Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
สังเกตุอาการออทิสติกในวัยทารก ติดต่อทีมงาน

สัปดาห์ที่แล้วตั้งแต่อ่านกระทู้เด็กออทิสติกไปเยอะแยะมากมาย เล่นเอาจิตตกนอนไม่หลับ เลยนั่งจ้องสังเกตุลูกชายวัย 4 เดือนครึ่ง ตลอดทั้งวัน มาหลายวันแล้ว และก็พยายามหาอาการที่จะพอสังเกตุได้ในวัยทารก

นี่ไปค้นเจอมาค่ะ เลยเอามาฝาก...


ออทิสติก
( Autistic Children )

คำจำกัดความ
เด็กออทิสติก หมายถึง เด็กที่มีความบกพร่องอย่างรุนแรงในการสื่อความหมายพฤติกรรม สังคม และการเรียน ความบกพร่องนี้มักเกิดขึ้นในวัยเด็ก เด็กเหล่านี้จะมีปัญหาในการใช้ความคิด สติปัญญา การรับรู้ ซึ่งเป็นผลให้เด็กไม่สามารถเรียนรู้ได้ดีขาดความเข้าใจในวิชาที่เรียน มีปัญหาในการสื่อสาร และการคบเพื่อน

1.ความหมาย
ส่วนองค์การอนามัยโลก (WTO) เขียนไว้ว่า เป็นกลุ่มอาการที่มีความผิดปกติทางพฤติกรรมแบบจำเพาะ
ซึ่งปรากฏ ให้เห็นได้ในระยะแรกของชีวิตก่อนอายุ 30 เดือน พฤติกรรมที่ผิดปกตินั้น เป็นความบกพร่องเกี่ยวกับการสร้างสัมพันธภาพทางสังคม ภาษาการสื่อความหมาย และการใช้จินตนาการในการเล่น

จากความหมายของ ออทิสติก ดังกล่าว สามารถสรุปได้ว่า ออทิสติก เป็นโรคที่ทำให้เด็กมีความผิดปกติทางพฤติกรรมแบบจำเพาะปรากฏก่อนอายุ 30 เดือน มีความผิดปกติเกี่ยวกับสังคม อารมณ์และการสื่อภาษา ส่งผลกระทบต่อการสื่อสาร ทั้งวาจาและท่าทาง รวมทั้งปฏิสัมพันธ์ทางสังคม มีผลกระทบในทางลบต่อการศึกษาของเด็กพฤติกรรมอื่นที่ปรากฏมีการกระทำ หรือมีการเคลื่อนไหวซ้ำ ๆ ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม เช่น กิจวัตรประจำวันและตอบสนองที่ไม่ปกติต่อประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสต่าง ๆ

2.ลักษณะของเด็กออทิสติก
2.1 เด็กที่มีความผิดปกติทางด้านพัฒนาการเกี่ยวกับ สังคม อารมณ์ และการสื่อภาษาอย่างรุนแรง
2.2 อาจจะมีหรือไม่มีปัญญาอ่อนร่วมด้วยก็ได้
- จะสังเกตลักษณะเด็กได้ตั้งแต่เกิด คือ เด็กจะมีลักษณะเงียบเฉยจนดูเหมือนตุ๊กตาที่มีชีวิต แต่ไม่มีจิตใจและอารมณ์
- ไม่เรียกร้องอะไรทั้งสิ้น ไม่ว่าจะหิว หรือถ่ายอุจาระ ปัสสาวะออกมาเปียกและเลอะเทอะ
ก็ไม่ร้อง
- ดูเหมือนว่าเป็นเด็กเลี้ยงง่าย ให้ดูดก็ดูด ไม่ให้ดูดก็ไม่ร้องหิวเลย แต่อาจจะร้องดังเหมือนเจ็บปวดตกใจกลัว กรีดร้องเสียงดังอยู่ได้นานหลายชั่วโมง โดยไม่มีสาเหตุ
- นอนหลับได้เพียงระยะสั้น ๆ หรืออดนอนได้ถึง 2-3 วัน โดยไม่มีลักษณะอ่อนเพลีย
- จะแสดงอาการไม่พอใจ โกรธ โดยการกรีดร้องเสียงดัง ถ้าเด็กถูกอุ้ม ป้อนอาหาร อาบน้ำ เปลี่ยนผ้าอ้อม หรือแต่งตัวให้
- แต่เด็กเหล่านี้จะมีพัฒนาการทางด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่ได้ดี สามารถ นั่ง คลาน ยืน ได้ตามวัยเหมือนเด็กปกติ นอกจากรายการที่ตรวจพบว่ามีปัญญาอ่อนร่วมด้วยก็จะล่าช้าได้

- อายุ 2-3 เดือน จะเริ่มสังเกตได้ว่าเด็กจะขาดความสนใจบุคคล แม้ว่าจะมีคนมาพูดคุย หรือ
เล่นด้วย เด็กก็จะเฉยเมย ไม่ยิ้ม ไม่ส่งเสียงโต้ตอบ แต่เด็กอาจจะทำเสียงขึ้นเองตามลำพัง และส่งเสียงอยู่คนเดียวได้นาน ๆ
- เมื่ออยู่ในอายุ 1 ปีแรก อาการจะยิ่งชัดขึ้น เช่น เมื่ออุ้มเด็กนั่งตัก เด็กพวกนี้จะนั่งเฉย ๆ ไม่มีปฏิกิริยาโต้ตอบใด ๆ ทั้งสิ้น แม้จะจี้เอวหรือแขน /ไม่หันตามเมื่อเรียกชื่อ/ พูดออกเสียงเป็นคำ ๆ ไม่ได้ แต่บางครั้งเด็กจะแสดงท่าทางรับรู้ต่อการเร้าประสาทรับความรู้สึกเช่น การเคาะพื้นเด็กชอบจ้องมองแสงสว่างจ้า เช่น มองพระอาทิตย์ได้นาน ๆ /แต่บางคนกลัวสิ่งที่ไม่น่ากลัว เช่น วิ่งไปนอกถนนเพื่อดูป้ายทะเบียนรถแล้วมาบันทึก เป็นต้น

อาการที่ปรากฏ
1. ขาดความสนใจบุคคลรอบข้าง
2. ใช้ภาษาและวิธีสื่อสารที่คนอื่นไม่เข้าใจ
3. จับมือผู้ใหญ่ทำแทนในสิ่งที่ต้องการ
4. พูดเรื่องเดียว ซ้ำ ๆ
5. พูดเลียนแบบเหมือนนกแก้วนกขุนทอง
6. หัวเราะโดยไม่มีสาเหตุหรือไม่สมเหตุผล
7. ไม่สบตาผู้อื่น
8. ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงในชีวิต
9. รวมกลุ่มเฉพาะเมื่อมีผู้กระตุ้นหรือช่วยเหลือ
10. ไม่เล่นกับเด็กคนอื่น ๆ
11. ขาดจินตนาการ
12. ทำท่าแปลก ๆ

เด็กจะมีความผิดปกติมาตั้งแต่เด็ก คือก่อนอายุ 3 ปี และความรุนแรงในเด็กแต่ละคนไม่เท่ากัน อาการ
ดังกล่าวสรุปได้ว่าประกอบด้วย
1. ความบกพร่องด้านมนุษย์สัมพันธ์
ถือเป็นอาการสำคัญที่บกพร่องชัดเจนแตกต่างไปจากโรคอื่น ๆ เด็กไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์กับ
คนใกล้ชิดแบบปกติ กล่าวคือ
- วัยทารก จะไม่ชอบให้อุ้ม ไม่กอดตอบเวลาอุ้ม ไม่สบตา ไม่มองหน้า ไม่สนใจตามหา
- วัยอนุบาล ไม่สนใจเล่นกับเพื่อน ไม่รับรู้อารมณ์คนอื่น ไม่สนใจใคร ไม่มองหน้า อาจเข้าหาคนบ้าง
ก็เพื่อให้หยิบสิ่งของให้ ไม่สามารถสร้างความผูกพันได้ เมื่อกลัวหรือดีใจก็ไม่เข้าหา


2. ความบกพร่องทางการสื่อสาร
ประมาณ 50 % ของเด็กออทิสติกมีปัญหาเรื่องการพูด

ความผิดปกติของการพูดของเด็กออทิสติก
- ไม่เข้าใจภาษาพูด
- ตอบสนองต่อเสียงแปลกไปจากเด็กทั่วไป ดูคล้ายเด็กหูหนวก แต่ถ้าเป็นเสียงที่ชอบจะตอบสนองได้ดีทุกครั้ง เช่น เสียงโฆษณาใน ที.วี. ที่ถูกใจหรือเสียงแกะกระดาษห่อลูกอม
- ในเด็กเล็ก ๆ จะไม่ค่อยพบว่ามีการเลียนเสียงในคอหยอกล้อกับพ่อแม่
- ไม่มีการแสดงท่าทางเพื่อบอกอารมณ์ เช่น ประหลาดใจ ดีใจ สงสาร
- เมื่อเริ่มพูดได้บ้าง ในเด็กปกติจะมีการสื่อสาร 2 ทาง คือ โต้ตอบกับผู้อื่นได้ ซึ่งไม่พบในเด็กออทิสติกที่มักจะพูดตามเรื่องที่เขาหมกมุ่นอยู่ จะไม่พูดคุยถึงคนอื่น แต่เด็กออทิสติกบางคนพูดมาก ซึ่งลักษณะการพูดมาก จะเป็นการพูดซ้ำ ๆ เรื่อย ๆ มากกว่าที่จะพูดโต้ตอบกัน เมื่อเริ่มพูดได้ เด็กออทิสติกก็มักพูดได้น้อยหรือชอบตอบคำถามเท่านั้น
- วิธีการพูดมักสลับสรรพนาม ซึ่งคิดว่าเป็นเพราะเด็กใช้วิธีพูดโดยการเลียนแบบทั้งประโยค โดยไม่เข้าใจว่าต้องเปลี่ยนสรรพนามตามผู้พูด
- สำเนียงในการพูดหรือร้องเพลงมักไม่มีเสียงสูง – ต่ำ
- ชอบสร้างคำที่มีความหมายเฉพาะสำหรับตัวเอง ซึ่งคนอื่นไม่เข้าใจ
- มักเลียนแบบพูดตาม ทั้งพูดตามทันทีที่คนอื่นพูดจบ หรือจำไปพูดโดยไม่สัมพันธ์กับเหตุการณ์ขณะนั้น
3. ความผิดปกติของการเล่นและจินตนาการ
- สนใจสิ่งของซ้ำ ๆ และกระทำพฤติกรรมซ้ำซาก
- เล่นโดยขาดจินตนาการ ไม่สามารถสมมุติ จะเห็นได้ชัดเจนในวัยอนุบาลเด็กจะสนใจเฉพาะบางชิ้นส่วนของของเล่น เช่น เล่นรถ จะหมุนดูเพียงล้อรถ หรือเล่นตุ๊กตา มักจะเพียงแต่เปิด – ปิดประตูซ้ำ ๆ
- แต่เด็กออทิสติกบางรายที่มีสติปัญญาดี ก็สามารถเลียนแบบสมมุติได้ เช่น ป้อนข้าวตุ๊กตา ยกหูโทรศัพท์มาแนบหูฟัง
- กลัวไม่มีเหตุผล เช่น กลัวเสียง กลัวรูปร่าง กลัวสี
- บางคนมักดม ชิม สิ่งของที่ไม่น่าดม ชิม
- จ้องมองสิ่งของต่าง ๆ ด้วยหางตา
- สะบัดมือ เคลื่อนไหวซ้ำ ๆ
- ทำร้ายตัวเอง กัดข้อมือ โขกหัว ตบตีตัวเอง พบได้ทั้งในออทิสติกทั่วไปออทิสติกที่มีปัญญาอ่อนร่วมด้วย
- ติดของที่ไม่น่าสนใจ เช่น ฝาขวด ไม้กวาด เมื่อโตขึ้นบางคนจะหมกมุ่นกับเรื่องแผนที่ เบอร์โทรศัพท์
- มีกิจวัตรประจำวันแบบซ้ำ ๆ เช่น ข้าวไข่เจียวต้องอยู่ในถาดหลุม ขนมปังต้องหั่นขวาง น้ำต้องเทเพียงครึ่งแก้ว ตำแหน่งของเครื่องเรือนต้องอยู่ที่เดิม
- เมื่อโตขึ้นก็ยังต้องการแบบแผนซ้ำ ๆ และถ้ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจะหงุดหงิด ทนไม่ได้
สาเหตุออทิสติก
มีความพยายามศึกษาถึงสาเหตุออทิสติกแต่ปัจจุบันก็ยังไม่ทราบสาเหตุแน่นอน มีเพียงหลักฐานสนับสนุนว่า น่าจะเป็นสาเหตุของระบบประสาทในเด็กเอง สรุปสาเหตุที่เป็นไปได้ ดังนี้
1.พันธุกรรม
2. ปัญหาที่เกิดระหว่างการตั้งครรภ์และการคลอด
3.ความผิดปกติของสมอง กล่าวคือ
- รูปร่างภายนอกของเนื้อสมองปกติ แต่เซลล์สมองบางส่วนมีลักษณะผิดปกติ
- 30 – 20% ของเด็กออทิสติก มีคลื่นสมองผิดปกติ
- สารเคมีในสมองชื่อ ซีโรโทนิน มีระดับสูงขึ้น
- โอกาสในการเกิดโรคในคนทั่วไป 4-5 คน/ 10,000 คน หรือบางรายงาน 10-20 คน/10,000 คน
- พบว่าญาติที่ใกล้ชิดสายเลือดเดียวกัน มีโอกาสเกิดออทิสติกมากกว่าคนทั่วไป
- พี่น้องคนต่อไปจากพ่อแม่คู่เดิม มีโอกาสเกิดโรคนี้มากกว่าคนปกติ 50 เท่า และมีความเสี่ยงต่อความผิดปกติอื่นได้อีก เช่น เรื่องบกพร่องทางภาษาหรือสังคม
การบำบัดช่วยเหลือ
ด้วยความเชื่อว่าพฤติกรรมเกิดมาจากการเรียนรู้ การสร้างพฤติกรรมที่ต้องการและลบพฤติกรรมปัญหา จึงสามารถทำได้โดยใช้พฤติกรรมบำบัดทั้งสิ้น เช่น
o ลดพฤติกรรมปัญหา
o เสริมสร้างทักษะช่วยตนเอง
o การเรียนการสอนด้วยวิธีพิเศษ
รูปแบบการรักษา เป็นการร่วมมือของวิชาชีพต่าง ๆ เช่น จิตแพทย์ พยาบาล จิตเวช นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา นักการศึกษาพิเศษ นักอาชีวบำบัด นักฝึกพูด ร่วมมือกันพัฒนาเด็กตามศักยภาพของเด็กเอง
เป้าหมายของการรักษา
1. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เหมาะสม
2. เสริมสร้างทักษะใหม่ ๆ
3. การฝึกพูด
4. การศึกษาพิเศษตามความถนัดของเด็ก
5. ช่วยเหลือครอบครัวในการปรับตัวและวิธีดูแลจัดการเด็ก


เครดิต disabled-child-mhs.org/LD8.html

จากคุณ : พิซซ่าหน้าบูด
เขียนเมื่อ : 21 ก.พ. 55 18:27:25




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com