Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
>>> โครงการสงสัย “ออ (ทิสติก)” ไม่ต้องรอวินิจฉัย ติดต่อทีมงาน

โครงการสงสัย “ออ (ทิสติก)” ไม่ต้องรอวินิจฉัย
 

โดย: ชาดา



"ลูกสาวไม่พูด ปีหน้าเข้าโรงเรียนอนุบาลแล้ว กลัวเรียนไม่ทันเพื่อน...."

"ลูกชาย 1ขวบ8เดือนแล้ว ยังไม่พูด ไม่สบตาแม่ ชี้นิ้วไม่เป็น เคยพาไปโรงพยาบาล ต้องรอคิวอีก 3เดือน เครียดมากไม่รู้จะทำยังไงดี...."

"เคยพาลูกพบหมอที่คลินิก เพราะลูกไม่พูด หมอบอกปกติดีแต่ให้ลดดูทีวีลง ทำตามแล้วแต่ทำไมลูกยังไม่ดีขึ้น...."

"สงสัยว่าลูกจะมีอาการของเด็กออทิสติก เคยนัดตรวจแล้วแต่ต้องรออีก 4เดือน แล้วระหว่างที่รอ ลูกจะแย่ลงไปอีกหรือเปล่าไม่รู้...."

เพียงส่วนหนึ่งของปัญหาครอบครัวที่มีลูกเป็นออทิสติก ความต้องการเพียงอย่างเดียวของครอบครัวนั้นคือการที่ลูกมีอาการดีขึ้น สามารถช่วยเหลือและอยู่ร่วมกับคนในสังคมได้ ความต้องการเหล่านี้บรรลุผลได้ด้วยการรู้เร็วและช่วยเหลือเร็ว และนี่เองเป็นที่มาของโครงการ "สงสัยว่า "ออ(ทิสติก)" ไม่ต้องรอวินิจฉัย"

................................................................

เบื้องหลังโครงการ

"ปัจจุบันตัวเลขของเด็กออทิสติกเพิ่มขึ้น จากตัวเลขและจำนวนคนไข้ที่รอรับการวินิจฉัยในโรงพยาบาล ซึ่งขณะนี้คนไข้ต้องรอนานกว่า 8เดือนกว่าจะได้วินิจฉัยว่ามีอาการผิดปกติด้านใดแล้วจึงค่อยรับการรักษา เรามองว่าการรอวินิจฉัยเท่ากับว่าเด็กเสียเวลาไปแล้วกว่า25% ของชีวิตเด็ก เราจึงนำรูปแบบที่เคยใช้ได้ผลในโรงพยาบาลเครือข่ายต่างจังหวัด 38จังหวัดมาใช้ โดยวิธีการคือเราจะให้การกระตุ้นพัฒนาการและพัฒนาทักษะกับเด็กระหว่างที่รอการวินิจฉัยจากหมอ ภายใต้โครงการ"สงสัยว่า "ออ(ทิสติก)" ไม่ต้องรอวินิจฉัย" ก่อนจะเข้ารับการฝึกทักษะเราจะมีกรีนนิ่งเทสต์ (PDD HQ) เป็นแบบทดสอบที่จะทำให้เราทราบว่าเด็กมีอาการผิดปกติด้านใด เพื่อเข้ารับการกระตุ้นพัฒนาการ สำหรับลักษณะโปรแกรมที่ใช้กับเด็กในโครงการนี้ด้วยความที่ยังไม่ใช่การบำบัดหรือรักษา วิธีการที่ใช้กับเด็กจึงเป็นรูปแบบกิจกรรมที่เน้นการกระตุ้นพัฒนาการในองค์รวม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นระหว่างโครงการหากเด็กมีความผิดปกติมาก เราก็จะทำการวินิจฉัยให้อย่างเร่งด่วนเพื่อให้รับการรักษาอย่างเร่งด่วนเช่นกัน

ด้วยความที่ไม่ใช่การบำบัดรักษาโครงการนี้มีมีข้อห้ามคือ ห้ามกินยาและห้ามฉีดยา เพราะเป็นกระบวนการรักษาที่ต้องได้รับการวินิจฉัยก่อน ส่วนการบำบัดหรือพฤติกรรมศาสตร์นั้นเป็นศาสตร์สากลที่สามารถทำได้ทุกคนและทุกเวลา โครงการนี้ถือเป็นหนึ่งในขั้นตอนการวินิจฉัยก่อนรักษา และเป็นการช่วยทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ของคนไข้คือได้รับความช่วยเหลือ แต่หากการช่วยเหลือนั้นอาจจะมาช้าเกินไป การพลิกวิธีคิดบางอย่างก็จะช่วยให้เด็กได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนที่สุดครับ"



ฐานะคนทำงาน

คนทำงานในโครงการนี้จะเป็นใครไม่ได้ค่ะ นอกจากพยาบาลผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลเด็กพิเศษพยาบาลอ้อยของเด็กๆ บอกกับเราในฐานะคนที่ดูแลเด็กว่า



"สิ่งที่หวังผลคือ เด็กต้องดีขึ้นอย่างน้อยหนึ่งระดับ พ่อแม่มีทักษะในการดูแลลูกเพิ่มขึ้น เพราะพ่อแม่เป็นบุคคลสำคัญที่จะทำให้เด็กดีขึ้น การฝึกเฉพาะที่โรงพยาบาลเพียงอย่างเดียว ไม่ได้ทำให้เด็กดีขึ้น แต่พ่อแม่ต้องหมั่นฝึกทักษะให้ลูกเป็นประจำที่บ้าน เด็กก็จะมีทักษะที่เพิ่มขึ้น อาจจะมากหรือน้อยลงก็ต้องขึ้นอยู่กับอาการที่เด็กที่เขาเป็นด้วย แต่การให้เด็กได้รับการฝึกทักษะก่อนก็จะมีส่วนช่วยกระตุ้นพัฒนาการด้านอื่นๆ ให้ดีขึ้นได้ นอกจากนี้เรายังกิจกรรมการรวมกลุ่มพ่อแม่เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดูแลลูกและช่วยเพิ่มกำลังใจให้กันและกัน ยังเป็นการช่วยลดความกังวลใจของพ่อแม่เอง บางคนถึงโทษตัวเองว่าเพราะไม่ได้ทำอย่างนั้น ไม่ได้ทำอย่างนี้ ลูกถึงไม่ดีขึ้น อยากบอกคุณพ่อคุณแม่ว่าการเลี้ยงดูไม่ใช่สาเหตุหลักแต่เป็นปัจจัยเสริมเท่านั้น



ลักษณะของกิจกรรมคือเราจะแบ่งกลุ่มเด็กออกเป็นกลุ่มใหญ่ที่ต้องการได้รับการกระตุ้นที่คล้ายๆ กัน ไม่เฉพาะเพื่อให้ง่ายต่อการฝึกเท่านั้น ยังป็นการดีต่อพ่อแม่ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันที่อาจจะมีการเลียนแบบพฤติกรรมในการฝึกลูกอีกด้วย ส่วนเรื่องช่วงระยะเวลาโครงการนั้น เราจะใช้เวลาในช่วงบ่าย เพราะในช่วงเช้าพยาบาลจะเป็นดูแลผู้ป่วยในเป็นหลัก เวลาจะเริ่มตั้งแต่13.00น.-15.30 วันอังคาร พุธ และพฤหัสบดีเป็นเวลา 12สัปดาห์ โดยตลอดเวลาพ่อแม่ต้องเข้ามาทำกิจกรรมกับลูก พยาบาลนั้นเป็นเพียงผู้ช่วยและสาธิตกิจกรรมในเบื้องต้นเท่านั้น กิจกรรมที่ใช้กับเด็กจะเป็นลักษณะการกระตุ้นพัฒนาการโดยปรับจากวิธีการบำบัดที่ใช้อยู่กับผู้ป่วยมาให้เหมาะสมกับเด็ก จริงๆ แล้วปัญหาส่วนใหญ่ของเด็กที่พบคือ พูดช้าหรือไม่พูดเลย ดังนั้นการฝึกพูดจึงเป็นหนึ่งในเรื่องที่จะแทรกอยู่ในเกือบทุกกิจกรรม ทั้งการร้องเพลง กระตุ้นให้เรียกชื่อตัวเอง ชื่อสิ่งของ แต่ละวิธีการนั้นพ่อแม่สามารถนำไปประยุกต์เล่นกับลูกได้ ด้วยระยะเวลาโครงการ 12สัปดาห์ เราคิดว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการสร้างทักษะและเปลี่ยนพฤติกรรมเด็กเบื้องต้น สร้างลักษณะนิสัยความเคยชินในการฝึกฝนลูกของพ่อแม่เองด้วย ซึ่งเมื่อพ่อแม่รู้วิธีและหมั่นทำเป็นประจำก็จะช่วยให้เด็กดีขึ้นได้ค่ะ"



บทสรุปที่สวยงาม

"ลูกอาจจะยังไม่พูดค่ะ แต่เขาเริ่มสบตาเราได้นานขึ้น เวลาต้องการอะไรก็จะชี้นิ้วมากขึ้น แล้วก็ส่งเสียงอ้อแอ้ มองปากเราเวลาที่พูดกับเขา ลูกเติบโตขึ้นทุกวินาที ทุกวัน คงให้อยู่เฉยๆ รอเวลาผ่านไป

ไม่ได้ พอมาฝึกแล้วได้กิจกรรมไปเล่นกับลูก อยู่บ้านมีกิจกรรมเล่นด้วยกัน ช่วยคลายเครียดลงได้มาก"



"ถึงตอนนี้เขาเริ่มส่งเสียงมากขึ้นแล้ว รู้เรื่องมากขึ้น คำศัพท์ หรือบัตรคำที่พยาบาลให้มาเขารู้จักทั้งหมด อาจจะมีบ้างบางคำที่ลูกยังไม่รู้จัก ก็จะส่ายหัว แล้วก็ใช้วิธีเหล่านี้ไปเล่นกับลูกที่บ้าน แต่ต้องรอช่วงเวลาที่ลูกอารมณ์ดีด้วยนะคะ เขาถึงจะสนุกที่จะเล่นไปกับเรา"



"กิจกรรมที่ลูกทำได้ คือเขาเริ่มนับเลข1-10 ได้ A-Z ก็ได้บางตัว อาจจะยังจำไม่ได้แต่ก็พูดได้ดีขึ้น ได้เทคนิคฝึกพูดจากพยาบาลมาด้วยค่ะ เช่น ถ้าจะสอนให้ลูกพูดคำว่า "ยาว" ก็ให้เราลากเสียงยาว เน้นคำ และให้ลูกมองที่ริมฝีปาก และที่สำคัญเราเองได้ความรู้ที่จะมาช่วยเหลือลูกได้ต่อเนื่องมากขึ้น"



ถ้าจะถือว่านี่คือหนทางช่วยเหลือเด็กออทิสติกอีกหนึ่งหนทางก็ดูไม่ผิดนักค่ะ ในอนาคตเราอาจจะโครงการนี้พัฒนาไปเป็นแบบแผนหนึ่งในการรักษาและช่วยเหลือเด็กออทิสติก แต่ไม่ว่ารูปแบบของโครงการจะเป็นอย่างไร ขอให้ยังอยู่ภายใต้เจตนารมณ์คือ ต้องการช่วยเหลือเด็กให้เร็วที่สุด เพราะรู้เร็วก็ช่วยเด็กได้เร็วเท่านั้นค่ะ #

..........................................................................................



สนใจ โครงการ"สงสัยว่า "ออ(ทิสติก)" ไม่ต้องรอวินิจฉัย" ติดต่อที่ โรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ เลขที่ 61 ถนนสุขุมวิท ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ 10270 โทรศัพท์: 02-3843381-3 ต่อ 2201, 2202 www.yuwaprasart.com






จาก:  โมเดิร์นมัม

ฉบับที่ 166 เดือนสิงหาคม 2553

จากคุณ : แม่น้องปีใหม่
เขียนเมื่อ : 11 มี.ค. 54 09:24:51




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com