Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
สอนเด็กที่คิดว่าสถานะครอบครัวคือปมด้อยให้ลุกขึ้นสู้เมื่อโดนดูถูกจากเด็กกลุ่มไฮโซ ติดต่อทีมงาน

หนึ่งในคำถามที่เจนได้ยินมาตลอดคือ ฉันอยากให้ลูกเรียนในโรงเรียนที่มีสังคมดีๆ ฉันมีเงินเพียงพอที่จะจ่ายค่าเทอม แต่ไม่มีเงินเพียงพอที่จะซื้อของแพงๆให้ลูกเท่ากับคนอื่นๆหรือถึงมีฉันก็ไม่อยากซื้อให้เพราะกลัวว่าลูกจะฟุ้งเฟ้อจะไม่เห็นคุณค่าของเงิน  และที่สำคัญคือ ฉันอยากจะรู้ว่าถ้าลูกฉันไปเรียนโดยที่ไม่มีสิ่งต่างๆเหล่านี้เท่ากับเพื่อนร่วมห้องหรือสถานะด้อยกว่าเพื่อนร่วมห้อง  ลูกฉันจะโดนดูถูก จะโดนล้อ จะไม่มีใครคบ จะตกไปเป็นชนชั้นล่างเลยหรือเปล่า


วันนี้เจนขอเขียนจากประสบการณ์เท่าที่สัมผัสมา แต่ต้องขอบอกก่อนว่าเป็นแค่ประสบการณ์จากสภาพสังคมย่อยๆสังคมนึงเท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละสังคมย่อมมีความแตกต่างกันออกไปและเป็นไปไม่ได้ที่ทุกอย่างจะเหมือนกัน อย่างไรก็ตามน่าจะพอเป็นแนวทางหรือตอบความสงสัยบางอย่างได้อย่างคร่าวๆ

ส่วนตัวเจนทำงานดูแลเด็กที่มาจากครอบครัวฐานะปานกลางค่อนสูงขึ้นไป ถ้าเรียกให้สั้นๆให้เข้าใจง่ายๆก็บรรดาลูกคุณหนู

ก่อนอื่นอยากให้เข้าใจลักษณะของเด็กกลุ่มนี้ ถ้าพวกเขาไม่ชอบใครหรือเกลียดใคร คุณอย่าหวังว่าพวกเขาจะนัดไปตบตีกัน อย่าหวังว่าจะได้เห็นเด็กขึ้นคร่อมจิกผมกระชากเสื้อกระโปรงเปิดเหมือนในคลิป แต่พวกเขาจะซัดกันด้วยคำพูดและก็ไม่ใช่คำพูดประเภทยกเขาดินมาไว้ตรงหน้าหรือแจกฟักแจกกล้วย แต่พวกเขาจะใช้คำพูดแบบตลกร้าย คำพูดแบบเหยียดๆ หรือประชดประชัน เช่น ถ้าเขาจะล้อเพื่อนที่อ้วน เขาจะไม่เรียกว่าอีอ้วน ไม่เรียกยัยช้างน้ำ แต่พวกเขาจะทำท่าเหมือนเตรียมจะไปหลบใต้โต๊ะเพราะรู้สึกว่าแผ่นดินจะไหวเมื่อเพื่อนคนนั้นเดินเข้ามาในห้อง คุณพอนึกออกไหม

ซึ่งถ้ามองในแง่ดีก็คือต่อให้ลูกคุณโดนรังแกยังไงลูกคุณก็ยังกลับบ้านไปแบบครบสามสิบสองไม่มีรอยขีดข่วนฟกช้ำดำเขียวให้พ่อแม่ใจสลาย แต่จริงๆก็ต้องบอกว่าบาดแผลทางใจหลายอย่างนั้นร้ายกว่าบาดแผลทางกายมากมายหลายเท่า

ขอเข้าประเด็นเลยแล้วกัน

คำถามแรกที่เจนคิดว่าคงมีคนอยากทราบคือเด็กทุกห้องแบ่งชนชั้นเป็นกลุ่มๆเลยจริงหรือไม่

คำตอบ ถ้าแบ่งเป็นกลุ่มไหมก็ต้องบอกว่าใช่ และเจนก็คิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาเพราะสังคมเด็กหรือแม้กระทั่งผู้ใหญ่เราก็ต้องมีเพื่อนที่สนิท กลุ่มที่สนิท แล้วก็สนิทรองๆลงไป เช่น เพื่อนที่สนิทที่สุดก็อาจเป็นเพื่อนที่นั่งข้างๆวัยเดียวกัน กลุ่มที่สนิทที่สุดคือแผนกที่เราทำงาน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะเป็นเพื่อนกับคนในแผนกอื่นไม่ได้ หรือมองว่าทุกคนในบริษัทนอกจากแผนกเราเป็นศัตรู  เด็กก็เหมือนกันพวกเขาก็ต้องแบ่งเป็นกลุ่มๆมีเพื่อนซี้หรือบัดดี้กันทุกคน แต่กับเพื่อนคนอื่นๆหรือเพื่อนร่วมห้องพวกเขาก็สามัคคีกลมเกลียวกันดี ช่วยเหลือกันเต็มที่ ดีจนครูปวดหัวด้วยซ้ำ (เช่น ใครทำการบ้านเสร็จก็มาแปะให้เพื่อนลอกบน facebook, ออกตังค์กันซื้อหนูแฮมสเตอร์มาเป็นสัตว์เลี้ยงประจำห้อง) รักกัน เล่นด้วยกันได้ อะไรๆก็พวกเราแบบนั้น พวกเราแบบนี้ ไม่ได้แบ่งชนชั้นหรือถือตัวอะไร และการแบ่งกลุ่มของพวกเขานั้นก็ไม่ใช่ว่าจะแบ่งตามฐานะทางบ้านตลอด ส่วนใหญ่เป็นการแบ่งตามความชอบมากกว่า เช่น มุ่งเรียนเหมือนกัน บ้าเกาหลีเหมือนกัน ชอบวาดรูปเหมือนกันอะไรทำนองนี้

คำถาม  แล้วที่แบ่งชนชั้นนะไม่มีเลยจริงหรือ

คำตอบ  มี แต่ก็เป็นแค่ส่วนน้อย

คำถาม  ถ้าอย่างนั้นเด็กที่สถานะครอบครัวด้อยสุดจะตกเป็นเป้าถูกเล่นงานมากที่สุดจริงไหม

คำตอบ ไม่จริงเลย จริงแล้วเด็กที่มักจะถูกเพื่อนๆหมั่นไส้หรือนินทามากที่สุด คือเด็กที่ใกล้เคียงความสมบูรณ์แบบมากที่สุด เช่น สวย เรียนเก่ง นามสกุลดี มีของแบรนด์เนม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเด็กมีจุดอ่อนอะไรสักอย่าง เช่น พูดไม่ชัดเพราะลิ้นไก่สั้น (เพียงแต่เด็กกลุ่มที่ถูกแกล้งหรือหมั่นไส้ เพราะเพอร์เฟคจนเพื่อนอิจฉามักจะไม่รู้สึกเลวร้ายเท่ากับเด็กที่ถูกล้อเพราะรู้สึกว่าตัวเองต่ำต้อย เรื่องราวที่ออกมาเลยไม่ค่อยมีมากเท่าไหร่) ส่วนเด็กที่สถานะครอบครัวด้อยกว่าคนอื่นจะโดนหรือไม่นั้นขึ้นกับว่า เพื่อนๆในห้องมีเด็กที่ชอบดูถูกคนอื่นหรือไม่ และถ้ามี เด็กมีศักยภาพเพียงพอที่จะปกป้องตัวเองมากแค่ไหนซึ่งเรื่องนี้สำคัญมาก

คำถาม แล้วถ้าเด็กถูกผลักไสให้ไปเป็นชนชั้นล่าง ไม่มีทางที่จะช่วยอะไรได้เลย ต้องก้มหน้ารับโชคชะตาเพียงอย่างเดียวจริงหรือเปล่า

คำตอบ ไม่จริงเลย สิ่งสำคัญที่สุดคือเด็กต้องรู้จักปกป้องตัวเอง ถ้าเด็กไม่รู้วิธีการ ผู้ปกครองต้องสอน การปกป้องตัวเองไม่ได้หมายความว่าให้เด็กไปตบ ไปตอบโต้แบบหยาบๆ หรือแก้ปัญหาความรุนแรงด้วยความรุนแรงกว่า

แต่คือการสอนให้เด็กเข้าใจว่าเหรียญมีสองด้าน ให้รู้จักคิดบวก ให้รู้จักมองโลกในแง่ดีที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงไม่ใช่การหลอกตัวเองหรือฝันกลางวัน และถ้าเด็กถูกล้อ เด็กต้องกล้าตอบโต้ เพราะจากประสบการณ์เด็กที่กล้าตอบโต้ จะไม่ค่อยมีใครกล้าล้อมากหรือล้อนาน  แต่ถ้าเด็กเอาแต่ก้มหน้า หรือร้องไห้ หรือเดินหนี เพื่อนที่ล้อจะยิ่งได้ใจยิ่งล้อมากเข้าไปใหญ่และสุดท้ายก็จะกลายเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากในชีวิตของเด็กไปจนเรียนจบ

ยกตัวอย่างกรณีนึง เด็กคนนึงที่บ้านเป็นตึกแถว ข้างล่างเป็นร้านขายก๋วยเตี๋ยว ข้างบนใช้พักอาศัย จริงๆต้องบอกว่าฐานะการเงินครอบครัวเด็กไม่ได้ต่ำต้อยอะไร เพียงแต่มองจากสายตาเด็กที่ชอบดูถูกคนอื่นเด็กคนนี้ก็เป็นแค่ “ลูกคนขายก๋วยเตี๋ยว”

เด็กคนนี้จบจากโรงเรียนที่มีความหลากหลายมาก่อน เด็กใช้ของธรรมดา เงียบๆ ขี้อาย ตั้งใจเรียน ไม่ค่อยกล้าตอบโต้ พอเข้ามาใหม่เด็กถูกเพื่อนร่วมห้องกลุ่มนึง ขอเรียกว่ากลุ่มที่พยายามจะเป็นไฮโซ(High Society) แล้วกัน(จริงๆเด็กกลุ่มนี้ก็ไม่ได้มาจากครอบครัวที่รวยที่สุดในห้องเพียงแต่เป็นพวกชอบดูถูกคนอื่น)ล้อว่าไม่มีเงินซื้อของดีๆเพราะบ้านจน เด็กเสียใจ อายคนอื่น กลับไปบ้านเอาแต่ร้องไห้ แม่เห็นลูกซึมๆก็ปลอบใจ บอกว่าอย่าไปสนใจ ผ่านไปอาทิตย์นึง เด็กไม่ดีขึ้น เด็กโดนล้อทุกวันแล้วก็กลับไปร้องไห้ทุกวัน พอพ่อรู้เข้าก็ทนไม่ไหวเลยพาไปซื้อของดีๆของแพงๆเหมือนที่เพื่อนๆมี ด้วยความหวังว่าจะแก้ปัญหานี้ได้

เด็กเข้านอนและตื่นไปโรงเรียนเช้าวันใหม่อย่างมีความสุข เด็กเอาของมาอวดเพื่อนๆ แต่แล้วความสุขที่ใช้เงินซื้อก็จบลงในสามวินาที เมื่อกลุ่มไฮโซบอกว่า “กระเป๋าสวยจัง ว่าแต่พ่อเธอต้องขายก๋วยเตี๋ยวโต้รุ่งเลยหรือเปล่านี่กว่าจะซื้อได้ 555” “เมื่อวานเราผ่านบ้านเธอ ถามหน่อยสิตึกแบบนั้นข้างบนมันนอนได้จริงๆหรือ เรานึกว่าเป็นโกดังหรือว่าเล้าหมู”

เด็กกลับมาบ้านแล้วก็ร้องไห้เหมือนทุกวัน แต่คราวนี้ดูเหมือนว่าจะมองไม่เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ เอาละสิ กระเป๋าแบรนด์  ของแพง ไอโฟน เพื่อลูกพ่อแม่หลายคนกัดฟัดให้ได้ เงินไม่มีสินเชื่อส่วนบุคคลก็พอไหว แต่จะให้ปิดร้านก๋วยเตี๋ยวหรือขายตึกไปซื้อบ้านเดี่ยวเพื่อไม่ให้ลูกถูกล้อ รักลูกแค่ไหนก็คงทำไม่ได้แน่ๆ

พอดีว่าครอบครัวนี้แม่เด็กพอจะรู้จักกับเจนเลยมาปรึกษา เจนเลยเรียกเด็กมาคุยแล้วบอกว่าลองนึกดูตามความเป็นจริงว่าชีวิตเรามันย่ำแย่ถึงขนาดที่เราต้องร้องไห้ทุกวันต้องรู้สึกแบบนี้เลยจริงหรือ เหรียญนะมันมีสองด้านเธอจ้องมันแค่ด้านเดียวหรือเปล่า

เอาละมาดูกัน หนูบอกว่าพ่อเพื่อนๆกลุ่มไฮโซที่ล้อหนูเขาเป็นผู้จัดการ เป็นผู้อำนวยการเป็นรองประธาน ส่วนหนูก็แค่ลูกคนขายก๋วยเตี๋ยว ถ้ามองจากมุมนี้ที่กลุ่มไฮโซพูดครูบอกเลยว่าเป็นความจริงอย่างที่สุด แต่ถ้ามองอีกด้านพ่อหนูเป็นเจ้าของกิจการแต่พ่อเพื่อนๆกลุ่มนั้นถึงจะตำแหน่งใหญ่ก็แค่ลูกจ้าง สักวันถ้าเจ้านายไม่พอใจ เปลี่ยนขั้วอำนาจ หรือพอเกษียณก็ไม่มีงานทำ แต่พ่อหนูไม่มีใครไล่ออกได้ ไม่ต้องก้มหน้ารับคำสั่งจากใคร ร้านอยู่ไปนานๆยิ่งเก่าแก่ ยิ่งมีชื่อ แถมไม่มีกำหนดว่า60ปีแล้วต้องปิดกิจการ

หนูบอกบ้านเพื่อนๆกลุ่มนั้นหลังใหญ่ๆอยู่หมู่บ้านมีชื่ออีกคนก็คอนโดหรู บ้านหนูก็แค่ตึกแถวเก่าๆ กรณีนี้ครูก็เห็นด้วยกับกลุ่มไฮโซอีกเช่นกัน  แต่ถ้ามองอีกมุมบ้านหลังใหญ่ๆเหล่านั้นอยู่แถวไหน ชานเมืองไม่ก็ปริมณฑล มาโรงเรียนต้องตื่นแต่ยังไม่สว่าง แล้วดูนี่ (พอดีเจนมีหนังสือพวกทรัพย์สินขายทอดตลาดของธนาคาร) เปิดดูสิบ้านพวกนั้นถ้าหนูมีเงินเมื่อไหร่ก็ซื้อได้ ซื้อทีละสิบหลังยังได้ บ้านบางหลังขายทอดตลาดมาสามรอบแล้วก็ยังขายไม่ได้ คอนโดหรูแล้วไง คอนโดหรูแค่ไหนก็แค่ที่ในอากาศเกิดซวยเพื่อนข้างห้องชอบซ้อมดนตรีก็ไม่ต้องหลับต้องนอนกัน ตึกแถวที่หนูอยู่ ใช่มันก็แค่ตึกแถวแต่ทำเลที่ตั้งนะย่านไชน่าทาวส์เชียวนะ บางทีมีเงินเป็นสิบล้านก็ยังซื้อไม่ได้ หนูเปิดหนังสือดูสิมีลงขายทอดตลาดบ้างไหม  ข้างนอกมันอาจจะดูไม่ดีแต่หนูก็มีห้องส่วนตัว มีคอม มีทีวี มีพร้อมทุกอย่าง กลับมาบ้านหนูก็เจอพ่อเจอแม่ ไม่ต้องมานั่งรอวันนี้พ่อติดประชุมเมื่อไหร่จะมารับนะ หรือกลับมาบ้านไม่มีใคร ต้องนั่งเหงาเพราะพ่อแม่ยังไม่กลับจากที่ทำงาน

แล้วเจนก็ยกประเด็นพร้อมกับอธิบายเหตุผลแย้งในเรื่องอื่นๆที่เด็กรู้สึกว่าตัวเองต่ำต้อยต่อ

หลังจากนั้นเจนก็ถามเด็กว่าครูจะถามหนูแต่หนูไม่ต้องตอบครูหนูตอบตัวเองก็พอ หนูลองคิดดูอีกทีว่าหนูต่ำต้อยด้อยกว่าเพื่อนๆกลุ่มไฮโซจริงหรือเปล่า

ถ้าคำตอบคือไม่ หนูก็เลิกรู้สึกว่าตัวเองมีปมด้อยได้ซะทีเพราะไม่มีเหตุผลใดที่คนมีมากกว่าจะต้องมาอิจฉาคนที่มีน้อยกว่าหรอกจริงไหม

แต่ถ้าคำตอบคือ ใช่  ครูถามหน่อยตอนนี้หนูก็มีกระเป๋าแบรนด์เนม หนูก็มีอุปกรณ์ไฮเทค หนูก็เรียนโรงเรียนเดียวกันกับพวกกลุ่มไฮโซทั้งๆที่พ่อหนูจนกว่า ทั้งๆที่บ้านหนูมีรายได้น้อยกว่า แต่พ่อก็ยังหามาให้ ครูถามหนูว่าถ้าคนๆนึงมีเงินพันบาทแล้วแล้วแบ่งให้หนูสิบบาทกับอีกคนมียี่สิบบาทแล้วแบ่งให้หนูสิบบาทหนูจะรู้สึกดีกับคนไหนมากกว่า คนที่มียี่สิบจริงไหม หนูลองคิดดูว่าความรักที่หนูได้รับจากครอบครัวนั้นไม่มีคุณค่าพอที่จะชดเชยอะไรเลยจนหนูต้องรู้สึกแย่แบบนี้เลยเชียวหรือ

หนูควรจะอิจฉาเพื่อนกลุ่มนั้นหรือพวกเขาควรจะอิจฉาหนู หนูลองคิดดูให้ดีๆ

เอาละต่อไปนี้ ถ้าหนูถูกล้ออีกหนูก็ตอบไปเลย บอกพวกเขาด้วยเหตุผลที่ครูยกให้ฟังแบบนี้นี่ละ แล้วพรุ่งนี้ก่อนไปโรงเรียนหนูยืนที่หน้ากระจกบอกตัวเองว่า “ฉันไม่มีอะไรด้อยกว่าพวกนั้นเลย” และเมื่อไหร่ก็ตามที่หนูเริ่มรู้สึกอะไรแบบนี้อีก ครูอยากให้หนูจำไว้ว่า “ไม่มีใครทำให้เราต่ำต้อยได้ถ้าเราไม่ยอมรับมัน”

วันต่อมาเด็กก็ไปโรงเรียนแล้วก็ถูกเพื่อนกลุ่มนั้นล้อเหมือนทุกวัน แต่เที่ยวนี้เธอไม่ยอม เธอก็ตอบโต้ด้วยเหตุและผลที่เจนสาธยายให้ แน่นอนว่าเพื่อนกลุ่มไฮโซก็ยังไม่ยอมง่ายๆยังหาเหตุผลมาต่อจนได้ แต่เที่ยวนี้เธอก็ไม่ยอมเหมือนกันก็สวนกลับได้ทุกประเด็น จากไก่รองบ่อนก็เริ่มสูสี พอเริ่มสูสีคราวนี้เพื่อนคนอื่นๆที่ไม่ชอบกลุ่มไฮโซอยู่แล้วเห็นว่ามีคนพอสู้กลุ่มไฮโซได้ก็โดดร่วมวงเข้ามาช่วยเธอ “บ้านเขาขายก๋วยเตี๋ยวแล้วไง ลุงเราก็ขายอาหารรายได้วันละเป็นหมื่นหัดมองโลกให้มันกว้างๆหน่อย” “เราก็ไม่อยากยุ่งหรอกนะ แค่อยากเล่าให้ฟังว่าพ่อเราก็เป็นเจ้าของโรงงาน พ่อชอบเล่าว่าเรียกพวกผู้จัดการมาด่าทุกวันไล่ออกไปก็เยอะ บางคนเงินเดือนก็แค่หมื่นกว่าบาท ยังไงเป็นเจ้าของกิจการถึงจะเล็กแค่ไหนก็ย่อมดีกว่า”  

พอหนักๆเข้าเพื่อนกลุ่มไฮโซเห็นท่าไม่ดี เห็นว่าถ้าไม่เลิกมีแววจะโดนซัดกลับหนักกว่า จากปมเด่นที่ภูมิใจก็เริ่มไม่แน่ใจว่าถ้าไม่หยุดยังจะเด่นต่ออีกไหม แล้วก็เริ่มรู้สึกว่าถ้าพวกที่บ้านรวยกว่าเรามายืนอยู่ฝั่งตรงข้ามคราวนี้เห็นทีจะสู้ไม่ไหว  ก็เลยเริ่มถอยเริ่มไม่มายุ่งไม่ตอแยอะไรกับเด็กคนนี้อีก

ส่วนเด็กคนนี้ก็กลายเป็นฮีโร่ของเพื่อนๆคนอื่นๆที่ไม่ชอบกลุ่มไฮโซ แล้วเด็กคนนี้ก็มีเพื่อน  เป็นที่รักของเพื่อนๆแล้วก็ใช้ชีวิตในรั้วโรงเรียนได้อย่างมีความสุข ไม่ต้องรู้สึกอะไรอีกกับการที่ๆบ้านขายก๋วยเตี๋ยว ของแพงๆของแบรนด์เนมเด็กก็ไม่ได้สนใจอีกต่อไปแล้วก็ไม่เคยร้องขอให้พ่อกับแม่ซื้อของอะไรแบบนี้ให้อีก

คำถาม  สรุปว่าเรื่องความแตกต่างทางฐานะไม่ใช่เรื่องน่าห่วง

คำตอบ ถ้าหมายถึงกลัวว่าเด็กจะโดนดูถูกหรือไม่มีใครคบไม่น่าห่วงเท่าไหร่ ประเด็นที่น่าห่วงจริงๆคือเด็กยอมรับความแตกต่างได้ไหม เพราะเด็กบางคนต่อให้ไม่มีใครล้อหรือดูถูกแต่ก็รู้สึกว่าตัวเองต่ำต้อยด้อยกว่าแล้วก็ทุกข์เองซึ่งในกรณีนี้การแก้ปัญหาค่อนข้างยากและซับซ้อนกว่ามาก


ปล.เนื่องด้วยบทความนี้มีการกล่าวถึงเด็กที่ดูแลในหลายๆด้าน เรื่องที่เล่ามานั้นจึงจำเป็นที่จะต้องผ่านกระบวนการเข้ารหัส

ปล2.เหตุผลที่ยกให้เด็กฟังเป็นไปตามแนวทางการสอนให้คิดบวกให้กล้าตอบโต้  เจนไม่ได้มีอคติ ทรรศคติ ดูถูก ดูแคลน ไม่ว่าใครจะอยู่บ้านเดี่ยว คอนโด กรุงเทพชั้นใน ชั้นนอก หรือส่วนไหนของประเทศ จะมีตำแหน่งหน้าที่อะไร เป็นลูกจ้างหรือไม่ เงินเดือนเท่าไหร่ อะไรในทำนองนี้แต่อย่างใดทั้งสิ้น ขอได้โปรดกรุณาเข้าใจในส่วนนี้ด้วย

ปล3.วิธีการที่เจนสอนเด็กเป็นวิธีการสอนเพื่อให้เด็กปกป้องตัวเองจากเด็กด้วยกัน ซึ่งถ้าเป็นผู้ใหญ่แล้วใช้วิธีนี้กับเด็กส่วนตัวนั้นเจนเองก็มองว่าน่าจะเลือกใช้วิธีอื่นมากกว่า



เจน

จากคุณ : JanE & IK
เขียนเมื่อ : 30 ม.ค. 55 00:02:43




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com