Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
ภาค2...สอนเด็กช่างเถียงให้ได้ดีต้องสอนให้ไม่มีเหตุผล(วิบัติ) ติดต่อทีมงาน

ถ้ายังไม่เคยอ่าน เจนขอแนะนำให้อ่านกระทู้นี้ก่อน

http://www.pantip.com/cafe/family/topic/N11085226/N11085226.html

คำอธิบายว่าเหตุผลวิบัติคืออะไรจะอยู่ในกระทู้นั้น

เจนจะเขียนต่อเลยแล้วกันนะ



-ละทิ้งข้อยกเว้น (Fallacy of accident)

กฎทุกอย่างมีข้อยกเว้น การสรุปอะไรก็ตามโดยละทิ้งข้อยกเว้นนั้นจัดว่าเป็นเหตุผลวิบัติอย่างหนึ่ง  

ลูกบอกกับแม่ว่า "หนูไม่กินยาเด็ดขาดเพราะแม่เคยบอกเองว่าการฆ่าสิ่งมีชีวิตอะไรก็ตามล้วนเป็นบาป เชื้อโรคก็เป็นสิ่งมีชีวิตถ้าหนูกินยา ยาไปฆ่าเชื้อโรค หนูก็บาปสิ"

เรื่องนี้ก็เช่นกันแม่ก็ต้องอธิบายให้ลูกเข้าใจว่าการจัดการกับสิ่งมีชีวิตอะไรก็ตามที่มาทำร้ายตัวเราหรือเป็นการที่เราทำเพื่อป้องกันตัวเองนั้นถือเป็นข้อยกเว้นในทางสากลที่ยอมรับได้



-เหมารวม (Fallacy of relative to absolute)

เพราะ "อิฐหนึ่งก้อนก็คืออิฐหนึ่งก้อนไม่ใช่ภาพสะท้อนของบ้านทั้งหลัง"

การนำเหตุการณ์หรือบุคคลที่ตัวเองประสบเจอหรือรู้จักมาสรุปว่าบุคคลที่มีอะไรเหมือนกันสักอย่างกับบุคคลนั้นหรือเหตุการณ์นั้นจะต้องเป็นแบบนั้นเหมือนกันหมด และอีกแบบคือผู้พูดพยายามแสดงให้เห็นว่าความเห็นของตัวเองนั้นเป็นตัวแทนความเห็นของคนจำนวนมากคนทั้งชาติหรือคนทั้งโลก

เด็กคนหนึ่ง "รู้เปล่าว่าแมนที่เรียนอยู่ที่...นะติดยา นี่แปลว่าเด็กโรงเรียนนั้นติดยากันทั้งโรงเรียนแน่เลย" (โรงเรียนนั้นมีนักเรียนเป็นพันถ้าจะมีเด็กคนนึงติดยาแล้วหนูใช้เหตุผลอันใดที่จะสรุปได้ว่าเด็กโรงเรียนนั้นจะติดยาทุกคนละลูก)

นักเรียนคนหนึ่ง "หนูเกลียดพวกเสื้อ....มากเลย และในฐานะที่หนูเป็นนักเรียนของโรงเรียน....หนูขอประกาศว่าเด็กโรงเรียน....ทุกคนเกลียดพวกเสื้อ...." (หนูถามเพื่อนทั้งโรงเรียนแล้วหรือยังไง  ทำไมหนูคิดว่าทุกคนจะต้องคิดเหมือนหนู หนูเป็นตัวแทนได้แค่ตัวของหนูเอง หนูไม่มีสิทธิอ้างว่าตัวเองเป็นตัวแทนของใครตราบใดที่บุคคลเหล่านั้นยังไม่ได้มอบสิทธินั้นให้แก่หนู)



-ทางเลือกลวง (False dilemma)

คือการสร้างทางเลือกขึ้นมาสองทางและบังคับให้เลือกทางใดทางหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากอีกทางเลือกนั้นเห็นได้ชัดเจนว่าจะนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่เลวร้าย  เป็นการบีบบังคับให้อีกฝ่ายเลือกทางที่ตนเองต้องการโดยปริยาย ทั้งที่ในความจริงแล้ว ทางเลือกดังกล่าวมีเพียงสองทางเท่านั้นจริงหรือ

เด็กนักเรียนกลุ่มหนึ่ง "วิชานี้ยากจะตายถ้าครูฝรั่งคนใหม่ยืนยันจะเปลี่ยนข้อสอบจากถูกหรือผิดเป็นให้เป็นแบบเขียนคำตอบเองนักเรียนคงสอบตกยกห้องและถ้าเป็นแบบนั้นผู้ใหญ่และผู้ปกครองคงไม่ยอมแน่ๆ ถ้าครูฝรั่งจะเลือกเปลี่ยนข้อสอบให้เด็กตกยกห้องก็ตามใจ"

เด็กๆกลุ่มนี้พยายามทำให้ครูฝรั่งคนใหม่คิดว่าตัวเองมีทางเลือกแค่สองทาง

ทางแรกคือออกข้อสอบแบบถูกหรือผิดเหมือนเดิม เพื่อที่นักเรียนจะได้สอบผ่านและครูฝรั่งจะได้ไม่มีปัญหาอะไร

ทางที่สอง ออกข้อสอบแบบให้เขียนเอง นักเรียนก็จะสอบตกยกห้อง ครูฝรั่งก็จะถูกร้องเรียนและนำมาซึ่งความยากลำบาก

ประเด็นคือ จริงหรือถ้าออกข้อสอบแบบให้เขียนคำตอบเองแล้วเด็กนักเรียนจะตกยกห้อง  

เด็กที่ตั้งใจเรียนควรจะกลัวข้อสอบแบบที่ต้องเขียนคำตอบเองไหมเพราะถ้าตั้งใจเรียน อ่านหนังสือ ย่อมมีโอกาสที่จะตอบถูก เด็กที่เดือดร้อนแน่เพราะโอกาสตอบถูกเป็นศูนย์จากเดิมครึ่งนึงเมื่อเทียบกับการออกข้อสอบแบบเก่าคือเด็กที่ไม่ตั้งใจเรียน ไม่อ่านหนังสือจริงหรือเปล่า



-สองมาตรฐาน (Double standard)

คือตัวฉัน คนของฉัน คนที่ฉันรักทำอะไรก็ดีไปหมด ส่วนคนที่ฉันเกลียดแค่หายใจก็ผิดแล้วที่ทำให้โลกร้อน

สองมาตรฐานอธิบายสั้นๆคือการเลือกตัดสินจากตัวผู้กระทำแทนที่จะตัดสินจากการกระทำของเขา

คนที่ดีที่สุดก็ยังเคยทำอะไรผิด และคนที่เลวที่สุดก็ยังต้องเคยทำเรื่องดีสักเรื่องบ้างจริงไหม

ตัวอย่างมีมากมายเจนเคยเขียนแยกเป็นกระทู้ไว้ใน http://www.pantip.com/cafe/family/topic/N10851638/N10851638.html



-อ้างความน่าเห็นใจ (Appeal to pity)

คือการอ้างเหตุผลส่วนตัวหรือปัจจัยใดๆมาขอความเห็นใจ ขอให้สงสาร ในเรื่องที่ตัวเองประสบพบเจอ แล้วสรุปเหตุผลตามความเห็นใจนั้น โดยละเลยเรื่องความรับผิดชอบ  ความถูกต้อง จริยธรรม เหตุและผลไป

ข้อนี้ต้องบอกเลยว่าตั้งแต่ดูแลเด็กมาเจอบ่อยที่สุด โดยเฉพาะเมื่อเด็กๆทำผิดและยังนึกหาข้อแก้ตัวไม่ได้หรือรู้ตัวดีว่าสิ่งที่ทำนั้นผิด เด็กๆมักจะเลือกใช้วิธีออดอ้อนขอความเห็นใจ

นักเรียน "ครูเห็นใจหนูเถอะหนูพยายามสุดความสามารถแล้วที่จะมาให้ทันโรงเรียนเข้า วันนี้หนูก็ตื่นเร็วขึ้นอีกสิบนาทีแต่รถมันติด หนูจะไปทำอะไรได้"

นักเรียน "หนูรู้ว่าลอกการบ้านเพื่อนมันผิด แต่หนูทำไม่เป็น หนูจะทำยังได้ละ ถ้าไม่มีส่งหนูก็ซวยอีก"

การเห็นอกเห็นใจนั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่ทั้งนี้ต้องดูด้วยว่าเหตุผลที่นำมาใช้นั้นน่าเห็นใจจริงไหม และการอ้างว่าไม่มีทางเลือกอื่นใดนั้นจริงหรือเปล่าหรือว่าแท้จริงแล้วทางที่ตัวเองเลือกนั้นเป็นเพราะเป็นวิธีที่ง่ายหรือสะดวกสบายกันแน่

ตัวเจนเองก็แน่ใจว่าตัวเองไม่ใช่คนใจร้าย ถ้าเด็กขอความเห็นใจ ถ้าให้ได้ก็ให้ตลอด และแม้บางทีเหตุผลของเด็กจะไม่เข้าท่า แต่ถ้าดูแววตาแล้วเห็นว่าเด็กรู้สึกแบบนั้นจริงๆก็อาจจะยอมให้

อย่างสองกรณีข้างบนเจนก็ยอมเด็กแต่จะบอกเด็กว่า "เมื่อวานหนูมาสาย 20 นาที แล้วหนูบอกว่าวันนี้หนูตื่นเร็วขึ้น 10 นาทีทำไมหนูคิดว่าหนูจะมาทันละลูก แต่เอาเถอะอย่างน้อยหนูก็มีพัฒนาการในทางที่ดีขึ้น ครูจะไม่นับว่าวันนี้หนูมาสายก็แล้วกัน"
ส่วนกรณีหลัง "ครูเห็นใจนะว่าวิชานี้มันยากแต่ทำไมหนูไม่ลองให้คุณพ่อคุณแม่หรือคุณครูช่วย หนูคิดว่านี่มันเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ถูกจุดแล้วหรือ ครั้งนี้ไม่เป็นไรแต่ขอให้เป็นครั้งสุดท้ายก็แล้วกัน"



-อ้างคนหมู่มาก (Appeal to the people)

คือการอ้างว่าอะไรก็ตามที่คนจำนวนมากหรือคนส่วนใหญ่ทำนั้นย่อมถือว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องโดยไม่ได้พิจารณาเหตุและผลและปัจจัยในด้านอื่นๆเลย

"ไม่เห็นเป็นไร ใครๆเขาก็ทำกัน"  คุ้นกับคำนี้ไหม?

นักเรียน "โธ่ครู สมัยนี้นักการเมืองก็โกงชาติ คนทำงานก็คอรัปชั่น ใครๆเขาก็โกงกัน หนูแค่โกงข้อสอบนิดหน่อยทำไมต้องทำเป็นเรื่องใหญ่"

เด็กอ้างแค่ว่าในเมื่อมีคนจำนวนมากทำสิ่งนั้นย่อมทำให้สิ่งนั้นไม่ผิด แต่ข้อเท็จจริงคือสิ่งที่ผิดนั้นไม่ว่าคนๆเดียวทำหรือทุกๆคนทำก็ถือว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ผิดอยู่ดีใช่หรือเปล่า คุณโดนขโมยขึ้นบ้านคุณย่อมต้องรู้สึกว่าขโมยผิดจริงไหม แล้วถ้าคุณโดนขโมยขึ้นบ้านสิบหนคุณจะรู้สึกว่าขโมยไม่ผิดแล้วหรือผิดน้อยลงหรือเปล่าละ



เรื่องเหตุผลวิบัติในการสอนเด็กนั้นมีจุดประสงค์เพื่อให้เด็กเข้าใจว่า เหตุผลที่เด็กใช้นั้นไม่ถูก ไม่เหมาะสม เป็นความเข้าใจผิด หรือเป็นเหตุผลที่แท้จริงแล้วไม่ใช่เหตุผล ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ใช้เพื่อต้อนเด็กให้จนมุม หรือบีบบังคับให้เด็กยอมรับว่าตัวเองผิดให้ได้ และในกรณีที่คลุมเคลือหรือกรณีที่เด็กผิดแต่เด็กเข้าใจว่าตัวเองไม่ได้ทำผิดจริงๆอย่างบริสุทธิใจนั้น เจนเห็นว่าโดยความยุติธรรมแล้วควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้กับเด็ก

อย่างเจนเองมีครั้งนึงเด็กสักแบบสติกเกอร์ที่แขนมา เมื่อเจนบอกว่า หนูไม่รู้หรือว่าโรงเรียนไม่อนุญาตให้สัก เด็กบอกว่าการสักแบบสติกเกอร์เธอไม่คิดว่าเป็นการสักเพราะการสักในความคิดของเธอคือการเอาเข็มจิ้มลงบนเนื้อแบบลบออกไม่ได้ เมื่อพูดคุยทำความเข้าใจกันแล้วก็ตกลงกันว่าเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนของทั้งสองฝ่ายไม่ถือว่าเป็นความผิดของใคร  ครูก็จะไม่บันทึกหรือทำโทษอะไร ส่วนหนูก็ไปล้างออกแล้วขอให้ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายก็แล้วกัน


สิ่งสำคัญก่อนที่จะตัดสินว่าเด็กหรือใครใช้เหตุผลวิบัตินั้น คุณต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนจริงๆเพราะหลายกรณีกลับกลายเป็นเหตุผลวิบัติลวง(คือการหาว่าอีกฝ่ายใช้เหตุผลวิบัติทั้งโดยที่แท้จริงแล้วตัวผู้กล่าวหาต่างหากที่ใช้เหตุผลวิบัติ)หรือในบางเรื่องเป็นเรื่องของมุมมองหรือทัศนคติที่คลุมเคลือจนไม่สามารถสรุปได้โดยง่าย

อย่างเรื่องข้างล่างนี้จะเห็นได้ว่าต่างฝ่ายต่างอ้างว่าอีกฝ่ายใช้เหตุผลวิบัติและก็มีคนเห็นด้วยทั้งกับความคิดของนายเอและนายบี

นายเอ  "การทำโทษเด็กด้วยการตีเป็นสิ่งที่ผิด เพราะมนุษย์ไม่มีสิทธิทำร้ายให้คนอื่นเจ็บปวดไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตามนอกจากป้องกันตัวเอง"

นายบี  "คุณกำลังใช้เหตุผลวิบัติ ในข้อ ละทิ้งข้อยกเว้น (Fallacy of accident) เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นแพทย์ที่ตัดขาหรือฉีดยาคนไข้ก็ต้องผิดด้วยสิ ผมไม่เห็นด้วย ผมว่าการตีเด็กไม่ใช่การทำร้ายแต่เป็นการอบรมสั่งสอนวิธีหนึ่งและถือเป็นข้อยกเว้น"

นายเอ "คุณนะแหละที่ใช้เหตุผลวิบัติ ข้อเปรียบเทียบอย่างไม่เหมาะสม (Fallacy of questionable analogy) ยังไงละ  แพทย์ทำเพราะไม่มีทางเลือกอื่นใดและการกระทำนั้นพิสูจน์ได้ว่าคนไข้จะได้รับผลลัพธ์ในทางบวก แต่การตีเด็กไม่มีข้อพิสูจน์อันใดว่าเด็กจะได้ผลลัพธ์ในทางบวกและการอบรมสั่งสอนนั้นยังมีอีกมากมายหลายวิธีโดยที่ไม่จำเป็นต้องตี"


สุดท้ายที่อยากบอกคือว่าคำว่าเหตุผลวิบัตินั้นอาจจะดูแรงโดยเฉพาะเมื่อใช้กับเด็ก แต่ที่เจนใช้คำนี้เพราะเป็นศัพท์บัญญัติในทางตรรกศาสตร์ ถ้าเลี่ยงไปใช้คำอื่นแทนก็จะเป็นการสร้างทฤษฎีใหม่โดยที่ไม่มีอะไรมารองรับอีก

ส่วนตัวเจนเองไม่เคยว่าเด็กว่า  ความคิดของหนูมันวิบัติ,ทำไมคิดได้แต่อะไรวิบัติแบบนี้,สมองเธอมีแต่ความคิดวิบัติแบบนี้หรือยังไง และเมื่อเจนใช้เจนจะอธิบายควบคู่ไปด้วยเสมอ



เจน

จากคุณ : JanE & IK
เขียนเมื่อ : 10 ต.ค. 54 10:31:08




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com