Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
^^ เด็ก 1 ขวบ 10 เดือนกับ Terrible Two และบทความเรื่องนี้ค่ะ ^^ ติดต่อทีมงาน

แม่ ๆ ท่านใดมีประสบการณ์ มาแชร์ข้อมูลกันนะคะ

เพราะตอนนี้ลูกสาวน่าจะ อยู่ในช่วง terrible 2 เพราะเธอเริ่มต่อต้าน ดื้อ อารมณ์ขึ้น ๆ ลง โวยวาย งอแง แบบไม่มีสาเหตุ กินข้าวยาก

แม่ท่านใดมีประสบการณ์ มาเล่าให้ฟังกันนะคะ จะได้นำวิธีการไปปรับใช้กับเจ้าตัวเล็กคะ

เอาบทความเรื่องนี้มาให้อ่านกันค่ะเผื่อจะเป็นประโยชน์กับแม่ ๆ ที่ลูกอยู่ในช่วงนี้กันนะค่ะ

ทำอย่างไร ลูกในช่วง 2-3 ปี เป็นเด็กเอาแต่ใจ  
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์

ลูกในช่วงอายุ 2-3 ปี เป็นเด็กเอาแต่ใจ อยากได้อะไรก็ต้องได้ ถ้าไม่ได้ก็จะร้อง ไม่พอใจก็ต้องกรี๊ด และตีคุณแม่กลับด้วย เป็นเด็กที่รออะไรไม่ค่อยได้

ลูกกรี๊ดหรือร้องไห้ หมออยากเรียนไว้ว่า เรามีคาถาอยู่บทหนึ่ง "อย่ากลัวเสียงร้องของลูก" คุณพ่อคุณแม่หลายท่านพอลูกร้องกรี๊ด ก็มือไม้อ่อน ลูกอยากได้อะไรก็ให้หมดเพราะว่ากลัว พ่อแม่กลัวแล้ว อย่าร้องเลยลูก
วิธีการ นอกจากไม่กลัวเสียงกรี๊ดแล้ว ต้องมองเห็นว่า เสียงกรี๊ดนั้นคือเสียงเรียกร้องของหนูน้อยที่ยังไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้

ถ้าลูกขวบครึ่ง เราก็ยังทำใจยอมรับได้อยู่

สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูก 3 1/2 ขวบแล้วก็ยังกรี๊ด หมออยากแสดงมาตรฐานจุดยืนว่า อนุญาตให้กรี๊ดได้อีกไม่เกิน 1 สัปดาห์ เราต้องรีบจัดการ โดยที่เขากรี๊ดแล้วขว้างของหรือตีคุณแม่ หรือกรี๊ดเฉย ๆ ก็ไม่ต้องสนใจ "หนูอารมณ์ไม่ดี โมโหแบบนี้ คุณแม่ยังไม่คุยด้วย" แล้วเดินออกไป

+ ถ้าเด็กกรี๊ดแล้วดูพอจะมีเหตุผล เช่น เจ็บมาก ก็เข้าไปดูลูกหรือถ้าใครทำอะไรเขาก็เข้าไปจัดการปัญหาตรงนั้น

+ ถ้าเด็กกรี๊ดเอาสนุก เอาชนะพ่อแม่ ให้เฉย ๆ แล้วเดินออกไป "ถ้าหนูหายโมโห หนูหายอารมณ์เสีย คุณแม่จะรอ เดี๋ยวไปกินไอติมกันดีกว่า หรือไปเล่นกันดีกว่า" ถ้าเขาเงียบ "หายโมโหแล้ว ไปเล่นกันดีกว่า" ไม่ต้องไปเท้าความว่าทำไมถึงกรี๊ด ให้เรื่องจบอยู่แค่นั้น

+ ถ้าขว้างของให้หยิบของออกให้พ้นมือ

+ ถ้าทุบตีคนอื่น จับมือให้แน่น ๆ อย่าให้เขาทำ ถ้าทำอะไรที่ทำให้เกิดความเสียหาย เด็กดิ้นทุรนทุราย อาจจะต้องโอบให้แน่น ๆ รัดไว้แน่น ๆ ไม่ต้องตอบโต้ ไม่ต้องตีคืน

เด็กกรี๊ดแล้วไม่ได้ดังใจ จะเกิดอะไรขึ้น เด็กจะยิ่งกรี๊ดดังกว่าเดิม จนกระทั่งเหนื่อย อาจจะร้องไห้จนหลับไป คุณพ่อคุณแม่ก็อย่าไปเสียใจ อาจหลบไปร้องไห้คู่ขนานก็ได้ แต่มีผนังกั้นอย่าให้ลุกเห็น อย่าเพิ่งดีใจว่าลูกจะหายจากกรี๊ดนะคะ เพราะวันรุ่งขึ้นเด็กจะกรี๊ดอีกรอบ

เด็กจะเข้านอนพร้อมกับความรู้สึกว่าพรุ่งนี้เอาใหม่ เอาให้ดังกว่าเดิม ถ้าคุณพ่อคุณแม่เกิดห่วงใยความรู้สึกของเพื่อนบ้าน อาจแวะไปบอกว่า "ขอ 7 วันนี้นะคะ ลูกจะกรี๊ดดังหน่อย กำลังปรับพฤติกรรมลูกอยู่" วันรุ่งขึ้นลูกจะกินข้าวเต็มที่ กินนมเต็มที่ นอนเต็มที่ แล้วจะกรี๊ดกับคุณพ่อคุณแม่ให้เสียงดังกว่าเดิมอีก ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ต้องหนักแน่นมากกว่าเดิมอีกสักระยะหนึ่ง

เมื่อมองย้อนไป คุณพ่อคุณแม่คงนึกออกว่า ตอนแรกที่ลูกพูดดี ๆ ด้วยสองสามคำแล้วเราไม่ให้ แต่พอลูกกรี๊ด เราจะตอบสนองเขาทันที ต่อมาลูกจึงเรียนรู้ที่จะกรี๊ด เพื่อให้พฤติกรรมกรี๊ดหายไป ดีขึ้น และราบรื่นขึ้น พอเขาคุยอะไรด้วยดี ๆ หรือบอกอะไรด้วยดี ๆ เช่น "คุณแม่ขา หนูขอ..." ต้องรีบหันไปสนใจ หรือรีบให้ก่อนที่จะกรี๊ด ถ้าการให้นั้นสมเหตุสมผล อย่างตั้งเงื่อนไขว่าจะไม่ให้ในตอนแรก พอกรี๊ดหนักแล้วถึงจะให้

ถ้าถามดี ๆ แล้วให้ เด็กจะเรียนรู้ว่าขอดี ๆ แล้วได้ ถ้าขอดี ๆ แล้วไม่ให้ กรี๊ดแล้วถึงได้ เด็กก็จะจำไว้ว่ากรี๊ดแล้วจะได้ เด็กก็จะกรี๊ดต่อไปเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้น ระหว่างที่เรากำลังเปลี่ยนลูก เราต้องสังเกตด้วยว่า เราไม่ค่อยสังเกตท่าทีดี ๆ ของลูกหรือเปล่า ทันทีที่ลูกถามดี ๆ บอกถี ๆ ให้รีบหันกลับไปชมว่า "คนดีของแม่ บอกแม่ดี ๆ อย่างนี้นี่แหละที่คุณแม่ชอบ คุณแม่ถูกใจ" รีบหยิบยื่นให้เขา ห้อมแก้มแถมอีกทีนึง พฤติกรรมกรี๊ดก็จะค่อย ๆ หายไป

ถ้าลูกค่อนข้างดื้อ ปัญหาเด็กกรี๊ดส่วนใหญ่เกิดจากตัวเด็กเอง เด็กจะมีธรรมชาติพื้นฐานเป็นเด็กที่ยืนยัน หนักแน่น จะเอาอะไรก็ต้องได้ กลุ่มนี้ต้องอาศัยการปรับพฤติกรรมจากคุณพ่อคุณแม่ สาเหตุจากตัวเด็กคือเช่นนี้ แต่สาเหตุจากคุณพ่อคุณแม่ที่ทำให้เด็กกรี๊ดมากที่สุดคือ พ่อแม่ที่ไม่สม่ำเสมอ เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย แปรปรวนไปมา พ่อแม่กลุ่มนี้จะส่งเสริมให้ลูกเกิดพฤติกรรมกรี๊ดหรือไม่น่ารักโดยไม่รู้ตัว

ทุกวันนี้เราพูดคุยกันเสมอว่า จะพูดคุยกับลูกด้วยเหตุด้วยผล ค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนลูก เราคิดว่าวิธีการนี้ดีที่สุดแน่นอน แต่อาจมีคุณพ่อคุณแม่อีกกลุ่มหนึ่งว่า "เอ๊ะ สมัยผม พ่อแม่ดุมากเลย อยากได้อะไรก็ไม่เคยได้ ดุผมตลอดเลย แต่ผมก็ได้ดิบได้ดี"

มีงานวิจัยบอกว่า พ่อแม่ที่ดุสม่ำเสมอ เป็นกลุ่มที่มีวินัยเข้นข้นเกินเหตุ ก็สามารถเลี้ยงลูกให้ดีได้ โดยเฉพาะกรณีลูกของเขาเป็นแบบที่ดื้อดึง ยืนยันโดยกำเนิด จะเป็นคู่ที่เกิดมาเพื่อกันและกัน ลูกจะได้ดิบได้ดีพอประมาณ

แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่หันไปใช้วิธีอ่อนโยน นุ่มนวลกับลูก ปรับพฤติกรรมไปเรื่อย ๆ แล้วคอยชมเป็นระยะ ๆ เด็กคนนี้จะได้ดีและมีความภาคภูมิใจในตัวเองสูงด้วย

กลุ่มที่เลวร้ายที่สุดคือ พ่อแม่เกิดมาแปรปรวนรวนเรทางอารมณ์ตลอดเวลา วันจันทร์พ่อแม่เครียดมาก ลูกขออะไรไม่ได้ทุกเรื่อง แต่พอวันศุกร์เกิดรู้สึกผิด ลูกอยากได้อะไรให้หมดทุกเรื่อง จันทร์ถึงศุกร์อารมณ์หลากหลาย รับรองได้ว่าพ่อแม่กลุ่มนี้เลี้ยงลูกแล้วจะเป็นดาวกรี๊ด

ที่มา : หนังสือเสริมสร้าง IQ EQ ให้ลูกวัยเรียน

อีกอันนะค่ะ

โดย godluver เมื่อ 26 พ.ค. 2009, 11:38

ขึ้นๆ ลงๆ อารมณ์ป่วนของหนู  

นอกจากจะอยู่ในวัยทั้งดื้อทั้งซน จนได้ขึ้นชื่อว่าเป็น "ตัวแสบ" ที่ชอบป่วน สร้างความวุ่นวายให้กับสมาชิกในบ้านแล้ว อารมณ์ที่เปลี่ยนเร็วไม่แพ้การกดรีโมตเปลี่ยนช่องทีวีของหนูๆ วัยนี้ ทำเอาผู้ใหญ่อย่างเราตามอารมณ์น้องหนูเธอไม่ทัน
"ลูกสาวเดี๋ยวนี้ร้ายใหญ่แล้ว พอขัดใจเข้าหน่อยก็ร้องไห้เป็นน้ำหูน้ำตาขึ้นมา จนเราอดสงสารไม่ได้ พอใจอ่อนยอมตามใจ ก็ดีใจหัวเราะจนออกนอกหน้าอย่างกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น เหมือนดาราเจ้าน้ำตาไม่มีผิด แสบจริงๆ เลย" คุณแม่คนหนึ่งพูดถึงลูกสาววัย 2 ขวบกว่าด้วยน้ำเสียงเอ็นดูปนอ่อนใจ
แต่คุณพ่อคุณแม่หลายๆ คน อาจจะทำใจไม่ได้เหมือนแม่ของน้องแป้ง ซ้ำยังพาลวิตกไปว่า เจ้าตัวเล็กจะกลายเป็นคน "เจ้าอารมณ์" เมื่อโตขึ้น
เรื่องธรรมด๊า..ธรรมดา
ใจเย็นๆ ก่อนค่ะ การที่เด็กวัย 2-3 ขวบเป็นอย่างนี้ มันมีเหตุและที่ไปที่มา อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าเจ้าตัวดีเป็นคนเจ้าอารมณ์ หรือเป็นนักแสดงเจ้าบทบาทเลย ทว่าที่เห็นว่าอ่อนไหว อารมณ์แกว่งไปแกว่งมาแบบนี้ เป็นเพราะหนูกำลังอยู่ในช่วงที่ปรับตัวจากเด็กเล็กๆ มาเป็นเด็กวัยเตาะแตะที่ช่วยเหลือตัวเองได้บ้างแล้ว ก็เลยมีบ้างที่เป็นแบบนี้
อย่างที่เห็นกันว่า ตอนนี้ลูกเริ่มช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น เดินไปไหนมาไหนด้วยสองขาป้อมๆ ของตัวเองได้ มือเล็กๆ หยิบจับชำนาญแล้ว แถมยังรู้จักพูดโต้ตอบได้บอกความต้องการของตัวเองได้ ความอยากรู้อยากเห็นโลกกว้างที่มีอยู่ในตัว ก็พร้อมจะระเบิดออกมาได้ตลอดเวลา ทุกอย่างรอบตัวจึงน่าสนใจ เห็นอะไรก็อยากสัมผัส อยากได้
เป็นเจ้าของไปเสียหมด จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่หนูจะร่าเริงจนออกนอกหน้าเมื่อได้ดังใจ หรือพร้อมจะโอดครวญ โวยวาย หรือร้องไห้เสียใจเมื่อผิดหวังไม่ได้อย่างใจ
ฉะนั้นหากมีสิ่งใดหรืออะไรมากระทบ ไม่ว่าจะเป็น ดีใจ เสียใจ ตกใจ กลัว โมโห ไม่พอใจ อาย ความรู้สึกที่เกิดขึ้นก็พร้อมจะแสดงออกมาให้คนอื่นได้เห็นทันที โดยไม่มีการซ่อนเร้น
ตัวการป่วนอารมณ์
ถ้าลูกอารมณ์ดี ยิ้มแย้มแจ่มใส คุณพ่อคุณแม่คงไม่กลุ้มใจ แต่ถ้าลูกอารมณ์เสียง่ายก็คงไม่เข้าทีเสียเท่าไร และสิ่งต่อไปนี้ เชื่อกันว่าคือตัวการสำคัญที่ทำให้ลูกจอมซนของเราขุ่นมัว
* นี่แหละตัวฉัน
ในขณะที่ทักษะการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อต่างๆ และการควบคุมร่างกายทำงานกันได้ดี ความรู้สึกของ "ความเป็นตัวเอง" ก็พัฒนาขึ้นด้วย เด็กรู้สึกว่าตัวเองเป็นอิสระแยกออกจากพ่อแม่ สามารถทำอะไรต่อมิอะไรได้ด้วยตนเองมากขึ้นกว่าเดิม และสนุกกับการได้พิสูจน์บทบาทของตัวเอง แต่ในขณะเดียวกันในบางช่วงลูกก็ยังต้องการพึ่งพาและการดูแลอย่างใกล้ชิดจากพ่อแม่อยู่ ความรู้สึกกล้าๆ กลัวๆ ที่ผสมปนเปกันนี้ ผลมีต่ออารมณ์ของเขาอยู่ไม่น้อย
* ไม่ชินกับการปฏิเสธ
เด็กๆ เคยกับการ "ได้" ทุกอย่างมาก่อนตั้งแต่เล็ก หิวก็ได้กิน ง่วงก็ได้นอน แต่ต่อมากลับไม่ได้ทุกอย่างเหมือนเดิม ย่อมทำให้เด็กไม่พอใจ เพราะไม่คุ้นเคยกับการปฏิเสธ ไม่ได้รับการสนองตอบตามที่ต้องการ และที่สำคัญเขายังไม่รู้ว่า จะจัดการกับความรู้สึกไม่พอใจนี้อย่างไรดี ทำให้เขา หงุดหงิด โวยวายได้ง่าย ทั้งที่ก่อนหน้านั้นยังเห็นลูกอารมณ์ดีอยู่ก็ตาม
* รอไม่เป็น
การที่หนูๆ วัยนี้ยังไม่เข้าใจเรื่องเวลาดีนัก เขาจะรู้จักแต่ปัจจุบันและเดี๋ยวนี้ อดทนรอคอยไม่เป็น ทำอารมณ์น้องหนูไหวไปมาและตกวูบได้
เรื่องที่อดใจรอไม่เป็นนั้น มีจิตแพทย์เด็กที่สหรัฐอเมริกาได้ทำการวิจัยเรื่องนี้โดยนำเด็กๆ วัย 1-3 ปี จำนวนเกือบ 150 คน มาทดลองโดยพาเด็กเข้ามาอยู่ในห้องนั่งเล่นที่มีขนมวางอยู่ แล้วสร้างสถานการณ์ ให้คนดูแลเด็กออกไปข้างนอก โดยบอกให้เด็กๆ อย่าเพิ่งแกะขนมกินจนกว่าคนดูแลจะกลับมา แน่นอนว่าเด็กๆ ต่างไม่พอใจที่ไม่ได้กินขนม ผลที่ออกมาคือเด็กวัย 2 ขวบจะใจจดจ่อกับขนมและอดใจทนรอไม่ไหว แกะขนมกินก่อนเสียส่วนใหญ่ ในขณะที่เด็กเล็กกว่าหันไปสนใจกับของเล่น หรือทำอย่างอื่นโดยลืมเรื่องขนมไป ส่วนเด็กที่โตกว่าสามารถอดทนและบังคับตัวเองไม่ให้ไปหยิบขนมกินก่อนได้มากกว่า
ฉะนั้นใจเย็นและให้เวลาลูกสักนิด หากลูกจะยังไม่รู้จักคำว่า "รอ" เพราะเมื่อพ้นจากช่วงนี้ไป แกก็จะค่อยๆ ปรับตัวและเรียนรู้ที่จะรอได้ในที่สุด
ตั้งรับอย่างไรดี
* เข้าใจกันบ้าง
อารมณ์ที่หลายคนเข้าใจว่าแปรปรวนนี้ ความจริงแล้วเป็นสิ่งที่เด็กแสดงออกมาตามความรู้สึกที่แท้จริง ว่าตอนนั้นก็รู้สึกอย่างไร ชอบ ไม่ชอบ พอใจหรือไม่พอใจ ขอให้เข้าใจด้วยว่าเด็กยังขาดทักษะในการควบคุมความรู้สึก หรือยังคิดเรื่องถูกผิดไม่เป็นนัก คุณพ่อคุณแม่ควรใจเย็นอดทน ค่อยๆ สอนและชี้ให้ลูกเห็นถึงเรื่องความถูกต้องเหมาะสม(แต่ไม่ควรสอนตอนที่ลูกกำลังอารมณ์ไม่ดี เพราะลูกคงไม่ฟังแน่ๆ) ในเวลาที่ลูกสงบหรืออารมณ์ดีแล้ว น่าจะช่วยได้แม้ว่าจะใช้เวลาบ้างก็ตาม
* หลีกเลี่ยงการปะทะ
เมื่อลูกเกิดงอแง พูดไม่รู้เรื่อง พยายามอย่าใช้อารมณ์ตอบโต้ลูก เพราะนั่นจะทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายขึ้น ถ้าคุณพ่อคุณแม่สามารถเบี่ยงเบนความสนใจหรือเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมที่ทำให้ลูกอารมณ์แปรปรวน จะเป็นทางหนึ่งที่จะช่วยได้ เช่น หากลูกร้องจะเอาของกลางห้างสรรพสินค้า แทนที่คุณจะตามใจหรือโมโหตีลูก ปล่อยให้เขาร้องไปสักพัก แล้วค่อยพาหรืออุ้มลูกเดินไปที่อื่น (อย่าอายนะคะ พ่อแม่ส่วนใหญ่จะแพ้ลูก เพราะอายคนมองที่ปล่อยให้ลูกร้องไห้ ปล่อยไปสักพักเขาจะเงียบไปเอง) เพื่อเปลี่ยนอารมณ์และบรรยากาศให้ดีขึ้นก่อนที่จะอธิบายให้ลูกฟังว่าทำไมเราจึงไม่ซื้อสิ่งนั้นๆ ให้เขา
* รู้อกรู้ใจลูก
คุณพ่อคุณแม่คงต้องคอยจับสัญญาณของลูกด้วยว่า เขาเป็นอย่างไร ง่วง หิว ไม่สบายตรงไหนหรือเปล่า ถ้ารู้นิสัย เข้าใจลูกก็จะช่วยให้เราจัดการรับมือกับอารมณ์ของลูกได้ง่ายขึ้น บางคนเห็นลูกเริ่มหงุดหงิดก็รู้แล้วว่าเจ้าตัวน้อยเริ่มง่วง พอจัดการกล่อมนอน ก็หมดฤทธิ์หลับปุ๋ยไปเลย
แต่บางครั้งเราต้องเดาความคิดของลูกตัวน้อยว่าลูกจะมีปฏิกิริยาอย่างไรกับสถานการณ์ต่างๆ และเตรียมหาทางหนีทีไล่ไว้ให้ดี เช่น รู้ว่าหากให้ของขวัญวันเกิดพี่ แนนอนว่าถ้าน้องเห็นคงต้องร้องอยากได้บ้างแน่ เราก็อาจจะเตรียมลูกกวาดหรือของขวัญเล็กๆ น้อยเผื่อไว้ให้คนน้องด้วย ก็จะเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยได้
* ยืดหยุ่นตามสมควร
การบังคับไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ดี เพราะลูกจะยิ่งต่อต้าน ไม่เชื่อฟังมากขึ้น ควรยืดหยุ่นปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ แต่ถ้าเป็นกฎและกติกาที่ตกลงกันไว้แล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ควรยอมโอนอ่อนตามใจโดยไม่มีเหตุผล มิเช่นนั้นลูกจะเคยตัวและไม่ยอมทำตามสิ่งที่ตกลงกันไว้
* เป็นโค้ชที่ดี
การรู้จักแสดงความรู้สึกต่อเหตุการณ์ต่างๆ นับเป็นบทเรียนสำคัญของเด็กในวัยกำลังเรียนรู้ที่จะจัดการกับอารมณ์ในสถานการณ์ๆ ซึ่งแน่นอนว่า เด็กๆ ต้องการคำแนะนำอย่างใกล้ชิดจากคุณพ่อคุณแม่ เช่น หากไม่พอใจก็มีวิธีอื่นบอกให้คุณพ่อคุณแม่หรือคนอื่นๆ รู้ได้ว่าได้ไม่ชอบ โมโหแล้ว มากกว่าใช้วิธีร้องหรืออาละวาด
การจะสอนเรื่องยากๆ เหล่านี้ให้ลูกเข้าใจได้ง่ายๆ นอกจากใช้วิธีสมมติเหตุการณ์ต่างๆ ให้เห็นจริงแล้ว การเป็นตัวอย่างให้ลูกก็เป็นวิธีที่ได้ผลมากอีกวิธีหนึ่งค่ะ
อารมณ์ของเด็กวัยนี้อาจจะปรวนแปรไปบ้าง แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่ให้ความรักและความเข้าใจ ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะจัดการกับเรื่องนี้

ข้อมูลจาก : นิตยสาร ฉบับที่ 41 เดือนมีนาคม พ.ศ.2542

จากคุณ : oat_ada_cherry
เขียนเมื่อ : 3 พ.ย. 53 16:05:09




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com