Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
เด็กพูดไม่รู้เรื่อง โกหก หรือพ่อแม่ถามคำถามไม่เป็นกันแน่?? ติดต่อทีมงาน

เมื่อไม่นานมานี้มีน้องที่รู้จักกันมาปรึกษาปัญหากับเจน เรื่องก็คือน้องมีลูกสาววัยอนุบาล

ในตอนแรกลูกก็ไปโรงเรียนตามปกติมีร้องไห้มีงอแงบ้างแต่ก็ไม่ถึงขั้นทุกวันหรือร้องแบบจะขาดใจ ต่อมาน้องย้ายมาอยู่บ้านใหม่ที่ไกลจากโรงเรียนเก่ามากๆเลยมีความจำเป็นที่ต้องย้ายลูกมาเรียนที่อนุบาลแห่งใหม่ คราวนี้ลูกร้องไห้ทุกวัน แล้วก็ร้องแบบยอมตายดีกว่ายอมไปโรงเรียน

น้องเลยพุ่งเป้าไปที่ครูว่า ครูคงดุหรือไม่ใจดีเท่าที่โรงเรียนเก่าก็เลยไปถามลูกว่าครูแอน(ชื่อสมมุติครูประจำชั้น)ดุไหม ลูกก็บอกว่าดุแต่พอพ่อของน้องไปถามว่า ครูแอนใจดีไหม ลูกก็บอกว่าครูแอนใจดี
พอคำตอบออกมาเป็นแบบนี้พ่อกับแม่ก็เริ่มสับสน ตอนแรกทั้งคู่คิดว่าลูกพูดไม่รู้เรื่อง ต่อจากนั้นแม่ก็หาว่าลูกโกหกเพราะไม่อยากไปโรงเรียนมากกว่า พ่อก็ว่าแม่นั่นแหละดุเกินไปคอยแต่จะจับผิดลูก จากปัญหาลูกไม่อยากไปโรงเรียนก็เริ่มขยายวงไปเป็นความสัมพันธ์ชีวิตคู่แทน

น้องเลยเล่าให้เจนฟังแบบละเอียดก่อนปิดท้ายด้วยคำถามว่า ถ้าลูกตอบแบบนี้แล้วคำตอบไหนคือคำตอบที่แท้จริง และลูกโกหกหรือเปล่า

เจนเลยบอกว่าถ้าน้องอยากเข้าใจเด็กน้องก็ต้องคิดแบบเด็กด้วยตรรกะแบบเด็ก ถ้าใช้ตรรกะแบบผู้ใหญ่ก็ไม่มีทางที่จะได้เข้าใจ
และหลังจากที่รับฟังรายละเอียดแล้ว คำตอบที่ได้ในกรณีนี้คือ ทั้งสองคำตอบ(ครูแอนดุ,ครูแอนใจดี)นั้นถูกต้อง และลูกก็ไม่ได้โกหก และถ้าคิดจะโทษอะไรสักอย่างสิ่งที่ควรโทษที่สุดนั่นคือ คำถามที่ถามเด็ก จริงอยู่นี่คือคำถามที่ธรรมดามากๆสำหรับผู้ใหญ่ แต่สำหรับเด็กนี่คือคำถามชี้นำ

ฟังดูอาจจะแปลกหรือไม่น่าเป็นไปได้ว่าทั้งสองคำตอบ(ครูแอนดุ,ครูแอนใจดี)นั้นถูกต้อง เพราะคำตอบทั้งสองนั้นขัดแย้งกันในตัวเองอย่างสิ้นเชิง


เอาละ ก่อนอื่นสิ่งที่เจนอยากบอกคือตรรกะในการคิดของเด็กเล็กๆนั้นจะเป็นตรรกะแบบมองในแต่ละส่วนที่ถูกถามไม่ใช่แบบหักลบกลบกันอัตโนมัติแบบเด็กโตหรือผู้ใหญ่

ในกรณีนี้เราลองสมมุติว่าความใจดีคือส้ม ความดุคือ มะนาว  และครูแอนก็คงนิสัยคล้ายๆครูเจนก็คือโดยปกติจะใจดี ยกเว้นเวลาเจอเด็กงอแงมากๆ พูดไม่รู้เรื่อง หรือประเภท”ฉันรู้ว่าผิดแต่ฉันก็ยังพอใจที่จะทำ” ก็อาจจะแปลงร่าง (ชั่วคราว) หรือทำอะไรเพื่อแสดงให้เด็กรู้ว่า “ครูใจดี ครูโอ๋ ครูเล่นด้วยได้ แต่ถ้าหนูทำตัวไม่น่ารัก เจตนาที่จะทำทั้งที่รู้ว่าผิด ครูก็ดุ ก็ทำโทษหนูเป็นเหมือนกันนะ” หรือถ้าเปรียบตามข้างต้นก็ประมาณว่าครูแอนมีส้มอยู่สี่ลูกกับมะนาวอีกลูกนึง

คราวนี้เจนถามคุณว่าครูแอนมีมะนาวไหม คุณก็ย่อมตอบว่ามี ซึ่งถ้าเปรียบเป็นคำถามว่าครูแอนดุไหม เด็กก็จะคิดถึงแต่มะนาวโดยไม่สนใจว่ามีส้มอยู่กี่ลูก(ก็ในคำถามไม่มีอะไรเกี่ยวกับส้มเลยจริงไหมละ)และคำตอบก็จะออกมาว่าครูแอนดุ

คราวนี้คำถามต่อไปเจนถามคุณว่าครูแอนมีส้มไหม คุณก็ย่อมตอบว่ามี ซึ่งถ้าเปรียบเป็นคำถามว่าครูแอนใจดีไหม เด็กก็จะคิดถึงแต่ส้มโดยไม่สนใจว่ามีมะนาวอยู่กี่ใบและคำตอบก็จะออกมาว่าครูแอนใจดี

เห็นได้ชัดจากสองย่อหน้าข้างบนว่าเด็กตอบตามจริง เด็กไม่ได้โกหก  แต่เด็กตอบคำถามแบบนั้นเพราะกระบวนการคิดของเด็กวัยนี้เป็นแบบนั้น

เพราะฉะนั้นคำถามที่ควรถามเด็กในกรณี้นี้คือ “ครูแอนดุหรือใจดีมากกว่ากัน” จริงอยู่ที่สองคำถามข้างบนใช้กับผู้ใหญ่ได้เพราะถ้าคนตอบเป็นผู้ใหญ่ย่อมตอบได้ว่า ครูแอนใจดี หรือ ส่วนใหญ่ก็ใจดีแต่มีดุบ้าง แต่เด็กไม่ใช่เช่นนั้น ถ้าคุณไม่ถามแบบเปรียบเทียบ หลายทีเด็กจะตอบแบบโฟกัสหรือพุ่งเป้าไปยังสิ่งที่คุณถามเพียงอย่างเดียวไม่ใช่ว่าจะนำมาเปรียบเทียบกันอัตโนมัติเหมือนผู้ใหญ่เสมอไป

(ส่วนเรื่องนี้ได้ข้อสรุปว่าเด็กไม่อยากไปโรงเรียนเพราะโดนเพื่อนแกล้งและแม่มักจะไปรับช้าและไปรับเป็นคนสุดท้ายเสมอเลยทำให้เด็กรู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง)

และหลักในการถามคำถามกับเด็กอีกอย่างคืออย่าถามสองคำถามในประโยคเดียว (ในกรณี้พูดถึงเรื่องที่สำคัญแต่ถ้าเรื่องเล่นๆหรือไม่ได้มีความสำคัญอะไรคุณจะถามยังไงก็ได้) เช่น “วันนี้หนูโดนเพื่อนแกล้งไหม และนอนตอนบ่ายหลับหรือเปล่า”
ถ้าคุณถามแบบนี้เด็กจะเทน้ำหนักแทบทั้งหมดไปกับคำถามอันหลัง ดีไม่ดีอาจจะตอบแค่คำถามหลังเพียงอย่างเดียว (ทั้งๆที่เรื่องแรกสำคัญกว่าเยอะ) ถ้าเรื่องไหนสำคัญคุณควรถามทีละประโยค รอจนได้คำตอบและค่อยถามคำถามถัดไป

และจากเรื่องคำถามแบบเปรียบเทียบข้างบนนั้น เราสามารถนำมาใช้ในการสั่งให้ลูกทำในสิ่งที่เขาควรทำหรือเป็นหน้าที่ๆจะต้องทำได้เช่นเดียวกัน

อย่างแรกนั้นก่อนจะเข้าใจเด็กนั้นเราจะต้องเข้าใจมนุษย์ก่อน พื้นฐานของมนุษย์ทุกคนนั้นต้องการมีอำนาจ เด็กก็ไม่ใช่ข้อยกเว้นแต่ประการใด เมื่อเด็กอายุประมาณสองขวบเด็กจะเริ่มมีความเป็นตัวของตัวเอง สั่งซ้ายได้ขวา บอกไม่ยิ่งทำ ยิ่งห้ามยิ่งต้อต้าน

วิธีแก้ทางนึงในเรื่องนี้คือ “ทำให้เด็กรู้สึกว่าเขามีอำนาจ ทั้งๆที่โดยแท้จริงแล้วไม่มี” หรือจะเรียกว่าให้อำนาจแบบลวงๆก็ได้

เมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกเริ่มเข้าวัยต่อต้าน งอแงทุกครั้งที่คุณสั่งว่า “ไปอาบน้ำ” “ไปแปรงฟัน” ”ไปทำการบ้าน” ก็จงเลิกสั่งลูกซะ แล้วเปลี่ยนเป็นทำให้ลูกรู้สึกว่าเขาเป็น “ผู้มีอำนาจเป็นผู้กุมชะตา” ด้วยคำถามแบบให้เลือกที่ว่า “หนูจะอาบน้ำหรือแปรงฟันก่อน” “หนูจะกินนมหรือทำการบ้านก่อน” คำถามแบบนี้เด็กจะไม่รู้สึกว่าโดนสั่งหรือโดนบังคับแต่ในทางกลับกันเขาจะรู้สึกว่าเขาเป็น”ผู้เลือก”เป็นผู้มีอำนาจ และจะลดการต่อต้านลง เพราะจะมีใครเล่าที่จะต่อต้านอำนาจของตัวเองละจริงไหม


เจน

จากคุณ : JanE & IK
เขียนเมื่อ : 23 เม.ย. 55 00:10:02




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com