Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
จะเข้าใจเด็กได้อย่างไร ถ้าเอาแต่ใช้ตรรกะสำเร็จรูป ติดต่อทีมงาน

จากประสบการณ์ที่เจนได้ทำงานดูแลเด็กๆมานั้น

สิ่งหนึ่งที่พบเห็นมาตลอดคือพ่อแม่และผู้ใหญ่หลายคนมักจะมี ตรรกะสำเร็จรูป เกี่ยวกับเด็กเสมอ พวกเขาชอบคิดเอง เออเอง รับฟังอะไรเพียงเล็กน้อยแล้วก็กระโดดเข้าหาบทสรุปที่วาดไว้ในใจอย่างรวดเร็วง่ายดาย

พวกเขาพูดและคิดราวกับว่าเด็กทุกคนชอบเหมือนกัน คิดเหมือนกัน โดยลืมไปว่ามนุษย์ทุกคนนั้นล้วนมีความเป็นปัจเจกด้วยกันทั้งสิ้นและเด็กเองก็ไม่ได้เป็นข้อยกเว้นแต่ประการใด

การกระทำทุกอย่างของมนุษย์นั้นมีแรงผลักดันอยู่ข้างหลังเสมอ แม้แต่คนที่ทำสิ่งเดียวกันนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าการกระทำของเขาเกิดจากแรงผลักดันอันเดียวกัน และแม้แต่คนๆเดียวกันทำสิ่งเดียวกันแต่ต่างช่วงเวลากันก็ยังมาจากแรงผลักดันที่แตกต่างกัน

เวลาที่ต้องอธิบายเรื่องนี้ให้กับใครเจนก็จะถามว่า คนเราดื่มน้ำเพราะอะไร แทบทุกคนก็จะบอกว่า "เพราะหิวน้ำ" และก็ทำหน้าประมาณว่าเรื่องแค่นี้ไม่รู้หรือยังไง

เจนก็ต้องอธิบายว่าคนส่วนใหญ่ดื่มน้ำเพราะหิวน้ำ แต่ไม่ใช่ทุกคน อย่างบางคนถือกาแฟจะเอาเข้าโรงหนังพอพนักงานบอกเอาเข้าไม่ได้ก็รีบดื่มให้หมดทั้งๆที่ไม่ได้หิวแต่ดื่มเพราะความเสียดาย หนุ่มสาวนั่งจีบกันชมกันไปชมกันมาแล้วก็หยิบน้ำขึ้นมาดื่มนั่นก็ดื่มเพราะแก้เขินอาย  หรือเจนเองเดินอยู่ในห้างแล้วมีพนักงานเอาน้ำข้าวกล้องมาให้ชิม เจนก็ดื่มแต่ดื่มเพราะอยากลองไม่ใช่เพราะหิวน้ำอย่างครั้งที่ดื่มส่วนใหญ่

จะเห็นได้ว่าถ้าเราเอาแต่ใช้ตรรกะสำเร็จรูปสรุปว่าทุกคนที่ดื่มน้ำเพราะพวกเขาหิวน้ำเราก็จะเข้าใจคลาดเคลื่อนไปในหลายกรณี

อย่างเรื่องพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ของเด็กก็เช่นกัน  ผู้ใหญ่นั้นชอบสรุปเอาเองว่าที่เด็กมีพฤติกรรมแบบนี้ๆก็เพราะเหตุอันนี้แน่ๆ

ทั้งๆที่หลักสำคัญที่สุดในการแก้พฤติกรรมไม่พึงประสงค์ของเด็กไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมอะไร สิ่งสำคัญที่สุดนั้นคือต้องหาให้ได้ว่าอะไรคือแรงผลักดันที่ทำให้เด็กมีพฤติกรรมแบบนั้น

เช่น เรื่องพูดคำหยาบ ตรรกะสำเร็จรูปที่เจอมาตลอดคือพ่อแม่ก็จะโทษว่าเด็กติดมาจากเพื่อนที่โรงเรียน   โรงเรียนก็บอกไม่ใช่เด็กติดมาจากที่บ้านต่างหาก สุดท้ายก็โทษกันไปโทษกันมา แล้วก็จบลงแบบแก้ปัญหาอะไรไม่ได้

ครั้งนึงเด็กที่เจนดูแลมีคนนึงเธอพูดไม่ค่อยเพราะ ไม่ว่าจะกับครูหรือเพื่อนด้วยกัน ถามผู้ปกครองๆก็บอกที่บ้านไม่มีใครพูดแบบนี้ ถามเพื่อนๆทุกคนก็บอกว่ามีเธอพูดอยู่คนเดียว  พอเจนคุยกับเด็กก็เข้าใจได้ว่าเด็กพูดไม่เพราะไม่ใช่เพราะติดมาจากใครแต่พูดเพราะคิดว่าการพูดคำหยาบคายทำให้ตัวเองดูเป็นผู้ใหญ่หรือมีอำนาจและก็เชื่อว่าการด่าคนที่ตัวเองเกลียดด้วยคำหยาบคายยิ่งหยาบเท่าไหร่นั้นยิ่งสะท้อนว่าคนที่ตัวเองด่านั้นเป็นคนเลวจริงๆ

เจนก็ต้องอธิบายให้เด็กเข้าใจว่าความเป็นผู้ใหญ่ไม่ได้วัดจากการพูดคำหยาบหรือไม่หยาบ แล้วจริงๆคำพูดที่ออกมาจากปากเรานั้นมันสะท้อนถึงพื้นฐานทางการศึกษาและการได้รับการอบรมสั่งสอนต่างหาก  ส่วนการที่บอกว่าพูดคำเหล่านี้แล้วทำให้ตัวเองดูเป็นคนมีอำนาจ ครูถามหน่อยว่าเคยได้ยินประธานาธิบดีหรือนายกประเทศไหนไหมออกทีวีแล้วก็ด่าฝ่ายตรงข้ามด้วยคำหยาบคาย ที่ครูเห็นก็มีแต่นักเลงข้างถนนเท่านั้นละ

ส่วนตรรกะที่ว่าการด่าคนที่ตัวเองเกลียดด้วยคำหยาบคายยิ่งหยาบเท่าไหร่นั้นยิ่งจะทำให้คนที่ฟังเชื่อได้ว่าคนๆนั้นเป็นคนเลวมากมายจริงๆ

ครูก็ต้องบอกว่าคนทุกคนมีวิจารณญาณด้วยกันทั้งนั้นและสำหรับคนที่มีความคิดและมีวิจารญาณสูงนั้นเขาจะตัดสินจาก "สิ่งที่เธอเล่าไม่ใช่สิ่งที่เธอบอก"

เช่น ครูเล่าว่ามีผู้ชายคนนึงคนๆนี้เป็นคนที่ชอบทุบตีลูกเมีย ขโมยเงินพ่อแม่ ติดยา เตะหมากระทืบแมว แต่จะบอกอะไรให้นะจริงๆเขาเป็นคนดี

ครูถามหน่อยว่าเธอเชื่อครูไหม

แน่นอนว่าไม่เพราะเธอเองก็ตัดสินจากสิ่งที่ครูเล่าไม่ใช่สิ่งที่ครูบอกจริงหรือเปล่า




เรื่องความชอบของเด็กก็เช่นกันผู้ใหญ่ชอบคิดว่าลูกต้องชอบแบบนั้นเด็กต้องชอบแบบนี้  แล้วก็ด่วนสรุปเอาเองอย่างง่ายดาย

"ให้ลูกเรียนดนตรีจะได้ไม่เครียด"  , "ชั่วโมงเรียนพละต้องมีสนามหญ้าใหญ่ๆเด็กจะได้ออกกำลังกายอย่างเต็มที่จะได้ผ่อนคลาย"

ถามว่าความคิดเหล่านี้จริงไหมก็ต้องบอกว่าจริงบ้างไม่จริงบ้าง อาจจะจริงกับเด็กกลุ่มนึงแต่กับเด็กอีกกลุ่มผลลัพธ์ที่ได้ก็อาจจะกลายเป็นตรงกันข้าม

ถ้าเด็กเรียนดนตรีเพราะตัวเขาอยากเรียนเองย่อมมีแนวโน้มสูงที่เด็กจะมีความสุข แต่ถ้าถูกบังคับให้เรียนโดยที่ตัวเขาไม่ชอบหรือแย่ยิ่งไปกว่านั้นเด็กถูกคาดหวังว่าจะต้องเล่นได้เก่งเท่านั้นเท่านี้ ถ้าเป็นแบบนี้นอกจากเด็กจะไม่หายเครียดแล้วยิ่งจะเครียดหนักกว่าเก่า

ส่วนเรื่องชั่วโมงพละนั้น  ครั้งนึงเจนสัมภาษณ์คนที่มาสมัครเป็นครูพละ เจนถามว่าคิดว่าชั่วโมงพละในฝันสำหรับเด็กๆเป็นอย่างไร  ครูท่านนั้นตอบว่า "ชั่วโมงพละต้องมีสนามหญ้าใหญ่ๆเด็กจะได้วิ่งได้ออกกำลังกายอย่างเต็มที่จะได้ผ่อนคลาย" เจนก็เลยบอกท่านว่าจากการรับฟังความคิดเห็นของเด็กที่ผ่านมา ชั่วโมงพละในฝันของลูกๆเรานั้น ต้อง "ไม่ตากแดด ไม่มีการบังคับให้วิ่ง และเด็กช่วงชั้นสูงๆไม่ต้องการเล่นกีฬาที่ทำให้เหนื่อยมากเกินไปเพราะไม่อยากให้เหงื่อออก"

(กลุ่มตัวอย่างที่เจนใช้คือนักเรียนหญิงชั้นมัธยม ถ้าเปลี่ยนกลุ่มตัวอย่างเป็นเด็กอนุบาล ประถมหรือเด็กผู้ชาย เจนก็ไม่ปฎิเสธว่าผลลัพธ์ที่ได้ย่อมมีแนวโน้มที่จะแตกต่าง)

จะเห็นได้ว่าหลายต่อหลายครั้งสิ่งที่ผู้ใหญ่คิดแทนเด็กนั้นตรงกันข้ามกับความเป็นจริงโดยสิ้นเชิง




การสอนเด็กก็เหมือนกันหลายครั้งผู้ใหญ่นั้นพอสอนเด็กแล้วเด็กไม่เห็นด้วย คิดต่างหรือไม่ทำตาม พวกเขาก็จะบ่นแต่ว่าสอนไม่รู้จักจำ เถียงคำไม่ตกฟาก ดื้อ งอแงเหลือเกินสอนไม่ไหวแล้ว

จริงแล้วต้องบอกว่าหลายทีที่เด็กไม่เชื่อตามที่สอนหรือไม่ฟังนั้น ไม่ใช่เพราะพวกเขาดื้อแต่อย่างใดแต่เป็นเพราะเด็กเข้าใจคลาดเคลื่อนในสิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องการสื่อหรือมองในมุมที่แตกต่าง

มีครั้งนึงน้องอิ๊กไปเล่นเครื่องวีดีโอเกมส์ Wii ที่บ้านญาติแล้วชอบมากๆ หลังจากนั้นไม่นานลูกก็มาขอให้เจนซื้อให้ เจนก็บอกลูกว่าให้อ่านหนังสือเรียนให้ได้ครบห้าสิบชั่วโมงก่อนสอบแล้วพอสอบเสร็จจะซื้อให้

พอเจนบอกไปลูกก็ยอมรับแต่ก็ซึมแล้วก็แอบไปนั่งคนเดียวน้ำตาไหล พอเจนเห็นตอนแรกก็คิดในใจว่าทำไมลูกเอาแต่ใจจังแม่ก็ตกลงจะซื้อให้แล้วๆอีกแค่เดือนกว่าๆก็จะสอบเสร็จอยู่แล้วนี่

เจนก็ถามลูกว่าเป็นอะไร ลูกก็บอกว่าเปล่า เจนก็พูดต่อว่าเราตกลงกันแล้วใช่ไหมถ้ามีปัญหาอะไรเราจะเปิดใจคุยกัน ลูกก็ยังเงียบต่อ เจนก็เลยพูดเชิงตำหนิว่า ทำไมแค่เดือนกว่ารอไม่ได้หรืออย่างไรจะต้องได้วันนี้เลยถึงจะพอใจใช่ไหม

ลูกก็บอกว่าเขารอได้แต่ที่เขารู้สึกน้อยใจเพราะ "แม่เคยบอกว่าพ่อกับแม่รักหนูอย่างไม่มีเงื่อนไข แล้วหนูก็เชื่อหมดใจ แล้วเวลาที่พ่อกับแม่บอกให้ทำอะไรหนูก็ทำโดยไม่เคยมีเงื่อนไข แล้วทำไมพอหนูอยากได้อะไรแม่ถึงต้องมามีเงื่อนไขกับหนูด้วยละ"

เจนก็กอดลูกแล้วก็อธิบายให้ลูกเข้าใจว่าพ่อแม่รักหนูโดยไม่มีเงื่อนไขนั้นไม่ได้หมายความว่าหนูจะต้องได้ทุกอย่างตามที่หนูต้องการ แล้วเรื่องอ่านหนังสือที่แม่กำหนดนั้นก็เพื่อประโยชน์ของตัวหนูเองและที่สำคัญที่สุดสิ่งที่แม่กำหนดขึ้นกับปัจจัยที่หนูควบคุมได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าหนูตั้งใจอ่านหนังสือ อย่างไรหนูก็ต้องได้แน่ๆเพราะแม่ไม่ได้กำหนดว่าแม่จะให้ก็ต่อเมื่อหนูต้องได้เกรดเท่านั้นเท่านี้  สุดท้ายลูกก็เข้าใจ  (วันนั้นยอมรับเลยว่ารู้สึกไม่ดีกับตัวเองมากๆที่ดุลูกไป)

จะเห็นได้ว่าบางครั้งสิ่งดีๆที่เราตั้งใจจะให้เด็กๆของเรานั้น เด็กกลับเข้าใจผิดหรือสุดท้ายกลับได้รับผลลัพธ์ที่ตรงกันข้ามอย่างน่าเสียดาย เพียงเพราะว่าผู้ใหญ่เอาแต่ใช้ตรรกะสำเร็จรูปโดยลืมคิดไปว่าคนทุกคนนั้นมีความคิดเป็นของตัวเอง และหลายเรื่องในโลกนี้ก็ไม่ใช่เรื่องของถูกหรือผิดเพียงแต่เป็นเรื่องของทัศนคติและมุมมองที่แตกต่างกัน ซึ่งวิธีแก้ปัญหาที่ง่ายที่สุดนั้นกลับเป็นวิธีที่ไม่ค่อยมีใครสนใจที่จะทำ นั่นก็คือเปิดใจรับฟังความคิดเห็นของเด็กๆ


(บทความนี้เขียนขึ้นจากความรู้สึกและประสบการณ์ไม่ใช่งานวิจัยหรือเอกสารทางวิชาการ คุณพ่อคุณแม่จะคิดเห็นเช่นไรนั้นขอได้โปรดใช้วิจารณญาณตัดสินใจด้วยตัวเอง)



เจน

ปล.บทความเก่าๆเจนรวบรวมไว้ใน my BLOG แล้วนะคะ

จากคุณ : JanE & IK
เขียนเมื่อ : 11 ก.ค. 54 11:44:26




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com