Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
สอนเด็กช่างเถียงให้ได้ดีต้องสอนให้ไม่มีเหตุผล(วิบัติ) ติดต่อทีมงาน

ตั้งแต่เจนทำงานดูแลเด็กๆมา เวลาที่เด็กทำผิดเจนก็จะให้โอกาสพวกเขาได้อธิบาย แก้ตัว อ้างนู่นอ้างนี้ จนกว่าจะพอใจ และถ้าคำอธิบายเหล่านั้นมีเหตุผลก็พร้อมที่จะรับฟัง  แต่เหตุผลบางอย่างที่เด็กเถียงมานั้นบอกเลยว่าฟังแล้วเพลียใจกับสิ่งที่เด็กเรียกว่าเหตุผลมากๆ เช่น "หนูโตแล้ว เพราะฉะนั้นหนูจะทำอะไรก็ได้" ,"พ่อแม่ยังไม่เคยว่าหนูเรื่องนี้เลย ครูจะมาอะไรนักหนา","หนูก็พยายามมาเร็วที่สุดแล้ว แต่ก็ได้แค่นี้ ถ้าหนูบินมาได้หนูก็บินมาแล้วละ"

เจนก็ต้องอธิบายว่าเหตุผลของหนูผิด ใช้ไม่ได้ เป็นเหตุผลที่ไม่ใช่เหตุผล เป็นเหตุผลวิบัติหรือตรรกะวิบัติ ถามว่าเด็กเข้าใจไหม ก็ต้องบอกว่ามีทั้งเข้าใจและเข้าใจว่า "ใช่สิ ครูเป็นครูหนูเป็นนักเรียน ยังไงหนูก็ผิดอยู่แล้ว" (จริงๆต้องบอกว่าเหตุผลวิบัติหลายอย่างของเด็กนั้น ส่วนหนึงมาจากการปลูกฝังของผู้ใหญ่ที่เข้าใจมาผิดๆเหมือนกัน)

สำหรับเจนถ้าจะต้องทำโทษเด็ก แม้แต่เพียงเล็กน้อย เช่น กระโดดตบ เจนต้องการให้เด็กเข้าใจและยอมรับว่าตัวเองทำผิด และต้องการให้เข้าใจในตอนนั้นหรืออย่างช้าก็เมื่ออารมณ์เธอสงบลง ไม่ต้องการให้เด็กเจ็บแค้น แอบไปร้องไห้ และค่อยไปเข้าใจเมื่อเธอโตเป็นผู้ใหญ่หรืออีกสิบยี่สิบปีให้หลัง

เพราะฉะนั้นถ้าเจนคิดว่าเด็กยังไม่ยอมรับในคำอธิบาย  เจนก็จะอธิบายเรื่องเหตุผลวิบัติ(fallacy)ที่เจนจะเขียนนี้ให้กับเด็กฟัง เพื่อที่จะบอกว่า ครูไม่ได้คิดเองเออเอง ไม่ใช่พวกที่คิดว่าอำนาจคือความถูกต้อง และหลักที่ครูอธิบายก็เป็นสิ่งที่สากลโลกให้การยอมรับ เพราะถ้าครูสรุปโดยไม่มีเหตุผลมารองรับครูก็จะกลายเป็นพวกที่ชอบหาว่าคนอื่นไม่มีเหตุผลทั้งๆที่ตัวเองก็ไม่มีเหตุผลกับเขาเหมือนกัน


เหตุผลวิบัติหรือ fallacy นั้นคือเหตุผลที่ไม่ใช่เหตุผล หรือการใช้เหตุผลที่ไม่ดี ไม่ถูกต้อง  หรือการใช้เหตุผลอย่างมีเล่ห์ เป็นการเสนอเหตุผลที่ไร้น้ำหนักให้ฟังแล้วดูดี หรือด้วยวิธีกลลวง  เพื่อประโยชน์ของตัวเอง แต่ในกรณีของเด็กต้องบอกว่าหลายครั้งพวกเขาใช้เพียงเพราะความเข้าใจผิดหรือไม่รู้ว่ามันผิดหรือด้วยอารมณ์งอแงแบบเด็กๆ


ตัวอย่างของเหตุผลวิบัติก็ เช่น



-อ้างแต่เจตนา (Intentional fallacy)

คือการให้เหตุผลว่าอะไรก็ตามถ้าทำด้วยเจตนาดีย่อมเป็นสิ่งที่ถูก โดยละทิ้งเรื่องกฎ ระเบียบ ความเหมาะสม วิธีการ อำนาจหน้าที่ และผลกระทบด้านอื่นที่จะตามมา

"หนูให้เพื่อนลอกข้อสอบเพราะหนูหวังดีไม่อยากให้เพื่อนตก" (แต่สิ่งหนูทำผิดทั้งกฏ ทั้งหลักศีลธรรม และยังเป็นการไม่ยุติธรรมกับเพื่อนคนอื่นๆ)

"ที่หนูตบหลังรุ่นน้องเพราะเห็นเธอแอบทิ้งขยะบนพื้น หนูทำเพราะเจตนาดีอยากให้โรงเรียนสะอาด" (แต่วิธีการของหนูมันผิด หนูไม่มีสิทธิทำร้ายร่างกายใคร หนูควรแค่เตือนหรือถ้าคิดว่าเตือนไปก็ไม่ได้ผลก็ต้องแจ้งให้ครูเวรทราบ)



-เพราะว่าสิ่งนั้นมี สิ่งนี้จึงเกิด (Fallacy of false cause)

คือการสรุปว่าเหตุการณ์แรกเป็นสาเหตุของเหตุการณ์หลังที่ตามมา โดยอาศัยแค่ว่าเหตุการณ์หลังเกิดขึ้นตามเหตุการณ์แรกเท่านั้น ซึ่งอันที่จริงแล้วอาจจะเป็นแค่ความบังเอิญหรือมีปัจจัยอื่นอีกมากมายเข้ามาเกี่ยวข้อง  

นักเรียนคนที่หนึ่ง  "ที่ฟ้าสอบได้เกรด 3.9 ไม่ใช่เพราะเก่งหรอกแต่เพราะฟ้าเอาหินธิเบตติดตัวเข้าไปตอนสอบ"
นักเรียนคนที่สอง "แบบนี้เอง ถ้าเราเอาเข้าไปบ้างเราก็ได้ 3.9เหมือนกันแหละ"
นักเรียนคนที่สาม "ที่แท้ก็ไม่ได้เก่งอะไรเลย ไสยศาสตร์ล้วนๆ"

แม้ฟ้าจะเอาหินธิเบตเข้าไป แต่เทอมที่แล้วเธอก็ได้ 3.8 และเป็นเด็กที่ขยันและตั้งใจเรียนที่สุดคนหนึ่ง ส่วนเด็กที่ไม่ขยัน เรียนๆเล่นๆได้คะแนนแค่พอผ่าน ต่อให้เอาหินก้อนยักษ์ผูกคอเข้าไปก็ไม่มีทางทำได้ จริงไหม เพราะฉะนั้นการสรุปโดยอาศัยแค่ว่าสิ่งนั้นเกิดขึ้นเพราะอีกสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนเป็นสาเหตุ จึงเป็นเหตุผลที่ใช้ไม่ได้



-เปรียบเทียบอย่างไม่เหมาะสม (Fallacy of questionable analogy)

คือการเปรียบเทียบสิ่งหนึ่งกับอีกสิ่งหนึ่ง ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันแค่เพียงบางอย่าง แล้วสรุปเอาง่ายๆว่าทั้งสองสิ่งนั้นเหมือนกันเกือบหมดหรือจัดอยู่ในประเภทเดียวกัน และควรปฏิบัติกับสิ่งนั้นเหมือนๆกัน

นักเรียน  "หนูไม่เข้าใจในเมื่อเครื่องคิดเลขกับมือถือก็เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหมือนกัน แล้วในเมื่อโรงเรียนอนุญาตให้ใช้เครื่องคิดเลขในเวลาเรียนได้แล้วทำไมถึงห้ามใช้มือถือในเวลาเรียนละ"

เด็กอ้างแค่ความเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ทั้งสองสิ่งมีเหมือนกันแล้วสรุปประเด็นว่าทั้งสองอย่างเหมือนกัน ถ้าโรงเรียนอนุญาตให้ใช้อีกอย่างหนึ่งก็ควรอนุญาตให้ใช้อีกอย่างด้วยเช่นกัน แต่ข้อเท็จจริงคือ เครื่องคิดเลขเป็นอุปกรณ์ในการเรียนและเวลาที่ใช้ก็ไม่เป็นการรบกวนใคร แต่มือถือไม่ใช่อุปกรณ์การเรียนและถ้าใช้ในห้องเรียนก็จะเป็นการรบกวนคนอื่นๆ



-เอาคำถามเป็นคำตอบ (Fallacy of begging question)

คือการนำเอาสิ่งที่เป็นประเด็นของคำถามมาเป็นคำตอบ  โดยไม่มีการพิสูจน์ใดๆ เป็นการให้เหตุผลแบบวกวน ใช้ข้อเสนอพิสูจน์บทสรุป แล้วก็ใช้บทสรุปกลับมาพิสูจน์ข้อเสนอ  

ครู : พลอยถ้าเฟิร์นเขาไม่อยากเป็นเชียร์ลีดเดอร์ หนูก็คงต้องหาใหม่เพราะเรื่องนี้เราบังคับอะไรไม่ได้
หนูพลอย : แต่หนูเป็นรุ่นพี่ หนูคิดว่าหนูมีสิทธิบังคับ
ครู : ทำไมหนูถึงคิดว่ารุ่นพี่ถึงมีสิทธิบังคับรุ่นน้อง
หนูพลอย : เพราะรุ่นน้องต้องเชื่อฟังรุ่นพี่

จะเห็นได้ว่าคำตอบของหนูพลอยคือการเอาประเด็นของคำถามมาเป็นคำตอบ  ถ้าถามตอบกันแบบนี้ คุยกันจนโรงเรียนเลิกก็ยังคงไม่ได้ข้อสรุปอะไร



-โจมตีบุคคล(Argumentum ad Hominem)

คือการอ้างว่าผู้พูดมีพฤติกรรมบางอย่างที่ไม่เหมาะสม และใช้เป็นสาเหตุที่ทำให้สิ่งที่พูดมีความน่าเชื่อถือน้อยลง ทั้งโดยที่จริงแล้วพฤติกรรมที่ถูกหยิบยกขึ้นมาของผู้พูดไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรเลยกับสิ่งที่ผู้พูดนำเสนอ

หนูโดนัทกรรมการนักเรียนประกาศผ่านไมค์ให้น้องๆเพื่อนๆฟังว่า ขอให้ทุกคนเข้าแถวให้เรียบร้อยกว่านี้ เพราะที่ผ่านมาพวกเธอเข้าแถวได้ยึกยือมาก จนแทบจะดูไม่ออกแล้วว่าพวกเธอกำลังเข้าแถวหรือแปรขบวนกันแน่
นักเรียนคนที่หนึ่ง : โดนัทนี่ได้ข่าวว่าชอบแย่งแฟนคนอื่นนี่
นักเรียนคนที่สอง  : ใช่ๆ ไม่ใช่แค่นั้นนะ ยังชอบหลอกให้ผู้ชายซื้อของให้
นักเรียนคนที่สาม :  สวยก็ไม่สวยชอบทำยังกับตัวเองสวยมากมาย
นักเรียนคนที่หนึ่ง : เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปฟังโดเน่าหรอก คนแบบนี้พูดจาจะไปเชื่อถืออะไรได้
นักเรียนคนที่สองที่สาม : ใช่ๆเห็นด้วยสุดๆเลย

ประเด็นคือหนูโดนัทจะชอบแย่งแฟนคนอื่น จะชอบขอให้ผู้ชายซื้อของให้ จะสวยหรือไม่สวยหรือเปล่า ไม่ได้เกี่ยงข้องอะไรเลยกับการเข้าแถวยึกยือของพวกเธอแต่กลับถูกยกมาเป็นเครื่องทำลายความน่าเชื่อถือหรือเหตุผลของสิ่งที่หนูโดนัทนำเสนอทั้งๆที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกันแต่ประการใด

นักบุญบอก พระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออก มหาโจรบอกพระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออก มีน้ำหนักต่างกันหรือไม่ลองคิดดู



-เธอก็เหมือนกัน ฉันจึงไม่ผิด (Argumentum ad Hominem Tu Quoque)

คือการอ้างว่าในเมื่อผู้พูดเคยทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่ตัวพูดเลยทำให้สิ่งที่ผู้พูดนำเสนอ ขาดความน่าเชื่อถือหรือไม่มีน้ำหนักหรือทำให้สิ่งที่ตัวเองทำไม่ถือเป็นความผิด

นักเรียนคนหนึ่ง  : เซ็งเป็ด  ครูจับได้ว่าลอกการบ้านโดนด่าเละเลย แถมขู่อีกว่าถ้ามีเที่ยวหน้าจะโทรฟ้องผู้ปกครอง
เพื่อนของเธอ : แล้วเธอลอกจริงหรือเปล่าละ
นักเรียน : จริง  เราลอกแล้วทำไมละ  โธ่ ครูคนที่ด่าเรานะยังเล่าเองเลยว่า ตอนเด็กๆก็แอบลอกการบ้านเพื่อน  ทีตัวเองละทำได้

ประเด็นคือ ครูเคยลอกการบ้านในตอนเด็ก ครูผิดไหมบอกเลยผิด  แต่ถ้าถามว่าจะทำให้น้ำหนักความผิดของนักเรียนคนที่ลอกการบ้านเพื่อนลดลงหรือเปล่า คำตอบคือไม่



-เบี่ยงประเด็นหรือหุ่นไล่กา (Strawman fallacy)

คือการอาศัยความไม่สมบูรณ์ของสิ่งที่ผู้พูดนำเสนอ มาเบี่ยงประเด็นให้กลายเป็นเรื่องอื่น และส่วนมากตัวผู้เบี่ยงประเด็นเองก็มักรู้อยู่แก่ใจว่าผู้พูดต้องการสื่ออะไร

พิธีกรชายคนหนึ่งที่เด็กๆไม่ชอบพูดว่า "คนไทยต้องเอาอย่างคนญี่ปุ่น ดูอย่างตอนเกิดสึนามิพวกเขาเข้าแถวไม่มีการแย่งกันแต่อย่างใด"

เด็กคนที่หนึ่ง : ให้เอาอย่างคนญี่ปุ่น นี่คงแปลว่าให้ผู้หญิงไทยไปเล่นหนัง AV ให้คนแก่ไปเล่นปาจิงโกะ ให้ผู้ชายไปตั้งแก็งยากูซ่ามั้งเนี่ย

เด็กคนที่สอง : เลวจริงๆ ไม่รักชาติ ชอบมากนักไม่ย้ายไปอยู่ญี่ปุ่นเลยละ

ประเด็นคือพิธีกรชายต้องการสื่อว่า อยากให้คนไทยเข้าแถวเป็นระเบียบเรียบร้อยเหมือนคนญี่ปุ่น แต่พิธีกรพูดประโยคแรกสั้นเกินไปและไม่สมบูรณ์ เด็กๆเลยอาศัยช่องโหว่ตรงนั้นมาสร้างประเด็นใหม่เพื่อใช้โจมตี ทั้งๆที่รู้อยู่ว่าที่จริงแล้วพิธีกรต้องการสื่ออะไร



เมื่อเด็กเถียงโดยใช้เหตุผลลักษณะนี้เราก็ต้องบอกเด็กว่า เหตุผลของหนูมันผิด หรือหนูกำลังใช้เหตุผลวิบัติอยู่นะลูก


เหตุผลวิบัตินั้นมีอีกมากมายหลายอย่าง  ถ้าจะเขียนให้ครบก็คงหนากว่าตำราเรียนแน่ๆ

ยังมีอีกหลายอันที่น่าสนใจและพบเจอบ่อย แต่เนื่องจากบทความนี้มียาวมากพอสมควรแล้ว และเจนก็ไม่ค่อยแน่ใจว่าคุณพ่อคุณแม่จะสนใจบทความทำนองนี้หรือเปล่า เอาเป็นว่าถ้ามีคนสนใจเจนจะมาเขียนอธิบายข้ออื่นๆต่ออีกทีก็แล้วกัน

ขอบคุณคะ



เจน


***ขอขอบคุณ คุณCryptomnesia  สำหรับเนื้อความบางส่วนจากกระทู้http://topicstock.pantip.com/wahkor/topicstock/2009/06/X7930761/X7930761.html ***

จากคุณ : JanE & IK
เขียนเมื่อ : 19 ก.ย. 54 07:14:22




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com