใดๆ ในทางกฎหมาย ไม่เพียงแต่ฝ่ายชายไม่ต้องมีความรับผิดชอบต่อหญิง
ในฐานะของสามีเท่านั้น หากยังรวมถึงไม่มีภาระหน้าที่ทางกฎหมายต่อเด็กที่ถือกำเนิดขึ้นมา
หากหญิงต้องการให้ฝ่ายชายรับผิดชอบในฐานะที่เป็นพ่อของเด็กก็ต้องใช้กระบวน การทางกฎหมาย
ดำเนินการฟ้องร้อง เพื่อให้ฝ่ายชายเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของเด็กก่อน


การใช้กระบวนการทางกฎหมายจึงเป็นเครื่องมือสำคัญประการหนึ่ง แม้จะดูเหมือนไม่มีความยุ่งยาก
ต่อการฟ้องคดีเพื่อให้เกิดการรับรองเด็กเป็นบุตร นอกจากการพิสูจน์ให้ได้ว่าเด็กที่ถือกำเนิดขึ้นมา
เป็นบุตรของตนกับชายคนดัง กล่าว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าหากทางฝ่ายหญิงชนะคดีแล้ว
จะทำให้ทุกอย่างดำเนินไป อย่างราบรื่น ในความเป็นจริงยังมีขั้นตอนและกระบวนการอีกมากมาย
ที่ต้องเผชิญต่อไป เฉกเช่นเดียวกับหญิงที่ได้จดทะเบียนสมรสกับชายอย่างถูกต้องตามกฎหมาย


ในกรณีที่หญิงชายมีการจดทะเบียนสมรสกันถูกต้องตามกฎหมาย หากมีการหย่าร้างเกิดขึ้น
ไม่ว่าจะด้วยความสมัครใจหรือการฟ้องร้องในกรณีที่ ไม่เต็มใจจะหย่าร้าง โดยทั่วไปจะถือว่า
ฝ่ายชายมีหน้าที่ในการให้การอุปการะเลี้ยงดูบุตรในฐานะที่ เป็นบิดาของเด็กคนดังกล่าว
กรณีนี้สำหรับทางฝ่ายหญิงไม่จำเป็นต้องฟ้องร้องให้เกิดสถานะของการเป็นบิดา ที่ชอบด้วย
กฎหมายแต่อย่างใด


แต่ความยุ่งยากในการฟ้องร้องเพื่อให้ฝ่ายชายเข้ามาร่วมรับผิดชอบใน ค่าอุปการะเลี้ยงดู
ไม่ว่าจะเป็นหญิงที่ได้จดทะเบียนสมรสกับชายหรือไม่ ล้วนต่างต้องเผชิญกับปัญหาร่วมกัน
ในกระบวนการทางกฎหมายทั้งสิ้น


เนื่องจากในการฟ้องร้องคดีเพื่อให้ฝ่ายชายเกิดความรับผิดชอบที่ ชัดเจนโดยเฉพาะเรื่องค่า
อุปการะเลี้ยงบุตร แม้ศาลจะได้มีคำตัดสินให้ทางฝ่ายหญิงได้รับค่าเลี้ยงดูจากชายโดยกำหนดเป็น
จำนวนที่แน่นอนในแต่ละเดือน ในทางปฏิบัติจริงในหลายคดีพบว่าในระยะแรกนั้นทางฝ่ายชาย
จะจ่ายตามที่ได้มีคำพิพากษาเอาไว้ แต่เมื่อไปช่วงเวลาหนึ่งแทบทั้งหมดทางฝ่ายชายจะยุติ
การจ่ายค่าเลี้ยงดูให้ กับทางฝ่ายหญิง ซึ่งอาจเป็นระยะเวลาสั้นยาวแตกต่างกัน


ไม่ว่าการเบี้ยวค่าเลี้ยงดูให้กับบุตรที่หญิงเป็นคนเลี้ยงดูนั้นจะ เกิดขึ้นด้วยเหตุผลอันใด แต่ก็ทำให้
หญิงต้องเผชิญกับความยากลำบากอย่างแน่นอน  ต้องไม่ลืมความจริงประการหนึ่งว่า เมื่อทางฝ่ายหญิง
ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้รับเลี้ยงดูบุตรด้วยตนเองภายหลังชีวิต คู่ยุติลง จะมีความยากลำบากในการ
ประกอบอาชีพมากกว่าบุคคลทั่วไป เฉพาะอย่างยิ่งในยามที่เด็กยังมีอายุน้อยต้องการการประคบประหงม
อย่างใกล้ชิด จากผู้เลี้ยงดูทำให้มีข้อจำกัดในการแสวงหาอาชีพการงาน


ถ้าต้องการให้ฝ่ายปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือข้อตกลงในการจ่ายค่า อุปการะเลี้ยงดูตามที่ได้ตกลงเอาไว้
หนทางในทางกฎหมายจะเกิดขึ้นก็ได้ด้วยการฟ้องร้องคดีอีกครั้งว่า ฝ่ายชายไม่ปฏิบัติตามภาระหน้าที่
ที่ได้กำหนดกันเอาไว้


หากภายหลังจากการฟ้องคดีไปเรียบร้อยและทางฝ่ายชายได้ชำระค่าเลี้ยงดู ตามที่ได้กำหนดเอาไว้
เรียบร้อยแล้ว ต่อมาอีกสามเดือนทางฝ่ายชายก็ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวอีก ทางฝ่ายหญิง
ก็ต้องใช้กระบวนการทางกฎหมายเป็นเครื่องมืออีก หากถึงที่สุดทางฝ่ายชายแพ้คดีก็ต้องใช้มาตรการ
บังคับคดี  ซึ่งก็มีความยุ่งยากที่ต้องใช้ระยะเวลายาวนาน รวมถึงขั้นตอนในการติดต่อและติดตาม
กับทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกอย่างยึดเยื้อกว่าที่จะสามารถบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง
หรือคำพิพากษาที่ได้ตัดสิน เอาไว้


ทั้งหมดนี้ไม่ได้มีหลักประกันอะไรแม้แต่น้อยว่าการดำเนินการ ทางกฎหมายแล้วจะทำให้หญิง
ได้รับสิทธิประโยชน์ตามที่ตนเองเรียกร้อง หากแพ้คดีขึ้นมาไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ทำให้ต้องแบกรับ
ภาระเหล่านั้นทั้งหมด ไว้บนบ่าของตน


ที่กล่าวมาเป็นบางส่วนเสี้ยวของระบบกฎหมายไทย เมื่อฝ่ายหญิงตกอยู่ในสถานะแม่เลี้ยงเดี่ยว
และต้องการเรียกร้องสิทธิจากฝ่ายชายที่เป็นบิดาของเด็กจะเห็นได้ว่ามีกระบวนการและขั้นตอนต่างๆ
ที่สลับซับซ้อนซึ่งล้วนแต่ต้องใช้เวลา ค่าใช้จ่าย ความเสียใจ ความทุกข์ร้อน ฯลฯ


จึงไม่เป็นที่ประหลาดใจแต่อย่างใดที่ผู้หญิงจำนวนมาก (โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ไม่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีพอ)
จะเลือกแบกรับภาระต่างๆ ไว้เพียงผู้เดียวมากกว่าการพึ่งพาหรือการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ
ในการเยียวยาวความเดือดร้อน ที่ตนเองได้รับ


บทความนี้ไม่ต้องการเรียกร้องให้เกิดความพยายามในการรักษาครอบครัว อุดมคติแบบพ่อ-แม่-ลูกเอาไว้
เพราะถึงที่สุดแล้วถ้าการแยกทางกันเป็นสิ่งที่ตอบสนองต่อการมีชีวิตอยู่ของ แต่ละฝ่ายได้ดีกว่าทั้งคู่
ก็ควรเลือกเส้นทางดังกล่าว มากกว่าที่จะต้องกล้ำกลืนฝืนทนอยู่ด้วยกันอย่างไม่มีความสุข


แต่บทความนี้ต้องการเรียกร้องให้เกิดความรับผิดชอบของฝ่ายที่มีกำลัง ความสามารถทางเศรษฐกิจ
และด้านอื่นที่ดีกว่าในการเข้ามาร่วมแบกรับเด็กที่เกิดขึ้นจากหญิงชายคู่นั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
ในแง่จากทางด้านกฎหมายอันเป็นสิ่งที่มักไม่ค่อยถูกกล่าว ถึงมากเท่าใด


ภาวะแม่เลี้ยงเดี่ยวอาจเป็นปรากฏการณ์ "ปกติธรรมดา" มากขึ้นในสังคมไทยปัจจุบันและในอนาคต
อันใกล้ข้างหน้า แต่ความปกตินี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะว่าความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับการมีชีวิตคู่
แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ระบบกฎหมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบกฎหมายของไทยมีส่วนอย่างสำคัญ
ในการทำให้เกิดและรวมไปถึงการซ้ำเติมให้ปัญหานี้ตกไปบนบ่าของผู้หญิงเพียงด้านเดียว


ในขณะที่ฝ่ายชายซึ่งเป็นส่วนหนึ่งและส่วนที่สำคัญต่อการทำให้เกิดปัญหานี้สามารถพ้นไป
จากความรับผิดชอบได้อย่างง่ายดาย

.
.
.

แก้ไขเมื่อ 30 ก.ย. 53 11:05:02

จากคุณ : เซเลบบ้านนา
เขียนเมื่อ : 30 ก.ย. 53 10:57:18




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com