Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
***คลอดมาจะ 3 ปีแล้ว วันนี้อยากเอาเรื่องเก่ามาแชร์ให้แม่ท้องเรื่องนมแม่ค่ะ (น่าจะมีประโยชน์กับแม่ท้องบ้างนะคะ) ติดต่อทีมงาน

***เขียนไว้ประมาณ 2 ปีที่แล้วเห็นจะได้ ลองอ่านกันดูนะคะ คิดว่าแม่ท้องคงได้ไอเดียและความรู้เพิ่มขึ้นก่อนถึงเวลาของตัวเองค่ะ

-----------------------------------------------------------------------

” บันทึกของแม่เพื่อลูก "

ตั้งแต่รู้ว่ามีลูกอยู๋ในท้อง แม่ก้อตั้งหน้าตั้งตาหาข้อมูลทุกอย่างที่มีอยูในโลกนี้ ไม่ต้องห่วงหรอกลูก แม่เป็นเจ้าแม่ google อยู่แล้ว ไม่มีอะไรในซอกหลีบของ internet ที่แม่หาไม่เจอ

พอรู้ผลเทสปั๊บ วันรุ่งขึ้นพ่อก้อพาแม่ไปฝากท้องที่ รพ. ซึ่งแน่นอนเป็น รพ.นึง ที่ไม่ไกลจากคอนโดนัก เพราะเคยดูในทีวีว่าเวลาเค้าจะคลอดนี่เจ็บปวดมากมายนัก อย่ากระนั้นเลย เอา รพ. ใกล้ๆนี่แหละ เพราะแม่กลัวการคลอดลูกเหลือเกิน กลัวจะไปไม่ทัน (ซึ่งมารู้ทีหลังจากการหาข้อมูลว่ามันไม่จริงเลย)

แม่ฝากท้องที่ รพ.นั้น กับหมอผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งแม่ประทับใจในความเอาใจใส่ของหมอมาก แต่วันนึงแม่ก้อต้องย้าย รพ. อยู่ดี

รพ.นั้น มีอบรมเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมในการดูแลลูก 2 คอร์ส ซึ่งแม่ก้อเข้าร่วมทั้ง 2 คอร์ส เพราะอาจจะมีอะไรเพิ่มเติมจากข้อมูลที่แม่ได้ค้นคว้ามา

ซึ่งในความจริงแล้ว มันก้อเหมือนกับข้อมูลใน internet นั่นแหละลูก แต่มันก้อดีที่ช่วยแม่ตอกย้ำความมั่นใจ ในข้อมูลของตัวเอง แถมท้ายด้วยการแจกนมผง ภายหลังการอบรม (ทั้งๆ ที่ รพ. นั้นเป็นหนึงใน รพ. ที่สนับสนุนนมแม่) แม่ไม่โทษ รพ. หรอกลูก รพ. เค้าอาจจะมีส่วนได้ส่วนเสียกับ บริษัทนมผงนั้น เลยทำให้ต้องละทิ้งภาระหน้าที่ ที่ตัวเองจะต้องเป็นผู้ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่(อาหารที่ดีที่สุด เหมาะสมกับทารกที่สุดในโลก) ในความคิดของแม่แล้ว เมื่อ รพ. ไม่ทำ หมอไม่ทำ บุคคลากรทางการแพทย์ไม่ทำ แล้วใครจะทำ หรือจะต้องให้แม่ๆ ออกมารณรงค์กันเอง?

สามเดือนแรกผ่านไป พร้อมกับการที่แม่ไม่ได้ทำอะไรเลย นอกจากแพ้ท้อง พอเข้าเดือนที่สี่ อาการเริ่มดีขึ้น วันๆ ไม่ทำอะไรนอกจากอ่านๆๆ และอ่าน หนังสือให้ข้อมูลให้พอสมควร แต่การหาข้อมูลด้วยตัวเองนั่นแหละถึงจะได้ข้อมูลมากที่สุด

หลังจากกลับมาจากอบรมที่ รพ. ทำให้ไขว้เขวนิดหน่อย เพราะทาง รพ. ไม่พูดเลยว่าหลัง 6 เดือนแรก(ที่ลูกต้องกินนมแม่ล้วน) จะต้องให้นมแม่ต่อไปถึงกี่ปี แม่เริ่มเข้าใจไปเองว่า อ๋อ…สงสัยต้องต่อด้วยนมผงแน่เลย เพราะ รพ. แจกมาให้ด้วย

แต่แม่ก้อไม่ได้อยู่เฉยๆ ตั้งหน้าตั้งตาหาข้อมูลไปเรื่อย จนไปเจอเวปที่สนับสนุนนมแม่ 2 เวปหลักๆ คือ breastfeedingthai.com กับ thaibreastfeeding.org ทำให้แม่ตาสว่าง และนึกโกรธ รพ. ขึ้นมา ว่าถ้าแม่ไม่พยายามด้วยตัวเอง จะรู้มั้ยเนี่ยว่าลูกสามารถกินนมแม่ได้นานเท่าที่ลูกต้องการ ไม่ใช่แค่ 6 เดือน อย่างที่คนสวนใหญ่เข้าใจกัน หรือไม่ใช่แค่อย่างน้อย 2 ปี

จากข้อมูลต่างๆ ทำให้รู้แล้วว่า รพ. นั้นไม่ได้สนับสนุนนมแม่จริงๆ ซึ่งมันจะมีผลตอนหลังคลอดด้วย ว่าแม่จะประสบความสำเร็จกับการให้นมแม่หรือไม่ ถ้ามีการให้นมผสมกับลูกตั้งแต่ที่ รพ. ก้อเป็นอันว่าการเริ่มต้นให้นมแม่ล้มเหลวไปแล้วเกือบ 100% สำหรับแม่มือใหม่ เพราะถ้าลูกได้ดูดนมจากขวดไปแบบสบายๆ ไปแล้ว การที่จะให้ลูกมาเริ่มใหม่ด้วยการดูดนมแม่นั้นความเป็นไปได้แทบจะเท่ากับศูนย์

รพ. ที่สนับสนุนนมแม่ไม่ควรแจกนมผง เพราะเมื่อแม่มือใหม่ทนเสียงร้องของลูกใม่ไหว สิ่งแรกที่คิดถึง คือ นมไม่พอ หรือนมแม่ยังไม่มา ให้นมผสมไปก่อนดีกว่า ทาง รพ. แจกมาแปลว่ากินได้สิ ไม่งั้นเค้าจะให้มาทำไม? เมื่อแม่มือใหม่เริ่มให้นมผสมกับลูก จะเป็นจุดเริ่มต้นของลูกไม่ยอมดูดนมแม่ หรือนมแม่ไม่พอ(ซึ่งจริงๆแล้วแม่มือใหม่คิดไปเองทั้งนั้น) สิ่งที่ควรทำเมื่อลูกร้องคือดูความต้องการของลูก ถ้าลูกหิวก้อเอาเข้าเต้า ไม่ควรให้มีนมผสมมาแทรกเด็ดขาด ถึงนมแม่ยังมาน้อย ก้อเพียงพอกับความต้องการของลูก เพราะเมื่อแรกเกิดกระเพาะของลูกเล็กมาก และมีอาหารสะสม ซึ่งสามารถอยู๋ได้โดยไม่ต้องกินอะไรเป็นเวลาถึง 7 วัน สิ่งที่แม่ต้องทำคืออดทน และให้ลูกดูดนมบ่อยๆ อย่างถูกวิธี
รพ. ที่สนับสนุนนมแม่ควรให้้เด็กดูดนมแม่ครั้งแรก ภายใน 1 ชม. และให้แม่ได้อยู่ใกล้ชิดกับลูกเพื่อดูดกระตุ้นน้ำนมตามเวลา เพราะมีผลว่าน้ำนมแม่จะมาเร็วหรือช้า

เมื่อแม่หาข้อมูลมามากจนล้นแล้ว เลยลองเอาไปถามหมอสูติที่ฝากครรภ์ เพื่อปรึกษาว่าอยากจะให้นมแม่ ทางรพ. มีนโยบายยังงัยบ้าง

คำแรกที่ได้ยินจากปากหมอคือ “โอ๊ย อย่ามาโม้เลย จะมีนมให้ลูกกินหรือป่าว?” ถ้าฟังหมอพูดแค่นี้แล้วจบ ไม่คิดต่อ ฟังหมอพูด เชื่อตามหมอ อะไรจะเกิดขึ้น บริษัทผลิตนมผง คงได้ลูกค้าเพิ่มอีก 1 ราย แถมเป็นลูกค้า VIP ซะด้วย เพราะลูกแม่กินจุอย่าบอกใคร

ในที่สุด แม่ก้อชวนพ่อเปลี่ยน รพ.ฝากท้อง เพราะไม่มั่นใจใน รพ. ว่าจะสนับสนุนนมแม่ได้แค่ไหนกัน ดูจากที่หมอสูติพูดแล้วแสดงว่า… ทาง รพ. คงไม่ได้ให้ความสนใจกับความสำคัญของนมแม่เท่าไหร่ มิน่าหล่ะ ถึงมีข้อมูลออกมาว่า “อัตราการกินนมแม่ถึง 6 เดือนของเด็กไทยมีเพียง 5.3% เท่านั้น และอัตราการกินนมแม่ถึง 1 ปี ยิ่งน้อยลงไปกว่านั้นอีก ทั้งๆที่ สมัยก่อนที่จะมีการนำเข้านมผง เด็กไทยก็ได้นมแม่กันจน 2-3 ปีเป็นเรื่องปกติธรรมดา”

แต่พ่อยังไม่อยากให้แม่เปลี่ยน รพ. เพราะกลัวว่าจะพาไปคลอดไม่ทัน

แม่ยังคงหาข้อมูลต่อไป…

ทำให้แม่รู้ การคลอดลูกไม่ใช่เรื่องปุ๊บปั๊บ ต้องมีระยะเวลาการเจ็บเตือน และเจ็บจริง ไม่ต้องกลัวการคลอดไม่ทันหากมีความเข้าใจที่ถูกต้อง

พ่อยังไม่อยากให้เปลี่ยน รพ. อยู่ดี ...

จึงชวนกันไปขอดูห้องเนอร์สเซอรี่ของ รพ. เพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม พยาบาลห้องเนอร์สบอกว่า แม่สามารถเดินไปให้นมลูกที่ห้องเนอร์สเซอรี่ได้ตลอดเวลา แต่จะไม่พามาที่ห้องพักฟื้นเด็ดขาด แต่เท่าที่ฟังๆ ดู บอกตามตรงว่าไม่ค่อยมั่นใจว่ารพ. จะสนับสนุนนมแม่ แล้วหลังจากคลอดนี่ ก้อยังไม่รู้ว่าจะสามารถเดินไปหาลูกได้เมื่อไหร่ เพราะแม่เป้นคนที่ไม่ค่อยมีเรี่ยวมีแรงเหมือนชาวบ้านเขา

หลังจากไปคุยกับกับหมอสูติ และห้องเนอร์สเซอรี่ แม่เครียดไปหลายวัน เพราะไม่มั่นใจ รพ. นี้อีกแล้ว แต่พ่อยังไม่อยากให้เปลี่ยน รพ. อยู่ดี แต่ใจแม่ย้ายไปอยู่รพ.ใหม่เรียบร้อยแล้ว(ทั้งที่ยังไม่รู้เลยว่าจะย้ายไปคลอดลูกไปรพ.ไหนดี)

แม่หาข้อมูลอีกแล้ว…

แม่เคยอ่านเจอในพันทิป ว่ามี รพ. นึงสนับสนุนนมแม่ หลายๆคนก้อพูดถึง ตอนนั้นแม่ยังไม่เคยได้ยินชื่อ รพ. นี้ด้วยซ้ำ จะว่าแม่เชยก้อได้ เพราะชีวิตนี้ไม่เคยเป็นอะไรหนักถึงขั้นเข้า รพ. เลยไม่เคยสนใจเรื่องพวกนี้เลย

และแล้วแม่ก้อได้ข้อมูล รพ.ใหม่มาแล้ว รพ. นี้ชื่อว่า BNH (Bangkok Nursing Home) ดีใจสุดชีวิต ความฝันที่ลูกแม่จะไม่ต้องเป็นลูกวัวใกล้ความเป็นจริงขึ้นทุกทีแล้ว

ได้ รพ.แล้ว แต่แม่ยังคงค้นหาต่อไป จะฝากท้องกับหมออะไรดีหล่ะ มีหมอเยื้อน กับหมอบุญชัย ที่เค้าชอบไปหากัน แม่เปิดดู profile ของหมอในเวปของ รพ. รู้สึกว่าหมอเยื้อนหน้าตาใจดี เลือกหมอเยื้อนดีกว่า เพื่อนแม่ก้อฝากกับหมอคนนี้ แล้วหมอเด็กหล่ะ คลอดแล้วจะเลือกหมอคนไหนดี คราวนี้ไม่ต้องคิดให้วุ่นวาย หมอสุธีราดีกว่า ดังเรื่องนมแม่ เลือกได้ตั้งแต่ยังไม่ไปฝากท้องที่ รพ. ใหม่เลย

แม่ได้ย้าย รพ. ไปฝากที่ BNH เมื่อท้องได้ 7 เดือน โชคดีที่หมอยังรับ เพราะบางที่ถ้าอายุครรภ์มากๆ หมอจะไม่รับแล้ว เป็นอันว่าความเครียดของแม่จบสิ้นซะที รอตอนคลอดเลยละกัน ตอนนี้ขอลัลล้าให้พอก่อน

เมื่อถึงวันคลอด แม่ไปคลอดด้วยความสบายใจ เพราะไม่ต้องดิ้นรนเรื่องนมแม่อีกต่อไปแล้ว เหลือแต่กลัวการคลอดเฉยๆ แต่บรรยากาศการคลอดที่ BNH นี่ต้องยกนิ้วให้เลย เค้าสามารถทำให้คนกลัวเข็ม กลัวเลือดสุดๆ คลอดลูกอย่างสบายใจได้

เวลาที่แม่รอคอยมาถึงซะที คลอดลูกแล้ว คิดว่าเอาไว้เต็มที่ว่าเค้าต้องเอาลูกมาให้ดูดกระตุ้น (ตามหลักดูดเร็ว, ดูดบ่อย, ดูดถูกวิธี)
ปรากฏว่าหมอสุธีราไม่ได้มารับเด็กเอง เป็นหมออีกคนมารับอันนี้ไม่เป็นไร หมอเค้าก้อมีครอบครัวอาจจะต้องรีบกลับบ้าน ก้อลูกแม่คลอด 20.09 น. นี่นา

แต่ทำไมๆๆ หมอคนนี้ไม่ยอมเอาลูกมาให้ดูดกระตุ้น แม่เริ่มเครียดอีกแล้ว ทำไมลูกไม่ได้ดูดกระตุ้นตั้งแต่แรกคลอด เป็นอันว่า “ดูดเร็ว” นี่ล้มเหลวแล้วสิ
(เพิ่มเติมจากในบล็อกนะคะ เราคิดว่าที่ลูกไม่ได้ดูดนมเราทันทีอาจเป็นเพราะ ลูกคลอดออกมาแล้ว แอพการ์ สกอร์ 7  - ใครรู้ข้อมูลตรงนี้บอกด้วยค่ะ)

คืนนั้นแม่ตั้งหน้าตั้งตารอคอยให้พยาบาลพาลูกมา กว่าจะได้เจอหน้ากันก้อตีหนึ่งเข้าไปแล้ว ไม่เป็นไรนะลูก ยังเหลือ “ดูดบ่อย กับดูดถูกวิธี” ยังไงลูกแม่ไม่เป็นลูกวัวแน่นอน

วันรุ่งขึ้นตอนบ่ายๆ น้ำนมเริ่มมาซึมๆ ดีใจบอกไม่ถูก แต่ไม่รู้จะมาเต็มที่เมื่อไหร่ ลูกยังคงมาดูดกระตุ้นตามเวลา

เช้าวันเสาร์ (ลูกคลอดคืนวันจันทร์) มีนัดกับหมอสุธีรา คุยกับหมอหลายเรื่อง หมอบีบนมแม่ดูด้วย เพื่อช่วยเพิ่มความมั่นใจให้ขึ้นไปอีก ปรากฏว่านมพุ่งปรี๊ดเป็นสายๆ ไกลเป็นเมตรเลย คืนนั้นนมแม่มาเต็มที่ (ประมาณ 5 วันหลังคลอด) คืนนั้นน้ำนมไหลเปียกเสื้อ เพราะยังไม่ได้ใส่แผ่นซับน้ำนม พอรู้สึกตัวก้อดีใจมาก ความพยายามสำเร็จแล้ว ต่อไปนี้ลูกแม่จะได้กินอิ่ม นอนหลับสบายท้องแล้ว

ทั้งหมดนี้จะบอกว่าไม่ใช่เพราะความบังเอิญที่มีน้ำนมพอ แต่เพราะข้อมูลที่มี และรพ.สนับสนุนนมแม่มีส่วนอย่า่งมาก เพราะถ้าลูกโดนให้ดูดนมผสมจากขวดตั้งแต่ต้น ความพยายามในการให้นมแม่คงล้มเหลว หรือประสบความสำเร็จยากขึ้นไปอีกหากแม่ไม่อดทน

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้ได้ประโยชน์มากที่สุด

” นมแม่มีประโยชน์ตลอดเวลา ไม่ว่าจะนานแค่ไหน องค์การอนามัยโลกและยูนิเซฟแนะนำว่า ในกรณีที่คุณแม่มีสุขภาพแข็งแรง ไม่เป็นโรคขาดสารอาหาร ให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพียงอย่างเดียวเป็นระยะเวลา 6 เดือน โดยไม่ให้อาหารชนิดอื่น แม้แต่น้ำ(Exclusive Breastfeeding) หลังจากนั้นให้นมแม่ควบคู่กับอาหารเสริมไปจนลูกอายุอย่างน้อย 2 ปี “

***สุดท้าย… อยากบอกว่าที่แม่ทุกคนว่า ลองสอบถามทาง รพ.ที่ฝากครรภ์ว่าสนับสนุนนมแม่รือไม่ และสนับสนุนอย่างไร ห้องเนอร์สฯ มีการให้นมผสมแก่ลูกหรือไม่

รพ. สนับสนุนนมแม่แต่ปากหรือเปล่า เราต้องลองหาข้อมูลดูให้ดี เพื่อลูกของเราเอง

เรามาช่วยเพิ่มสถิติการให้นมแม่ให้ประเทศไทยกันดีกว่า ^^


แก้ไขเมื่อ 05 ต.ค. 54 14:13:39

แก้ไขเมื่อ 05 ต.ค. 54 14:13:06

จากคุณ : janistar
เขียนเมื่อ : 5 ต.ค. 54 14:06:01




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com