Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
GBS (Group B Streptococcus) อยากให้กรณีลูกเราเป็นกรณีสุดท้าย ขอเชิญแม่ๆที่กำลังตั้งครรภ์เข้ามาอ่าน ติดต่อทีมงาน

    จากกระทู้ที่ภรรยาผมแชร์ประสบการณ์ไว้ http://www.pantip.com/cafe/family/topic/N10358035/N10358035.html

เรื่องย่อๆ :  

    ลูกชายของเราคลอดก่อนกำหนดด้วยอายุครรภ์ 33 สัปดาห์ 5 วัน ด้วยน้ำหนัก 2140กรัม หายใจเร็วและขัดเล็กน้อย
ตามมาด้วยใส่เครื่องช่วยหายใจจบที่ระบบต่างๆล้มเหลวลง ทั้งหมดเกิดจากอาการติดเชื้อในกระแสเลือดตั้งแต่คลอด
แม้ว่าจะให้ยาปฏิชีวนะเมื่อสอดท่อช่วยหายใจ แต่ไม่เป็นผลเพราะช้าเกินไป (เพาะเชื้อเจอทั้งกระเพาะอาหารและเลือด)
    
     ผมและภรรยาจึงลองค้นหาข้อมูลถึงเชื้อที่ทำให้ลูกเราต้องเสียชีวิตด้วยคำถามในใจ ทำไม ๆ ๆ ?
- ทำไมจึงเกิดขึ้น มันเป็นได้ยังไง
- หัวหน้าพยาบาลบอกว่ามันเป็นเชื้อที่รุนแรง มันร้ายแรงจริงหรือ
- ถ้ามันร้ายแรง โอกาสเกิดขึ้นมีมากแค่ไหน
- แล้วป้องกันได้ไหม ตรวจสอบก่อนได้รึเปล่า

ทำความรู้จัก GBS (group B Streptococcus)

     เราเริ่มกันจากประเทศไทยก่อนละกันนะครับ    

ผลการศึกษา : จากการศึกษารวบรวมข้อมูลย้อนหลังทารกแรกเกิดที่ป่วยจากเวชระเบียน ม.ค 40 – ธ.ค 49 (10ปี)
ที่รับไว้รักษาในสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีรวมระยะเวลา 10 ปีพบผู้ป่วยติดเชื้อ GBS จำนวน 25 ราย จาก 15,101 ราย  อาการแสดงที่พบมาก
คือ อาการทางระบบทางเดินหายใจ ,หายใจเร็ว ตัวเขียวและหยุดหายใจ
   
     จากความรู้และประสบการณ์มีลูกคนแรก อ่านหนังสือการตั้งครรภ์มาบ้าง บวกกับหาข้อมูลทางกูเกิ้ล พบว่า ประเทศไทยไม่มีขั้นตอนระบุที่ให้หญิงตั้งครรภ์ต้องตรวจหาเชื้อ GBS (SWAB TEST)แต่อย่างใด  ส่วนในต่างประเทศจากข้อมูลที่ค้นเจอพบว่า ประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น อเมริกา ญี่ปุ่น เยอรมัน 
จะมีแนะนำให้ตรวจคัดกรองการติดเชื้อ Group B streptococcus เมื่ออายุครรภ์ 35-37 สัปดาห์ในหญิงตั้งครรภ์ทุกราย !

    ดังนี้ เราหาคำตอบให้คำถามที่ผมและภรรยาสงสัยกัน ดีกว่าครับ

ทำไมจึงเกิดขึ้นและเป็นได้ยังไง

     ภาวะติดเชื้อในระยะแรก ( early sepsis ) เป็นภาวะที่การติดเชื้อนั้นเกิดขึ้นระหว่าง 72 ชั่วโมงหรือสัปดาห์แรกหลัง
เกิด ( Makhoul,et al,2002, Behrman,Kleigman&Jenson,2003 ) มักเกิดขึ้นเนื่องจากทารกได้รับเชื้อโรคจากร่างกายของมารดา
อาจเข้าสู่ร่างกายทารกได้ 4 ทาง คือ
1) เชื้อจากช่องคลอดเข้าไปในถุงน้ำคร่ำ เกิดการอักเสบติดเชื้อที่สายสะดือและเข้าสู่ทารกทางหลอดเลือดของสายสะดือ
2) ทารกหายใจหรือกลืนเอาน้ำคร่ำที่มีเชื้อโรคปนอยู่
3) เชื้อโรคติดอยู่กับผิวหนังหรือเยื่อบุต่างๆ ของทารก เมื่อผ่านช่องคลอดของมารดา
4) ทารกได้รับเชื้อจากมารดาที่มีการติดเชื้อในกระแสโลหิต ในระยะก่อนคลอดผ่านทางรก

     เชื้อในคนเรานั้นมีอยู่มากมายหลากหลายกลุ่มหลายชนิด ขอกล่าวถึงแต่แบคทีเรียนะครับ  “ สเตร็ปโตค็อกคัส ”
เป็นกลุ่มที่พบบ่อย โดยแบ่งย่อยออกเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเอ(พบมาก) กลุ่มบี กลุ่มซี กลุ่มดี กลุ่มจี และเอ็ม
สำหรับ สเตรปค็อกคัส กลุ่มบี (ซึ่งมีชื่อเรียกเฉพาะว่า Streptococcus agalactiae)  แบคทีเรียกลุ่มกรัมบวก  แม้พบได้น้อยกว่า
แต่ก็เป็นสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อในสตรีหลังคลอดและทารกแรกเกิด

โอกาสที่จะเกิดขึ้นละมีแค่ไหน
     คนทั่วไปมีโอกาสน้อยที่จะติดเชื้อนี้   โดยนอกจากพบได้ที่ช่องคลอดและทางเดินอาหารแล้ว เชื้อชนิดนี้ยังอาศัยใน
ทางเดินหายใจส่วนบน (โพรงจมูกคอหอย) และผิวหนัง ซึ่งจะแฝงตัวอยู่อย่างสงบ  
     การติดเชื้อสเตรปโตค็อกคัส กลุ่มบี ในทารกแรกเกิด  ในไทยพบราว 0.16% (สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี)
ในสหรัฐอเมริกาพบราว 0.18-0.32% เท่านั้น       ส่วนคนทั่วไปก็มีโอกาสติดเชื้อชนิดนี้ประมาณ 4.4 ราย จาก 100,000 ราย

โรคที่เกิดจากเชื้อสเตร็ปโตค็อกคัส กลุ่มบี มันร้ายแรงแค่ไหน
สำหรับสตรีหลังคลอด :  มดลูกอักเสบ ทางเดินปัสสาวะอักเสบ ภาวะโลหิตเป็นพิษ (เชื้อแพร่กระจายเข้ากระแสเลือด)
ทารกแรกเกิด :  ภาวะโลหิตเป็นพิษ** (เชื้อแพร่กระจายเข้ากระแสเลือด) ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
คนทั่วไป  :  โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ การติดเชื้อของผิวหนังและเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง(ฝี พุพอง แผลกดทับ) กระดูกอักเสบ
เป็นหนอง ข้ออักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ โลหิตเป็นพิษ เป็นต้น         ในบางครั้งอาจพบโลหิตเป็นพิษ (เชื้อแพร่กระจายในกระแสเลือด)
โดยหาต้นตอของอวัยวะที่ติดเชื้อไม่พบ อย่างกรณี “นก-ฉัตรชัย” (ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี พบกรณีแบบนี้ประมาณ 20-30% ของผู้ติดเชื้อชนิดนี้) 

**ค่อนข้างอันตราย มักมีอาการใน 7 วันแรกหลังคลอด

ป้องกันได้ไหม ตรวจสอบอย่างไร เป็นแล้วหายหรือเปล่า
การป้องกัน :  ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคนี้  เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ใกล้คลอด และพบมีการติดเชื้อชนิดนี้
 แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะระหว่างการคลอด เพื่อป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อสู่ทารกแรกเกิด 

การวินิจฉัยและการรักษา : 
ใคร คือ ผู้ได้รับการตรวจ  :   ผู้หญิงตั้งครรภ์ทุกคน
เมื่อใดที่ควรจะตรวจ :   ระหว่างอายุครรภ์สัปดาห์ที่ 35 และสัปดาห์ที่ 37
ตรวจอย่างไร :   โดยการใช้ผ้าสำลี ทำการเก็บตัวอย่างจากช่องคลอด อวัยวะสืบพันธุ์ และช่องทวารหนักแล้วนำไปตรวจ
ตรวจอะไรบ้าง :   ตรวจหาแบคทีเรียสเตร็ปโตคอกคัส กลุ่ม B
ทำไมต้องตรวจ :   ทารกที่ติดเชื้อโรคแบคทีเรียนี้ตั้งแต่แรกเกิดอาจจะทำให้เสียชีวิตได้ สำหรับผู้ที่ได้รับผลการตรวจเป็นบวก
แพทย์สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยยาปฏิชีวนะหรือให้ทางหลอดเลือดดำขณะที่คลอด เพื่อป้องกันการติดเชื้อมาสู่ทารกในครรภ์
หรืออาจจะต้องให้กับลูกด้วย กรณีที่มีความเสี่ยงสูง
การเสี่ยงอันตรายจากตรวจ :   ไม่มี

สรุปสุดท้าย

ใจจริงอยากให้โรงพยาบาลไทยตั้งกฏไปเลยแต่คงยาก
ถ้าแม่ๆ ทั้งหลายได้อ่านถึงบรรทัดนี้แล้ว
หวังว่าคงเข้าใจเจตนาดีของเราที่เขียนกระทู้นี้ขึ้นนะครับ

เราอยากให้กรณีของเราเกิดขึ้นเป็นกรณีสุดท้าย...
เพราะมันสามารถป้องกันได้และตรวจหาได้ครับ

@@ หากกระทู้นี้มีประโยชน์ต่อทุกคน ขอได้สิ่งดีๆทั้งหมดส่งผลถึงลูกที่รักนะ มาเกิดเป็นลูกเราอีกนะลูก @@


อ้างอิงที่มา :
http://www.pantip.com/cafe/pda/readtopic.php?url=/cafe/family/topic/N10154468/N10154468.html
http://www.childrenhospital.go.th/main/research/Inweb/Resident/Resient%2051/13.pdf
http://www.bangkokhealth.com/index.php/Infectious/1743--group-b.html
http://www.wyethnutrition.co.th/na_dynamic_page3.asp?menu_id=76&menu_item_id=6
http://littlefootstory.wordpress.com/2009/08/19/%E0%B8%9D%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A0%E0%B9%8C%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88-9-%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%81%E0%B8%B2/
http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=gadirk&month=09-2009&date=17&group=20&gblog=9
http://www.elib-online.com/doctors49/med_strepto001.html
http://www.mat.or.th/journal/files/Vol91_No.12_1796_8339.pdf
http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=fudge-a-mania&month=07-2008&group=15
http://www.cmnb.org/cmnb/index.php/newborn/sick-newborn/63-2011-04-04-10-53-34?showall=1
http://www.enfababy.com/grow_up/detail/40
http://www.sk-hospital.com/~ob/cpg/sk_hospital/cpg_prom.pdf
http://www.clinicrak.com/board/ans.php?no=12467&id=ejmI&xx=&n=20&sort=itemno&z=
http://board.yimwhan.com/show.php?user=OBSIED&Cate=3&topic=24



เพิ่มเติม สำหรับแม่ๆที่่อ่านแล้วกังวล....อยากจะบอกว่า

*** ตอนเริ่มเขียนก็กลัวเหมือนกันว่าจะทำให้แม่ๆ กังวลและวิตก  เกินเหตุ ! ***

แต่พอชั่งใจดูแล้ว มีผลดีมากกว่า ที่จะได้แ้จ้งคนอื่น


อยากบอกคุณแม่ๆ ว่า..อย่ากังวลมากไปครับ

มันเกิดได้ยาก....และป้องกันได้ เชื้อมันมีอยู่สารพัดในตัว ซึ่งเราก็มีภูมิคุ้มกันอยู่

ที่เขียนกระทู้นี้ เพื่อให้ป้องกัน ระัมัดระวัง และรับทราบว่ามันมีอยู่...ควรตรวจหาครับ

อย่ากังวลไปเลยครับ...ความเครียดทำให้ภูมิคุ้มกันลดลงด้วยน้าาาา ยิ้มเพื่อลูกครับ


แก้ไขเมื่อ 09 เม.ย. 54 09:23:42

แก้ไขเมื่อ 08 เม.ย. 54 09:49:49

แก้ไขเมื่อ 08 เม.ย. 54 00:35:53

แก้ไขเมื่อ 08 เม.ย. 54 00:33:25

จากคุณ : J-AOB
เขียนเมื่อ : 8 เม.ย. 54 00:27:38




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com